รำลึก Berserk สามัญชนลุกขึ้นท้าทายวังวนอำนาจ พล็อตอมตะที่ยังไม่มีใครรู้ตอนจบ

การจัดแสดงหนังสือมังงะ "เบอร์เซิร์ก" (Berserk) ในงาน Paris Book Fair 2019 เมื่อ 18 มีนาคม ภาพจาก JOEL SAGET / AFP

***บทความนี้อาจเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของเรื่อง “เบอร์เซิร์ก” (Berserk)***

นับตั้งแต่มนุษย์สามารถสื่อสารด้วยภาษาและงานเขียน งานประพันธ์รูปแบบต่างๆ ถือกำเนิดขึ้นหลากหลายรูปแบบพัฒนามาสู่สื่อต่างๆ ในวัฒนธรรมร่วมสมัย บรรดาวัฒนธรรมร่วมสมัยแห่งยุค 90s จนถึง 2000s ปฏิเสธได้ยากว่า “มังงะ” (Manga) จากโลกตะวันออกและคอมิก (Comic) จากตะวันตกมีบทบาทอย่างมากต่อคนหลายรุ่น และชื่อเรื่อง “เบอร์เซิร์ก” (Berserk) ก็คืออีกหนึ่งตำนานของสื่อวัฒนธรรมร่วมสมัยซึ่งได้รับความนิยมอย่างยาวนาน

เบอร์เซิร์ก (Berserk) ประพันธ์โดยอ.มิอูระ เคนทาโร่ (Miura Kentaro) ซึ่งเพิ่งมีข่าวเผยแพร่ว่าเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 2021 น่าเสียดายที่งานระดับตำนานของอ. ยังไม่ได้ไปถึงจุดจบของเรื่อง อย่างไรก็ตาม กระแสการรับรู้ผลงานประพันธ์ของอ.มิอูระ ตลอดระยะเวลาไม่ต่ำกว่าทศวรรษ งานชิ้นนี้ได้รับความนิยมและถูกคนทั่วโลกพูดถึงเสมอ เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงคุณภาพในเนื้อหาและการผลิตของผลงานชิ้นนี้ได้

สิ่งที่น่าสนใจของเบอร์เซิร์ก (Berserk) ไม่ใช่ในแง่เรื่องเชิงศิลป์ การเล่าเรื่องด้วยภาพอันมีรายละเอียดสมบูรณ์ โทนภาพครอบคลุมทั้งความมืดหม่นของมนุษย์ ไปจนถึงทัศนียภาพอันงดงามในโลกแห่งจินตนาการ ฯลฯ สิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์อันทำให้เรื่องราวของเบอร์เซิร์กมีผู้ติดตามทั่วโลกย่อมเป็นเนื้อเรื่องแสนจะเข้มข้น

โครงเรื่องหลักของ “เบอร์เซิร์ก” เล่าเรื่องชะตากรรมของนักดาบชื่อ “กัซ” (Guts) ในโลกจินตนาการซึ่งอ้างอิงบรรยากาศและลักษณะมาจากยุคกลางในยุโรป ยุคแห่งอัศวิน ทหารรับจ้าง ศาสนา ความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ สงคราม ชุมชน ตระกูลผู้มั่งมี อาณาจักรในดินแดน และเรื่องโรคระบาด

กัซเติบโตจากทารกที่รอดจากสงครามและถูกช่วยเหลือโดยทหารรับจ้าง ถูกเคี่ยวเข็ญอย่างหนัก (พร้อมๆ ไปกับถูกละเมิด) จนกลายเป็นนักดาบที่โดดเด่น โชคชะตานำพาให้กัซ เข้าร่วมกับ “กองพันเหยี่ยว” หน่วยทหารรับจ้างที่ลือชื่อ

หัวหน้าหน่วยของ “กองพันเหยี่ยว” ชื่อ “กริฟฟิธ” (Griffith) เป็นเด็กหนุ่มรูปงามที่ไต่เต้าขึ้นมาจากคนทั่วไป ทะเยอทะยาน กระโจนเข้าไปสู่วังวนของชนชั้นสูงเพื่อเป็นบันไดไปสู่เป้าหมายของตัวเอง

วังวนของหัวหน้าหน่วย “กองพันเหยี่ยว” นำพา “กัซ” เข้าสู่เรื่องพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ เมื่อ “กริฟฟิธ” หัวหน้าหน่วยเลือกทำ “พิธีสังเวย” ใช้ชีวิตคนร่วมหน่วยเพื่อแลกกับการก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่ง “ก็อดแฮนด์” (Godhand) ซึ่งอ.มิอูระ เล่าไว้ในโครงเรื่องว่า เป็นผู้มีอำนาจเหนือมนุษย์ทั้งปวงและคอยควบคุมประวัติศาสตร์ให้เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น คีย์เวิร์ดดังกล่าวคือ “กระแสแห่งชะตากรรม”

น่าเสียดายที่จนถึงวันนี้ เนื้อเรื่องของ “เบอร์เซิร์ก” ยังไม่ได้เปิดเผยที่มาและคำอธิบายเกี่ยวกับ “ก็อดแฮนด์” (รวม “กริฟฟิธ” สมาชิกใหม่แล้วมีสมาชิกรวมทั้งหมด 5 ราย) อย่างแน่ชัด

แต่เนื้อเรื่องหลักคือ “กัซ” และสมาชิกร่วมหน่วยบางรายได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลปริศนาจนรอดจาก “พิธีสังเวย” มาได้ เขาถูกตีตรา “เครื่องสังเวย” ไว้ซึ่งจะเป็นเครื่องดึงดูดสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติเข้ามาพรากชีวิตเขาไป

ชะตากรรมของสามัญชนอย่าง “กัซ” ผู้รอดชีวิตจากการสังเวยของเพื่อนมนุษย์เพื่อแลกกับการขึ้นสู่อำนาจ กลายมาเป็นการไล่ล่าอดีตเพื่อนที่กลายเป็นผู้มีพลังอำนาจมากกว่าขีดจำกัดของมนุษย์ และต้องดูแลเพื่อนร่วมหน่วยหญิงที่หวาดกลัวภาพและสิ่งที่ถูกกระทำใน “พิธีสังเวย” จนสูญเสียสติไป ไม่เพียงต้องดิ้นรนสู้กับสิ่งมีชีวิตที่จะมารับชีวิต “เครื่องสังเวย” ไปในยามราตรี “กัซ” ที่เหลือแขนและดวงตาอย่างละข้างก็ต้องคอยหาทางฟื้นคืนสติ “เพื่อนคนสนิท” ที่รอดมาด้วยกันให้ได้ด้วย

เรื่องราวของ “กัซ” ไม่ต่างจากตัวละครในวรรณกรรมคลาสสิกในอดีตที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นนิทานปรัมปราในตะวันตก วรรณกรรมตะวันออกจากยุคโบราณจวบจนปัจจุบัน สัญลักษณ์ของสามัญชนที่ไม่ยอมท้อถอยต่อชะตากรรม ลุกขึ้นขัดขืนกับวังวนอำนาจทั้งที่เป็นอำนาจของมนุษย์หรือสิ่งเหนือธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้ “เบอร์เซิร์ก” แตกต่างจากวรรณกรรมคลาสสิกและร่วมสมัยอื่นๆ คือรายละเอียดอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ในเนื้อเรื่อง ทั้งบรรยากาศในยุคกลาง การล่าแม่มด ความเชื่อทางศาสนา เสน่ห์ของนักรบผู้ยืนหยัดท่ามกลางความมืดหม่นในสังคมซึ่งถูกเทียบเคียงกับประวัติศาสตร์สมัยยุคกลางของยุโรป

ฉากหลังของบรรยากาศในเรื่องถูกถ่ายทอดผ่านลายเส้นเชิงศิลป์ใกล้เคียงกับศิลปะยุโรปสอดแทรกไปด้วยความลึกลับและสำนวนเชิงปรัชญาตะวันตกว่าด้วยตัวตน จิตวิญญาณ กาลเวลา และมิติที่ต้องยอมรับว่าเข้าถึงได้ยากสำหรับผู้อ่านบางกลุ่ม

ในแง่เชิงศิลป์แล้ว ตัวละครและงานภาพของอ.มิอูระ ถูกมองว่าย่อมได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมแนวแฟนตาซีวิทยาศาสตร์หลายเรื่อง รูปลักษณ์ตัวละครของก็อดแฮนด์เดิมที่เห็นแล้วชวนคลื่นไส้ทั้ง 4 รายได้รับอิทธิพลจากนวนิยายไซ-ไฟ (Sci-fi) หลายเรื่อง ไปจนถึงงานศิลปะทางศาสนาในหลายประเทศ อาทิ ภาพ “หัตถ์ทรงพลังของพระเจ้า” ในฉาก “พิธีสังเวย” ซึ่งเป็นภาพที่ปรากฏในความเชื่อทางศาสนาของสเปน แต่เมื่อนำมาประยุกต์ดัดแปลงผสมรวมกันแล้วมันช่วยสร้างบรรยากาศมืดหม่นตามแบบฉบับของอ.มิอูระ เรียกได้ว่าเป็นลายเซ็นของผู้สร้างงานท่านนี้จนเป็นที่ชื่นชอบของแฟนๆ

แต่ปมสำคัญอีกประการที่ทำให้นักอ่านยังติดตามเรื่องราวของ “เบอร์เซิร์ก” อยู่ย่อมคือปริศนาของการมีตัวตนอยู่ของตัวละครสำคัญในเรื่องทั้งกลุ่มอำนาจเหนือธรรมชาติ ไปจนถึงชะตากรรมบั้นปลายของสามัญชนอย่าง “กัซ” ผู้มีแต่พละกำลัง อุปกรณ์รบ (ที่ช่วยอัปเกรดความสามารถให้เริ่มเกินขอบเขตระดับของมนุษย์) และจิตใจอันมุ่งมั่นในการท้าท้ายชะตากรรมซึ่งควรจะตกอยู่ในเงื้อมมือของผู้มีอำนาจเหนือกว่าทั้งปวง

น่าเสียดายที่เจตนารมณ์ในการสื่อสารแง่มุมสุดท้ายจากเนื้อเรื่องทั้งหมดที่ปูมายาวนานเกินทศวรรษจากปลายปากกาของผู้เขียนกลายเป็นปริศนาไปเช่นเดียวกับภูมิหลังของตัวละครหลักตัวสำคัญบางตัวในเรื่องซึ่งยังไม่ได้ถูกอธิบายถึง

ไม่ว่าชะตากรรมของสามัญชนผู้หาญกล้าลุกขึ้นมาท้าทายวังวนอำนาจที่มีพลังกำหนดชะตากรรมของปุถุชนอย่างง่ายดายจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน เชื่อว่า เนื้อเรื่องคลาสสิกเกี่ยวกับการต่อสู้ระหว่างสามัญชนกับพลังอำนาจที่เหนือกว่าทั้งปวงจะยังคงมีให้เห็นเสมอ ไม่วันนี้ ก็วันหน้า และอาจเป็นไปอีกยาวนานตราบเท่าที่ยังมีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นในผู้เขียนได้หยิบยกขึ้นมาตกแต่งเป็นวรรณกรรม


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 พฤษภาคม 2564