เผยแพร่ |
---|
อาชีพของคนอีสานส่วนใหญ่คือเกษตรกรรม เมื่อว่างเว้นจากการทำไร่ทำนา ชาวบ้านจะทำการซ่อมแซมเครื่องไม้เครื่องมือทำกิน หรือหาอาชีพเสริม เลี้ยงสัตว์ ซึ่งการทอผ้าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่แม่บ้านชาวอีสานยึดเป็นหลักรองจากการทำนา ทั้งทอเพื่อใช้ในครอบครัว หรือเพื่อถวายพระในงานบุญ รวมทั้งขายเป็นรายได้เสริมให้ครอบครัว โดยทักษะการทอผ้านี้ ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
แต่เนื่องจากมีชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มในพื้นที่ที่ราบสูง ไม่ว่าจะมาจากสายหลวงพระบาง นครเวียงจันทน์จำปาศักดิ์ หรือชาวภูไท กลุ่มคนเชื้อสายกะเลิง และส่วย ชาวอีสานมีความแตกต่างทางเชื้อสาย ดังกล่าวส่งผลให้การทอผ้าของชาวอีสานจึงมีที่มาและเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน มีชื่อเสียงโด่งดังทั้ง ผ้าฝ้ายและผ้าไหม
นอกจากผ้ามัดหมี่แล้ว ยังมีการทอผ้าขิด ผ้าแพรวา ผ้ายก ผ้ากาบบัว ผ้าโฮล และผ้าพื้น ๆ ทั่วไปอีกมากมาย ลายผ้าที่เกิดจากเรื่องเล่าและเกี่ยวพัน กับความเชื่อของคนในท้องถิ่น มีให้เห็นมากมายในภาคอีสาน โดยเฉพาะในจังหวัดที่ติดกับแม่น้ำโขง เช่น ผ้าซิ่น ของจังหวัดเลย ที่เล่าเรื่องผ้ามัดหมี่ ผ่านตำนานผู้หญิงชาวไทดำที่มีความกล้าหาญ มีสติ และมุ่งมั่น จนเป็นที่มาของ “ซิ่นลายนางหาญ”
เช่นเดียวกันกับผ้ามัดหมี่ลายต้นเทียน ของจังหวัดบึงกาฬ ที่มีการผสมผสานจากความเชื่อในเรื่องของการบูชาพญานาค ผนวกกับการใช้จินตนาการของบรรพบุรุษคิดค้นลายผ้าให้สอดคล้องกับประเพณีที่ได้สืบทอดกันมา เช่น ไหลเรือไฟ ผ้ามัดหมี่ ลายนาคคู่ ของจังหวัดหนองคาย ผ้าขิดไหมลาย 12 นักษัตร มณีนพเก้า แรงบันดาลใจของลายผ้าผืนนี้ มาจากการ ได้เห็นความเชื่อด้านโหรศาสตร์ของคน หนองบัวลำภูหรือจะเป็นอารยมณีหมี่ขิดลายนาคช่อ ขอล่อแก้วเชิงเชียง จังหวัดอุดรธานี ที่สื่อความหมายถึงประเพณี และความเชื่อเกี่ยวกับพญานาค ของชนชาวอุดรธานีแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมี ผ้าไหมมัดหมี่ตีนแดงจกดาว อันเป็นกรรมวิธีของชาวบุรีรัมย์ ลายนาคกระดิ่ง ที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ความมั่นคงเป็น สิริมงคลแก่ผู้สวมใส่ จากผ้าไหมที่ย่ายายทอ ย้อมด้วยสีธรรมชาติ เส้นไหมสาวมือจากไหมที่เลี้ยงเอง ทำให้เกิดผ้าลายผ้าทอที่ได้รับสืบทอดและเป็นอัตลักษณ์ประจำถิ่น และยังคงสืบสานและสร้างเอกลักษณ์ผ้า เช่น ผ้าขิดลายลูกหวาย (ลายดอกยศสุนทร) ที่ใช้เส้นไหมย้อมสีธรรมชาติของจังหวัดยโสธร
ผ้าไหมมัดหมี่ ลายสาเกต ที่นำเอาลายพื้นบ้าน 5 ลายยอดนิยมของ กลุ่มชนในจังหวัดร้อยเอ็ด มาทอรวมอยู่ในผืนเดียวกัน สร้างเอกลักษณ์ใหม่ ให้จังหวัด หรือจะเป็นผ้าไหมศรีลำดวน ลายลูกแก้ว มีมาตั้งแต่อดีตกาลกว่า 200 ปีก่อนของชาวศรีสะเกษ ที่ย้อมผ้าด้วยผลมะเกลือเพิ่มน้ำหนักให้ผ้าทำให้มีคุณสมบัติซักแล้วไม่ต้องรีด
