ไชน่าทาวน์-เยาวราช สมัยกรุงศรีอยุธยา อยู่ตรงไหน? ขายอะไร?

จิตรกรรมฝาผนัง คนจีน คนไทย ยืน ดู งิ้ว
จิตรกรรมฝาผนังที่วิหารวัดประดู่ทรงธรรม พระนครศรีอยุธยา ในภาพเป็นคนจีนและคนไทยยืนปะปนดูงิ้วกันอยู่

ไชน่าทาวน์-เยาวราช ในสมัย “กรุงศรีอยุธยา” อยู่ตรงไหน? ขายอะไร?

วันนี้ถ้าพูดถึง ไชน่าทาวน์-ย่านชุมชนคนจีน คนส่วนใหญ่คงนึกถึง “เยาวราช” แต่จริงๆ ย่านชุมชนคนจีนขนาดใหญ่ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วไปทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ยังมีอีกหลายแห่ง ทั้งในรูปแบบของตลาด หรือย่านการค้าต่างๆ และแน่นอนไม่ว่าจะเป็นเยาวราช หรือตลาดอื่นๆ ของกินของใช้  อาหารการกินทั้งสดและแห้ง ของใช้จุกจิกในบ้าน เครื่องมือประกอบอาชีพตามแบบของคนจีนก็มีวางขายเหมือนๆ กัน

แล้วถ้าถอยกลับสมัยกรุงศรีอยุธยาล่ะ ไชน่าทาวน์ อยู่ตรงไหนกัน แล้วมีอะไรขาย มีอะไรให้ซื้อกินได้บ้าง

คณะผู้จัดทำ “เอกสารภูมิสังคมเสวนาสาธารณะ “พระเจ้าอู่ทองมาจากไหน เป็นไทย ลาว หรือ ‘เจ๊ก’ จีน” ? ได้สรุปข้อมูลจาก “เอกสารจากหอหลวง” หรือ คำให้การหลวงประดู่ในทรงธรรม (เจ้าฟ้าอุทุมพร ในสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ) ให้เห็นคร่าว คือ

ตลาดที่อยู่ในเขตเมือง มีดังนี้

ตลาดจีน อยู่ที่บ้านแขกใหญ่ ใกล้วัดอําแม มีตลาดขายของคาว ปลาสด เช้า-เย็น อยู่ในบ้านแขกใกล้วัดอําแม

ตลาดขนมจีน ถนนย่านขนมจีน มีร้านโรงขึ้น ทําขนมเปี๊ยะ ขนมโก๋ เครื่องจันอับ ขนมจีนแห้ง

ตลาดประตูจีน ถนนย่านบ้านวัดน้อยประตูจีน อยู่ถนนย่านบ้านวัดน้อยประตูจีน ขายเครื่องทองเหลืองเคลือบและปรอท

ตลาดใหญ่ ท้ายพระนคร ถนนย่านในไก่ (เชิงสะพานประตูจีน ขึ้นไปถึงเชิงสะพานประตูในไก่) เป็นตลาดใหญ่ยิ่งยวดในกรุง มีตึกกว้าน ร้านจีนตั้งตึกทั้งสองฟากถนนหลวง จีน ไทย นั่งร้านขายสรรพสิ่งของ มีเครื่องสําเภา เครื่องทองเหลือง ทองขาว กระเบื้อง ถ้วยโถโอชาม มีแพรสีต่างๆ อย่างจีน และไหมสีต่างๆ มีเครื่องมือเหล็กและสรรพเครื่องมา แต่เมืองจีนมีครบ มีของรับประทาน เป็นอาหารและผลไม้มาแต่เมืองจีนวางรายในร้านขายที่ท้องตลาดมีของสด ขายเช้า-เย็น สุกร เป็ด ไก่ ปลา ทะเล ปลาน้ำจืด ปู หอย ต่างๆ หลายๆ อย่าง

