เปิดระบบผีของคนไทยในเหงะอัน ที่เวียดนาม ผีมีกี่แบบ ผีบ้าน-ผีเมือง ถึง “ผีมด”

ภาพประกอบเนื้อหาเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาโดยตรง

บทนำ

เขตกวี่โจว[1] ตั้งอยู่ทางตอนเหนือ ด้านทิศตะวันตกของจังหวัดเหงะอัน[2] มีคนไทยอาศัยอยู่ประมาณ 116,746 คน (บทความนี้เผยแพร่เมื่อ 2550 – กองบก.) นับเป็นครึ่งหนึ่งของจำนวนคนไทยที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนี้ทั้งหมด ชนชาติพันธุ์ไทยที่อาศัยอยู่ในเขตกวี่โจวนี้ประกอบด้วย [2] กลุ่มท้องถิ่นด้วยกัน[3] คือ Tay Thanh (ไตถ่าน) และ Tay Do (ไตโด)

ถึงแม้ว่าวัฒนธรรมของคนไทยในเขตกวี่โจวจะมีส่วนคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมไทยในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนามก็ตาม แต่ก็มีลักษณะเฉพาะท้องถิ่นของตน ซึ่งจากการศึกษาในทางชาติพันธุ์วิทยาสามารถจะมองเห็นถึงลักษณะเฉพาะทางด้านวิถีชีวิตวัฒนธรรม ขนบ-ประเพณี ตลอดจนลักษณะนิสัยของคนในท้องถิ่นด้วย

การศึกษาเรื่องระบบ “ผี” โดยเฉพาะจะช่วยทำให้เราเข้าใจในเรื่องระดับความรู้ ระดับเศรษฐกิจ การพัฒนาทางด้านสังคมและวัฒนธรรม ความละเอียดอ่อนในขนบธรรมเนียมประเพณี นิสัย และพฤติกรรมของคนไทยที่อาศัยอยู่ในเขตหุบเขาของจังหวัดเหงะอัน และนี้ก็คือหัวข้อวิจัยของพวกเรา

จุดเน้นของการศึกษาวิจัยในหัวข้อนี้อยู่ที่เรื่องประวัติศาสตร์สังคม เศรษฐกิจแบบเก่า วัฒนธรรมของกลุ่มคนไทยหลายกลุ่มในเวียดนาม รวมทั้งคนไทยในเขตกวี่โจว โดยทั่วไปประเด็นเหล่านี้ก็มีคนศึกษากันมากแล้ว แต่ยังไม่มีใครศึกษาอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับเรื่อง “ผี” มาก่อนเลย

บทความนี้จึงมุ่งที่จะเสนอการศึกษาเรื่อง “ผี” ของคนไทยในเขตกวี่โจว และจะประเมินบทบาทสถานะของระบบ “ผี” ในชีวิตสังคมและชีวิตคนชาติพันธุ์ไทยที่นั่นด้วย

วิธีการวิจัยของพวกเราคือ การเข้าไปมีส่วนร่วม สังเกต สัมภาษณ์ จดบันทึกข้อมูลที่ได้จากการออกงานสนาม นอกจากนี้เรายังใช้วิธีการสำรวจเชิงสังคม การวิจัยที่เป็นระบบ การเปรียบเทียบ และการวิเคราะห์สถิติ ฯลฯ

บทสาระ

1. ระบบคิดเรื่องผีของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยในเขตกวี่โจว

ในกลุ่มของคนไทยเขตกวี่โจว ผีเป็นระบบคิดซึ่งทำให้เห็นว่าเป็นพลังธรรมชาติที่มีอยู่โดยนัยความหมายอันเกิดจากการนึกคิดของคน ประกอบด้วยผีที่เป็นวิญญาณของญาติในครอบครัวซึ่งจะต้องยกขึ้นบูชา เป็นวิญญาณของบรรพบุรุษผู้สร้างบ้านและเมืองจากยุคสมัยอันไกลโพ้น ซึ่งผู้คนต้องนับถือบูชาประจำปีเพื่อแสดงความกตัญญู เป็นวิญญาณอันหลุดลอยไปจากร่างอย่างกะทันหันและกลายเป็นผีร้าย นอกจากนี้ยังหมายถึงวิญญาณภายในตัวของคนที่เป็นๆ ด้วย

ดังนั้น ในความคิดของคนไทย ผีคือสิ่งที่มองไม่เห็น คือพลังที่ไม่มีรูปร่าง คือวิญญาณของสิ่งที่เป็นวัตถุ โดยเฉพาะของสิ่งที่เป็นคน ผีสามารถติดต่อโดยตรงได้กับคน แต่คนทำอย่างเดียวกันกับผีไม่ได้ ผีมีอำนาจเหนือธรรมชาติและลึกลับ ซึ่งสามารถควบคุมชีวิตจิตใจของคนและชุมชนทั้งหมดได้ เราจะเห็นว่า คนไทยไม่เพียงแต่มีความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของคนทั้งที่ตายแล้วและยังเป็นอยู่เท่านั้น ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับผีดีและผีร้ายทั้งหลายด้วย

เพื่อที่จะเข้าใจสาระแนวคิดเกี่ยวกับผีของคนไทย จำเป็นจะต้องแบ่งผีออกเป็น 2 ระดับ ที่แตกต่างกัน 1. ผีเทพตา (Phi deities) 2. ผีภูต (Phi spirits, ghosts)

ผีเทพตา เป็นพลังเหนือธรรมชาติที่คอยปกป้องช่วยเหลือมนุษย์ แต่ก็มีพลังทำลายล้างมนุษย์ได้ถ้ามนุษย์ทำอะไรที่ขัดแย้งผีเทพตา

ผีภูต เป็นพลังของผีร้ายที่ทำอันตรายคนได้ ทำให้คนโชคร้ายตกต่ำได้

คนไทยมีแต่คำเรียกผี ถ้าจะแบ่งก็เพียงแค่เรียกว่าผีดี หรือผีร้ายเท่านั้น

2. ระบบผีของคนกลุ่มชาติพันธุ์ไทยในเขตกวี่โจว

2.1 ผีเมืองฟ้า

คำว่า เมืองฟ้า ในความหมายของคนไทยคือที่สูงสุดแห่งจักรวาล มีระดับและการแบ่งเป็นชั้นๆ บนยอดสุดของเมืองฟ้ามีเขตแดนของพวกอสูร ผู้กินน้ำค้างและลม เป็นพวกที่ครองโลกจลาจล (เมืองมืด)*** และเป็นพวกไม่อยู่กับที่ โลกนี้ไม่มีรูปร่างรวมทั้งไม่มีอิทธิพลต่อโลกมนุษย์

ระดับล่างลงมาเรียกว่าเมืองแถน เป็นที่อยู่ของผีเทพตาที่ถูกเรียกว่าผีแถน บรรดาผีแถนมีผู้นำผู้สูงสุดในตำแหน่งแถนหลวง เหล่าผีแถนมีหน้าที่ช่วยเหลือแถนหลวงในงานต่างๆ

แถนคุม เป็นผู้คอยปกป้องดูแลสารทุกข์สุกดิบของผู้คน แถนตั้ง เป็นผู้ทำให้เกิดคนและสัตว์ (ตั้ง แปลว่า สร้าง-ผู้เก็บความ) แถนเบ้า เป็นผู้เตรียมดินสำหรับทำเป็นคนและสัตว์ แถนขัด หรือแถนช่าง เป็นผู้กำหนดชะตากรรมของมนุษย์แต่ละคน แถนปัก เป็นผู้คอยดูแลช่วงเวลาของชีวิตคนบนพื้นโลก แถนกม เป็นผู้ดูแลท้องฟ้าทั้ง 4 ทิศ แถนเก๊า เป็นผู้พิพากษาและเป็นผู้คุมพวกนักโทษ แถนทุ้ม คือ ผู้ทำให้เกิดน้ำท่วม ฟ้าแลบ และฟ้าผ่า (ทุ้ม แปลว่า ท่วม-ผู้เก็บความ) แต่เรื่องราวของผีแถนเหล่านี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก หรือมีอิทธิพลน้อยต่อชีวิตจิตใจของคนไทยในเขตกวี่โจว

ระดับล่างลงมาจากเมืองแถนจะเป็นโลกหรืออาณาเขตของพวกด้ำเจ้า ซึ่งเป็นที่อยู่ของผีบรรพบุรุษ มาจากตระกูลต่างๆ และเป็นลำดับชั้นกันลงมา พวกผีด้ำเจ้าถูกจัดแบ่งโดยระดับฐานะและตระกูลต่างๆ พวกที่มีฐานะสูงจะอยู่ในระดับชั้นของด้ำกวงเหนือ ส่วนพวกที่มาจากตระกูลของคนธรรมดาจะอยู่ในระดับชั้นที่เรียกว่าด้ำกวงกาง แต่ละด้ำจะมีผีแถนนาคอยดูแลดวงวิญญาณของพวกผีบรรพบุรุษที่มาจากตระกูลต่างๆ ผีแถนนาต่างๆ ก็ถูกจัดแบ่งออกเป็นชั้นซึ่งทำให้เห็นถึงสถานภาพต่างๆ ในอดีตของสังคมไทย

ตามความคิดของคนไทย ผีแถนนา แบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ

1. แถนนาชั้นสูง ซึ่งประกอบด้วย แถนอาว แถนท้าวอ้าย และแถนทูอ้าย พวกผีนี้คอยดูแลผีบรรพบุรุษที่มาจากชนชั้นสูง อย่างเช่นตระกูล หล่อคำ ฮุนวี และมุนกวาง

2. แถนนาชั้นต่ำ ประกอบด้วย แถนทวง แถนท้าวนุง และแถนทูนุง เป็นพวกคอยดูแลวิญญาณบรรพบุรุษที่มาจากตระกูลชั้นล่างของสังคม อย่างเช่น กวานกวาง กวานลู และกวานวี

นอกเหนือจากแถนนาแล้ว ยังมีแม่นาง โดยคร่าวๆ แม่นางนี้ก็คล้ายกับบ่าหมุของคนคิงหรือคนเวียดนาม ซึ่งมีความหมายว่าหมอตำแย แต่แม่นางของคนไทยหมายถึงผีที่มีหน้าที่ในการสร้างมนุษย์และคอยดูแลวิญญาณของเด็กๆ ด้วยเหตุนี้ ตามประเพณีไทย เมื่อเด็กอายุได้ 1 ขวบ พ่อแม่จะทำพิธีทางศาสนาเพื่อบูชาแก่เมืองแถน เด็กไทยก็จะเติบโตพร้อมกับความทรงจำเกี่ยวกับแม่นาง ซึ่งเป็นผีที่คอยปกป้องรักษาวิญญาณและสุขภาพของพวกเขาไว้

ชั้นล่างสุดท้ายของเมืองฟ้า เป็นที่อยู่ของวิญญาณผู้คนที่ตายอย่างกะทันหัน หรือตายเพราะอดอยากทรมาน ตายเพราะอกหัก ตายโดยไม่ได้มีผัวมีเมีย ผีพวกนี้ไม่สามารถขึ้นไปอยู่บนชั้นด้ำเจ้าได้ ผีพวกนี้จะถูกเรียกชื่อว่าผีตายซุดด้วน (หมายถึง ผีที่ตายโดยไม่สามารถทำให้เกิดการสืบทอดในระหว่างที่มีชีวิตอยู่-ผู้เก็บความ)

โดยทัศนะของคนไทยในเขตกวี่โจว ความหมายของเมืองฟ้าสำหรับพวกเขาก็คือเป็นที่ที่อยู่ของพลังเหนือธรรมชาติมากมาย ขณะที่อยู่บนเมืองฟ้า พวกผีแถนติดต่อสัมพันธ์กัน โดยมีแถนหลวงเป็นผู้คุมดูแลสูงสุด

2.2 ผีบ้าน ผีเมือง

ตามแนวคิดของคนไทย คำว่าบ้านเมืองเป็นคำรวมที่ใช้หมายถึงจิตวิญญาณรวมของพลเมืองที่อยู่ในหน่วยการเมืองซึ่งเรียกว่าบ้านเมือง ภายในหน่วยการเมืองนี้มีดวงวิญญาณใหญ่ของผู้สร้างบ้านเมือง เป็นวิญญาณที่มีอำนาจสูงสุด ในพิธีบูชาเสื้อของผีบรรพบุรุษ เสื้อของบรรพบุรุษจะถูกนำมาวางไว้ใกล้กับถาดที่ใช้ทำพิธี ในระบบบ้าน วิญญาณของผีบ้านถูกเรียกว่าปู่เจ้าเสื้อ หรือปู่เสื้อ ในระบบเมืองเรียกว่าท้าวเจ้าเสื้อ

