เมื่อท่านพุทธทาสอุทิศตนเป็น “นักโบราณคดีสมัครเล่น” แต่ท่านก็พูดไว้อย่างถ่อมตัวว่า “เรา ‘นักโบราณคดีเด็กอมมือ’…”

(ซ้าย) ท่านพุทธทาส อินทปัญโญ, (ขวา) บันทึกของพุทธทาสที่ให้เหตุผลว่า “ทำไมจึงอุตริเปนนักโบราณคดี?” (ที่มา : เอกสารจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ. BIA1.1.2/8, https://goo.gl/SVvjkt)

ในเว็บไซต์เอกสารจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ได้รวบรวมเอกสารจำนวนหนึ่งที่ท่านพุทธทาสได้เคยใช้และบันทึกเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับโบราณคดีเอาไว้ นับเป็นฐานข้อมูลที่ดีมากแห่งหนึ่ง ซึ่งต้องขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ ได้ปรากฏบันทึกฉบับหนึ่งตั้งต้นหัวเรื่องของบันทึกข้อความว่า ทำไมจึงอุตริเปนนักโบราณคดี? ท่านได้อธิบายว่า

เนื่องจากได้สังเกตเห็นวิธีการณ์ของนักวิชาการโบราณคดี เปนการคิดซอกแซกละเอียดละออ ใช้เหตุผลถี่ยิบ เพื่อวางสมมติฐานและค้นหาอันติมมติ อาจนำมาใช้ในการคิดธรรมะให้แตกฉานได้ จึงพอใจในการศึกษาวิชาโบราณคดี และอุทิศตนเปนนักโบราณคดีสมัครเล่นตั้งแต่นั้นมา, แต่ไม่ประสงค์จะเปนนักโบราณคดีเลย เพราะเปนเรื่องใหญ่เกินไป. เวลาไม่พอ.”

Advertisement

ดังนั้นในทัศนะของท่านพุทธทาสแล้ว การศึกษาโบราณคดีคือหนทางหนึ่งในการเข้าใจธรรมะ ซึ่งควรจะหมายถึงการเข้าใจประวัติของพระพุทธศาสนาในแถบไชยาผ่านหลักฐานทางโบราณคดีนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แนวทางการศึกษาโบราณคดีของท่านก็ถือว่าเป็นโบราณคดีสมัยใหม่มาพอควร เพราะมีการพิจารณาธรรมชาติและพลวัตของตัวหลักฐาน ดังเห็นได้จากบันทึกชื่อโบราณคดีตั้งอยู่บนหลักฐานที่เดินได้ ได้เล่าว่าโบราณคดี มีทางมาโดยอาศัยโบราณวัตถุเปนที่ตั้ง. แต่โบราณวัตถุนั้น มิได้มีหยู่พร้อมหน้าครบถ้วน เปนของเก่า หายาก เร้นลี้ลับหยู่ตามที่ต่างๆ ต้องขุดค้นขึ้นมา, ได้มาเปนส่วนน้อย, แล้วยังไม่ครบถ้วน บางทีถูกดัดแปลงผิดไปจากเดิม (หรือถึงกับถูกสับเปลี่ยน เคลื่อนคลาด เหตุนั้น การวินิจฉัยโบราณคดี จึง : . วินิจฉัยยุติเท่าที่มีหลักฐานในขณะนั้น ข. แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อได้หลักฐานใหม่ที่ดีกว่า ดังนี้หยู่เสมอไป.”

ส่วนในภาพรวมของวิธีการศึกษาโบราณคดีของท่านพุทธทาสนั้น นับว่ามีความก้าวหน้ามากทีเดียวในยุคนั้น มีลักษณะเป็น Cultural history (ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม) คือ การศึกษาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในพื้นที่นั้นจากอดีตที่เก่าที่สุดจนถึงปัจจุบัน ที่ก้าวหน้าอีกอย่าง คือ การใช้ความรู้ทางภูมิศาสตร์และการศึกษาเส้นทางข้ามคาบสมุทรเพื่ออธิบายการก่อกำเนิดรัฐศรีวิชัยที่ไชยา ซึ่งนับเป็นความรู้ใหม่มากในยุคนั้น เป็นไปได้ว่าคงได้รับอิทธิพลของแนวทางการศึกษาจาก ควอริช เวลส์ (Quaritch Wales) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษคนสำคัญในยุคนั้นและที่อีกผู้หนึ่งคือหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์รัชนีปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ศรีวิชัย

ปกหนังสือ แนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน (ภาพจากเว็บไซต์ เอกสารจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ)

กว่าที่หนังสือแนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน จะเขียนเสร็จได้นั้น ไม่ใช่เกิดขึ้นจากการอ่านหนังสือเท่านั้น หากแต่เป็นผลมาจากที่ท่านลงพื้นที่ภาคสนามสำรวจแหล่งโบราณคดีต่างๆ ด้วยตนเอง มีการจดบันทึกทั้งลายมือและพิมพ์ดีดที่ท่านพุทธทาสบันทึกหลังจากที่ไปสำรวจแหล่งโบราณคดีมา โดยบางแห่งจะพบว่านอกจากให้ข้อมูลของแหล่งโบราณคดีเบื้องต้นแล้ว ยังมีการวัดขนาดของโบราณสถานที่พบ (ภาพที่ ) การวิเคราะห์โบราณวัตถุและการกำหนดอายุที่แสดงถึงการเป็นผู้มีความรู้ด้านโบราณคดีอย่างแท้จริงคนหนึ่ง

ตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งไปสำรวจเจดีย์ที่ถ้ำสิงขร เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๑๔ ได้อธิบายว่าองค์พระเจดีย์ก่ออิฐชนิด มีปูนสอ ธรรมดา และรุ่นหลัง. อิฐเป็นสองชนิด หนาใหญ่คล้ายอิฐโบราณก็มี ขนาดเล็กธรรมดาก็มี แต่ค่อนข้างแบนกว้างกว่าอิฐปัจจุบัน, ไม่มีทางแสดงว่าเป็นอิฐสมัยศรีวิชัย, รูปทรงของพระเจดีย์แสดงว่าของใหม่มือไทย เลียนทรงศรีวิชัย แต่ไม่ได้เต็มที่, ถ้าจะดูไปทางเป็นทรงแบบอินเดีย ยิ่งไปไม่ได้…” ข้อสันนิษฐานของท่านนั้นมีความใกล้เคียงกับปัจจุบันมาก

ความจริงแล้ว หลังจากหนังสือแนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน ได้ตีพิมพ์ไปแล้ว พบว่าท่านพุทธทาสยังคงทำงานสำรวจแหล่งโบราณคดีอย่างต่อเนื่องมาจนถึง พ.. ๒๕๑๔ หรือหลังจากนั้นอีก เป็นไปได้ว่าท่านต้องการจะปรับปรุง (revise) หนังสือเล่มนี้ เพราะเกิดคำถามตามมามากมายอันเป็นผลมาจากการค้นพบหลักฐานใหม่เรื่อยๆ ดังเห็นได้ว่ามีบันทึกอยู่จำนวนหนึ่งที่เขียนหัวกระดาษว่าเพิ่มรอบอ่าวบ้านดอนโดยมีทั้งหมดราว ๕๐ หัวข้อย่อย เช่น เพิ่มเติมเรื่องปัญหา : ปฏิมากรรมสำคัญศรีวิชัยที่ไชยา เป็นของทำที่นี่ หรือจนมาจากอินเดีย (ควรตรวจกระทั่งเนื้อหินและโลหะที่ใช้ต่อไป)”, คำว่ารอบอ่าวบ้านดอนขยายวงออกไปได้ถึง นครเวียงสระคีรีรัฐตะกั่วป่าคันธุลี, เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเมื่อพิจารณาจากยุคสมัยของท่านเองแล้วที่นับว่างานศึกษาโบราณคดีของท่านนั้นจัดว่าดีมากก็ตาม ท่านก็พูดไว้อย่างถ่อมตัวว่าเรานักโบราณคดีเด็กอมมือดังนั้น ข้อเขียนจึงอยู่เหนือความผิดและความถูก, มีอะไรก็พูดไปตามความรู้สึก, เลยสบายใจตรงนี้เองว่าพูดไปตามสามัญสำนึกให้ทุกแง่ทุกมุม…”


ที่มา: บทความเรื่อง “เมื่อพระพุทธทาส ‘อุตริ’ อยากเป็นนักโบราณคดี พระสงฆ์ผู้ท้าทายเซเดส์” โดย พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2546