ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม ๒๕๔๖ |
---|---|
ผู้เขียน | ล้อม เพ็งแก้ว |
เผยแพร่ |
ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “ป้ายราชธานีที่กรุงเทพฯ ชื่อยาวที่สุดในโลก” และในบทความนี้ได้สรุปเป็นหัวข้อตัวหนาว่า ชื่อเรียก “กรุงรัตนโกสินทร์” เริ่มมีสมัยรัชกาลที่ ๔ (หน้า ๓๐) และมีข้อความประกอบว่า “ชื่อ ‘กรุงรัตนโกสินทร์’ มีอยู่ในวรรณคดีบาลีเรื่องสังคีติยวงศ์ แต่ไม่พบเอกสารภาษาไทยใช้ชื่อนี้เรียกกรุงเทพมหานคร จนถึงรัชกาลที่ ๔…” นั้น
ผมเห็นว่ายังไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จึงขออนุญาตนำเสนอข้อมูลหลักฐาน เพื่อประกอบพิจารณา อันจะนำไปสู่ข้อสรุปที่น่าจะถูกต้องกว่า ดังนี้
๑. จารึกใบลานต่อปกหน้าผูก ๑ เรื่อง “ชินกาลมาลีปกรณ์” ฉบับทองทึบ เก็บรักษาไว้ในหอพระมณเฑียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีข้อความว่า
“ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนาล่วงแล้วได้ ๒๓๓๑ พระวรรษา ปีวอกสัมฤทธิศก ครั้งเมื่อตั้งพระนครรัตนโกสินทรอินทรอยุธยานั้น สมเด็จพระมหากษัตริย์บรมธัมมิกราช ผู้เป็นพระเชษฐา แลสมเด็จอุปราชผู้เป็นพระอนุชา…ฯลฯ” (อ้างในชินกาลมาลีปกรณ์ พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายพงษ์สวัสดิ์ สุริโยทัย ๒๕๑๘ หน้าคำชี้แจงของผู้แปล คือศาสตราจารย์ ร.ต.ท.แสง มนวิทูร)
๒. จารึกลาน ๒ ต่อจากปก ต้นฉบับใบลาน ฉบับทองใหญ่ เรื่อง “ปฐมสมโพธิวิตถาร ฉบับครูเดิม” เก็บรักษาไว้ในหอพระมณเฑียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีข้อความตอนต้นว่า
“ศุภมัสดุ พระพุทธศักราชล่วงแล้วได้ ๒๓๓๑ พระวัสสา ปีวอกสัมฤทธิศก ครั้งเมื่อตั้งพระนครรัตนโกสินทรอินทรอยุธยานั้น สมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้าบรมธรรมิกราชาธิราชเจ้าผู้เป็นพระเชษฐา และสมเด็จอุปราชผู้เป็นพระอนุชาธิราช…ฯลฯ” (อ้างในปฐมสมโพธิ ปริจเฉทที่ ๑-๗ : การตรวจชำระและศึกษาเชิงวิเคราะห์ คณะสงฆ์วัดพระเชตุพน จัดพิมพ์ประกาศพระเกียรติคุณ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ๒๕๔๒ หน้า ๒๔)
๓. สำเนาจารึกแผ่นสุพรรณบัฏ ตั้งเจ้าหลวงพระบาง เมื่อปีกุน ตรีศก พ.ศ. ๒๓๓๔ มีความตอนต้นว่า
“๐ สมเดจพระพุทธิเจ้าอยู่หัว ผู้ผ่านพิภพกรุงรัตนโกสินอินทอยุทธยา ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสั่งว่า…ฯลฯ” (จาก “เรื่องทรงตั้งเจ้าประเทศราชกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๑” สำนักนายกรัฐมนตรีจัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๑๔ อ้างในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม ๒๕๒๕ หน้า ๓๖)
๔. กลอนจารึกเรื่องสร้างภูเขาวัดราชคฤห์ ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มีความตอนหนึ่งว่า
“ปางพระพุทธศักราช ปิ่นโลกนาถบรมธรรม์ ล่วงสองพันสามร้อย สร้อยสามสิบสี่เศษ กุญประเวศศกแผ้ว พระยาแก้วบัวตรา รัตนโกษาธิบดินทร์ อัครเสนินทร์นฤเบศร์ ปิ่นภูวะเมศมิ่งเมือง บุรีเรืองรัตนโกสินทร์ มหินทรอยุธยา มหาดิลกเลิศธรณี…ฯลฯ” (อ้างในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน ๒๕๒๕ หน้า ๖๒)
เท่าที่นำเสนอข้อมูลมานี้ ก็เป็นหลักฐานที่ชัดเจนยิ่ง ว่าชื่อ “กรุงรัตนโกสินทร์” นั้นมีเอกสารภาษาไทย เรียกกันมาแล้วตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ที่เป็นทั้งเอกสารทางราชการและวรรณกรรม เพียงแต่ส่วนข้อความนำชื่อกรุงและสร้อยนามต่อเนื่องอาจมีต่างๆ กัน พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ เพียงแต่ทรงเรียงให้เรียบร้อยและยุติต้องกันเท่านั้น เข้าใจว่าผู้เรียบเรียงบทความในหน้าสโมสรศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม ๒๕๔๕ คงจะตรวจตราข้อมูลไม่ครบถ้วนและหลากหลายพอ
จึงนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ดีกว่าครับ
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 21 เมษายน พ.ศ.2561