โทนี่ ฮอว์ค กับตำนาน “สเกตบอร์ด” อันแรกก่อนจะรันวงการ ดันกีฬาสุดแนวให้ฮิตจนวันนี้

(ซ้าย) โทนี่ ฮอว์ค (Tony Hawk) ในงานประกาศรางวัล Laureus World Sports เมื่อกุมภาพันธ์ 2012 ภาพจาก JUSTIN TALLIS / AFP (ขวา) โทนี่ ฮอว์ค แสดงใน Grand Palais ที่ปารีส เมื่อพฤศจิกายน 2009 ภาพจาก JOEL SAGET / AFP

วัฒนธรรมร่วมสมัยซึ่งมีตัวตนปรากฏอยู่ในพื้นที่ของวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีกิจกรรม “สเกตบอร์ด” (Skateboard) กลายเป็นกิจกรรมที่กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง สำหรับผู้มีใจรักในกิจกรรมชนิดนี้ แทบทุกรายย่อมต้องนึกถึงชื่อ โทนี่ ฮอว์ค (Tony Hawk) นักสเกตบอร์ดที่ถูกมองว่า เป็นผู้ทรงอิทธิพลสำคัญรายหนึ่งของวงการจนทำให้กิจกรรมได้รับความนิยมแพร่หลายมาจนถึงวันนี้

ปี 2020 ถึง 2021 พื้นที่สาธารณะและชุมชนย่านต่างๆ ในไทยปรากฏภาพคนรุ่นใหม่ออกมาเล่น “สเกตบอร์ด” แพร่กระจายไปแทบจะหลากหลายมุมของเมือง ภาพที่เห็นนี้อาจเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม(ร่วมสมัย)ซึ่งสืบต่อเนื่องกันมาหลายทศวรรษแล้ว หากมองภาพในวันนี้แล้วลองนึกภาพย้อนกลับไปในช่วงเวลาก่อนที่สเกตบอร์ด จะกลายเป็นกีฬาหรือกิจกรรมที่ได้รับความนิยมกระทั่งได้รับบรรจุเป็นกีฬาในโอลิมปิก 2020 (เลื่อนมาแข่งในปี 2021) ที่กรุงโตเกียว สเกตบอร์ดยังไม่ใช่กิจกรรมที่ทุกคนคุ้นเคยกันแบบนี้

กำเนิดสเกตบอร์ด

หากจะให้กล่าวถึงจุดกำเนิดของ “สเกตบอร์ด” มีผู้เขียนบอกเล่าเอาไว้หลากหลาย ข้อมูลต่างๆ มีทั้งที่สอดคล้องกัน และมีทั้งที่ขัดแย้งกัน แต่ข้อมูลโดยส่วนใหญ่แล้ว มักบอกเล่าไว้ใกล้เคียงกันว่า “สเกตบอร์ด” เชิงพาณิชย์ บริบทแรกเริ่มนั้นก่อร่างขึ้นอย่างชัดเจนในแถบแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

แต่หากย้อนไปก่อนหน้านั้น Ben Marcus ผู้เขียนหนังสือ “The Skateboard: The Good, the Rad, and the Gnarly: An Illustrated History” อธิบายไว้ว่า เส้นทางประวัติศาสตร์ของ “สเกตบอร์ด” กว่าจะมาเป็นรูปร่างหน้าตาแบบที่คนยุคปัจจุบันคุ้นเคยกันนั้น มีพัฒนาการยาวไกลสืบย้อนไปได้ถึงรูปแบบอุปกรณ์ที่สวมใส่เท้า/ใช้เท้าเหยียบแล้วไถไป โดยมีล้อติดอยู่ด้านล่างของอุปกรณ์ ก่อนทศวรรษ 1950s มีอุปกรณ์ที่เรียกว่า Kick Scooter ลักษณะเป็นบอร์ดใช้แผ่นไม้หรือเหล็กนำล้อมาติดด้านล่าง เวลาใช้งาน เท้าหน้าของผู้ใช้จะอยู่บนบอร์ด และใช้เท้าหลังไถเพื่อเคลื่อนที่ ขณะที่มือของผู้ใช้วางบน “มือจับ” (handle) ลักษณะเป็นบาร์ตัวอักษร T ซึ่งมีส่วนปลายของตัว T ยึดติดกับตัวบอร์ด

Ben Marcus อธิบายเพิ่มเติมว่า การประดิษฐ์อุปกรณ์ลักษณะแบบ Scooter พบได้ตั้งแต่ปี 1921 แต่อันที่จริงแล้ว Scooter ก็พัฒนาต่อยอดมาจากสิ่งที่เรียกว่า “โรลเลอร์ สเกต” (Roller Skates) ซึ่งมีร่องรอยสืบย้อนกลับไปได้ถึงปลายศตวรรษที่ 18 เมื่อปรากฏนักประดิษฐ์ชาวเบลเยียมนามว่า Jean Joseph Merlin คิดค้นอุปกรณ์เคลื่อนที่ส่วนบุคคลด้วยวิธีติดตั้งล้อซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับ “อินไลน์สเกต” (inline skate) ในยุคสมัยใหม่

ขณะที่ปี 1819 ปรากฏชาวฝรั่งเศสประดิษฐ์โรลเลอร์สเกตที่มี 3 ล้อ หลังจากนั้นอีกหลายทศวรรษ อุปกรณ์ที่ติดล้อก็ยังเปลี่ยนแปลงไปตาม อาทิ ปรับปรุงจำนวนล้อตั้งแต่ 2-6 ล้อบ้าง แต่ลักษณะโดยรวมแล้วไม่แตกต่างกันมากนัก

กลับมาที่การปรากฏตัวของ “สเกตบอร์ด” อันเป็นประเด็นหลักของเรื่อง Ben Marcus อธิบายว่า ช่วงเวลาที่มีนัยสำคัญจริงๆ คือราวทศวรรษ 40-50s กิจกรรมเซิร์ฟในแคลิฟอร์เนียได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ผู้คนขวนขวายการใช้ชีวิตที่ผ่อนคลายมากขึ้น

Ben แสดงความคิดเห็นว่า การกำเนิดของสเกตบอร์ด หน้าตาแบบปัจจุบัน (เป็นลักษณะบอร์ดติดล้อด้านล่าง และไม่มี “มือจับ”) มาจากความต้องการของกลุ่มเด็กวัยรุ่นในยุค 40-50s พวกเขาดัดแปลงบอร์ดขึ้นมาเพื่อเดินทางไปที่ชายหาด แต่ไม่มีข้อมูลชัดเจนพอจะฟันธงได้ว่าใครคือผู้ประดิษฐ์ขึ้นเป็นคนแรก

ส่วนคำว่า “สเกตบอร์ด” นั้น ไม่ปรากฏในบันทึกใดๆ จนกระทั่งปี 1959 เชื่อว่า สเกตบอร์ด ในเชิงพาณิชย์ก็เริ่มต้นราวปี 1959 ข้อมูลในส่วนนี้สอดคล้องกับการบอกเล่าของโทนี ฮอว์ค ผู้มีบทบาทและอิทธิพลต่อวงการสเกตบอร์ด

โทนี ฮอว์ค เล่าว่า สเกตบอร์ด ในเชิงพาณิชย์ปรากฏในปี 1959 แต่ลักษณะไม่ได้เหมือนกับปัจจุบัน เป็นเพียงแค่สเกตบอร์ด แบบ “ผลิตกันเองในครัวเรือน” (homemade) เทียบกับได้เอาล้อจากโรลเลอร์สเกตมาติดกับแผ่นบอร์ด กระทั่งช่วงต้นยุค 60s บริษัท Makaha และ Hobie ผู้ผลิตสเกตบอร์ด เริ่มเห็นช่องทางทำประโยชน์จากความนิยมของการเล่นเซิร์ฟ และโปรโมทสเกตบอร์ด ซึ่งในเวลานั้นยังเรียกด้วยคำว่า “sidewalk surfing” (ทำนองเซิร์ฟบนทางเท้า/ทางเดิน) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับช่วงที่ไม่มีคลื่นให้เล่นเซิร์ฟได้

แต่กิจกรรมลักษณะนี้ยังไม่ได้รับความนิยม และเริ่มจางหายลงไปอีกหลายปีเนื่องจากข้อจำกัดในแง่การบริหารจัดการที่ทางของ “สเกตบอร์ด” ในสังคมทั่วไปและยังมีข้อกังวลที่มาพร้อมคำเตือนเรื่องความปลอดภัยด้วย

โทนี ฮอว์ค

โทนี ฮอว์ค เป็นนักเล่นสเกตบอร์มืออาชีพ เขากำเนิดเมื่อปี 1968 ที่แคลิฟอร์เนีย เขาถูกมองว่าเป็นบุคคลที่ทำให้สเกตบอร์ดได้รับความนิยมในคนหมู่มากตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวิดีโอเกี่ยวกับสเกตบอร์ดในปลายยุค 90s ได้รับความนิยมอย่างมาก เกม Tony Hawk’s Pro Skater ออกวางจำหน่ายเมื่อปี 1999 ทำให้เกิดกระแสความนิยมสเกตบอร์ดเพิ่มขึ้นมหาศาล กระแสนี้ยังคงส่งผลต่อเนื่องยาวนานนับ 2 ทศวรรษ (Tyler Erzberger, 2020)