ตามประเพณีแล้ว ผู้ที่เป็นเจ้าเสื้อของบ้านจะต้องเป็นผู้ก่อตั้งชุมชนบ้าน และเป็นผู้ปกครองบ้านด้วย นั่นคือเป็นกวานบ้าน (หรือ ควานบ้าน-ผู้เก็บความ) ตำแหน่งเจ้าเสื้อ จะถูกถ่ายทอดไปให้ลูกได้ แม้ว่าภายหลังตระกูลของเขาจะไม่ได้เป็นผู้ปกครองแล้วก็ตาม ดังนั้น บางครั้งในหมู่บ้านจะเกิดฐานะของผู้นำขึ้นมา 2 ตำแหน่ง คือ เป็นกวานบ้านคนหนึ่ง และเป็นเจ้าเสื้อคนหนึ่ง แต่พวกเจ้าเสื้อของเมืองจะกลายเป็นขุนนาง ซึ่งหมายความว่า ขุนนางคือตระกูลที่มาจากตระกูลผู้สร้างเมือง

ดังนั้น ในแง่นี้ตำแหน่งที่เรียกเจ้าเมือง ซึ่งหมายถึงผู้ปกครองเมือง จึงมีฐานะเป็นเจ้าเสื้อด้วยในขณะเดียวกัน ก็แปลว่าเจ้าเมืองมีอำนาจทั้งในทางจิตวิญญาณและอำนาจสืบทอดจากตระกูล

จากพื้นฐานนี้ทำให้เกิดแนวคิดที่ว่า ลูกของท้าว (ผู้นำของบ้านเมือง) ก็เป็นลูกของบ้านและลูกของเมือง ดังนั้น ในพิธีกรรมใหญ่ของการเซ่นไหว้ผีบ้านผีเมือง ที่แท้พวกชาวบ้าน ชาวเมืองทำพิธีบูชากลุ่มขุนนางที่ปกครองบ้านเมืองนั่นเอง ก็เพราะเหตุว่า วิญญาณของผู้ปกครองบ้านและเมืองในความเป็นจริงก็คือวิญญาณบรรพบุรุษของตระกูลชนชั้นปกครอง ผู้สืบทอดต่อจากความตายของผู้นำในตระกูล พวกเขาจึงสามารถกล่าวอ้างวิญญาณของบรรพบุรุษชั้นเจ้าหรือท้าว (deified) โดยกลับมาเป็นผู้ปกครองบ้านและเมืองได้ตลอด

ขอเพิ่มเติมว่า ผีบ้านผีเมืองไม่เพียงแต่เป็นวิญญาณของบรรพบุรุษผู้สร้างบ้านและเมืองเท่านั้น แต่ยังหมายถึงพลังเหนือธรรมชาติ เช่น ผีเจ้าดิน (ผีที่ดูแลที่ดิน) และผีเจ้าน้ำ (ผีดูแลน้ำ) รวมทั้งผีที่อยู่ในบ้านและเมืองทั้งหลาย

ที่จริงผีบ้านผีเมืองหมายถึงวิญญาณโดยรวมของบ้านและเมือง และเราก็ยังสามารถเข้าใจได้ด้วยว่า ผีบ้านผีเมืองหมายถึงผีเทพตาที่คอยช่วยปกป้องชีวิตมนุษย์ ป่าเขาลำเนาไพร ทุ่งนาทุ่งหญ้า และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์ต่างๆ

จากเนื้อหาข้างต้น ทำให้เราพอมองเห็นว่าผีบ้านผีเมืองของคนไทยในเขตกวี่โจวเป็นระบบที่ซ้อนซับระหว่างกัน เริ่มจากผีเมืองเป็นผีระดับสูงสุดของระบบ จึงใหญ่กว่าและปกครองควบคุมผีบ้าน

ส่วนผีบ้านต้องอยู่ภายในอำนาจของผีเมือง และมีอำนาจการปกครองอย่างจำกัด ต่างจากผีเมืองที่มีอำนาจเต็มเขตเมืองและเขตบ้านด้วย ดูแลทั้งคนและสัตว์

เมื่อดูตรงนี้แล้วทำให้เราพอมองเห็นว่าระบบผีบ้านผีเมืองสะท้อนโครงสร้างทางสังคมของกลุ่มคนไทยในอดีตโดยผุดขึ้นจากความเชื่อทางศาสนา (ผี) สิ่งที่ชัดเจนก็คือโครงสร้างทางสังคมที่มีระดับชั้นเป็นสำคัญ โลกของผีกับโลกของคนจึงคล้ายคลึงกัน คือต่างก็เป็นสังคมมีระดับชั้นเป็นเครื่องกำหนด

2.3 ผีวัน (ผีวิญญาณ)

ตามความคิดของคนไทย คนจะต้องรู้สึกสำนึกในพลังเหนือธรรมชาติที่อยู่ในตัวของคนเอง ซึ่งในภาษาไทยท้องถิ่นเรียกว่าขวัญ (พวกไตโด ออกเสียงว่า วัน) ซึ่ง ขวัญ หรือ วัน นี้เทียบเท่ากับความเชื่อเรื่องวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์คิง (เวียดนาม) เหมือนกัน

สำหรับพวกคนไทยแล้ว เรื่องวิญญาณไม่ได้มีหนึ่งเดียว แต่มีหลากหลาย เป็นเรื่องยากที่จะนับจำนวนผีเหล่านี้ เพราะว่าในหัวของแต่ละคนจะมีผีประจำประมาณ 12 ตน หรือมากกว่านั้น ดังคำกล่าวว่า “สามสิบมิ่งวันเจ้า เก้าฮ้อยมิ่งวันหัว” (สามสิบมิ่งขวัญเจ้า เก้าร้อยมิ่งขวัญหัว) พวกวิญญาณเหล่านี้จะกระจายอยู่ตามร่างกายของคน ทั้งภายนอกและภายในอวัยวะต่างๆ เช่น วันหัว (ขวัญที่หัว อยู่บนหัว) วันตา (ขวัญที่ตา อยู่ในดวงตา) วันหู (ขวัญที่หู อยู่ในหู) วันตับ (ขวัญที่ตับ อยู่ในตับ) วันเจาะ (ขวัญที่ใจ อยู่ในดวงใจ) เป็นต้น