ตลาดน้อย ถนนย่านสามม้า ตั้งแต่เชิงสะพานในไก่ตะวันออกไปถึงมุมพระนครที่ชื่อตําบลหัวสาระภา บริเวณประตูช่องกุดท่าเรือจ้างข้ามไปวัดพนัญเชิง  มีพวกขึ้นตั้งโรงทำเครื่องจันอับ และขนมแห้งขึ้นต่างๆ หลายชนิดหลายอย่าง มีช่างจีนทำ โต๊ะ เตียง ตู้เก้าอี้น้อยใหญ่ต่างๆ ขาย มีช่างอื่นทําถังไม้ใส่ปลอกไม้ และปลอกเหล็ก ถังใหญ่น้อยหลายชนิดขาย พวกชาวพระนครรับซื้อไปใช้ ต่างนางเลิ้ง คือตุ่มน้ำหรือโอ่งน้ำ ทําสรรพเครื่องเหล็กต่างๆ ขาย และรับจ้างเหล็กรูปพรรณตามใจชาวเมือง มาข้าง มีตลาดสดเช้า-เย็น

ตลาดย่านเตียง ย่านโรงเตียงท้ายหอรัตนไชย มีช่างจีนทําโต๊ะ เตียง ตู้ เก้าอี้ถูกหวายขาย

ตลาดแลก หน้าวัด อยู่ที่ย่านหน้าวัดมหาธาตุ มีศาลา 5 ห้อง มีแม่ค้ามานั่งคอยซื้อมีดพร้าขวานชํารุด และเหล็กเล็กน้อยด้วย มีจีนมานั่งต่อศาลานั้นไปเป็นแถวคอยเอาข้าวพอง ตังเม มาแลกของต่างๆ

ตลาดบอกที่อยู่นอกเขตเมือง มีดังนี้

ตลาดวัดท่าราบ ที่หน้าบ้านเจ้าสัวซี มีตึกแถว 16 ห้อง สองชั้นชั้นล่างตั้งร้านขายของ ชั้นบนให้คนอยู่ หัวตลาดมีโรงตีเหล็ก และโรงเย็บรองเท้า มีโรงทํายาแดงสูบ กล้องชายด้วย

ตลาดบ้านจีน อยู่ปากคลองขุนละคอนไชย ที่นี่มีหญิงละครโสเภณีตั้งโรงอยู่ท้ายตลาด 4 โรงรับจ้างทําชําเราแก่บุรุษ ตลาดนี้เป็นตลาดใหญ่ใกล้ทางเรือ และทางบก มีตึกกว้านร้านจีนมาก ขายของจีนมากกว่าของไทย

นอกจากตลาดต่างๆ ที่ระบุถึงคนจีนแล้ว ยังมีย่านการผลิตสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ในอยุธยาที่ระบุให้เห็นคนจีนอยู่ด้วย ซึ่งจําแนกได้แก่ บ้านในคลองสวนพลู ตั้งเตาต้มสุรา เลี้ยงสุกรขาย และทําเส้นหมี่แห้งขาย บ้านข้างกําแพงนอกกรุง ตรงหัวเลี้ยวตําบลสารพา ตั้งโรงย้อมครามผ้าและด้ายขาย บ้านน้ำวนบางกะจะ มีพวกจีนและจามทอดสมอขายน้ำตาลทราย น้ำตาลกรวด สาคูเม็ดใหญ่เม็ดเล็ก กํามะถัน จันทน์แดง หวาย ฯลฯ

เป็นอันว่า ขนมเปี๊ยะมีกิน, ไก่ต้มเป็ดพะโล้น่าจะมีขาย, โต๊ะเตียงตู้เครื่องเรือนจีนมีใช้ แม้แต่โรงน้ำชาก็มีบริการ ฯลฯ ชนิดที่เรียกว่า ไม่แพ้เยาวราชในวันนี้ เหลือแต่เพียงว่าใครใครรักชอบอะไร และเงินหนักเท่าใดแค่นั้นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. “ย่านคนจีน ถิ่น China Town กรุงเก่า อนุธยา” เอกสารภูมิสังคมเสวนาสาธารณะ “พระเจ้าอู่ทองมาจากไหน เป็นไทย ลาว หรือ “เจ๊ก” จีน?, กันยายน 2549 ตลาดในเมือง


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16พฤษภาคม 2562