ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“แน่จริงมึงเจอกู!” ใครได้ยินคงสะดุ้ง เพราะมีความหมายเชิงท้าตีท้าต่อย และในเชิงภาษา คำว่า “กู” ในบริบทนี้ถือเป็น “คำหยาบ” แต่ถ้าอยู่ในประโยค “เดี๋ยวกูกับมึงไปกินหมูกระทะกัน” ก็ถือเป็นคำแทนตัวเองและอีกฝ่าย แสดงความสนิทสนม ไม่ได้มีความหมายไปในเชิงไม่สุภาพแต่อย่างใด
คำว่า กู มึง ข้า เอ็ง เป็นกลุ่มคำที่ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต อธิบายไว้ว่าเป็นคำธรรมดาที่คนไทยแต่ก่อนเคยใช้กันมาปกติ ไม่ได้มีความหมายใช้เป็นคำหยาบหรือดูถูกดูหมิ่นใด ๆ แต่ต่อมาถูกลดฐานะลงเป็นคำไม่สุภาพ
แล้วคำว่า “กู” เป็นคำหยาบตั้งแต่เมื่อไหร่?
มีผู้สันนิษฐานว่า กู เริ่มเป็นคำหยาบ สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ออก “รัฐนิยม” 12 ฉบับ ระหว่าง พ.ศ. 2482-2485 เพื่อให้คนไทยมีจิตสำนึกรักชาติ และสร้างชาติให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ หนึ่งในนั้นคือการใช้คำสุภาพในการพูดคุยกัน
สะท้อนจาก “คติ 6 ประการของคนไทย” ที่สำนักนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลจอมพล ป. ประกาศในปี 2487 ประกอบด้วย ตัวตายดีกว่าชาติตาย, ตัวตายดีกว่าชื่อตาย, ประเทศเป็นบ้าน ทหารเป็นรั้ว ชาติคือเครือญาติในครัวเรือน, ว่าอะไรว่าตามกัน, ความสำเร็จอยู่ที่ทำจริงเป็นล่ำเป็นสัน และ ช่วยกันนิยมพูด ฉัน ท่าน จ้ะ ไม่ เป็นคำสุภาพดี
หากพิจารณาบริบทสังคมข้างต้นในทศวรรษที่ 2480 “กู” ซึ่งมีความหมายเดียวกับ “ฉัน” คือเป็นสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง กลับถูกกันออกจากความสุภาพ กลายเป็นคำหยาบไปโดยปริยาย
แต่ที่จริงแล้ว พบหลักฐานว่ากูเป็นคำหยาบเก่ากว่าสมัยจอมพล ป. เสียอีก ปรากฏอยู่ใน “สาส์นสมเด็จ” ระบุวันเดือนปีที่กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้เมื่อ 21 มีนาคม พ.ศ. 2478
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีลายพระหัตถ์ถึง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ลงวันที่ 12 มีนาคม ปี 2478 ตรัสถึงการใช้สรรพนามแทนพระองค์ในการแต่งหนังสือ “เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพม่า” ซึ่งกรมดำรงทรงเล่าว่า การแต่งหนังสือนี้มีปัญหาเรื่องการใช้สรรพนามเรียกพระองค์ว่าควรใช้คำใด
“ถ้าใช้คำว่า ‘หม่อมฉัน’ หนังสือเป็นจดหมาย Letter ถวายเฉพาะพระองค์ท่านฉบับเดียว ฉบับอื่นเป็นแต่สำเนา ถ้าใช้คำ ‘ข้าพเจ้า’ เป็นหนังสือแต่งโฆษณาแก่มหาชน ซึ่งหม่อมฉันไม่ปรารถนาจะแต่งในสมัยนี้ จึงใช้คำ ‘ฉัน’ เป็นสำนวนกลางอย่างพูดกันกับมิตรสหาย…”
เมื่อกรมนริศทรงได้รับจดหมายจากกรมดำรง ก็ทรงมีลายพระหัตถ์ตอบ ลงวันที่ 21 มีนาคม ปี 2478 ความว่า
“ข้อพระปรารภเรื่องใช้สรรพนามเรียกตัวเองนั้น มาเข้ากะบ้องแต๋งที่เกล้ากระหม่อมดิ้นอึกอักมาแล้วทีเดียว ตั้งต้นรู้สึกขัดข้องที่จดบันทึกและบัญชีอะไร ๆ อันเป็นของส่วนตัว จะเรียกตัวเองว่ากระไรดี
จะเรียก ‘ข้าพเจ้า’ (ซึ่งมาแต่ข้าพ่อเจ้า) เห็นไม่ควรเลย เพราะคำนั้นเป็นคำใช้พูดกับอีกคนหนึ่ง ไม่ใช่พูดกับตัวเอง และเป็นคำที่ถ่อมตัวลงต่ำมาก ไม่ต้องประกอบหลายคำ เอาแต่ ‘ข้า’ คำเดียวก็แปลว่าผู้รับใช้ (เป็นไปในพวกเดียวกับบ่าวหรือทาส) เสียแล้ว จะใช้คำ ‘เรา’ ตามแบบที่ใช้ในพระราชดำรัสต่าง ๆ ก็เห็นไม่ถูก เพราะคำว่าเรานั้นเป็นพหูพจน์
ได้คิดค้นคำเรียกตัวเองเมื่อพูดกับตัวเองก็พบคำ ‘กู’ ซึ่งเดี๋ยวนี้เขาถือกันว่าเป็นคำผรุสวาท อีกคำหนึ่งก็ ‘ตู’ เดี๋ยวนี้เขาก็ไม่ใช้กัน ใช้เข้าก็เป็นอุตริ…”
ตามที่กรมนริศทรงบอก ก็เท่ากับช่วงปลายทศวรรษ 2470 กูเป็นคำผรุสวาท (คำหยาบ) แล้วนั่นเอง อย่างน้อยก็พอจะมีหลักฐานอ้างอิงชัดเจนเช่นนี้
หมายเหตุ : ในเครื่องหมายคำพูดของกรมนริศ มีการจัดย่อหน้าใหม่และเน้นตัวหนาโดยผู้เขียนบทความ
อ่านเพิ่มเติม :
- เบื้องหลัง เพลงปลุกใจ-เพลงรัฐนิยม ครั้ง “กรมโฆษณาการ” สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม
- ชำแหละอำนาจนำ ผ่านสัญลักษณ์ “ไก่” ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
- รัฐนิยม-คำสั่งอมตะ ของจอมพล ป. ที่ใครๆ ยังกล่าวถึง?!?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. สาส์นสมเด็จ เล่ม 3. นนทบุรี : ต้นฉบับ, 2563. (ฉบับรวมพิมพ์จากหนังสืออนุสรณ์ผู้วายชนม์ (10 เล่มชุด)
กาญจนา นาคสกุล, ศาสตราจารย์ ดร., “คำสรรพนามในภาษาไทยสะท้อนวัฒนธรรมไทย” เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2566
เกษียร เตชะพีระ. “วาทกรรมความเป็นไทย : ความเป็นไทยแบบรัฐนิยมทหาร”. มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม 2561 เข้าถึงเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2566
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566