จำนวนขวัญด้านหน้าของคนมีประมาณ 30 และด้านหลังมีประมาณ 50 (สามสิบขวัญทางหน้า ห้าสิบขวัญทางหลัง) ในบรรดาขวัญทั้งหลาย ขวัญที่เป็นรากแก่นคือ ขวัญตน ซึ่งสถิตในผมบนหัวของคน ด้วยเหตุนี้ ตามความเชื่อของคนไทยจึงมีข้อห้ามไม่ให้ลูบหัวเด็กหรือตีหัวแรงๆ เพราะการทำเช่นนั้นอาจจะทำให้กระทบกระเทือนขวัญที่อยู่ในร่างของมนุษย์ โดยตกใจและหนีจากไป ซึ่งเป็นเหตุแห่งความเจ็บป่วยหรือถึงขั้นตาย นี่แสดงให้เห็นชัดว่า ขวัญคือวิญญาณภายในร่างกายของคนซึ่งช่วยธำรงรักษาชีวิตของมนุษย์ไว้

สำหรับความเชื่อของคนไทย วิญญาณไม่ได้อยู่ในร่างเสมอไป บางครั้งจะออกจากร่างท่องไปที่อื่น ไปไกลถึงเมืองแถน ในกรณีนี้ วิญญาณที่ออกจากร่างไปเรียกว่า ผีวัน (ผีขวัญ) เพื่อมิให้เกิดความสับสนระหว่างคำว่า วัน กับ ผีวัน จึงขอชี้แจงว่า คำสองคำนี้มีความใกล้ชิดกันและไม่มีทางที่จะแยกจากกันได้ ความจริงมันเป็นสิ่งเดียวกัน เพียงแต่เรียกต่างกรรมต่างวาระเท่านั้น คือเมื่อวิญญาณอยู่ในร่างเรียกว่า “วัน” แต่เมื่อออกนอกร่างเรียกว่า “ผีวัน” เมื่อ “วัน” อยู่ในร่างคนคนก็ปกติ แต่ถ้าออกไปแม้เพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง จะทำให้ส่วนนั้นเกิดอาการเจ็บป่วย วิธีแก้ต้องเชิญหมอผีมาเรียกวิญญาณกลับเข้าสู่ร่างประจำที่เดิม

คนไทยยังมีความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณในตัวสัตว์และพืชไม้ด้วย สำหรับสัตว์และพืชไม้ คนไทยเชื่อว่ามีเพียงวิญญาณเดียว หรือมีหลายวิญญาณ แต่ไม่มากเท่าของคน เช่น วันควาย (ขวัญควาย) วันงัว (ขวัญวัว) วันเขา (ขวัญข้าว) วันก้า (ขวัญกล้า) สิ่งที่แตกต่างจากคนอีกอย่างหนึ่งก็คือ สัตว์พืชมีขวัญตอนที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น เมื่อตายไปก็ไม่มีผี และไม่มีผีขวัญอย่างคน

ดังนั้น คนจึงกล้ากินสัตว์พืชได้โดยไม่เกรงกลัว ความเชื่อของคนไทยนี้ทำให้เข้าใจได้ว่า เมื่อสัตว์พืชตายไป ขวัญก็ตายด้วย ไม่ได้กลายเป็นผีอย่างของคน พวกมันจากไปโดยไม่เหลือร่องรอยอะไรไว้เลย

ส่วนสรรพสิ่งธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ ไม่มีขวัญหรือผีโดยตัวของมันเอง แต่ที่เรียกกันว่า วันดิน วันน้ำ หรือ ผีดิน ผีน้ำ ก็เป็นเพราะว่ามันมีผีเทพตาคอยปกปักรักษามันไว้ ทำให้เกิดผีเทพตาที่คอยดูแลสิ่งธรรมชาติแต่ละอย่างเกิดขึ้น เรียกว่า เจ้าดิน (ผีเทพตาที่ดูแลผืนดิน) เจ้าน้ำ (ผีเทพตาที่ดูแลผืนน้ำ) เป็นต้น

โดยสรุป ในทางจิตวิญญาณ คนไทยเชื่อว่า วันเป็นพลังธรรมชาติที่เป็นชีวิตให้กับร่างกายของคน ร่างกายตายได้ แต่วันไม่ตาย เมื่อคนตาย วันจะแยกตัวออกไป และยังคงอยู่โดยไปอยู่กับโลกของผี หรือ ชุมชนแห่งวิญญาณผี

2.4 ผีบรรพบุรุษ (เสื้อ หรือ ด้ำ)

ดังที่ได้กล่าวแล้ว เมื่อคนตาย วันจะออกจากร่างและกลายเป็นผี โดยจากไปสู่โลกใหม่โดยสมบูรณ์ โลกซึ่งไม่ใช่เป็นอย่างในอดีตอีกต่อไป โลกใหม่ของผีถูกจัดโดยสภาพใหม่ทางวิญญาณของผีซึ่งมี 3 สภาวะ คือ ผีวันหัว ผีด้ำเจ้า และผีดงแฮว สภาวะของผีทั้ง 3 นี้จะไปสิงอยู่ในที่ใหม่ดังนี้

1. ผีวันหัว ที่แท้คือขวัญหัว หรือวิญญาณที่หัว ซึ่งถือว่าเป็นที่อยู่ของขวัญรากแก่น (ขวัญตน) จะมีจักรวาลใหม่ของตนอยู่ที่ห้อง[4] ทำหน้าที่เป็นผีเรือน (หรือผีประจำตระกูล)

2. ผีด้ำเจ้า ที่แท้คือขวัญที่อยู่ตามแขนและขา ซึ่งถือว่าเป็นขวัญที่สำคัญ ได้กลายเป็นผีด้ำเจ้าขึ้นไปบนเมืองแถน แปลว่าไปรวมกับบรรดาผีบรรพบุรุษทั้งหลาย

