กำเนิดส.ค.ส. ในไทยเริ่มจากเจ้านาย…พระองค์ทรงส่งให้ใคร?

ตัวอย่าง ส.ค.ส. สมัยก่อน (ภาพจากหนังสือ "สิ่งพิมพ์สยาม" รวบรวมโดย เอนก นาวิกมูล)

ส.ค.ส. การ์ดอวยพรปีใหม่ ส่งความสุขให้ใคร ๆ ทั่วโลก ในเมืองไทยเริ่มสมัยรัชกาลที่ 4 แต่พระองค์ทรงส่งให้ใคร

การส่ง “ส.ค.ส.” หรือ ส่งความสุข เริ่มครั้งแรกในประเทศไทย คือรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น แล้วโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์คัดลอกเพื่อที่จะพระราชทานแก่ข้าราชบริพาร และชาวต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างมิตรไมตรีที่ดีต่อกัน โดยมีการค้นพบ ส.ค.ส. ที่เก่าแก่ที่สุดคือฉบับปี พ.ศ. 2409

ผู้ที่ค้นพบ ส.ค.ส. ฉบับที่เก่าแก่ที่สุดคือ คุณธวัชชัย ตั้งศิริวานิช ซึ่งค้นพบที่ประเทศอังกฤษ เป็นฉบับที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้แก่ กัปตันจอห์น บุช หรือหลวงวิสูตรสาครดิษฐ ที่ดูแลกรมเจ้าท่าในขณะนั้น

คุณธวัชชัย ได้อธิบายลักษณะเกี่ยวกับ ส.ค.ส. ฉบับนี้ในบทความ ส.ค.ส.ฉบับแรกของสยาม ว่า “ส.ค.ส. ฉบับนี้ไม่เป็นรูปแบบบัตรอวยพรพร้อมลวดลายวิจิตรอย่างเช่นในปัจจุบัน แต่เป็นกระดาษสมุดฝรั่งสีครีมพับครึ่ง ไม่ต่างจากกระดาษจดหมายทั่วไป ส.ค.ส. ฉบับนี้ เมื่อคลี่ออกมาจะมีขนาดความกว้าง 18 เซนติเมตร ยาว 23 เซนติเมตร ซองมีขนาดความกว้าง 8.1 เซนติเมตร ยาว 13.9 เซนติเมตร พระราชสาสน์อวยพรมีความยาวทั้งสิ้น 4 หน้า และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานลายเซ็นพระนามลงบน ส.ค.ส. ฉบับนี้ด้วย”

แสดงให้เห็นว่า ส.ค.ส. เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น กว่าศตวรรษแล้ว เป็นที่น่าเสียดายถ้าปัจจุบัน การส่งความสุขผ่าน ส.ค.ส. เริ่มหายไปจากเมืองไทย อาจเป็นเพราะความเจริญด้านเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน แต่อย่างไรก็ตาม ส.ค.ส. ยังคงมีคุณค่าในตัวเอง เพราะว่าผู้ส่งมีความพิถีพิถันในการเขียนและประดับตกแต่งให้ดูสวยงามก่อนส่งให้คนที่รัก

 


อ้างอิง

ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช. “ส.ค.ส. ฉบับแรกของสยาม”. สารคดี ปีที่ 16 ฉบับที่ 191 มกราคม 2544

เอนก นาวิกมูล. สิ่งพิมพ์สยาม. กรุงเทพฯ : ริเวอร์บุคส์


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 ธันวาคม 2560