ผู้เขียน | พร่างพนานต์ ช่วงพิทักษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ท้าวแสนปม เป็นหนึ่งในบทพระราชนิพนธ์บทละครของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นระหว่างที่เสด็จกลับจากทอดพระเนตร “พระเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยทรงเริ่มต้นพระราชนิพนธ์ที่ตำบลบ้านโข้ง สุพรรณบุรี ต่อเนื่องเรื่อยมาระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินกลับ จนกระทั่งพระราชนิพนธ์แล้วเสร็จเมื่อเสด็จกลับมาถึงที่พระราชวังสนามจันทร์ ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๖ และได้มีการจัดพิมพ์เผยแพร่ในปีเดียวกัน
เนื้อเรื่องของท้าวแสนปมนั้นมีการนำเค้าโครงมาจากการแสดง “ตำนานเมืองอู่ทอง” อันเป็นตำนานท้องถิ่นที่กล่าวถึงต้นกำเนิดของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ที่ปกครองอาณาจักรอยุธยา
ในบทพระราชนิพนธ์เรื่องท้าวแสนปม แม้จะนำเค้าโครงเรื่องมาจากตำนาน ทว่าก็ได้มีการปรับแก้ความในบางส่วนให้มีความสมจริง สามารถที่จะเป็นไปได้มากขึ้น รวมทั้งยังมีที่มาของเหตุการณ์ต่างๆ และความเป็นมาของตัวละคร ดังเช่นที่ในตำนานนั้นมิได้กล่าวถึงที่มาของนายแสนปม มีการกล่าวถึงเพียงแค่เป็นชายทุคตะคน มีผิวเป็นปุ่มปมจึงได้ชื่อว่า “นายแสนปม” เพียงเท่านั้น แต่ในบทพระราชนิพนธ์ท้าวแสนปมจะมีการกล่าวถึงความเป็นมาว่า นายแสนปมนั้นแท้จริงแล้วเป็นพระโอรสของเจ้านครศรีวิไชยที่แปลงตัวมาเพื่อลอบชมโฉมพระธิดาของเจ้านครไตรตรึงษ์
นอกจากจะมีการกล่าวถึงที่มาของตัวละครแล้ว ในบทพระราชนิพนธ์ยังได้มีการเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ในตำนานที่ดำเนินไปตามอิทธิฤทธิ์ การดลบันดาลของเทพ เทวดา ให้มีความสอดคล้องกับความเป็นจริงยิ่งขึ้น ดังในความตอนหนึ่งของตำนานนั้นที่กล่าวว่าพระธิดาแห่งไตรตรึงษ์ทรงครรภ์หลังจากเสวยมะเขือที่นายแสนปมถวาย แต่ในเรื่องท้าวแสนปมนั้นได้มีการกล่าวถึงการที่ทั้งพระธิดาและนายแสนปมนั้นเคยพบเจอกันมาก่อนจนเกิดใจปฏิพัทธ์ต่อกันและได้ลักลอบพบกันเป็นประจำ
แม้กระทั่งในตำนานที่ได้มีการกล่าวถึงกลองวิเศษ “อินทเภรี” ที่พระอินทร์มอบให้นายแสนปม เมื่อตีแล้วก็ปรากฏว่าปุ่มปมนั้นหายไปและเมื่อตีอีกครั้งก็สามารถเนรมิตเมืองขึ้นใหม่ได้ ซึ่งจะแตกต่างจากในเรื่องท้าวแสนปมที่กล่าวถึงกลองอินทเภรีในฐานะที่เป็นกลองที่ใช้ตีให้สัญญาณในการรบ ซึ่งนายแสนปมนั้นใช้เป็นเครื่องมือประกอบในการทำอุบายเพียงเท่านั้น
การที่เนื้อเรื่องท้าวแสนปมมีการปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องในบางเหตุการณ์ให้มีความสมจริงยิ่งขึ้นนั้นก็เป็นไปตามพระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงวิเคราะห์ประกอบกับการใช้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกที่จะนำเรื่องราวในตำนานท้องถิ่นมาเป็นเค้าโครงของบทพระราชนิพนธ์นี้ นอกจากจะเป็นการแสดงถึงพระปรีชาสามารถในด้านประวัติศาสตร์ของพระองค์แล้ว ยังมีความเป็นไปได้อีกประการหนึ่งคือพระองค์นั้นทรงต้องการที่จะใช้บทพระราชนิพนธ์เป็นเครื่องมือในการตอบสนองต่อพระราโชบายในรัชสมัยของพระองค์
เนื่องจากในช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่ ๖ นั้น เป็นยุคสมัยที่มีความผันผวนทางอำนาจมาก ทั้งจากภายนอกคือเจ้าอาณานิคมตะวันตกที่ยังคงแผ่ขยายอำนาจผ่านการล่าอาณานิคม ขณะเดียวกันก็บังเกิดความผันผวนของอำนาจทางการเมืองการปกครองภายในประเทศระหว่างกลุ่มที่นิยมอำนาจเก่าและกลุ่มที่ต้องการนำระบอบประชาธิปไตยเข้ามาใช้
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงต้องเร่งสร้างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้น ผ่านการสร้างความคิดที่ตอกย้ำว่าชาติและพระมหากษัตริย์นั้นเป็นหนึ่งเดียวกันไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ การนำตำนานที่กล่าวถึงต้นกำเนิดของปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยามาเป็นเค้าโครงบทพระราชนิพนธ์จึงเป็นการส่งเสริมถึงฐานะความสำคัญขององค์พระมหากษัตริย์
ในอีกแง่หนึ่งก็ยังเป็นการแสดงถึงการให้ความสำคัญต่องานประเภทการเขียนประวัติศาสตร์ชาติ (National history) อีกด้วย เนื่องจากรัชกาลที่ ๖ นั้นก็ทรงให้ความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ของชาติ เพราะการศึกษาประวัติศาสตร์ของชาตินั้นก็เป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างความเป็นชาติ เป็นการแสดงถึงความมีอารยธรรม ประวัติความเป็นมาอันก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทย
การศึกษาตำนานจึงเป็นการมองประวัติศาสตร์ในอีกแง่มุมหนึ่งที่แตกต่างจากพงศาวดาร เนื่องด้วยเป็นการศึกษาผ่านมุมมองของชาวบ้าน มิใช่จากเพียงพงศาวดารที่พระมหากษัตริย์มีพระราชดำรัสให้บันทึกไว้
การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชนิพนธ์เรื่องท้าวแสนปมจึงมิได้เป็นไปเพียงแค่ในแง่ของความบันเทิงเพียงเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นไปในแง่ของการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ได้เช่นกัน
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 5 มิถุนายน พ.ศ.2561