ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“ครอบครู” คือพิธีไหว้ครู เพื่อแสดงความเคารพสักการบูชาครูบาอาจารย์ อยู่ในศาสตร์หลายแขนงโดยเฉพาะกลุ่มนาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์ ถือเป็นพิธีที่แพร่หลายในสังคมไทยภาคกลาง ส่วนเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อใดนั้นยังไม่มีหลักฐานยืนยัน
แต่เมื่อพิจารณาชื่อพิธีกับสิ่งที่ปฏิบัติกัน เราจะเห็นความลักลั่นบางอย่าง นั่นคือการที่ครูนำ “เศียรพ่อแก่” ครอบศีรษะศิษย์หรือผู้ร่วมพิธี เมื่อเป็นดังนั้น ควรเรียกพิธีนี้ว่า “ครอบศิษย์” หรือไม่ ไฉนเรียก “ครอบครู” หรือคำว่า “ครอบ” ในที่นี้มีความหมายต่างออกไป?
การจะไขข้อข้องใจนี้ ต้องย้อนดูความเชื่อมโยงทางภาษาระหว่างภาษาไทยกับภาษาลาว
คำว่า “ครอบ” ในอีกความหมายเป็นคำไทโบราณ และปรากฏอยู่ในภาษาลาวด้วย คือ คอบ / ຄອບ เพราะเราต่างก็มีรากทางภาษาร่วมกัน
ทั้งนี้ ความหมายของ ครอบ กับ คอบ หรือแม้แต่ ขอบ ในภาษาไทยและลาวมีความใกล้เคียงกัน ถือเป็นคำศัพท์ร่วมตระกูลภาษา เพียงแต่ภาษาไทยนั้น เมื่อใช้ในบางบริบทจะมีความหมายใหม่เพิ่มขึ้นมา
เรื่องนี้ วีระพงศ์ มีสถาน อธิบายไว้ในบทความ “ ‘ครอบครู’ ความหมายที่ทรงค่า” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2567 ว่า
ครอบ หมายถึง คารวะ ไหว้ นอบน้อม อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏการใช้ “ครอบ” ในความหมายนี้ร่วมกับคำอื่น ยกเว้น ครอบครู
คอบ หมายถึง คารวะ ไหว้ นอบน้อม เช่นกัน แต่ใช้ได้ทั้งคอบคู (ครอบครู) คอบพ่อ คอบแม่ คอบลุง ป้า น้า อา และไปลามาคอบ (เหมือน ‘ไปมาลาไหว้’ ในภาษาไทย)
ส่วน ขอบ หมายถึง สำนึกบุญคุณ รู้คุณ ในความหมายนี้ ปรากฏร่วมในคำว่า ขอบคุณ ขอบใจ
ในสังคมภาคอีสาน ซึ่งมีวัฒนธรรมลาวอยู่ยังปรากฏประเพณีเกี่ยวกับการเคารพครูบาอาจารย์เช่นกัน เช่น หากจะเรียนเป็นหมอลำ ต้องนำของไปไหว้ครู เรียกเป็นภาษาปากว่า คอบคู (เทียบภาษาไทยกลางคือ พิธียกครูหรือการยกย่องครู)
การใช้คำว่า คอบ ในวัฒนธรรมลาว จึงมิใช่แค่การไหว้ แต่หมายรวมไปถึง ความรัก ภักดี การเคารพบูชา
“ครอบครู” ในวัฒนธรรมไทยภาคกลาง แต่เดิมก็น่าจะมีความหมายเดียวกันกับวัฒนธรรมลาว คือลูกศิษย์คารวะครูของตน
ต่อมาในรัชกาลที่ 6 การครอบครูที่เดิมอาจเป็นเพียงการที่ศิษย์นำสิ่งของ ของกิน ของใช้ ไปไหว้ครู ด้วยรำลึกและบูชา ได้กลายเป็นการจัดเป็นพิธีทางการ มีการรำถวายมือ หรือการบรรเลงดนตรีเพื่อเป็นการเคารพครู และแสดงศักยภาพทางด้านความรู้ความสามารถ รวมถึงการรวมรุ่นลูกศิษย์ทั้งหลาย
อีกจุดเด่นในพิธีคือ การที่ครูนำเศียรพ่อแก่ครอบศีรษะให้ลูกศิษย์ เมื่ออาการดังกล่าวออกเสียง “ครอบ” เหมือนชื่อพิธี จึงอาจทำให้หลายคนทึกทักได้ว่าชื่อพิธีมาจากขั้นตอนข้างต้น ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ครอบครู หมายถึง การเคารพ บูชาครู
ชื่อพิธี “ครอบครู” จึงถูกต้องตามหลักภาษาแล้ว และมิได้หมายถึงการครอบงำหรือครอบคลุมครูแต่อย่างใด เพราะลูกศิษย์ย่อมไม่อาจ “ครอบ” อยู่เหนือครูได้
อ่านเพิ่มเติม :
- ครูผี และครูมนุษย์ ในพิธีกรรมไหว้ครูช่าง
- “พระคเณศ” ไม่ใช่ “เทพศิลปะ” รัชกาลที่ 6 ทรงทำให้เป็นเทพศิลปะ
- ประเพณีไหว้ครู มาจากไหน? จากคติพราหมณ์ ถึงสมัยกรมพระยาดำรงฯ และแบบพิธีราชการ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 ตุลาคม 2567