โทนี่ ฮอว์ค ได้รับบอร์ดชิ้นแรกของตัวเองในวัย 9 ขวบ เขาเล่าว่า ได้รับบอร์ดชิ้นแรกเป็นพลาสติกแผ่นบางๆ จากสตีฟ พี่ชาย ด้วยความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า ฮอว์ค ใช้เวลาฝึกฝนทักษะกับ “แรมป์” (ramp) หรือทางลาดสำหรับใช้เล่นสเกตบอร์ดที่พ่อของเขาทำขึ้นเอง เมื่อประกอบกับศักยภาพทางร่างกายที่โดดเด่น การฝึกฝนอย่างหนักทำให้ฮอว์ค มีทักษะการเล่นสเกตเบอร์อันยอดเยี่ยม เขาสามารถทำสิ่งที่คนอื่นได้แค่จินตนาการ

ชมคลิปสเกตบอร์ดแรกของโทนี่ จากคลิปด้านล่าง

โทนี่ ยังโชคดีที่ไม่ผู้ปกครองสนับสนุนงานอดิเรกของเขา กระทั่งเริ่มเข้าแข่งขันในวัย 11 ปี และเทิร์นโปรเมื่ออายุ 14 ปี ผู้ปกครองของโทนี่ ยังช่วยจัดตั้งลีกสเกตบอร์ดสมัครเล่นแห่งแคลิฟอร์เนีย และสมาคมสเกตบอร์ดแห่งชาติเพื่อช่วยขับเคลื่อนกีฬาชนิดนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ฮอว์ค ให้สัมภาษณ์ว่า เขาตั้งใจจะประกอบอาชีพเป็นครูสอนคณิตศาสตร์เมื่อเขาโตขึ้นเนื่องจากเขารู้สึกว่าตัวเองเก่งด้านตัวเลข และยังเคยเล่นไวโอลินในช่วงวัยเด็ก แต่ก็หันมาเอาดีทางด้านสเกตบอร์ดมากกว่า

ฮอว์ค เป็นนักสเกตบอร์ด ที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านการเล่นและด้านอื่นๆ มากที่สุดอีกรายหนึ่ง ระหว่างยุค 80-90s เขากวาดรางวัลไป 73 รายการ และยังประดิษฐ์ท่าต่างๆ อีกหลายท่า

อันที่จริงแล้ว สเกตบอร์ด ไม่ได้มีแค่ช่วงขาขึ้น กลางยุค 80s จนถึงต้นยุค 90s เป็นช่วงเวลาที่กิจกรรมชนิดนี้ไม่ค่อยเป็นที่ประสงค์และไม่ได้รับความนิยมจากผู้คนหมู่มากเท่าไหร่ ก่อนที่จะกลับมานิยมอีกครั้งในปลายยุค 90s ช่วงที่กีฬาชนิดนี้เริ่มจางหายลงเรื่อยๆ ฮอว์ค ยังรักษาจุดยืนในวงการแม้ว่ารายได้ของเขาจะหดหายไปมากมาย มีเรื่องเล่ากันว่า เขายังชีพด้วยเงินที่ภรรยาให้มาและใช้มันไปซื้อทาโก้เป็นจำนวน 5 ดอลลาร์ต่อวัน เพื่อประทังชีวิต

หลังจากประสบความสำเร็จในการแข่ง ฮอว์ค และมาตกต่ำ ฮอว์ค ไม่ได้ยอมแพ้ เขารีไฟแนนซ์บ้านหลักแรกของเขาและจับมือกับเพื่อนก่อตั้งบริษัทผลิตสเกตบอร์ดและอุปกรณ์เสริมต่างๆ ในช่วงแรกก็ไม่ได้ราบรื่น บริษัทของเขาทำเงินได้ไม่มากนัก กระทั่งสเกตบอร์ด กลับมาได้รับความนิยมหลังผ่านช่วงต้นยุค 90s ไปแล้ว

ฮอว์ค กลายเป็นเสมือนนกฟินิกซ์ คืนชีพ และตามติดมาด้วยไลน์เสื้อผ้าส่วนตัวในปี 1998 ปีเดียวกันนั้นเอง ฮอว์ค เซ็นสัญญากับบริษัทผลิตเกม อันนำมาสู่เกมที่ปฏิวัติวงการอย่าง Tony Hawk’s Pro Skater เมื่อปี 1999

เกมนี้ประสบความสำเร็จทั้งแง่ยอดขายและส่งอิทธิพลต่อวัฒนธรรมร่วมสมัยในยุคนั้น กลายเป็นเกมในตำนาน ความพยายามในช่วงต้นของฮอว์ค ตอบแทนเขาอย่างมหาศาล จากวันแรกเริ่มทุ่มเทฝึกฝนมาถึงช่วงที่เขาประสบความสำเร็จ ฮอว์ค กวาดรายได้จากการขายอุปกรณ์, เสื้อผ้าไลน์ส่วนตัว และวิดีโอเกม รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ฮอว์ค ประกาศเลิกลงแข่งในรายการต่างๆ เมื่อปี 1999 แต่ยังมีส่วนร่วมกับวงการในแง่การสนับสนุนและประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ

ไม่ว่าข้อมูลจากแหล่งต่างๆ จะบอกไปในทิศทางใด คงปฏิเสธได้ยากว่า แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา คือฐานสำคัญของกิจกรรมสเกตบอร์ด ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีที่กิจกรรมชนิดนี้โลดแล่น ได้รับความนิยมมาถึงช่วงตกต่ำ และคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง กระทั่งกลายเป็นที่ยอมรับของสังคมทั่วไป ปรากฏพื้นที่การเล่นกีฬาชนิดนี้ทั่วทุกหนแห่ง และยังได้รับบรรจุในมหกรรมโอลิมปิก

ฮอว์ค ในฐานะบุคลากรคนสำคัญในแวดวงนี้ กล่าวย้อนถึงความทรงจำในช่วงแรกเริ่มของกิจกรรมนี้ว่า การเล่นสเกตบอร์ด ถูกมองว่าเป็นกีฬาของพวกกลุ่มที่แปลกแยก พวกชายขอบ แต่พวกเขาไม่ได้สนใจต่อสายตาเหล่านี้แต่อย่างใด เพราะเขาไม่ได้มีเป้าหมายไปเข้าพวกกับวัฒนธรรมกระแสหลักอยู่แล้ว แม้แต่เมื่อกระแสธารเปลี่ยนแปลงไป วัฒนธรรมกระแสหลักอ้าแขนเปิดรับการเล่นสเกตบอร์ดมากกว่าที่เคยเป็นมา ฮอว์ค ยังมองว่า ความรู้สึกของวัฒนธรรมแตกต่างจากสังคมและความเป็นปัจเจกนิยมที่ไหลเวียนอยู่ในกลุ่มคนทำกิจกรรมลักษณะนี้จะยังปรากฏเด่นล้ำออกมาอยู่ดี

สำหรับสเกตบอร์ด อันแรกในชีวิตของโทนี่ ฮอว์ค ซึ่งเขาได้จากพี่เมื่อปี 1977 รายงานเมื่อปี 2020 เปิดเผยว่า มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของคอลเล็กชั่นในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติในสหรัฐอเมริกาไปแล้ว


อ้างอิง:

Ben Marcus. The Skateboard: The Good, the Rad, and the Gnarly: An Illustrated History. MVP Books, 2011.

Cole Louison. “What Tony Hawk’s First Skateboard Shows About the History of the Sport He Made Famous”. Smithsonian. Online. Published JUN 2020. Access 23 FEB 2021. <https://www.smithsonianmag.com/smithsonian-institution/tony-hawk-skateboard-history-sport-180974907/>

“Hawk Grows Rich and Stays Relevant”. New York Times. Online. Published 3 AUG 2008. Access 23 FEB 2021. <https://www.nytimes.com/2008/08/03/sports/othersports/03hawk.html>

John Branch. “From Violin to Skateboard”. New York Times. Online. Published 20 NOV 2010.  Access 23 FEB 2021. <https://www.nytimes.com/2010/11/21/sports/21seconds.html>

TONY’S FIRST SKATEBOARD. Tony Hawk official website. Online. Access 23 FEB 2021. <https://www.tonyhawk.com/#front>

Tyler Erzberger. “How the world has changed since the original Tony Hawk’s Pro Skater”. ESPN Esports. ESPN. Online. Published 12 AUG 2020. Access 23 FEB 2021. <https://www.espn.com/esports/story/_/id/29645681/how-world-changed-original-tony-hawk-pro-skater>

Tony Hawk. Skateboarding. Britannica. Online. Access 23 FEB 2021. <https://www.britannica.com/sports/skateboarding>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2564