3. ผีดงแฮว คือขวัญทั้งหลายที่เคยอยู่ตามร่างกายด้านข้างของคน กลายเป็นภาวะผีดงแฮว ไปประจำอยู่ที่หลุมฝังศพ คอยเฝ้าสุสานที่ฝังของร่างกายตลอดไป

ใน 3 สภาวะดังกล่าว ผีวันหัว หรือที่เรียกว่าผีเรือน จะกลายเป็นผีประจำตระกูล หรือผีบรรพบุรุษ ที่ผู้อยู่เบื้องหลังจะต้องคอยกราบไหว้บูชา ผีเรือน ถูกเรียกว่าผีด้ำเช่นกัน แต่มีความหมายต่างจากผีด้ำเจ้า ในกรณีนี้เราจะเห็นว่า ผีด้ำเจ้า คือวิญญาณส่วนแขนขาที่ขึ้นไปเป็นผีเจ้าอยู่กับบรรดาคณะผีบรรพบุรุษบนเมืองแถน ผีด้ำที่อยู่กับเรือนเป็นขวัญหรือวิญญาณส่วนหัว ซึ่งสำคัญและต้องให้สถิตอยู่กับตัว จึงต้องตั้งไว้บนเรือน ประจำห้อง หรือที่จริงก็คือประจำตระกูลนั่นเอง (ความย่อหน้านี้เป็นของผู้เก็บความ)

แต่กว่าที่ผีเรือนจะกลายเป็นผีด้ำก็ต้องไปอยู่กับพวกบรรดาผีบรรพบุรุษประจำตระกูลหลายชั่วอายุคน จนในที่สุดกลายเป็นส่วนหนึ่งของผีบรรพบุรุษจึงจะได้ขึ้นสู่สถานะผีด้ำ ขบวนการนี้ก็คือ ตอนแรกผีเรือนจะถูกยกมาประจำไว้ในห้องเรือน ผีเรือนทำหน้าที่เป็นด้ำเรือน คอยปกปักรักษาบ้านเรือน และคุ้มครองพวกเด็กลูกหลาน เมื่อมีญาติอีกคนหนึ่งตายไปเข้ามาแทนที่สถานะเป็นผีเรือน ผีเรือนเก่าก็จะเลื่อนฐานะขึ้นเป็นผีด้ำกางทาง (ผีด้ำกลางทาง หมายความว่า เป็นผีบรรพบุรุษที่อยู่บนกึ่งฟ้า) ต่อเมื่อมีผีเรือนได้เลื่อนขึ้นมาแทน ผีด้ำกลางทางก็จะได้กลายเป็นผีด้ำโดยสมบูรณ์ หรือเป็นผีบรรพบุรุษ

เห็นได้ชัดว่า ผีบรรพบุรุษนั้นเป็นผีหัวหน้าตระกูลของฝ่ายพ่อ เมื่อพ่อตายลูกชายจะได้รับการสืบทอดเป็นผู้ดูแลผีบรรพบุรุษ จากรุ่นต่อรุ่นลงมาเรื่อยๆ เป็นสาย ตามความคิดเห็นของ Tran Tu เห็นว่า การเวียนวนทางวิญญาณเช่นนี้เกิดจากแนวคิดของคนไทยที่เชื่อว่า ในร่างกายของคนประกอบด้วยส่วนต่างๆ แต่ละส่วนมีวิญญาณคอยดูแลควบคุม

ดังนั้น เมื่อร่างกายไม่มีอีกต่อไปแล้ว แต่ความเป็นคนๆ นั้นยังอยู่ วิญญาณจึงสามารถรวมตัวกันได้ และเนื่องจากเมื่อคนตายแล้ว ส่วนต่างๆ สลายตัว ทำให้ไม่มีการต้านทานกัน จึงทำให้วิญญาณมารวมตัวกันเป็นหนึ่งได้ โดยเรียกรวมๆ ว่าผี จากการอธิบายของ Tran Tu[5] มีสิ่งที่ชวนให้คิดเหมือนกันว่า หลังการตายของคนแล้ว ร่างกายของเขาจะไม่มีอีกต่อไป วิญญาณจะรวมตัวกันเป็นผีขึ้นสวรรค์ไปอยู่กับผีบรรพบุรุษ

การอธิบายนี้ค่อนข้างจำกัดอยู่แง่เดียวและไม่เข้ากับกรณีของกลุ่มคนไทยในเขตกวี่โจวเท่าไหร่ เพราะว่าตามความคิดของคนไทยกลุ่มนี้ วิญญาณของคนตายไม่ได้รวมตัวกันเป็นส่วนเดียวกัน แต่กลับเปลี่ยนเป็น 3 สภาวะใหม่ ในกรณีเช่นนี้ทำให้เห็นว่า ความเชื่อของคนไทยในเขตกวี่โจวแตกต่างจากกลุ่มคนไทยดำในเขตจังหวัดเซินลา

ตามความเชื่อของกลุ่มคนไทยในเขตกวี่โจว เมื่อคนตาย วิญญาณของเขากลายเป็นผีบรรพบุรุษไป แต่ถ้าวิญญาณนั้นอยากมาเกิดใหม่เป็นมนุษย์อีก ก็จะสามารถกลับมาได้ มีคนสังเกตว่าแนวคิดแบบนี้คล้ายกับส่วนหนึ่งของทฤษฎีกรรม ซึ่งบางที่พวกกลุ่มคนไทยเขตนี้อาจรับเอามาจากวัฒนธรรมลาว[6] ก็ได้ แต่มีความจริงของแนวคิดเรื่องผีว่า ผีบรรพบุรุษส่วนใหญ่จะกลับไปที่เมืองลุ่ม (เมืองที่อยู่ในเขตโลก สิ่งมีชีวิตในนั้นอยู่ในสภาพแคระแกร็น) เพื่อปกป้องดูแลรักษาเด็กลูกหลาน และเนื่องจากว่าในห้องเป็นที่สถิตของผีเรือนแล้ว ผีบรรพบุรุษจะมองหาที่อยู่ภายในบ้านตรงส่วนอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ คนไทยจึงมักเชื่อว่ามีผีบรรพบุรุษอยู่ในบ้านทุกหนทุกแห่งด้วย

