โจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีคนแรกของจีน ผู้ริเริ่ม “การทูตปิงปอง”

เหมาเจ๋อตง และโจวเอินไหล หลังพิธีวันชาติ ปี 1966

“ปราศจากเหมาเจ๋อตง ลูกไฟน้อยๆ แห่งการปฏิวัติประเทศจีนจะไม่ลุกโชนเป็นไฟลามทุ่ง แต้ถ้าปราศจากโจวเอินไหล การปฏิวัติประเทศจีนก็จะเผาไหม้ต่อไป จนมอดไหม้กลายเป็นเถ้าธุลี”

นี่บทบาทของ 2 รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของจีน ในจินตนาการของ  ริชาร์ด นิกสัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ

โจวเอินไหล (5 มีนาคม พ.ศ. 2441 – 8 มกราคม พ.ศ. 2519) เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคนแรกของจีน ที่มีความสามารถทางการทูตของเขาเป็นที่ยอมรับของเวทีระดับนานาชาติ หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “การทูตปิงปอง” ที่ใช้สร้างความสัมพันธ์กับนานาประเทศ

เชาวน์ พงษ์พิชิต อดีตนักวิชาการจีนศึกษา ของศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงเรื่องนี้ไว้ใน “โจวเอินไหล รัฐบุรุษจีน” (สนพ.มติชน) ซึ่งขอสรุปมานำเสนอดังนี้

สถานการณ์ของจีนเมื่อย่างเข้าทศวรรษที่ 1980 จีนมีความขัดแย้งกับโซเวียต และอินเดียที่เป็นเพื่อนบ้าน ส่วนสหรัฐฯ ก็ยังเป็นศัตรูหมายเลข 1 ด้านอุดมการณ์ ก็เลยเท่ากับว่าจีนต้องเผชิญหน้ากับทั้งสองมหาอำนาจ  โจวเอินไหลได้เคยสนทนากับนักข่าวต่างประเทศถึงสถานการณ์ดังกล่าวว่า

“สมมุติว่า กองทัพโซเวียตบุกรวดเดียวมาถึงฝั่งเหนือของแม่น้ำเหลือง สหรัฐฯ บุกมาถึงฝั่งใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง (คงจะยกกันมาจากเกาะไต้หวัน) ญี่ปุ่นเข้ายึดเกาะชิงเต่ามณฑลซันตง ส่วนอินเดียก็ร่วมวงยกเข้ามายึดทิเบตด้วย” “เป็นภาพที่น่ากลัวอะไรปานนั้น เสือหลายตัวซึ่งกันเข้าตะปบเหยื่อจากรอบทิศ สุดวิสัยที่จะป้องกันตัว ถ้าหากสมมุติฐานนี้เป็นจริงขึ้นมาเมื่อไร ก็จะเป็นภัยมหาประลัยสำหรับจีนทีเดียว”

การสมมุติข้างต้นนั้น โซเวียตเป็นเพื่อนบ้านที่ยิ่งใหญ่ และเป็นตัวอันตรายที่น่าหวาดกลัวที่สุด วางกำลังไว้ตามชายแดนจีน-โซเวียตถึง 40 กองพล สามารถทำลายล้างอำนาจทางนิวเคลียร์ของจีนได้ภายในครึ่งชั่วโมง เบรสเนฟ [เลโอนิด เบรสเนฟ] ผู้นำของโซเวียต ตั้งตัวเป็นศัตรูกับจีนยิ่งเสียกว่าครุสชอฟ [นีกีตา ครุสชอฟ] ผู้นำคนก่อน

แต่บังเอิญสหรัฐฯ ก็ชักจะเบื่อหน่ายการทำสงครามเย็นกับจีน เพราะข่มจีนไม่ลงสักที แต่หากได้จีนมาเป็นพวกจะได้เป็นต่อโซเวียตน่าจะเป็นการดีกว่า ยิ่งกว่านั้น สินค้าและเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ก็ชักจะต้านแรงดึงดูดของตลาดอันมหึมาของจีนไม่ไหวเสียแล้ว

ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ผู้นำของสหรัฐฯ กระตือรือร้นและพยายามหาลู่ทางเชื่อมสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน เพราะเชื่อมั่นว่า จะเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ช่วยให้ชนะการเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีได้อีกวาระหนึ่ง ด้วยการเริ่มต้นจากการฟื้นฟูการเจรจาระดับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ-จีน ซึ่งเคยจัดที่เจนีวาเมื่อปี ค.ศ. 1955/พ.ศ. 2498 ที่หยุดชะงักไปให้มีขึ้นใหม่ที่กรุงวอร์ซอ เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1970/พ.ศ. 2513 นิกสันยังได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวนิตยสารไทม์ของสหรัฐฯ ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1970/พ.ศ. 2513 ว่า

“ถ้าหากว่ามีอะไรที่ผมจะต้องทำก่อนหมดลมหายใจ สิ่งนั้นก็คือไปประเทศจีน”

เมื่อโจวเอินไหลได้รับโทรเลขจากวอร์ซอแจ้งข่าวว่า ฝ่ายสหรัฐฯ ขอเจรจา ก็รีบรุดไปพบเหมาเจ๋อตงทันที เดือนธันวาคม ค.ศ.1970/พ.ศ. 2513 โจวเอินไหลส่งจดหมายถึงทำเนียบขาวว่า “แต่ไหนแต่ไรมา จีนยินดีและพยายามที่จะให้มีการเจรจาด้วยสันติวิธี…เพื่ออภิปรายปัญหาเรื่องสถานะของไต้หวัน ดินแดนของจีน ทูตพิเศษของประธานาธิบดีนิกสันจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่ปักกิ่ง”

ประธานาธิบดีนิกสันรับคำเชิญ โดยจะส่งเฮนรี่ คิสซิงเจอร์ ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของท่านไปเยือนจีนอย่างลับๆ ก่อนที่คิสซิงเจอร์จะเดินทางไปจีน โจวเอินไหลได้มีโอกาสจัดฉากโหมโรงเล็กๆ ฉากหนึ่ง แต่ก็โด่งดังไปทั่วโลก?

นั่นก็คือในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1971/พ.ศ. 2514 มีการแข่งขันกีฬาเทเบิลเทนนิสชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 31 ที่เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น เกลน โคห์น สมาชิกทีมสหรัฐฯ กำลังรอรถมารับอยู่ที่ริมบาทวิถี บังเอิญรถของทีมจีนผ่านมาจึงรับเขาไปด้วย เมื่อคุยกันรู้เรื่อง ก็มีการแลกเปลี่ยนของขวัญกันบ้าง เรื่องนี้เมื่อรายงานไปถึงปักกิ่ง โจวเอินไหลสั่งการทันที ให้ทีมจีนเชิญทีมสหรัฐฯ มาเยือนจีน

เมื่อทีมสหรัฐฯ ตอบรับคำเชิญ เพื่อไม่ให้เป็นที่ครหา จีนจึงเชิญอีก 4 ทีม คือ ทีมแคนาดา โคลัมเบีย อังกฤษ และไนจีเรีย ไปด้วย วันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1971 /พ.ศ. 2514 โจวเอินไหลพบปะกับสมาชิกทีมเทเบิลเทนนิสทั้ง 5 ทีม ท่านเจาะจงพูดกับทีมสหรัฐฯ ว่า “การที่ท่านรับเชิญมาเยือนจีนครั้งนี้ ได้เปิดประตูไปมาหาสู่ฉันมิตรระหว่างประชาชนสองชาติแล้ว เราเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ของเราทั้งสองชาติจะให้ความเห็นชอบและสนับสนุนการไปมาหาสู่ฉันมิตรเช่นนี้ในเวลาต่อไป” ในปีเดียวกันทีมเทเบิลเทนนิสของจีนก็ได้รับเชิญให้ไปเยือนสหรัฐฯ เป็นการตอบแทนในปีเดียวกัน

การทูตปิงปองจึงอุบัติขึ้นด้วยประการฉะนี้

การเยือนจีนของทีมเทเบิลเทนนิสสหรัฐฯ ในครั้งนี้ยังมีเกร็ดข่าวอีกเรื่องหนึ่งเป็นที่ตื่นตาตื่นใจของชาวโลกพอสมควร ซึ่งสมควรจะนำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วยคือ

ในการพบปะทีมกับทีมเทเบิลเทนนิส 5 ชาติ เมื่อวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1971 /พ.ศ. 2514 นั้น เกลน โคห์นได้ตั้งปัญหาถามโจวเอินไหลว่า “ท่านนายกรัฐมนตรี ผมอยากทราบว่าท่านมีทัศนคติต่อฮิปปี้อเมริกันอย่างไรบ้าง?”

โจวเอินไหลจ้องมองผมเผ้าที่เป็นกระเซิงของนายโคห์นครู่หนึ่ง แล้วถามว่า “ท่านก็เป็นฮิปปี้กับเขาด้วยกระมัง?” แล้วกวาดสายตาไปยังผู้ฟังโดยรอบ ค่อยกล่าวอย่างสงบว่า

“ทุกวันนี้เยาวชนทั่วโลก มีความไม่พอใจต่อสภาพการณ์ปัจจุบัน ต่างก็กำลังแสวงหาสัจธรรม ในกระบวนการที่พวกเขาเกิดความผันแปรทางความคิดนั้น จะเกิดสรรพสิ่งต่างๆ นานาขึ้นมา ก่อนความผันแปรนั้นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา และการผันแปรที่ว่านี้ก็แสดงออกมาด้วยรูปแบบต่างๆ กัน รูปแบบเหล่านี้ล้วนไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นรูปแบบสุดท้ายแล้ว ในขณะที่แสวงหาสัจธรรมอยู่นี้เอง ย่อมจะต้องผ่านเรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้าง ซึ่งสมควรจะได้รับความเห็นใจ หรืออีกนัยหนึ่งเราสมควรอนุญาตให้เยาวชนผ่านการทดลองในแนวทางต่างๆ เพราะว่าเราเองก็เคยทำการทดลองใช้วิธีการต่างๆ นานามาก่อน ขณะที่เรายังอยู่ในวัยหนุ่มสาว เหตุนี้เองเราจึงเข้าใจวิธีคิดของเยาวชน”

โจวเอินไหลยังตอบว่า “ตามประวัติความเป็นมาของวิวัฒนาการแห่งมนุษยชาติ เห็นได้ว่ามนุษยชาติย่อมต้องค้นพบสัจธรรมทั่วไป ทั้งนี้ก็เป็นกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติกฎหนึ่ง เราเห็นชอบด้วยที่เยาวชนต่างแสวงหาสัจธรรม โดยใช้วิธีการต่างๆ กันเป็นการทดลอง แต่มีประเด็นหนึ่งที่พึงสนใจก็คือ คุณน่าจะต้องขวนขวายแสวงหาจุดร่วมบางจุดกับมนุษยชาติส่วนใหญ่อยู่เสมอ จะได้เอื้อให้คนส่วนใหญ่ได้รับความเจริญและความสุขสวัสดี”

หนุ่มโคห์นรู้สึกผิดคาด นึกว่าจะได้ฟังเทศนาโวหารจากพวกไดโนเสาร์เต่าพันปีที่เคร่งในจารีตคอมมิวนิสต์กัณฑ์ใหญ่ แต่สิ่งที่ได้ยินได้ฟังนั้นกลับกลายเป็นแนวคิดใหม่สุดที่ไม่เคยพบเห็นจากที่ไหนมาก่อน

ในวันเดียวกันริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศคำแถลงฉบับหนึ่ง ลดมาตรการบีบคั้นกดดันจีนที่รัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งขึ้นมานานถึง 2 ทศวรรษลง

วันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 1971 /พ.ศ. 2514 เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ ที่ปรึกษาสภาความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ออกเดินทางจากกรุงอิสลามาบัดไปปักกิ่งโดยเครื่องบิน ด้วยการสนับสนุนของฝ่ายปากีสถาน ท่านเจรจากับโจวเอินไหลและเย่เจี้ยนยิงรวม 6 ครั้ง ในเวลา 3 วัน

วันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1971/พ.ศ. 2514 จีนและสหรัฐฯ ออกคำแถลงประกาศข่าว ริชาร์ด นิกสันตระเตรียมจะเยือนจีน เป็นข่าวที่สั่นสะเทือนไปทั่วโลก

วันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1971/พ.ศ. 2514 คิสซิงเจอร์เดินทางไปจีนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อตระเตรียมการเดินทางไปเยือนจีนของนิกสัน ที่สำคัญคือ ตระเตรียมต้นฉบับแถลงการณ์ร่วมการเยือนจีนของนิกสัน ก่อนไปจีน คิสซิงเจอร์ได้ยกร่างแถลงการณ์ร่วมเสร็จ และผ่านการอนุมัติของนิกสันแล้ว

แต่พอมาถึงจีน โจวเอินไหลอ่านแล้วไม่เห็นด้วย เพราะว่าเป็นเอกสารตามสูตรทั่วไป ไม่เหมาะกับกรณีนี้ คือไปอำพรางความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการแก้ปัญหาในอนาคต คิสซิงเจอร์ข้องใจมากโดยเห็นว่าไม่สมควรให้ชาวโลกเห็นว่าสหรัฐฯ กับจีนกำลังทะเลาะกัน เพราะฉะนั้น “จึงยากที่จะยอมรับได้ทั้งในสหรัฐฯ และนานาชาติ”

เมื่อตกลงกันไม่ได้ โจวเอินไหลจึงเสนอให้พักผ่อนสักครู่ค่อยเจรจากันต่อ คิสซิงเจอร์ครุ่นคิดอยู่เป็นเวลานาน ในที่สุดก็เข้าใจและหลุดคำพูดออกมาว่า “การเปิดเผยความแตกต่างก็จะมีผลทำให้พันธมิตรวางใจได้ โดยเห็นว่าผลประโยชน์ของพวกเขาจะได้รับการคุ้มครอง แม้แต่บุคคลฝ่ายต่างๆ จะมีความแน่ใจว่าคำแถลงร่วมนั้นเป็นของจริงมิใช่หรือ?” การเข้าที่ประชุมอีกครั้ง คิสซิงเจอร์จึงได้บอกโจวเอินไหลว่า ฝ่ายสหรัฐฯ ยินดีรับรองวิธีการที่ปรากฏในฉบับร่างของโจวเอินไหล การเจรจาก็ผ่านพ้นความยุ่งยากในขั้นตอนที่ 1 นี้ไปได้

ประธานาธิบดีนิกสันจับมือกับนายกโจวในการเยือนประเทศจีน (ภาพจากhttp://www.presidentialtimeline.org)

เช้าตรู่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1972/พ.ศ. 2515 ริชาร์ด นิกสัน และภรรยาก้าวลงจากเครื่องบินด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ประธานาธิบดีนิกสันใช้เวลาในการเยือนจีนครั้งนี้ 1 สัปดาห์เต็มๆ นิกสันกล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า สัปดาห์ที่ผ่านไปนั้น “เป็นสัปดาห์ที่เปลี่ยนแปลงโลก” ซึ่งนับว่าเป็นความจริงทีเดียว เพราะญี่ปุ่นที่ดูเหมือนเป็นอริกับจีนตลอดมา ก็เริ่มเปลี่ยนท่าทีภายหลังการเยือนจีนของนิกสัน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

เชาวน์ พงษ์พิชิต. โจวเอินไหล รัฐบุรุษจีน, สำนักพิมพ์มติชน กรกฎาคม 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มกราคม 2563