เผยแพร่ |
---|
ด้วยสภาพภูมิประเทศที่มีภูเขาและป่าไม้หนาทึบ บวกกับสภาพอากาศที่หนาวเย็น ทำให้เครื่องนุ่งห่มของภาคเหนือทอมาจากผ้าฝ้ายเป็นส่วนใหญ่ เพราะเส้นใยฝ้ายสามารถสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกายได้ดี อีกทั้งระบายความชื้นได้ดีในยามหน้าร้อน
และเอกลักษณ์ของการทอผ้าพื้นเมืองของภาคเหนือในแต่ละจังหวัดจะแฝงอิทธิพลของแต่ละชาติพันธุ์ด้วยเสมอ ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่จะทอผ้าใช้เอง โดยลวดลายของผ้าทอจะสัมพันธ์กับวิถีชีวิตและธรรมชาติรอบตัวที่สวยงาม ผสมกับจินตนาการในการปักผ้า ทำให้เกิดเป็นลายต่างๆ บนเนื้อผ้าที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละชาติพันธุ์ เช่น ผ้าปักอาข่า ลายอ้าลูแหม่ล้า ในจังหวัดเชียงราย หรือชุดชาติพันธุ์ ลาหู่ดำ(มูเซอดำ) ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผ้าทอลายน้ำไหล จังหวัดน่าน ลวดลายผ้าที่มีชื่อเสียงในภาคเหนือ มี 4 ประเภท ได้แก่ ผ้าขิด ผ้ามัดหมี่ ผ้าจก และผ้ายกดอก ซึ่งผ้าขิดและผ้ามัดหมี่ส่วนหนึ่งจะได้รับอิทธิพลมาจากชาวอีสาน ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในท้องถิ่นต่างๆ และนำเอาวิธีการมัดหมี่มาใช้ในท้องถิ่นที่อาศัยในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังได้พบว่า การมัดหมี่ในซิ่นก่านของจังหวัดน่านได้อิทธิพลจากชาวไทลื้อที่เคยอาศัยอยู่ใน สปป.ลาว ขณะที่การมัดหมี่ในภาคเหนือนิยมมัดที่เส้นยืนเป็นส่วนใหญ่ หาดูได้จากผ้าซิ่นของกะเหรี่ยงซึ่งเป็นผ้าหน้าแคบ หรือในผ้าซิ่นลายขวางทางภาคเหนือ
ตัวอย่างของ ผ้าขิด และผ้ามัดหมี่ ที่มีชื่อเสียงในภาคเหนือ เช่น ผ้าขิด ลายดอกระจับ จังหวัดนครสวรรค์ ผ้าทอมือที่พัฒนาทอจากขิดไทยวนของจังหวัดสระบุรี, ผ้าไหมย้อมธรรมชาติ ลายดอกบุญนาคกลีบดอกสีขาว ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดพิจิตร, ผ้ามัดหมี่บ้านม่วงหอม ลายดอกปีบผสม ซึ่งเป็นลวดลายผ้าทอเดิมของจังหวัดพิษณุโลก และหมี่คั่นน้อยคาดก่าน ไทหล่ม จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งประกอบด้วยลาย 9 ลาย ดังนี้ ปราสาทผึ้ง นาค ลายขอ ลายตุ้ม เสาหลา ขาเปีย หมากจับ กระเบื้องคว่ำกระเบื้องหงาย และคองเอี้ย ซึ่งบางลายคล้ายคลึงกับลายผ้าไหมของภาคอีสาน ส่วนผ้าจก เป็นวิธีการทอผ้าเพื่อให้เกิดลวดลายคล้ายการปัก เป็นวัฒนธรรมการทอผ้าที่คล้ายคลึงกัน ของชนหลายกลุ่ม แต่มีความแตกต่างกันใน
รายละเอียดของลวดลายและสีสัน เนื่องมาจากการสืบทอดจากบรรพบุรุษที่ต่างกัน กลุ่มแรก ผู้สืบเชื้อสานไทยวน หรือไทโยนก จากอาณาจักรล้านนาแคว้นเชียงแสนโบราณ ได้สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อรักษาอัตลักษณ์ผ้าซิ่นตีนจก เช่น ผ้าตีนจกแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่, ผ้าซิ่นตีนจกลายดอกดาวดึงส์ ต่อตัวซิ่นด้วยลายดอกเคี๊ยะและปั่นไก (หางกระรอก) ของจังหวัดอุตรดิตถ์
นอกจากนี้ ยังมีผ้าตีนจก ของจังหวัดแพร่ ที่ทอมือและย้อมด้วยสีธรรมชาติ ทอด้วยลายขอประแจเป็นลายผ้าโบราณ ที่มีมานานหลายสิบปี, ผ้าซินก่านมะเขือผ่าโผ่ง ที่ใช้ เทคนิคการทอผ้าจกแบบเกาะลาย สลับกับการทอผ้า ยกขิดมีแม่ลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของผ้าไทครั่ง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมร่วมในกลุ่มชาติพันธุ์ในอุทัยธานี รวมถึง ผ้าตีนจก ลายน้ำอ่าง ซึ่งสตรีชาวพวนศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย นิยมทอใส่กันมากที่สุด
และผ้าทอมูลค่าสูงของภาคเหนือก็คือ “ผ้ายกดอก” ซึ่งจังหวัดลำพูนมีชื่อเสียงมากในการทอผ้ายก (ดอก) ทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้าย รูปแบบการทอในอดีตจะเป็นการทอผ้าฝ้ายยกดอก แต่ต่อมาในระยะหลัง เริ่มมีการทอโดยใช้เส้นไหมในการทอ จึงเรียกว่า “ผ้าไหมยกดอกลำพูน”
ลวดลายที่ใช้ทอมีลายดอกพิกุลเล็ก ดอกพิกุลใหญ่ ลายก้างปลา ลายต้นสน หรือในบางผืนก็จะมีการทอผสมกันหลายๆ ลาย ผ้าทอมือลวดลายต่างๆ ทั้ง ผ้าขิด ผ้ามัดหมี่ ผ้าจก ผ้ายกดอก ที่ทออย่างประณีตจากทุกจังหวัดของภาคเหนือ ได้นำมารวมให้คนไทยได้ชื่นชมและเลือกซื้อ ภายในงาน “ศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี” ปี 2563 เนื่องในโอกาส มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครบรอบ 88 พรรษา และเพื่อเป็นการต่อยอดโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” โดย กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์