ความหมายดีๆ ของ “ต้นไม้” ที่เกี่ยวข้องในพระราชพิธีบรมราชภิเษก

ใบสมิต

ขั้นตอนและรายละเอียดของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีเครื่องประกอบพระราชพิธีจำนวนมาก ทำให้ว่าพระราชพิธีศักดิ์สิทธิ์และยิ่งใหญ่ แม้แต่ “ต้นไม้” ที่ใช้ก็มีความน่าสนใจ เมื่อลองรวบรวมดูพบว่าเป็นต้นไม้ ดอกไม้ ฯลฯ ที่ใช้ส่วนใหญ่พบเห็นอยู่โดยทั่วไป  แต่หลายชนิดมีความหมายที่เป็นมงคล ดังนี้

ดอกจำปา ที่มีความเชื่อว่าเป็นดอกไม้สวรรค์ จะร่วงหล่นมาในวาระโอกาสพิเศษสำคัญ เช่น โอกาสที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ อย่างที่พบเห็นได้ตามจิตรกรรมฝาผนัง ที่เขียนดอกจำปาแซมลงมากับภาพเทพชุมนุม ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะเห็นดอกจำปาทำจากทองคำแท้จัดเป็นช่อ ผูกไว้โดยรอบพระนพปฎลมหาเศวตรฉัตร ที่ปักตั้งอยู่เบื้องหลังที่พระที่นั่งภัทรบิฐ(ประดิษฐานอยู่เบื้องตะวันตกเฉียงเหนือในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ) ที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินประทับเพื่อทรงรับการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระแสงอัษฎาวุธ เครื่องราชูปโภคและราชสมบัติ

ดอกพิกุล เป็นดอกไม้ที่เมื่อยังสดและแห้งก็มีกลิ่นหอมเย็น คนไทยจึงถือเป็นดอกไม้วิเศษ ราชสำนักไทยนิยมทำดอกพิกุลทอง ดอกพิกุลเงิน ให้องค์ประธานทรงโปรยในระหว่างการประกอบพระราชพิธีเสมอ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, พระราชพิธีลงสรง ฯลฯ

ใบมะตูม

ใบมะตูม เป็นใบไม้ที่ใช้ประกอบพิธีมงคล เป็นใบไม้ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ใบมะตูมีลักษณะเป็น 3 แฉกเป็นเครื่องหมายของตรีมูรติ ในการจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระราชสมภพ แกะพระราชสัญจกร และจารึกพระสุพรรณบัฏพระบรมวงศ์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 พระมหาราชาครูพิธีศรีวิสุทธิ์คุณ ประธานพิธีพราหมณ์ วางใบมะตูมที่พระสุพรรณบัฏ ดวงพระราชสมภพ และพระราชสัญจกร และยังใบมะตูมในพระราชพิธีอื่นๆ

ใบมะม่วง ตามคติฮินดูเชื่อว่ามะม่วงเกิดที่เขาไกรลาส และว่าเป็นภาคหนึ่งของพระพรหม มะม่วงจึงเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ใบมะมะม่วง, ใบทอง, ใบตะงบ จัดตามจำนวนที่กำหนดคือ 25 ใบ 32 ใบ 96 ใบ ตามลำดับมัดเป็นช่อและหุ้มโคนด้วยผ้าขาวเรียกว่า “ใบสมิต” เป็นใบไม้มงคลที่พราหมณ์จัดทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาในโอกาสครบรอบนักษัตร เช่น 5 รอบ 6 รอบ พราหมณ์นำไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีสำหรับใช้ปัดพระองค์เพื่อปัดภัยต่างออกจากพระองค์

ใบสมิต ที่นำใบมะม่วง, ใบทอง, ใบตะงบ มามัดรวมเป็นช่อ (ภาพจาก “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” กระทรวงวัฒนธรรม)

หญ้าคา ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ เป็นหญ้าที่ได้รับน้ำอมฤตจากการกวนเกษียรสมุทรระหว่างเทวดาและอสูร พรามหณ์จึงใช้หญ้าคาเป็นเครื่องบูชาเทพเจ้า เพื่อสะเดาะเคราะห์ สำหรับศาสนาพุทธมีการใช้หญ้าคาปูลาดต่างอาสนะของพระพุทธเจ้า ในพระราชาพิธีบรมราชาภิเษกใช้หญ้าคาปูลาดพระที่นั่งภัทริฐ

ไม้มะเดื่อ ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ไม้มะเดื่อเป็นที่ประทับของเทพเจ้าตรีมูรติ ส่วนศาสนาพุทธเป็นไม้มะเดื่อเป็นต้นไม้ที่พระโกนาคมน์-อดีตพระพุทธเจ้า ประทับนั่งตรัสรู้ ดังนี้จึงนำไม้มะเดื่อมาทำเป็น พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์

ขณะที่ภาพพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงโปรยดอกพิกุลเงินพิกุลทองพระราชทานแก่พราหมณ์ ซึ่งมีความเชื่อว่าต้นพิกุลเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งในสวนของพระอินทร์ บริเวณพระบรมมหาราชวังเป็นดุจสรวงสวรรค์

สถานภาพของพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นดุจดั่งองค์สมมติเทพ ทรงโปรยดอกไม้ชนิดนี้ เป็นการเปรียบว่าการโปรยดอกไม้จากสวรรค์มาให้มนุษย์ชื่นชม

ที่ยกมานี้เป็นเพียงพืชพรรณส่วนหนึ่ง ในวันพระราชพิธี 4พฤษภาคม 2562 นี้ คงมีต้นไม้, ใบไม้, พืชผลอื่นๆ อีกที่มีนัยยะของความเป็นสวัสดิมงคล เพื่อถวายพระพรพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่

ข้อมูลจาก

ดร.นนทพร อยู่มั่งมี, ผศ.ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์. เสวยราชสมบัติกษัตรา, สำนักพิมพ์มติชน มีนาคม 2562

ณัฏฐภัทร จันทวิช. พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, กรมศิลปากรจัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จประมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 5 ธันวาคม 2530

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก. กระทรวงวัฒนธรรม 2560


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 2 พฤษภาคม 2562