เผยแพร่ |
---|
ด้วยพระบารมี” ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงรื้อฟื้นผ้าไทยตั้งแต่ปี 2513 ที่ อ.นาหว้า จ.นครพนม ทรงให้ชาวบ้านทอผ้าเพื่อนำไปตัดชุดฉลองพระองค์ และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้เป็นทุน จนกลายเป็นอาชีพเสริมจากการทำเกษตรกรรม เป็นความยั่งยืนที่หล่อเลี้ยงชีวิต จากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทยทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อทำการฝึกอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้กับราษฎร สืบสานภูมิปัญญาของคนไทยให้คงอยู่สืบไป
ซึ่งต่อมาหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ก็ได้น้อมนำแนวพระราชดำริดังกล่าวไปขยายผลในการพัฒนา และส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชนกันอย่างกว้างขวาง รวมถึงโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP ที่จวบจนปัจจุบันได้ทำให้ผ้าไทย ทั้งผ้าไหม ผ้าฝ้าย กลับคืนสู่สังคมไทย และได้รับความนิยมจากชาวไทยและชาวต่างชาติ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นต่อปวงชนชาวไทย และเพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ศูนย์ศิลปาชีพฯ รัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย จึงได้มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ซึ่งรับผิดชอบในการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์”
ดำเนินการจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้าจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพและสินค้า OTOP ภายใต้ชื่อโครงการ “ศิลปาชีพ ประทีปไทย OTOPก้าวไกล ด้วยพระบารมี” ตั้งแต่ปี 2555 เป็นเวลาเกือบ 1 ทศวรรษ ที่ พช. ได้ร่วมสืบสานและต่อยอดโครงการดังกล่าว และในปีนี้ก็พร้อมเปิดฉากงานอย่างยิ่งใหญ่ ระหว่างวันที่ 8 – 16 สิงหาคม 2563 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 – 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดย “นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ” อธิบดี พช. เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงาน “ศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี ปี 2563” เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่ผ่านมา เผยว่างานจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “สืบสานพระราชปณิธาน รังสรรค์งานศิลปาชีพ ความภาคภูมิใจแห่งแผ่นดิน” ในรูปแบบ New Normal พร้อมกับตั้งเป้ากระจายรายได้สู่ชุมชนไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ เปิดเผยว่า ไม่ผิดเลยถ้าจะบอกว่า หากไม่มีพระองค์ท่าน ผ้าไทยสูญหายไปแล้ว มากกว่า 60 ปีที่พระองค์ท่านทรงพยายามรื้อฟื้นผ้าไทยขึ้นมาจนกระทั่งมาถึงพวกเราได้ เพราะน้ำพระราชหฤทัยเผื่อแผ่ด้วยความรักความเอื้ออาทรต่อพสกนิกร เรื่องคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่พระองค์ท่านก็เพียรพยายามที่จะให้คนไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ได้ใช้ภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษไทยสร้างสรรค์และสืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง เป็นเครื่องมือในการผสมผสานศิลปะหลายแขนง “ภาพที่ชินตา เราจะเห็นพระองค์ท่านอยู่กับพสกนิกร ที่ล้วนแล้วอยู่ในถิ่นทุรกันดาร เอาเสื่อมาปูเอาผ้ามาวางเรียง พระองค์ท่านทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเพื่อให้เกิดการพัฒนา สละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อ
สมัยก่อนขายหลักพันก็ลำบากแล้ว บางปีมีคนทอผ้าไว้เพื่อรอรับเสด็จเพราะขายได้ราคาสูง ดังนั้นงานในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นงานที่จะได้เห็นศิลปวัฒนธรรมไทย เอกลักษณ์ของผ้าไทย ที่รวมไว้ให้เลือกซื้อเลือกหากันได้ เรายังจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมคัดสรรผ้าที่พระองค์ท่านทรงใช้ทุนทรัพย์ส่วนพระองค์อุดหนุนชาวบ้าน มาให้ชื่นชมด้วย” นอกจากนี้ พช. ยังได้ผนึกกำลังร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” เพื่อร่วมกันรณรงค์ให้คนไทยสวมใส่ผ้าไทย พร้อมนำผ้าทอไทยที่ชนะเลิศมาจัดแสดงและจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็น ผ้าทอลายขิด ผ้าแพรวา ผ้าไหมยกดอก ผ้านาหมื่นศรี ที่งานนี้ด้วย ถือได้ว่าจะเป็นศูนย์รวมของงานผ้าที่ใหญ่ที่สุดของปีนี้
“ผ้าไทยเราโชคดีที่ทางสภาสตรีฯ ได้ร่วมกับ พช. ขับเคลื่อนร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้สวมใส่ผ้าไทยเพิ่มมากขึ้น อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน ช่วยกระตุ้นยอดขายเรื่องผ้าเพิ่มขึ้นมาจากเดิม โดยในช่วงประมาณ 3 เดือนเศษที่ผ่านมา มียอดจำหน่ายผ้าสูงเกือบถึง 15,000 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน เราก็ไปช่วยเฟ้นหานักออกแบบที่ซ่อนอยู่ในที่ต่างๆ ให้มารวมตัวกัน พัฒนาเรื่องของลวดลาย รูปแบบ ลักษณะการเอามาใช้ ให้มีความหลากหลาย เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย” อีกทั้งยังมีการจัดงานแสดง “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีทั่วไทย รวมไว้ในที่เดียว” รวมถึงมีโอทอปชวนชิม ให้ชิมช้อปได้อย่างสบายใจ เพราะว่างานนี้ปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ ตามมาตรการและการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด พร้อมวางระบบในการที่จะป้องกันให้คนที่ไปเที่ยวงาน ได้รับความปลอดภัยขั้นสูงสุด ไม่ต้องเดินทางไปหาซื้อผ้าไกล เพราะได้รวมสุดยอดผ้าไทยมาไว้ให้แล้ว 8 – 16 สิงหาคมนี้ ไปช่วยกันอุดหนุนเป็นกำลังใจให้กันได้ ไปร่วมกันช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไป