ร.4 ทรงออกประกาศไม่รับ “พระ(ที่สึก)” ทำราชการมหาดไทย-กลาโหม-กรมท่า?!?

ภาพประกอบเนื้อหา - จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

ทุกวันนี้การอุปสมบท บรรพชา ระยะสั้น  3 วัน, 7 วัน, 1 เดือน ฯลฯ ตามประเพณีนิยมสำหรับชายไทย เพื่อการศึกษาพระธรรมเพียงอย่างเดียว มีให้เห็นเป็นเรื่องปกติ แต่ในอดีตการอุปสมบท บรรพชา สำหรับผู้ชายไม่ใช่แค่เรื่องของประเพณีนิยม หรือการศึกษาพระธรรม หากนี่ยังเป็นโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนความรู้อีกด้วย เพราะ “วัด” ก็คือสถานที่เรียนรู้วิทยาการต่างๆ ในวันที่ยังไม่มีโรงเรียน เช่นนี้พระสงฆ์ สามเณร ที่บวชเรียนบางรูป “สึก” ออกมาตามเหตุปัจจัย

โดยในสมัยรัชกาลที่ 4 มีพระสงฆ์ระดับพระราชาคณะ พระครู ฯลฯ บางรูป ฝากตัวกับเจ้าขุนนาง ด้วยหวังว่าเมื่อ “สึก” ออกไปจะได้เป็นขุนนาง เช่นนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงออก “ประกาศพระสงฆ์ที่จะสึกมารับราชการ” (ณ วันพุธ เดือน 6 ขึ้น 7 ค่ำ ปีขาลฉศก ศีกราช) ไว้ดังนี้

“…พระบาทสมเด็จพระมหากษัตรราธิราชพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทรมหนทรายุธยา บรมราชธานีนี้ 3 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้า เจ้าอยู่หัว 4 พระองค์ทั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้วนทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใส หวังพระราชหฤทัยจะทรงทะนุ บำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรื่องบำเพ็ญพระราชกุศลให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ได้ทรงพระราชฯสาหะบริจาค พระราชทรัพย์ ทรงประดิษฐานปฏิสังขรณ์พระอารามเป็นอันมาก ประดับด้วยอุโปสถาคารวิหารเสนาสนะน้อยใหญ่ให้ประณีตงดงามดี สมควรเป็นที่อยู่แห่งพระภิกษุสงฆ์สมณะบรรพชิต ปฏิบัติสมณะกิจตามธรรมวินัย

เมื่อทรงเห็นพระภิกษุสงฆ์รูปใดมีสติปัญญาวิทยาคุณ ควรจะเป็นพระราชาคณะพระครูฐานานุกรมผู้ใหญ่รักษาหมู่คณะ ได้ ก็ทรงพระราชทานฐานันดรศักดิ์ ทรงถาปนาให้เป็นพระราชาคณะพระครูฐานานุกรมผู้ใหญ่ ปกครองหมู่คณะสั่งสอน ภิกษุสามเณร ให้ศึกษาเล่าเรียนพระคัมภีร์แลปฏิบัติสิกขาบทน้อยใหญ่ ได้ทรงพระราชทานนิตยภัตทุกๆ เดือน แต่พระราชาคณะฐานานุกรมตามควรแก่คุณสมบัติแห่งท่านนั้นๆ

เมื่อภิกษุสงฆ์สามเณรรูปใดมีสติปัญญา ฉลาดเล่าเรียน แปลพระคัมภีร์ได้เป็นที่เปรียญ เอก โ ท ตรี  ก็ทรงพระราชศรัทธาถวายนิตยภัตตามควรทุกเดือน ให้เป็นกำลังแก่การเล่าเรียนสืบไป แลทรงพระราชทานนิตยภัตราคาสองสลึง แด่พระภิกษุสงฆ์ซึ่งอยู่ในพระอารามหลวงนั้นๆ ทั้งสิ้นทุกๆ เดือน ก็แลพระราชทรัพย์ที่ทรงพระราชอุทิศถวายแด่พระราชาคณะพระครูฐานานุกรมเปรียญพระสงฆ์อันดับเดือนหนึ่งๆ เป็นเงินตรา 67 ชั่งเศษ ปีหนึ่งเป็นเงินตรา 804 ชั่งเศษ

แต่ทรงพระราชศรัทธาบริจาคพระราชทรัพย์ทรงทะนุบำรุงให้เป็นกำลังในพระศาสนามากถึงเพียงนี้ ฝ่ายพระราชาคณะพระครูฐานานุกรมเปรียญพระสงฆ์อันดับ เพราะอาศัยได้รับพระราชทานนิตยภัตซึ่งทรงพระราชอุทิศถวายนั้นเป็นกำลัง ได้สั่งสอนกันให้ศึกษาเล่าเรียนพระคัมภีร์เจริญมาช้านาน

ครั้นบัดเดี๋ยวนี้ พระราชาคณะ พระครู  ฐานานุกรม เปรียญ บางองค์ที่เป็นโลภัชฌาสัยใจมักบาปแสวงหาแต่ลาภสักการแลยศถ่ายเดียว เที่ยวประจบฝากตัวในเจ้าขุนนาง ไว้ตัวเป็นคนกว้างขวางในกรมมหาดไทย กรมพระกลาโหม กรมท่า ด้วยคิดเห็นว่าท่านเหล่านั้นมีบุญวาสนา จะช่วยกราบทูลพระกรุณาให้สึกออกมาเป็นขุนนางในตำแหน่งกรมมหาดไทย กรมพระกระลาโหม กรมท่า แห่งใดแห่งหนึ่งได้ [เน้นโดยผู้เขียน]

ก็ซึ่งพระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญรูปใดคิดดังนี้นั้นคงไม่สมประสงค์แล้ว อย่าคิดเลยเหนื่อยเปล่า เพราะว่าจะต้องพระราชประสงค์แต่คนที่มีชาติตระกูลเป็นบุตรขุนนางในตำแหน่งกรมมหาดไทย กรมพระกลาโหม กรมท่า ไม่ต้องพระราชประสงค์คนชาววัดเป็นพระยา พระ หลวง ขุน หมื่นในกรมมหาดไทย กรมพระกลาโหม กรมท่า

พวกชาววัดนั้นควรจะเป็นขุนนางได้แต่ในกรมลูกขุน กรมอาลักษณ์ กรมธรรมการ กรมราชบัณฑิต กรมสังฆการี เท่านั้น ซึ่งชาววัดที่มิใช่บุตรมีชาติตระกูลคิดเสือกสนไปในกรมอื่น นอกจาก 5 กรมนี้แล้วไม่ได้เลยเป็นอันขาด ขอพระราชาคณะ พระครู ฐานานุกรม เปรียญทั้งปวง จงทราบความตามกระแสพระราชบัญญัตินี้เทอญ๚” [เน้นโดยผู้เขียน]


ข้อมูลจาก ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2394-2400, โรงพิมพ์คุรุสภา พิมพ์ครั้งที่ 1, ธันวาคม 2503


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 15 พฤษภาคม 2562