ในระหว่างงานสนามเราก็ได้พบว่า คนไทยในเขตกวี่โจวนับถือผีต่อไปนี้เป็นผีบรรพบุรุษของเขา คือ ผีนัวหัว (ผีหลังคา) ผีช่องดาน (ผีประตู) ผีญาเจ้าเสื้อหอเรือน (ผีร่องระบายน้ำที่อยู่บริเวณหน้าบ้าน) ผีนอกเรือน (ผีตายายข้างแม่หรือผีพ่อแม่ของฝ่ายที่เป็นสะใภ้หรือเขย) ส่วนผีที่ตายโดยอุบัติเหตุจะไม่อยู่ในกรณีปกติ เพราะจะไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นด้ำเจ้า จึงไม่ได้รับการบูชาและไม่มีฐานะเป็นผีบรรพบุรุษ กลายเป็นผีร้ายที่ต้องร่อนเร่พเนจร ทำอันตรายอยู่ในโลกของคน

2.5 ผีอุปถัมภ์ทางศาสนาพิธีกรรม

2.5.1 ผีหมอน หรือผีหมอ

พวกกลุ่มคนไทยในเขตกวี่โจวเชื่อว่า มีที่ที่หนึ่งในเมืองฟ้ามีชื่อเรียกว่าเมืองหมอน ซึ่งเป็นที่อยู่สำหรับพวกผีหมอนโดยเฉพาะ แต่พวกเขาจำเรื่องเก่าแก่เกี่ยวกับกำเนิดของผีหมอนไม่ค่อยจะได้แล้ว พวกเขารู้แต่ว่า ใครที่อยากเป็นหมอน (หมอผี) คนนั้นจะต้องถูกเลือกโดยผีหมอนให้มาเป็น หลังจากถูกเลือกให้มาเป็นหมอนแล้ว เขาจะต้องตั้งหิ้งบูชาเรียกว่า หิ้งหมอน เพื่อช่วยส่งเสริมอาชีพของเขาให้เจริญก้าวหน้า

ผีหมอนนี้จะกลายเป็นผีหมอนอุปถัมภ์ เสร็จแล้วคนจะเป็นหมอนต้องไปเรียนกับครูผู้เชี่ยวชาญเรื่องพิธีกรรม การประกอบพิธีกรรมฝึกคุณลักษณะความชำนาญของคนที่จะเป็นหมอผีต่อไป หลังจากเรียนจบแล้วโดยใช้ระยะเวลาพักหนึ่ง ครูจะมอบผีทหาร (เรียกว่า “แสง”) ที่มาจากเมืองหมอนให้จำนวนหนึ่ง เพื่อให้มาช่วยงานลูกศิษย์หมอผีของตน

ตามคำบอกเล่าของหมอผี แต่ละคนจะมีผีผู้ช่วยเป็นกองทัพ คือ ผีกล้า 500 คน และอีก 30,000 เป็นผีทหารนักสู้ ซึ่งจะคอยช่วยเขาต่อสู้กับบรรดาวิญญาณหรือผีร้ายที่เขาจะเรียกออกจากร่างของผู้ป่วย เพื่อที่จะทำให้ผีหมอนและผีทหารที่มาจากเมืองหมอนคอยช่วยเหลืออยู่เสมอ หมอผีจะต้องคอยจัดพิธีกรรมขนาดย่อยทุกเดือน พิธีกรรมขนาดกลางทุกปี และทุก 3 ปี จะต้องมีพิธีกรรมขนาดใหญ่ เรียกว่าสั่งขัน เพื่อเป็นการคารวะขอบคุณผีเทพตา ผีอุปถัมภ์ และผีบรรพบุรุษ ผู้คอยช่วยเหลือให้เขาเกิดอำนาจอันสามารถในทางรักษาเยียวยาผู้เจ็บป่วยได้

2.5.2 ผีมต หรือผีมด

นอกเหนือจากผีต่างๆ แล้ว คนไทยในเขตกวี่โจวยังมีความเชื่อว่า ในเมืองฟ้ามีพลังเหนือธรรมชาติที่เรียกว่าผีมต และมีกองทัพผีทหารจากเมืองมตด้วย พวกคนไทยในเขตนี้ก็ไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของผีมตมากนักเช่นกัน สิ่งที่พวกเขารู้ก็คือ คนที่จะมาเป็นพ่อมดจะต้องถูกเลือกโดยผีมด หรือต้องมาจากครอบครัวที่เคยมีญาติเป็นพ่อมดมาก่อน คนที่ถูกเลือกมาอาจจะยังอายุน้อยอยู่ก็ได้ และอยู่ในเพศไหนก็ได้ และก็เช่นเดียวกัน หลังจากถูกเลือกแล้ว เขาจะต้องตั้งหิ้งมตขึ้นมาเป็นการบูชาผีมตผู้อุปถัมภ์

มีความเชื่อว่าในเมืองมตมีผีกองทหารจำนวนมาก ทำให้แต่ละพ่อมดจะได้รับการแบ่งปันผีผู้ช่วยมากขึ้นกว่าหมอผี คือได้ผีกล้า 900 คน รวมกับผีทหารนักสู้ 30,000 พวกพ่อมดจะต้องบูชาผีอุปถัมภ์และผีผู้ช่วยโดยทำพิธีกรรมขนาดย่อยทุกเดือน เพื่อพลีให้กับผีมตและไพ่เลาซึ่งเป็นผีทหารจากเมืองมต สิ่งที่ใช้ทำพลีกรรมก็คือเหล้าไหเล็ก ในเดือนที่ 2 จันทรคติของทุกปี ทำพิธีกรรมขนาดกลางบูชาด้วยเหล้าไหใหญ่โต เป็นพลีแก่ผีทหาร พิธีกรรมนี้เรียกว่าเลาบวกมาย (ตอบแทนคุณผีกองทหาร)

2.6 ผีธรรมชาติ

คนไทยเชื่อว่า มีผีทุกหนทุกแห่งในธรรมชาติ ผีธรรมชาตินี้แตกต่างจากผีในเมืองแถน พวกผีธรรมชาติไม่ได้ถูกแบ่งเป็นชั้นและมีสถานภาพอย่างสังคม ในธรรมชาติ ผีคือเจ้าผู้ควบคุมเขตแดน มีหลักว่าเป็นเจ้าของคนแรก (พอมาก่อนแปเจ้า พอเหาบ่อกายแกทังลาย-พ่อมาก่อนเป็นเจ้า พ่อเจ้าท้าวแก่ของทั้งหลาย-ผู้เก็บความ)

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ผีธรรมชาติมีสภาวะที่แตกต่างจากผีในเมืองแถน กล่าวคือผีธรรมชาติไม่ต้องอยู่ใต้บังคับของผีระดับสูงอย่างผีในเมืองแถน จากการศึกษาเรื่องความเชื่อของผีในกลุ่มคนไทยในเขตกวี่โจวพบว่า มีความเชื่อเรื่องผีมากมายหลายชนิด รวมทั้งผีที่รู้จักกันดีและเป็นความเชื่อทั่วไป มีอิทธิพลกว้างขวางอย่าง ผีเจ้าดิน (ผีเจ้าของผืนดิน) ผีป่า (ผีเจ้าของป่า) ผีปู่ (ผีเจ้าของภูเขา) ผีนา (ผีเจ้าของที่นา) ผีหาย (ผีเจ้าของทุ่งนา หว่างเขา) ผีห้วย (ผีเจ้าของห้วย) ผีกอบา (ผีต้นมะเดื่อ) ผีชุมปวก (ผีจอมปลวก) ผีลูกวุด (ผีเด็กซน) ผีฟอง (ผีกินของเน่า) ผีจวง (ผีรัก) ผีหัวกุด (ผีหัวขาด) ผีดง (ผีหลุมฟังศพในป่า) ผีญาบาย (ผีในป่าลึก) ผีชุกกอน (ผีสิงในบ้านร้าง) ฯลฯ

บทสรุป

1. จากที่กล่าวมาแล้วแสดงให้เห็นว่า ในโลกทางจิตวิญญาณของคนไทยในเขตกวี่โจว ระบบผีถูกจัดเป็นระดับชั้นหรือมีสถานะอย่างจริงจังและมีเขตแดนเฉพาะของตนพร้อมกับขอบวงอำนาจ ผีเทพตาจะอยู่ในเมืองฟ้าตลอดกาลนาน (ยกเว้นแถนกมซึ่งอยู่ทุกหนทุกแห่ง ส่วนผีอื่นๆ ในระบบผีธรรมชาติก็จะอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง) ในป่า ในทุ่งนา ในบ้าน ในเมือง ฯลฯ แต่มีผีบรรพบุรุษที่เป็นผีประจำตระกูลจะอยู่ในห้องเรือน เพื่อปกป้องดูแลเด็กลูกหลานภายในบ้าน มีผีเมืองผีบ้านอยู่ในที่ที่มีขอบวงอำนาจของตน

2. ระบบผีของกลุ่มคนไทยในเขตกวี่โจวยังไม่พัฒนาไปสู่จุดที่เป็นลัทธิหรือเป็นศาสนาแต่ก็ถือว่ามีระบบแนวคิดสมบูรณ์พอควร ซึ่งทำให้เกิดทัศนะของการมองเห็นโลกที่เป็นจริงและเกิดสัมพันธภาพกับโลกที่มองไม่เห็นหรือโลกของจิตวิญญาณ พวกเขามองเห็นตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลกทั้งสอง ขาดทัศนะที่จะสร้างความสัมพันธ์กับโลกทางวัตถุ การเกิดและการสิ้นสุดของสรรพสิ่งในวัตถุซึ่งเป็นวงจรปกติ อย่างไรก็ดี ความคิดเรื่องผีของคนไทยถือได้ว่าเป็นศาสนาหรือความเชื่อบุพกาล ผีเป็นผลผลิตทางความคิดเกี่ยวกับจักรวาลของกลุ่มคนไทย

3. ในขณะที่แนวคิดของระบบผีเป็นเรื่องของความเชื่อทางศาสนาบุพกาล เนื้อในของระบบผีก็สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะวิธีคิดของคนไทย มองเห็นขบวนการเรียนรู้เรื่องคนของชุมชน ซึ่งต้องประชันกับโลกสังคมและโลกธรรมชาติในรูปแบบที่เต็มไปด้วยความลึกลับ

4. ระบบผีของคนไทยในเขตกวี่โจวแสดงให้เห็นถึงความต้องการและความหวังของคน ของชุมชน ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีสำหรับชีวิต ในขณะที่ต้องการแสวงหาการคุ้มครองและพลังจากรูปเคารพที่มีจิตวิญญาณเหนือธรรมชาติ แต่มันก็สามารถทำให้เราเข้าใจไปถึงร่องรอยและวัฒนธรรม ประเพณี โลกของจิตใจและจริยธรรมของกลุ่มคนไทยได้ด้วย

5. ในสังคมโบราณ ความเชื่อเรื่องผีของคนไทยในเขตกวี่โจวถือได้ว่าเป็นสายโยงใหญ่ทางจิตวิญญาณที่ช่วยในด้านความรู้สึกนึกคิดและทางจิตวิทยา เพื่อให้คนเกิดความรู้สึกที่ได้รับการทดแทนและสร้างความสมดุลให้กับชีวิต ด้วยเหตุผลดังนี้ ในระดับส่วนตัว คนไทยจะไหว้ผีและถือว่าผีศักดิ์สิทธิ์ และพร้อมกันก็สร้างทัศนะที่มีปฏิบัติวิสัยและประจักษ์วิสัยกับความเชื่อเรื่องผีด้วย แม้ว่าเมื่อฝรั่งเศสเข้าไปปกครองเวียดนาม โดยพยายามจะเปลี่ยนแปลงพวกเขาให้นับถือศาสนาคริสต์ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ พวกเขาเข้าสู่ชุมชนแห่งจิตใจของคนไทยไม่ได้เลย

6. เราอาจประเมินได้ว่า ระบบความเชื่อเรื่องผีของคนไทยเป็นสิ่งที่มีคุณค่าถ้าเรามองมันในแง่ที่มีเหตุผลถูกต้อง และแยกแยะแง่มุมในทางลบของมันออกไป นี่ก็จะเป็นพลังที่สามารถขับเคลื่อน มีความเที่ยงตรง ที่จะนำมาถึงความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยซึ่งมีพลังอยู่ภายในตัวเอง ทั้งนี้ก็เพื่อพัฒนาวัฒนธรรมเวียดนาม อันมีเอกภาพบนความหลากหลาย ให้เจริญก้าวหน้า แต่ก็ให้มีลักษณะเฉพาะในเอกลักษณ์ของชาติอย่างลึกซึ้งไปพร้อมกันด้วย…

