เผยแพร่ |
---|
นับเป็นเวลา 7 ทศวรรษที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงให้ความสำคัญและทุ่มเทพระวรกายในการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผ้าไทย” ที่ทรงอนุรักษ์ฟื้นฟูและเป็นแบบอย่างในการใช้ผ้าไทยด้วยพระองค์เอง ทรงฉลองพระองค์ชุดผ้าไทยไปทุกหนทุกแห่ง รวมถึงการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศ เพื่อเผยแพร่ความงดงามของผ้าไทยสู่สายตาชาวโลก
พระองค์ทรงพลิกฟื้นผ้าไทย จากสิ่งทอของชาวบ้านที่เกือบสูญหายให้กลับมาเป็นอาภรณ์ที่คนทั่วโลกให้การยอมรับถึงคุณค่าและความงดงามอันประเมินค่ามิได้
จากผ้าพื้นถิ่น สู่อาชีพสร้างรายได้ยั่งยืน
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรดผ้าทอพื้นเมืองมาโดยตลอด ทรงสนพระราชหฤทัยและทรงเล็งเห็นคุณค่าความงดงามอันมีเอกลักษณ์ของผ้าทอในท้องถิ่นไทย ทรงสังเกตว่าหญิงชาวบ้านที่มารับเสด็จในโอกาสที่ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ล้วนแต่งกายด้วยผ้าทอพื้นเมืองที่มีสีสันสวยงาม ดังที่ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ได้บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า
“…ในพระราชหฤทัยยังทรงจำภาพของภาคอีสานได้ดี เมื่อครั้งที่ทรงตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรภาคอีสาน เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2498 มีสิ่งหนึ่งที่ทรงจำได้แม่นยำคือ ชาวบ้านแม้แต่จะยากจนแก่เฒ่าอย่างไร ส่วนมากก็นุ่มผ้าไหมสีสวยลายแปลก และเมื่อรับสั่งชมว่า “ผ้าที่นุ่งมาสวย” แม่ก็ยิ้มเสียน้ำหมากหกกว่าจะตอบได้ว่าเป็นผ้ามัดหมี่”
ใน พ.ศ.2513 เมื่อครั้งเกิดอุทกภัยที่ อ.นาหว้า จ.นครพนม ภายหลังที่น้ำลดแล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรที่ประสบภัย เพื่อพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน
สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสังเกตว่าหญิงชาวบ้านที่มารอรับเสด็จแทบทุกคนนุ่งซิ่นไหมมัดหมี่ ซึ่งมีความสวยงามต่างๆ กัน ทอดพระเนตรด้วยความสนพระราชหฤทัยยิ่ง และทรงไต่ถามจนได้ความว่า ชาวบ้านทอผ้าไหมมัดหมี่ไว้ใช้เองแทบทุกครัวเรือน ไม่ได้ทอขาย นอกจากทอให้ลูกหลานยามออกเรือน จึงมีพระราชดำริว่า ควรจะส่งเสริมให้ราษฎรทอผ้าไหมมัดหมี่ไว้เป็นอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว
ในโอกาสนี้ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้ชาวบ้านทอผ้าส่งไปถวาย ทรงรับซื้อไว้เอง ซึ่งทำให้เกิดการฟื้นฟูและส่งเสริมหัตถกรรมทอผ้า จากเพื่อใช้สอยในครอบครัวเป็นการทอขาย เป็นการเพิ่มพูนรายได้ของราษฎร นอกเหนือจากอาชีพเกษตรกรรม ทำให้เกิดการอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นในขณะเดียวกันไปด้วย
ต่อมาในปี 2519 สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขึ้นเพื่อช่วยเหลือชาวไร่ชาวนาในถิ่นทุรกันดารจากทุกภูมิภาคของไทยให้มีรายได้เสริมจากงานหัตถกรรมทอผ้า รวมทั้งหัตถกรรมประเภทอื่นๆ ด้วยทรงทราบว่าคนไทยในแต่ละท้องถิ่นมีความสามารถในการสร้างสรรค์งานฝีมือ หากได้รับการส่งเสริมอย่างถูกต้อง ความสามารถพิเศษเช่นนั้นจะช่วยสร้างรายได้พิเศษแก่ตนเอง รวมทั้งชุมชนได้เป็นอย่างดี
ดังพระราชดำรัส ในโอกาสที่องค์การยูเนสโก ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองโบโรพุทโธ ณ ศาลาธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2535 ความว่า
“…การที่ข้าพเจ้าเริ่มงานศิลปาชีพขึ้นนั้น ข้าพเจ้าตั้งใจจะสรรหาอาชีพให้ชาวนาที่ยากจนเลี้ยงตนเองได้ในเบื้องต้น ทั้งนี้ เนื่องจากข้าพเจ้าได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปเยี่ยมราษฎรตามชนบทมาหลายสิบปี ได้พบว่าราษฎรส่วนใหญ่เป็นชาวนาชาวไร่ที่ต้องทำงานหนัก และต้องเผชิญอุปสรรคจากภัยธรรมชาติมากมาย เช่น ฝนแล้ง น้ำท่วม ศัตรูพืชระบาด เป็นต้น ทำให้ชาวไร่ชาวนามักยากจน การนำสิ่งของไปแจกราษฎรผู้ประสบภัยธรรมชาติ เป็นเพียงการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชปรารภว่า เป็นการช่วยเหลือที่ไม่ยั่งยืน ควรจะหาวิธีอื่นที่ช่วยให้ราษฎรพึ่งตนเองได้”
“…ชาวนาชาวไร่เหล่านี้มีฝีมือทางหัตถกรรมสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษแล้ว โดยที่หัตถกรรมส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่เขาใช้สอยอยู่ในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น ชาวอีสานปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อทอผ้าไว้ใช้เอง สิ่งนี้จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้าเริ่มงานส่งเสริมการทอผ้าขึ้น เพื่อให้ชาวนาชาวไร่นำความสามารถของเขาเองมายกระดับความเป็นอยู่ รวมทั้งเพิ่มพูนศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจในงานของเขา จนในที่สุดจึงเกิดเป็นมูลนิธิศิลปาชีพ…”
ตั้งแต่นั้นมาหัตถกรรมทอผ้าพื้นเมืองก็ได้กลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้ชาวบ้านได้อย่างยั่งยืน
ทรงเป็นแบบอย่างการใส่ผ้าไทย
สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพยายามสนับสนุนให้คนไทยแต่งกายด้วยผ้าพื้นเมือง ทรงเป็นผู้นำในการใช้ผ้าไทยด้วยพระองค์เอง ทรงนำผ้าทอพื้นเมืองประเภทต่างๆ มาตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์แบบไทยและแบบสากลที่ทรงใช้ในโอกาสต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเผยแพร่ความงดงามของผ้าไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวไทยและชาวโลก
ผืนผ้าจากภูมิปัญญาชาวบ้าน กลายเป็นฉลองพระองค์อันวิจิตรงดงาม โดยในปี 2505 ทรงได้รับเลือกให้เป็นสตรีที่แต่งพระองค์งามที่สุดในโลกผู้หนึ่ง ในจำนวนสุภาพสตรีของโลกทั้งหมด 10 คน จากบรรดาผู้เชี่ยวชาญการออกแบบเครื่องแต่งกายสตรีของโลก ซึ่งฉลองพระองค์ที่ทรงส่วนใหญ่จะเป็นผ้าไหมที่มีความงดงาม และได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับการแต่งกายของชาวตะวันตก
ทรงนำความงดงามของผ้าไทยให้เป็นที่รู้จักในสังคมวงกว้างและสวมใส่อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
ตรานกยูงพระราชทาน
สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญลักษณ์ “นกยูงไทย” ให้เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ นกยูงสีทอง (Royal Thai Silk) นกยูงสีเงิน (Classic Thai Silk) นกยูงสีน้ำเงิน (Thai Silk) และ นกยูงสีเขียว (Thai Silk Blend) เพื่อรักษาไว้ซึ่งคุณภาพและมาตรฐานการรับรองผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทาน และเพื่อส่งเสริมการใช้เครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทานให้แพร่หลายทั่วโลก จึงได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองตรานกยูงพระราชทานในต่างประเทศอีก 35 ประเทศ ได้แก่ กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป จำนวน 27 ประเทศ จีน นอร์เวย์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ อินเดีย และฮ่องกง
พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ รวบรวมองค์ความรู้ไว้ให้ลูกหลาน
สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ขึ้น ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับผ้าไทยและประวัติเครื่องแต่งกายของคนไทย ด้วยพระราชปณิธานในการอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาติ
ดั่งพระราชดำรัส สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในหนังสือราชศิลป์พัสตราภรณ์ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ว่า “ในการเก็บผ้า แต่ก่อนเก็บแบบธรรมดา ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ทำพิพิธภัณฑ์ผ้าที่หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง มีห้องเก็บ และห้องแสดงถูกต้องตามหลักสากลของการจัดพิพิธภัณฑ์สิ่งทอ เป็นแหล่งเรียนรู้ของบรรดาช่าง หรือผู้สนใจอื่นๆ นอกจากความรู้เรื่องผ้าแล้ว นักศึกษาด้านการพิพิธภัณฑ์มาดูงานได้ เพราะมีงานทุกด้าน ตั้งแต่การทำบัญชีรายการสิ่งของ การเก็บในคลังที่เป็นระเบียบ การจัดแสดง การอนุรักษ์ซ่อมแซมตามหลักวิทยาศาสตร์ไม่ใช้สารเคมีที่เป็นพิษต่อผู้ปฏิบัติงาน ห้องสมุดและห้องจดหมายเหตุเก็บหนังสือและเอกสารที่ใช้ในการค้นคว้า ร้านจำหน่ายของที่ระลึกที่ผู้มาเยี่ยมชมสามารถซื้อหาเป็นของใช้หรือของสะสม และเป็นตัวอย่างที่จะไปทำตามในการแปรรูปสินค้าพื้นเมือง
การที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชดำริที่ครบวงจรเช่นนี้ เป็นประโยชน์ต่อราษฎรโดยตรง ทำให้ประชาชนมีความรู้ ประกอบสัมมาชีพ และรักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติให้ยั่งยืน เป็นประโยชน์แก่ประเทศอย่างแท้จริง”
สำนึกพระมหากรุณาธิคุณ
พงษ์ชยุตน์ โพนะทา ประธานกลุ่มทอผ้าไหมแพรวา กล่าวว่า ถ้าไม่มีพระองค์ ก็ไม่รู้จะมีชีวิตยังไง เพราะผ้าไหมแพรวา ให้อะไรกับคนในชุมชนเยอะมาก จากเดิมที่ไฟฟ้าไม่มีใช้ ถนนเป็นลูกรัง หลังจากที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จฯ มา และส่งเสริมการทอผ้าไหมแพรวา หลายหน่วยงานก็ได้เข้ามาช่วยเหลือ ไฟฟ้า-ทางลาดยางก็มา ตอนนี้ทุกครอบครัว ใช้เงินที่เป็นรายได้จากการทอผ้าส่งลูกเรียนจบปริญญาตรีทุกครัวเรือน ได้ขึ้นรถทัวร์ มีโอกาสได้นั่งเครื่องบิน ก็ล้วนมาจากผ้าไหมแพรวาทั้งนั้น
“ต่อให้พวกเราคนทอผ้า ทอได้ดีหรือทอได้เยอะขนาดไหน แต่ถ้าไม่มีผู้นำไปใช้ ก็มีโอกาสที่จะหายไป แต่ตราบใดที่มีผู้ให้เกียรตินำผ้าไหมแพรวาไปใช้ ก็จะไม่มีทางจบสิ้นหรือหายไปอย่างแน่นอน” พงษ์ชยุตกล่าว
คเณษ นพณัฐเมทินี ครูภูมิปัญญาไทย ศูนย์เรียนรู้การทอผ้าครูภูมิปัญญาไทย/กลุ่มทอผ้ายกอยุธยา ซึ่งเป็นผู้สืบสานตำนานผ้าไหมยกลายอยุธยา สายเลือดมลายู-ปัตตานี คนสุดท้ายของกรุงเก่า เจ้าของแบรนด์ “กระหนกพัสตร์” กล่าวว่า เมื่อแรกตนเข้ามาทำงานทอผ้าเพื่อรักษาภูมิปัญญาของครอบครัวเป็นหลัก แต่เมื่อได้เห็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงฟื้นฟูผ้าไทย ส่งเสริมให้เกษตรกรทั้งประเทศปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ส่งเสริมให้ผ้าไหมไทยมีตรานกยูงพระราชทาน ซึ่งเป็นตรามาตรฐานรับรองผ้าไหมไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก พระองค์ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้ตนสืบสานงานผ้าไทยต่อไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่
“แม้พระองค์ไม่ได้ทรงอยู่ในสายของงานทอผ้า แต่ก็ยังทรงเข้ามาส่งเสริมสิ่งต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องผ้ามากมาย ยิ่งไปกว่านั้น พระองค์ทรงฉลองพระองค์ให้ต่างชาติได้รับรู้ว่าผ้าไหมไทย ไม่แพ้ผ้าชาติใดในโลก และในฐานะคนทำผ้าอย่างเรา ที่มีพื้นฐานรากเหง้าของการทอผ้าอยู่แล้ว และยังมีพระองค์เป็นแบบอย่าง แล้วเราจะหมดกำลังใจในการทำงานได้อย่างไร”
“พระองค์ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เราทำงานทอผ้าไปเรื่อยๆ ซึ่งได้ปณิธานไว้ว่าจะทอผ้าจนกว่าจะทำไม่ไหว ถ้าตาบอดมองไม่เห็น ก็จะใช้เสียงสอนคนรุ่นใหม่ให้สืบสานภูมิปัญญาไทยต่อไป” กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ
สืบสานลมหายใจผ้าไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพลิกฟื้นผ้าไทย ทรงทุ่มเทพระวรกาย พระปรีชาญาณ และกำลังพระราชทรัพย์ต่างๆ ยาวนาน รื้นฟื้นขึ้นมา ทำให้ผ้าไทย กลับคืนสู่สังคมไทย ชาวบ้านภาคภูมิใจ เป็นอาชีพเลี้ยงดูชีวิตและครอบครัวได้
“สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชดำริว่า ขาดทุนของพระองค์ คือกำไรของชาติ ทรงชุบชีวิตผ้าไทยขึ้นมา กระทั่งมาถึงวันนี้ คนทอผ้าของเรามีมากพอที่จะรักษามรดกภูมิปัญญาไว้ได้แล้ว” อธิบดีพช.กล่าว
ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวเสริมว่า ตลอด 70 ปี พระองค์ทรงรื้อฟื้นชีวิตของผ้าให้กลายเป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมของไทย ปัจจุบัน เรามีผ้าหลากหลายวัฒนธรรมทั่วทุกภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผ้าไหมแพรวา ผ้ามัดหมี่, ภาคเหนือ มีผ้าไหมยกดอกลำพูน, ภาคกลาง มีหลากหลายมาก ทั้งผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าย้อมคราม, ภาคใต้ มีผ้ายกนคร
“ผ้าหนึ่งผืนต้องผ่านลมหายใจของผู้หญิงเป็นแรมวัน แรมอาทิตย์ แรมเดือน เงินทุกบาทที่ได้จากการขายผ้า ก็กลับไปสู่ครอบครัวสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น จนกระทั่งการทอผ้าที่เป็นอาชีพเสริม ในปัจจุบันเป็นอาชีพหลักในหลายๆ ครอบครัวทั่วประเทศ ซึ่งสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างไว้ นับเป็นมรดกที่มีคุณค่า มีความหมายอย่างยิ่งต่อปวงชนชาวไทย”
เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน ตลอดจนเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนคนทอผ้า และผู้ประกอบการ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมมือกับ สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดทำโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” โดยเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์
จากนโยบายดังกล่าว ได้สร้างกระแสการใส่ผ้าไทยของทุกจังหวัดทั่วประเทศให้คึกคักมากยิ่งขึ้น มีการประกวดผ้าทอของแต่ละจังหวัด มอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้กับผู้สืบทอดภูมิปัญญาผ้าไทย รวมทั้งจัดแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าไทยที่นำมาตัดเย็บให้เขากับยุคสมัยให้ผ้าไทยใส่แล้วเก๋ในชีวิตประจำวัน ซึ่งได้รับความสนใจจากข้าราชการ ประชาชน และเยาวชนคนรุ่นใหม่
“ด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ ของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรื้อฟื้นผ้าไทยขึ้นมาให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ต่อจากนี้เป็นหน้าที่ของเราลูกหลานในการสืบทอดต่อไป วิธีการที่ดีที่สุด เราต้องภาคภูมิใจในการสวมใส่ผ้าไทย เพื่อให้ความต้องการสวมใส่ผ้าไทย เป็นตัวกระตุ้นทำให้ภูมิปัญญานี้ยังคงอยู่กับพ่อครูแม่ครู และลูกหลานที่จะสืบทอดภูมิปัญญานี้ต่อไป” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าวทิ้งท้าย