เจ้าพ่อปลัดขิก ให้หวยแม่น “ช่วยบอกอั๊วที งวดนี้หวยออกอาราย?”

จิตรกรรม คน กราบไหว้ ปลัดขิก หรือ เจ้าพ่อปลัดขิก
จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดทองนพคุณ เขตคลองสาน กรุงเทพฯ / ภาพโดย นภ ลัลล้า

ในภาพจะเห็นพ่อลูกชาวจีนกำลังแสดงอาการทำความเคารพศาลเจ้าที่เทพารักษ์ ที่มี “ปลัดขิก” ตั้งอยู่ภายใน คนพ่อชาวจีนอาจจะกำลังพูดว่า “เจ้าพ่อปลัดขิก…ช่วยบอกอั๊วที งวดนี้หวยออกอารายยย??? พร้อมมือขวาที่กำลังชูสองนิ้ว? (ภาพนี้จากจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดทองนพคุณ เขตคลองสาน กรุงเทพฯ / ภาพถ่ายโดย นภ ลัลล้า)

ปล. 1 โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านและรับชมภาพ เพราะแอดมินจินตนาการล้วนๆ ช่างเขียนไม่ได้กล่าวไว้ แต่งวดนี้ 23 น่าจะมา (พ่อชาวจีนชูสองนิ้ว-ปลัดขิกในศาลมี 3) ถ้ากลับก็ 32^^

ปล. 2 ถ้าในแง่ประวัติศาสตร์ จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดทองนพคุณนี้ เขียนประมาณรัชกาลที่ 3 -รัชกาลที่ 4 เป็นภาพบันทึกประวัติศาสตร์สังคมในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ผู้คนยังคงนับถือ “เจ้าพ่อปลัดขิก” “ปลัดขิก” หรือ “บุรุษลึงค์” กันมากมาย จนถึงขนาดที่ช่างเขียนนำมาเขียนบนผนังบันทึกไว้ให้เห็นถึงปัจจุบัน ย้อนไปไม่ไกลมากก่อนภาพบนผนังนี้ในสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงประณามผู้บูชา “อวัยวะเพศชาย” พระองค์ทรงออกกฎหมายให้นับถือเทพารักษ์แต่พอควร ห้ามอย่าให้นับถือลึงค์ ดังมีความดังนี้

“…แต่ซึ่งสารเทพารักษาอันเอาไม้ทำเปนเพศบุรุษลึงใหญ่น้อยต่างๆ หญิงชายชวนกันนับถือนั้น ทรงพระกรรุณาให้นักปราชญราชบัณฑิตยค้นดูในพระไตรปิฎกก็มิได้มีหย่าง…จึ่งทรงพระวิจารณเหนว่าแรกเหดุนี้จะมีมาเพราะคนพาลกักขะละหยาบช้า แซ่งกระทำเพศอันนี้เยาะเย้ยหญิงแม่มดอันมีมารยาหาความลอายมิได้เปนเดิม สืบมาหญิงชายผู้หาปัญญามิได้ก็เอาเยื่องหย่างนับถือสืบมา เปนที่เทวะดาอันศักสิทธจะชิงชังอีก สมควรแต่กับผีสางอันต่ำศักดิสำหาวเผ่าพาลหยาบช้านั้น อันหนึ่งเปนที่แขกเมืองนานาปรเทษไปมาค้าขายได้เหนจะดูหมิ่นถิ่นแคลนกรุงเทพพระมหานครอันกอปด้วยเกิยดิยศ จะติเตียนว่ามิควรที่จะนับถือก็มานับถือทำณุบำรุงฉนี้ จะเอาความลามกอัปรมงคลนี้ไปเล่าต่อๆ ไปในนานาประเทษต่างๆ ก็จะเสื่อมเสียสาตราคมเกรียดิยศศักดาณุภาพกรุงเทพพระมหานครไป ห้ามอย่าให้มีเพศบุรุษลึงอันลามกอัประมงคลไว้ในสารเทพารักษ์เปนอันขาดทีเดียว…”

จากพระราชกำหนดใหม่บทที่ 35 (ให้นับถือเทพารักษ์แต่พอควร ห้ามอย่าให้นับถือลึงค์) ในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งถูกประกาศใช้ในสมัยรัชกาลที่ 1

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2561