 

หมายเหตุ : คัดส่วนหนึ่งจากบทความ “ระบบ ‘ผี’ ของกลุ่มคนไทยในเขตกวี่โจว จังหวัดเหงะอัน เวียดนาม” เขียนและนำเสนอโดย Dau Tuan Nam เผยแพร่ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2551 เป็นบทความวิจัยที่นำเสนอในที่ประชุมสัมมนา International Thai Studies Conference ที่นครพนม ระหว่างวันที่ 7-9 มกราคม 2545 ชื่อบทความคือ The System of Phi Among the Thai in Quy Chau Area, Nghe An Province (Vietnam)

บทความเดิมมี พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล** เก็บความและวิจารณ์


เชิงอรรถของผู้เขียน

[1] ในอดีตกวี่โจวเป็นเขตปกครองใหม่ ซึ่งประกอบด้วย Quy Chau, Que Phong, Quy Hop และบางส่วนในปัจจุบันคือเขต Nghia Dan ขณะนี้เขตกวี่โจวแบ่งเป็นเขตปกครองที่ประกอบด้วยหน่วยปกครองต่างๆ แต่ก็มีลักษณะร่วมทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม โดยวัฒนธรรมของกลุ่มคนไทยมีบทบาทที่โดดเด่น ในบทความนี้เขตกวี่โจวหมายถึงดินแดนในครอบคลุมคือ Quy Chau, Que Phong, Quy Hop และบางส่วนของ Nghia Dan

[2] ในจังหวัดเหงะอันมีพลเมืองที่เป็นกลุ่มคนไทยทั้งหมด 211,316 คน อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในชุมชน 2 แห่ง คือ ชุมชนบนถนนไฮเวย์ หมายเลข ๗ (ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดเหงะอัน) ประกอบด้วยเขต Con Cuong และ Tuong Duong

อีกชุมชนหนึ่งอยู่ที่ถนนไฮเวย์ หมายเลข ๔๘ (ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดเหงะอัน) ประกอบด้วยเขต Quy Chau, Que Phong, Quy Hop และ Nghia Dan และกลุ่มคนไทยที่อยู่ในเขต Tan Ky, Quynh Luu (ที่มา : The Committee of Ethnic Groups and Highland Areas of Nghe An Province. Nghe An Publishing House, 1992. มีนโยบายเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยและชาวเขาในเขตจังหวัดเหงะอัน pp. 146-147.)

[3] คนไทยในเขตกวี่โจวไม่อาจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มที่ชัดเจนอย่างพวกไทยดำ-ไทยขาว ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม แต่ถ้าถามพวกไตโดว่าเขาเป็นไทยกลุ่มไหน เขาจะตอบว่าเป็นพวกไทยขาว ส่วนพวกไตถ่านจะตอบว่าเป็นพวกเดียวกับไทยดำ

[4] โปรดดู ภาคผนวกที่ 2 แผนผังแสดงการใช้พื้นที่ของบ้านคนไทยในเขตกวี่โจว ห้องจะอยู่ด้านหน้าสุดของหัวเรือน

[5] Tran Tu. The Muong Ethnic Group in Hoa Binh. Hanoi : Association of Vietnamese Historians, p. 233.

[6] เขตแดนของกวี่โจวอยู่ติดกับลาวมีขนาดยาว 85 กิโลเมตร ดังนั้น จากความยาวทำให้วัฒนธรรมของเขตทั้งสองไหลบ่าใส่กันและกันเป็นเรื่องปกติ ก่อนปี 1945 ความสัมพันธ์ทางญาติ การแต่งงาน และการค้าแลกเปลี่ยนกันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมากระหว่างคนลาวกับคนไทยในเขตกวี่โจว

บรรณานุกรมของผู้เขียน

A. Louqpe. (1934). Les Muong de Cua Rao. Imprimerie d’Extreme-Orient, Ha Noi.

Cam Trong. (1978). The Thai in North-West Viet Nam. Social studies publishing house, Ha Noi.

______. (1987). Historical background of the economy and society of the ancient Thai in North-West Vietnam. Social studies publishing house, Ha Noi.

Cam Trong-Phan Huu Dat. (1995). Thai culture in Viet Nam. National culture publishing house, Ha Noi.

Ch. Roberquain. (1929). Les Thanh Hoa, Etude geographique d’une province Annamite. Paris/Bruxelles.

Dang Nghiem Van. (1990). The Lac Muong (territorial pillar) : A power fetish of Thai seigneurs. Proceedings of the International Conference of Thai Studies. Vol. III. pp. 69-72.

Dang Nghiem Van, Cam Trong, Kha Van Tien, Tong kim An. (1977). Documentations on Thai’s history and society. Social studies publishing house, Ha Noi.

Dau Tuan Nam. (2001). The ‘phi’ belief of the Thai in Quy Chau-Nghe An Province. B.A. essay, University of social studies and humanity, Ha Noi.

H. Maspero. (1950). Les Religions Chinoises. Vol. I. La societe et la religion des Chinois anciens et celles des Tai moderners. Civilisations du Sud S.A.E.P.5. rue de Lille.

Hoang Luong. (2000). ‘On a few religious conceptsm of the Thai at Muong Tac (Phu Yen-Son La),’ in Religious studies review, No 2, pp. 61-67.

Le Si Giao. (2000). ‘Classification of Thai ethnic groups in Thanh Hoa and Nghe An provinces,’ in Ethnographic studies, No l, pp. 22-25.

Nghe An Committee of ethnic groups and mountainous areas. (1992). Some policies on ethnic groups and mountainous areas of Nghe An. Nghe An publishing house, Vinh.

Nguyen Dinh Loc. (1993). Ethnic minorities in Nghe An. Nghe An publishing house, Vinh.

Phya Anuman Rajadhon. (1998). Thailand traditional culture. Culture publishing house, Ha Noi.

R. Robert. (1941). Notes sur les Tay Deng de Lang Chanh (Thanh Hoa-An Nam). Imprimerie d’ Extreme-Orient, Ha Noi.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564