ไฉน “หลิวปัง” ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ฮั่น เป็นผู้นำแบบ “ร่วมทุกข์ได้ ร่วมสุขไม่ได้”

หลิวปัง จักรพรรดิฮั่นเกาจู่ ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ฮั่น
หลิวปัง หรือ จักรพรรดิฮั่นเกาจู่ ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ฮั่น

คำพูดโลกสวยที่ว่า “มีสุขร่วมเสพ มีทุกข์ร่วมต้าน” หรือ “ร่วมทุกข์ร่วมสุข” เอาไว้สร้างความฮึกเหิมให้กับทีมงาน แต่ในความจริง “ผู้นำ” จำนวนไม่น้อยมักเกิดความระแวงต่อผู้ใต้บังคับบัญชา โดยเฉพาะที่มีความสามารถเกินหน้านาย ซึ่งมักจบลงด้วยการ “ถอนฟืนจากใต้กระทะ” ตัวอย่างเช่นนี้ในประวัติศาสตร์จีนคงมีอยู่ไม่น้อย หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “หลิวปัง” ผู้นำที่ “ร่วมทุกข์ได้ ร่วมสุขไม่ได้”

หลิวปัง หรือ จักรพรรดิฮั่นเกาจู่ ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ฮั่น หลังราชวงศ์ฉินล่มสลาย อดีตข้าราชการชั้นผู้น้อยอย่างหลิวปัง สามารถเอาชนะเซี่ยงหยี่ (ฌ้อปาอ๋อง) ขุนศึกผู้ยิ่งใหญ่ ส่วนหนึ่งเพราะมีขุนพลและที่ปรึกษาคนสำคัญ 3 คน คือ เสียวเหอ, หานซิ่น, จางเหลียง

จักรพรรดิฮั่นเกาจู่มีรับสั่งในที่ประชุมขุนนางว่า “เรากระทำการใหญ่ได้สำเร็จครั้งนี้เพราะประกอบด้วยกำลังศึก 3 ประการ ประการ 1 คือ จางเหลียง รู้กลอุบายลึกซึ้ง คิดอ่านป้องกันภัยทั้งปวงไปถึงพันโยชน์ ก็เป็นกำลังประการ 1

ประการ 1 เซียวเหอ ซึ่งไปรักษาเมืองเสียนหยาง รู้เกลี้ยกล่อมคนให้ทำไร่ไถนา ได้ข้าวปลาอาหารไว้บริบูรณ์ เรากระทำศึกจึงไม่ขาดเสบียงอาหาร ก็เป็นกำลังศึก 2 ประการ

ประการ 1 คือ หานซิ่น ชำนาญในพิชัยสงคราม รู้ตั้งค่ายแลจัดแจงกองทัพ จึงมาตรว่าคนสัก 100 หมื่น 200 หมื่น หานซิ่นก็เป็นแม่ทัพคุมไว้ได้ อันคน 3 คนนี้คือกำลังศึกของเรา จึงทำการใหญ่ได้สำเร็จ”

ในชั้นต้น จักรพรรดิฮั่นเกาจู่ ทรงแต่งตั้งขุนพลที่มีความดีความชอบเป็นพิเศษในสงคราม และเชื้อพระวงศ์สําคัญ ๆ ให้เป็น “เจ้าเมือง” มีอํานาจปกครองดินแดนเขตแคว้นศักดินา ผู้มีความดีความชอบเป็นพิเศษก็ได้แก่ยอดขุนพลสามคนคือ หานซิ่น เผิงเย่ และอิ้นปู้

ขุนพลเหล่านี้มีความสามารถในการศึก เมื่อเป็นเจ้าเมืองมีอํานาจปกครองเขตแคว้นศักดินาอย่างเป็นอิสระ มีกองทัพของตนเอง มีอํานาจแต่งตั้งขุนนางที่ทําหน้าที่บริหารภายในเขตแคว้นโดยสิทธิ์ขาด ไม่ต้องขึ้นกับราชสํานักเมืองหลวง แต่ละแคว้นมีเนื้อที่กว้างขวาง เมืองที่อยู่ในปกครองโดยตรงมีตั้งแต่ 30-100 เมือง

นั่นทำให้จักรพรรดิฮั่นเกาจู่ทรงมีความหวาดระแวง ไม่ไว้วางพระทัยในขุนพลเหล่านี้ตั้งแต่แรก

ยิ่งกว่านั้น หากแคว้นต่าง ๆ รวมกันแล้ว มีพื้นที่และอำนาจมากกว่าดินแดนและอำนาจที่พระองค์เองมีโดยตรงในอาณาจักรเสียอีก ยิ่งนานวันพระองค์ก็ยิ่งไม่ไว้วางพระทัยเหล่าเจ้าเมืองที่พระองค์ทรงแต่งตั้งเองขึ้นทุกที จนกลายมาเป็นการวางแผนเพื่อกําจัด

เป้าหมายอันดับแรกก็ได้แก่ หานซิ่น-เจ้าผู้ครองแคว้นฉู่ ผู้มีความดีความชอบสูงสุดในการพิชิตเซี่ยงหยี่ คู่ต่อสู้สำคัญของพระองค์ หานซิ่นถูกประหารชีวิตในข้อหากบฏในปีที่ 196 ก่อน ค.ศ. ต่อมาเผิงเย่-เจ้าผู้ครองแคว้นเหลียง กับอิ้นปู้-เจ้าผู้ครองแคว้นหวายหนาน ก็ต้องประสบชะตากรรมไม่ดีไปกว่าหานซิ่นเลย ส่วนเจ้าเมืองอีกคนอื่น ๆ ถ้าไม่หนีโดยยอมสละดินแดนเขตแคว้นที่ตนปกครองเสีย ก็ต้องถูกถอดยศถอดตําแหน่ง

เมื่อกําจัดเจ้าผู้ครองแคว้นที่ไม่ต้องการได้หมด จักรพรรดิฮั่นเกาจู่ทรงโล่งพระทัยเป็นอันมากว่าคงไม่มีการก่อกบฏ จากนั้นก็ทรงแต่งตั้งเชื้อพระวงศ์ขึ้นเป็นเจ้าแคว้น ทรงมีรับสั่งว่า “ให้อ้ายคนที่ไม่ใช่แซ่หลิวบังอาจตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้า มันจะต้องถูกรุมโจมตีจากทั่วทั้งสากลทีเดียว” แต่แล้ว เจ้าแคว้นแซ่หลิวที่เป็นเชื้อพระวงศ์ กลับกลายเป็นภัยคุกคามราชสํานัก ที่ก่อการกบฏขึ้นถึง 2 ครั้ง

หลังจากรัชกาลจักรพรรดิฮั่นเกาจู่ประมาณ 1,500 ปี มีผู้ชื่นชมพระองค์เป็นอย่างมากเกิดขึ้น นั่นคือ “จูหยวนจาง”

จูหยวนจาง หรือ หมิงไทจู่ ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์หมิง ผู้ล้มล้างราชวงศ์หยวนของชาวมองโกล รัฐบุรุษผู้เข้าใจความทุกข์ยากของประชาชน  ทว่าในอีกด้านหนึ่งก็ทรงโหดร้ายทารุณกับขุนนางที่รับใช้พระองค์ด้วยความจงรักภักดี นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยก็บันทึกไว้ว่า

เมื่อขุนนางจะออกจากบ้านไปเฝ้าพระองค์ในวังนั้น ลาลูกเมียเสมือนลาตาย หากสามารถกลับมาโดยปลอดภัย ครอบครัวก็ยินดีมีการเลี้ยงฉลองประหนึ่งรอดตายกลับมาได้ราวปาฏิหาริย์

บุคลิกภาพ อุปนิสัย ตลอดจนความโหดร้ายอย่างเหลือเชื่อของปฐมจักรพรรดิราชวงศ์หมิงองค์นี้นั้นน่าสืบเนื่องจากชาติกําเนิดอันต่ำต้อยของพระองค์ จากครอบครัวชาวนาจนที่ต้องผ่านพบทุพภิกขภัยอันร้ายกาจ ที่เริ่มชีวิตทหารมาตั้งแต่เป็นไพร่พลจนถึงแม่ทัพใหญ่และจักรพรรดิ ต้องเอาชีวิตเข้าเสี่ยงต่อสู้และกำจัดผู้คนจำนวนมาก เพื่อความอยู่รอดและความเป็นใหญ่

ในบรรดาจักรพรรดิราชวงศ์ต่าง ๆ จักรพรรดิหมิงไทจู่ทรงยกย่องและชมชอบจักรพรรดิฮั่นเกาจู่มากที่สุด อาจเป็นเพราะทั้งสองพระองค์ต่างมีชาติกําเนิดอันต่ำต้อย แต่สามารถก้าวขึ้นมาสู่ตําแหน่งจักรพรรดิโดยไม่มีพื้นฐานใด ๆ สนับสนุนเช่นเดียวกับพระองค์ ผิดกันเพียงหมิงไทจู่ทรงมีใบหน้าอัปลักษณ์ หน้าผากโหนกสูง จมูกใหญ่ ขากรรไกร ยื่นออกทั้งสองข้างเท่านั้นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก : 

ทวีป วรดิลก. ประวัติศาสตร์จีน, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ.2527

เสถียร จันทิมาธร. วิถีแห่งอำนาจจางเหลียง วิถีแห่งเสนาอำมาตย์ (1) ใน,  หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

หลี่เฉวียน (เขียน) เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย (แปล). ประวัติศาสตร์จีน ฉบับย่อ, สำนักพิมพ์มติชน มกราคม พ.ศ. 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มิถุนายน 2563