ผ้าไหมโฮล ลายประจำจังหวัดสุรินทร์ ที่คุณภาพดี ใช้ไหมเส้นน้อยทอแน่น ทำให้เนื้อผ้าบางเบา อ่อนนุ่ม ส่วนลวดลายได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะเขมร ผ้าขิดจังหวัดนครพนม โดดเด่นที่ผ้าฝ้ายลายขิดแซมยกมุก 4 ลาย ได้แก่ ลายมุก ลายดอกมะซ่าน ลายตุ้ม และลายพันมหา เส้นฝ้ายย้อมด้วยสมุนไพรไม้มงคล มักใช้ในงานพิธีมงคลต่างๆ เป็นลายโบราณของหมู่บ้านหนองสังข์ ที่มีการทอจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
ผ้าไหมแพรวาสีแดง ของจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นการทอผ้าไหมที่มีภูมิปัญญาในการทอใช้วิธีการเก็บลายโดยการขิดลายที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ สีแดงใช้ครั่ง เป็นสีย้อม
ส่วนลวดลายบนผืนผ้ามีหลากหลาย จังหวัดอุบลราชธานี โดดเด่นที่ผ้ากาบบัว เป็นผ้าไหมแท้ทอผ้าแบบถี่มาก ใช้ฝีมือประณีต รายละเอียดของผ้ามีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ ขณะที่ลายผ้าในบางชนกลุ่มของอีสานเกิดจากการนำธรรมชาติในท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ เช่น ลายผ้าไหม ผ้าขิด ผ้าฝ้ายที่นำลักษณะของต้นไม้ ดอกไม้ ในท้องถิ่น มาสร้างลายเอกลักษณ์ลงบนเส้นไหม และนำมาทอเป็นลวดลายที่สื่อให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชุมชน เช่น ผ้าไหมมัดหมี่ของ จังหวัด ขอนแก่น ลายแคนแก่นคูน
ขณะที่จังหวัดชัยภูมิ โดดเด่นที่ลายขอดอกมะขาม จังหวัดอำนาจเจริญ ผ้าขิด ลายดอกพิกุลสลับเอื้อผสมลูกหวาย จังหวัดสกลนคร ผ้ามัดหมี่ ผ้าฝ้ายเข็นมือย้อมคราม ลายดอกไม้ป่า แรงบันดาลใจจากธรรมชาติในท้องถิ่น หรือจะเป็น จังหวัดนครราชสีมา ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมมัดหมี่ลายปูนา
จังหวัดมหาสารคาม ผ้าไหมมัดหมี่ลายสร้อยดอกหมาก ผลิตจากเส้นไหมพิเศษขนาดเล็ก เพื่อให้ตัวลายดอกหมาก มีความเล็กและถี่เป็นพิเศษ ลงสีแบบโบราณ คือเหลือง แดง เขียว และจะมีการถมสีพิเศษขึ้นมาระหว่างกระบวนการล้างสี คือขาว ละเอียดอ่อนช้อย ผ้ามีความแน่น
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของผ้าทอมือจากภาคอีสาน ซึ่งสัมผัสและชื่นชมความประณีตอ่อนช้อยของเส้นไหมได้ที่งาน “ศิลปาชีพ ประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี” ปี 2563 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครบรอบ 88 พรรษา และเพื่อเป็นการต่อยอดโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย
จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่ชื่นชอบผลิตภัณฑ์ จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และผลิตภัณฑ์ OTOP โดยเฉพาะผ้าไทย มาชม ชิม ช้อป และภาคภูมิใจกับผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างโอกาส สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ระหว่างวันที่ 8 – 16 สิงหาคม นี้ ที่อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี