“เรือวิ่งแข่งกับรถเมล์” เมื่อน้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2526

เรือวิ่งแข่งกับรถเมล์ เมื่อน้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2526 (ภาพจากบทความ "กรุงเทพฯ คืนสู่ทะเล มหานครใต้บาดาล". นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือน กันยายน 2536)

ภาพเก่าเล่าเหตุการณ์ “เรือวิ่งแข่งกับรถเมล์” ครั้งหนึ่งเมื่อน้ำท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งนับได้ว่าเป็นน้ำท่วมครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2526 ในภาพน่าจะเป็นบริเวณถนนรามคำแหงที่ถูกน้ำท่วมสูงจะเห็นเรือหางยาวมีผู้โดยสารเต็มลำกำลังตีคู่และจะขึ้นนำรถเมล์สาย 58 ในไม่กี่อึดใจ…

ย้อนดูข้อมูลเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ที่ทาง มติชนออนไลน์ ได้รวบรวมจากหนังสือ เหตุการณ์น้ำท่วม พ.ศ.2485” ของกระทรวงมหาดไทย และจาก ข้อมูลสถิติน้ำท่วมสำนักระบายน้ำกรุงเทพมหานครระบุว่า เหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ เกิดขึ้นอยู่เป็นนิตย์ ตั้งแต่อดีตยุคตั้งกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน โดยมีเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งสำคัญๆ ดังนี้

ปีมะเส็ง ปี 2328 ในรัชกาลที่ 1 ปีที่สร้างกำแพงพระนครและพระราชวังกรุงรัตนโกสินทร์เสร็จ ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ระดับน้ำที่สนามหลวงลึกถึง 8 ศอก 10 นิ้ว

เดือนตุลาคม ปี 2362 นรัชกาลที่ 2 ข้าวยากหมากแพงเหมือนครั้งแรก

เดือนพฤศจิกายน ปี 2374 ในรัชกาลที่ 3 ท่วมทั่วพระราชอาณาจักร และมากกว่าปีมะเส็ง

ปี 2460 ในรัชกาลที่ 6 น้ำท่วมลานพระบรมรูปทรงม้า จนมีกิจกรรมการแข่งเรือ

ปี 2485 เริ่มท่วมตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนถึง 30 พฤศจิกายน 2485 น้ำท่วมมากกว่าปี 2460 เกือบเท่าตัว เนื่องจากฝนตกหนักในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงมาก ไหลล้นคันกั้นน้ำทั้งสองฝั่ง วัดระดับน้ำท่วมที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้ 2.27 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง

ปี 2518 พายุดีเปรสชั่นพาดผ่านตอนบนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีปริมาณน้ำสูงทางภาคกลางตอนบน จนน้ำไหลล้นเข้าท่วมกรุงเทพฯ

ปี 2521 เกิดจากพายุ 2 ลูกคือ เบสและ คิทพาดผ่าน และมีน้ำไหลบ่าจากแม่น้ำป่าสัก ทำให้เกิดน้ำไหลบ่าจากทุ่งด้านตะวันออกเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพฯ

ปี 2526 น้ำท่วมรุนแรงมาก เนื่องจากมีพายุพัดผ่านภาคเหนือและภาคกลางช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ประกอบกับมีพายุหลายลูกพัดผ่านกรุงเทพฯ ช่วงเดือนตุลาคม วัดปริมาณฝนทั้งปี 2119 มม. มีปัญหาจราจรที่รถกับเรือใช้เส้นทางเดียวกัน

เรือวิ่งแข่งกับรถเมล์ เมื่อน้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2526 (ภาพจากบทความ “กรุงเทพฯ คืนสู่ทะเล มหานครใต้บาดาล”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือน กันยายน 2536)

ปี 2533 ในเดือนตุลาคมพายุโซนร้อน อีราและ โลล่าพัดผ่านภาคอีสาน ทำให้ฝนตกหนักในกรุงเทพฯถึง 617 มม.

ปี 2537 เกิดพายุฝนฤดูร้อนถล่มกรุงเทพฯ และปริมณฑลเมื่อ 7-8 พฤษภาคม 2537 วัดปริมาณฝนมากที่สุดที่เขตยานนาวา 457.6 มม. เฉลี่ยทั่วเขตกรุงเทพฯ มีปริมาณน้ำฝน 200 มม. มากที่สุดในประวัติการณ์ เรียกกันว่า ฝนพันปีเกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่สร้างความเดือดร้อนทั่วกรุงเทพฯ

ปี 2538 ฝนตกในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน เนื่องจากพายุหลายลูกพัดผ่าน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และมีฝนตกหนักช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม เนื่องจากพายุ โอลิสทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูง วัดที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ สูงถึง 2.27 เมตร (รทก.) สูงสุดเป็นประวัติการณ์ (เท่าน้ำท่วมปี 2485) ทำให้น้ำล้นคันป้องกันริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำสูงถึง 50-100 ซม. น้ำเหนือหลากท่วมอยุธยา ปทุมธานี หมู่บ้านไวท์เฮ้าส์ ตอนเหนือของกรุงเทพฯ นาน 2 เดือน

ปี 2539 มีระยะเวลาท่วมขังตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม 2539 ตั้งแต่หลังปี 2539 เป็นต้นมา ยังไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงในเขตกรุงเทพฯ มีเพียงน้ำท่วมขังไม่นานก็ระบายออกได้สู่ภาวะปกติ ทั้งหมดนี้ ยังไม่นับอภิมหาตำนานอุทกภัยอย่างน้ำท่วมปี 2554 ที่ยังอยู่ในความทรงจำระยะใกล้ และหวังว่าจะไม่เกิดมหันตภัยครั้งยิ่งใหญ่เช่นนั้นอีก

 


ข้อมูลจาก : เราจะไม่พรากจากกัน ? ภาพชุดยืนยัน “น้ำท่วม” อยู่คู่ “ประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ” ทุกสมัย. ใน มติชนออนไลน์


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 ตุลาคม 2560