ที่มา | เส้นสายลายสือ: ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2550 |
---|---|
ผู้เขียน | ติ๊ก แสนบุญ เขียนรูปและเล่าเรื่อง |
เผยแพร่ |
ความตายหรือการสิ้นสุดถือเป็นสัจธรรมอย่างหนึ่ง ที่มีอยู่เป็นธรรมดาสากลของทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติ พิธีกรรมและความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับการตายมีอยู่หลากหลายรูปแบบ นับตั้งแต่การดอง เผารมควัน ฝัง อาบน้ำยา หรือแม้แต่การกินทั้งแบบดิบๆ สุกๆ (เพื่อสืบทอดสิ่งสำคัญของบรรพบุรุษไว้ให้ลูกหลาน) หรือท้ายสุดจะปล่อยให้เน่าทิ้งไปตามธรรมชาติโดยมีตัวแปรแห่งวิธีการอยู่ที่วัฒนธรรม เพศ สถานภาพ อายุ และสาเหตุแห่งการตาย
ศิลปะงานช่างที่รองรับพิธีการดังกล่าวล้วนแล้วแต่มีพัฒนาการทางรูปแบบตามบริบทแวดล้อม เฉกเช่นกลุ่มชาติพันธุ์จราย (Jarai : Giarai) ที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่สูงตอนกลางของเวียดนาม จัดอยู่ในกลุ่มภาษา Malayo-Polynesian โดยชาวเวียดนามเรียกชาวเขาในภาคกลางว่า “ม้อย” ซึ่งแปลว่า “คนป่า” จรายนับถือผีและมีความเชื่อเรื่องภูตผี สังคมถูกควบคุมด้วยอำนาจศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานศพโดยมีสุสานแห่งจิตวิญญาณเป็นที่ประกอบพิธีกรรม แต่จะไม่อนุญาตให้คนที่ตายแบบไม่ปกติ เช่น ฆ่าตัวตาย คลอดลูกตาย ตายโหง เข้ามาอยู่ร่วมกับบรรพบุรุษในสุสานแห่งจิตวิญญาณแห่งนี้โดยเด็ดขาด แต่จะนำไปฝังไว้ที่ป่าช้าใกล้หมู่บ้านแทน
เอกลักษณ์ทางด้านศิลปะสถาปัตยกรรม มี 2 รูปแบบ คือ bxat duech ซึ่งมีการประดับตกแต่งน้อยมาก โดยรูปแบบ bxat char จะแสดงให้เห็นถึงสถานภาพทางสังคมได้เป็นอย่างดี ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ถ้าคนที่ตายคนแรก (ฝังไว้อยู่ตรงกลางของสุสาน) เป็นผู้หญิงรูปแบบจะมีการตกแต่งประดับประดามากกว่าธรรมดาเพื่อความสวยงาม และเป็นความเชื่อดั้งเดิมของผู้คนในอุษาคเนย์ที่ผู้หญิงจะมีบทบาทและสถานภาพทางสังคมสูงกว่าผู้ชาย เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์และเป็นผู้ให้กำเนิด จนเมื่อสังคมแถบนี้ได้รับวัฒนธรรมจากจีน อินเดีย และตะวันตก ผู้ชายจึงเข้ามามีบทบาทแทนผู้หญิง (ปรานี วงษ์เทศ. สังคมและวัฒนธรรมในอุษาคเนย์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2543, น. 32.)
ลักษณะด้านศิลปกรรมงานช่างสุสานจะมีขนาดความกว้างประมาณ 2.50-3.00 เมตร ยาว 8.00-9.00 เมตร มีประตูเข้าออกทางทิศตะวันออก ด้านผนังมีต้นไม้ หลังคาทรงจั่วกับปั้นหยาคลุมโดยรอบ หลังคาแต่เดิมใช้แป้นไม้หรือผ้าตกแต่งด้วยการเขียนสีเป็นลวดลายอันมีนัยยะเกี่ยวกับความเชื่อ ปัจจุบันใช้กระเบื้องลูกฟูกทดแทน รั้วโดยรอบสลักด้วยไม้ ca-chit ประมาณ 27 ตัว มีระยะห่างประมาณ 1-2 เมตร รูปสลักดังกล่าวเป็นศิลปะแบบพื้นบ้านโดยแท้โดยเฉพาะฝีมือการแกะที่ดิบหยาบซึ่งเป็นแบบฉบับเฉพาะของความเป็นพื้นบ้าน
โดยทั้ง 4 มุมนิยมจำหลักเป็นรูปคนนั่งที่มีลักษณะของความโศกเศร้าเสียใจ หรืออีกนัยยะหนึ่งนักวิชาการเวียดนามตีความว่าเป็นลักษณะท่านั่งของทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการเกิดใหม่ในภพหน้า อีกทั้งยังมีรูปสังวาสและการตั้งครรภ์อันเป็นวัฏจักรแห่งการเวียนว่ายตายเกิด หรือรูปสลักอื่น เช่น คนตีกลอง ตีฆ้อง รูปสลักน้ำเต้าซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสุขภาพ รูปนกแร้งหรือนก tuktui เป็นเจ้าแห่งความตายที่คอยควบคุมดูแลวิญญาณในสุสาน มีรูปสลักลิงเป็นรองเจ้าแห่งสุสานคอยปกป้องรักษาสุสานซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก
สำหรับรูปสลักอื่นๆ นั้นเป็นจินตนาการของช่างที่จะออกแบบตกแต่งขึ้นมาในยุคหลัง มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรูปสลักตามบริบทใหม่ของสังคม เช่น รูปทหารอเมริกัน ผู้หญิงตะวันตก เด็กนักเรียน คนเตะฟุตบอล ซึ่งเป็นสิ่งที่มองได้ 2 ด้านทั้งด้านบวกและลบของกลุ่มนักอนุรักษนิยมและกลุ่มช่างสมัยใหม่ผู้ออกแบบสร้างสรรค์ สุสานแห่งนี้ถูกส่งมาประกอบขึ้นใหม่และจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ฮานอย เวียดนาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีน่าเอาเป็นแบบอย่างสำหรับเมืองไทยที่มีแต่พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงแต่ประวัติศาสตร์ชาตินิยมโดยเฉพาะชนชั้นปกครองจนละเลยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก)
และสิ่งที่ประทับใจผู้เขียนคือพิพิธภัณฑ์ของเขาไม่หวงความรู้ สามารถถ่ายรูปและหาความรู้ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีในประเทศไทยจนเป็นผลให้ไม่เข้าใจคนอื่นๆ นอกจากความเป็นคนไทยแบบเชื้อชาติเดียว จนเป็นปัญหาตามมาอย่างในปัจจุบัน
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มีนาคม 2559