สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน พบผ้าทอภาคกลางในงาน ศิลปาชีพประทีปไทยฯ

กล่าวกันว่ากรรมวิธีทอผ้าพื้นบ้านของภาคกลาง ส่วนมากจะมาจากกลุ่มชนเผ่าไทยตามที่ตั้งถิ่นฐานต่างๆ ได้แก่ กลุ่มไท-พวน ไทยวน ไทดำ รวมถึงกลุ่มชนเชื้อสายไท-ลาว ที่ย้ายถิ่นฐานมาภาคกลางด้วยหลายสาเหตุทั้งการเมืองในอดีต หรือสงครามในสมัยกรุงธนบุรีที่กวาดต้อนชาวผู้ไทดำ ลาวโซ่ง และชาวลาวอื่นๆ จากบริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำโขงเข้ามาเป็นจำนวนมาก บางส่วนไปตั้งถิ่นฐานอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ในภาคกลาง เช่น บางท้องถิ่นในจังหวัดสระบุรี นครนายก ลพบุรี ราชบุรี ชลบุรี และจันทบุรี 

ดังนั้น ลวดลายผ้าที่มีชื่อเสียงในภาคกลางจึงมีความหลากหลาย ตามประวัติศาสตร์การย้ายถิ่นฐาน  และวิถีชีวิตของแต่ละท้องถิ่น โดยแบ่งได้ดังนี้ ผ้าขาวม้า ผ้ามัดหมี่ ผ้ายก ผ้าจก ผ้ามัดย้อม และผ้าชาติพันธุ์ 

Advertisement

หากเอ่ยถึงผ้าขาวม้า ซึ่งเป็นผ้าสารพัดประโยชน์แต่โบราณคำว่า “ผ้าขาวม้า” เป็นคำเรียกของภาคกลาง ภาคอีสานบางแห่งเรียกผ้าแพร ซึ่งสีและลวดลายของผ้าขาวม้าจะแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น โดยทางภาคกลาง ผ้าขาวม้าจะมีลวดลายเป็นตาลายสก๊อต เช่น ผ้าอัตลักษณ์ ของจังหวัดกาญจนบุรี ลาย 7 สีมงคล ทอด้วยกี่กระตุกกระทบฟืม จุดเด่นคือผ้าเนื้อแน่นและนิ่มนุ่ม สีสดใส, ผ้าขาวม้า จังหวัดสระแก้ว นำผ้ามัดหมี่ “ลายดอกแก้ว” สัญลักษณ์ของจังหวัด เข้ามาทอผสมผสานในผืนผ้า 

สำหรับผ้ามัดหมี่ ของภาคกลางมีความโดดเด่นในหลายจังหวัด เช่น ผ้าไหมมัดหมี่ ลายนกยูง ของจังหวัดฉะเชิงเทรา, ผ้าไหมมัดหมี่ จังหวัดชัยนาท ลายหมี่โคมเหลืองแสดงถึงอัตลักษณ์กลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง ที่ได้สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ, ผ้ามัดหมี่ จังหวัดนครนายก เป็นหมี่คั่น ผ้าประจำถิ่นของ ชาวไท-พวน ลายพญานาคเกี้ยวมีการทอหลายลายรวมกันทั้งหมด จำนวน 4 ลายประกอบด้วย ลายนาคน้อยลายนาคเกี้ยว ลายตุ้ม ลายโพธิ์ศรี ลายร้อยหวายหรือผ้ามัดหมี่สี่ตะกอทอมือ ลายพิกุลแก้วกัลยา ซึ่งมีลายดั้งเดิมผสมลายใหม่เรียงร้อยเข้ากับลายดอกพิกุลแก้วกัลยาผสมผสานเป็นลายใหม่ของจังหวัดลพบุรี เป็นต้น

พระนครศรีอยุธยา เมืองกรุงเก่า ขึ้นชื่อเรื่องผ้ายกดอก ซึ่งเป็นเทคนิคขั้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ้ายดิ้นเงินดิ้นทอง ความพิเศษของผ้ายกของอยุธยา คือ ลายดอกดารารัตน์ เป็นลายผ้าที่มีการออกแบบสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากดอกดารารัตน์ (Daffodil) ดอกไม้แห่งความทรงจำของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่มีต่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทอด้วยเส้นไหมน้อยาวมือย้อมสีธรรมชาติด้วยเปลือกต้นมะพูด และเปลือกผลทับทิม โดยนำมาผสมผสานกัน เพิ่มคุณค่าด้วยเส้นไหมทอง (ไหมทองคำ) ให้เกิดสีสันระยิบระยับงามตา

ส่วนผ้าจกของภาคกลาง มีอยู่ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี เป็นผ้าจกไทยวน ที่ได้รับสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ที่อพยพมาจากถิ่นฐานอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และอีกแห่งหนึ่งคือจังหวัดสระบุรี ที่มีชื่อเสียงด้านผ้าซิ่นเก็บไทยวน ที่แกะลวดลายการทอจากลายจกผ้าเก่าในหอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวนสระบุรี ตัวซิ่นจะเป็นลายก้ามปู ตีนซิ่นจะเป็นลายเชียงแสนดอกแก้ว ลวดลายบนผืนผ้าตีนซิ่นไทยวนสระบุรีจะใช้สีแดงเสมอ

อย่างไรก็ตาม ความหลากหลายของผ้าท้องถิ่นภาคกลาง ยังรวมถึงผ้าชาติพันธุ์ เช่น ผ้าซิ่นตาหมู่ไท-ยวน จังหวัดนครปฐม ที่หายากในปัจจุบัน, ผ้าซิ่นกะเหรี่ยงโปว์ ในจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นภูมิปัญญาสืบสานมานับร้อยปี และเสื้อฮีไทดำ แส่วลายหมาย่ำ สลับลายดอกแปดจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ตกทอดมาประมาณ 106 ปีแล้ว และนอกจากนี้ในจังหวัดที่มีเขตติดกับทะเล ผ้าที่ขึ้นชื่อก็คือ ผ้ามัดย้อม เทคนิคการสร้างลวดลายด้วยการมัดพับ เย็บหรือใช้วัสดุธรรมชาติจากท้องถิ่นสร้างลายประจำถิ่น เช่น จังหวัดตราด ใช้สีสันจากพื้นดินเล่าเรื่องราวในลายผ้า, สมุทรปราการ สร้างผ้ามัดย้อมจากต้นจาก ลายคลื่นสะบัดใบโพทะเล และสมุทรสงครามใช้เปลือกมะพร้าวมาสร้างสีด้วยเทคนิคชิโบริ (Shibori)

ความแตกต่างอย่างงดงามของผ้าไทยภาคกลาง กำลังอวดโฉมให้ทุกท่านได้ชมและสามารถเลือกซื้อได้ภายในงาน “ศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี” ปี 2563 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครบรอบ 88 พรรษา และเพื่อเป็นการต่อยอดโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน”