พระเมรุมาศนี้เป็นของใครแน่ พระจอมเกล้า, พระปิ่นเกล้า หรือเจ้านายพระองค์อื่น?

พระเมรุมาศซึ่งถูกอ้างว่าเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมไปถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์

เรียน บรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม

จุดเปลี่ยนที่สำคัญของความเชื่อในการถ่ายภาพบุคคลของสยามเรานั้น เริ่มตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระมหากษัตริย์สยามพระองค์แรกทรงยอมให้ฉายพระรูป นอกจากภาพถ่ายบุคคลแล้วภาพถ่ายสถานที่และเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีตก็ล้วนเป็นข้อมูลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์สยาม

ความเก่าโบราณของภาพถ่ายเหล่านี้และการขาดการบันทึกข้อมูลที่ชัดเจนนำมาซึ่งการ “เข้าใจผิด” ดังที่คุณอนุวัฒน์ หมีทอง เขียนจดหมายถึงท่านบรรณาธิการลงในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕ เรื่อง “เข้าใจผิด” พระเมรุมาศ? ดังความว่า “นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๒ ฉบับที่ ๑๒ น. ๑๐๗ ได้ระบุว่าเป็นพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น น่าจะเป็นการเข้าใจผิด ที่จริงน่าจะเป็นพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมากกว่า…”

ประเด็นนี้ยังไม่จบ กระผมได้อ่านต่อด้วยจดหมายถึงท่านบรรณาธิการโดยนักเรียนประวัติศาสตร์จากอุบลราชธานี คุณธันยพงศ์ สารรัตน์ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕ เรื่อง ภาพพระเมรุมาศของ The First King หรือ The Second King ความจริงคืออะไร? คุณธันยพงศ์เขียนมาว่า “ผมได้มีโอกาสอ่านจดหมายถึงบรรณาธิการของ คุณอนุวัฒน์ หมีทอง ที่ตีพิมพ์อยู่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ประจำเดือนเมษายน ๒๕๕๕ เกี่ยวกับเรื่อง ‘ความเข้าใจผิด พระเมรุมาศ?’ ในน.๑๔ ผมก็เห็นจริงตามนั้น ว่าภาพพระเมรุมาศในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ประจำเดือนตุลาคม ๒๕๕๔ ใน น. ๑๐๗ นั้น น่าจะเป็นพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมากกว่า

แต่เมื่อผมได้อ่านเนื้อหาในเล่มเรื่อยมาจนถึงบทความของ คุณนนทพร อยู่มั่งมี เรื่อง ‘จาก ‘เผาจริง’ สู่ ‘เผาหลอก’ : การเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านายสมัยรัชกาลที่ ๖’ ใน น.๑๓๗ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบทความเรื่องนี้ที่ตีพิมพ์อยู่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ประจำเดือนเมษายน ๒๕๕๕ ได้ลงภาพพระเมรุมาศพระปิ่นเกล้าฯ แต่คำอธิบายภาพใน น.๑๓๖ กลับเขียนว่าเป็นพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ผมอ่านมาถึงตรงนี้แล้วจึงเกิดความสงสัยอีกครั้งว่าสรุปแล้วเป็นพระเมรุมาศของ The First King หรือ The Second King กันแน่ครับ เพราะในเล่มเดียวกันกลับมีคำอธิบายไม่เหมือนกัน แล้วไม่รู้ของใครถูกใครผิด…”

กระผมยกข้อความบางส่วนมาจากจดหมายทั้ง ๒ ฉบับ เพื่อให้ท่านบรรณาธิการและผู้อ่านท่านอื่นๆ เป็นข้อมูล ซึ่งกระผมมีข้อมูลใหม่ที่แตกต่างออกไป อนึ่งควรกลับไปอ่านจดหมายฉบับเต็มด้วย ภาพพระเมรุมาศนี้หลายท่านน่าจะเห็นผ่านตามีลงตีพิมพ์ในหนังสือหลายเล่มทั้งของหน่วยราชการ หรือสำนักพิมพ์อื่นๆ ก็มีระบุว่าเป็นพระเมรุมาศ รัชกาลที่ ๔ ขอยกตัวอย่างหนังสือ “ประมวลภาพพระปิยมหาราช” พิมพ์ พ.ศ.  ๒๕๓๒ โดย คุณเอนก นาวิกมูล ระบุใต้ภาพว่า “ภาพอัดจากกระจกต้นฉบับ หีบฝีมือนายโหมด อมาตยกุล ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เป็นภาพพระเมรุมาศ รัชกาลที่ ๔ ตั้งกลางสนามหลวง พ.ศ. ๒๔๑๒” เป็นต้น

ส่วนข้อมูลใหม่ที่แตกต่างออกไป คือ ภาพนี้ไม่ใช่ทั้งพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว!? กระผมได้ข้อมูลนี้มาจากหนังสือใหม่ในคลังหนังสือที่บ้านชื่อ “สถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม” พิมพ์ครั้งที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๕ ปกแข็งมี ๒ เล่ม ค้นคว้าโดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี และคณะ เป็นหนังสือที่ว่าด้วยงานพระเมรุในสยามตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน รวบรวมทั้งข้อมูลเอกสาร ภาพถ่ายเก่า แบบพระเมรุ ฯลฯ ภาพพระเมรุมาศที่เป็นประเด็นว่าจะเป็นภาพ “พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” หรือ “พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” หนังสือเล่มนี้ เล่มที่ ๑ บอกว่าเป็น “พระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พ.ศ. ๒๔๒๓” มีข้อมูลประวัติของพระเมรุใน น. ๒๑๗-๒๓๕ กระผมขอคัดมาเฉพาะคำอธิบายภาพดังนี้

แบบสันนิษฐานรูปด้านทิศตะวันออกพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ จากหนังสือ "สถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม เล่ม ๑"
แบบสันนิษฐานรูปด้านทิศตะวันออกพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ จากหนังสือ “สถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม เล่ม ๑”

“พระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์มองจากด้านทิศตะวันออกในมุมสูง องค์พระเมรุใหญ่เป็นอาคารทรงปราสาทจตุรมุข ประกอบเครื่องยอด มีชั้นเชิงกลอน ๗ ชั้น รองรับยอดปรางค์ โดยมุขทิศใต้ขององค์พระเมรุมีหลังคาลดชั้นเชื่อมต่อกับมุขทิศเหนือของพระที่นั่งทรงธรรม บริเวณมุมทั้งสี่ทิศของพระเมรุในภาพจะมองเห็นเมรุทิศ ซึ่งเป็นอาคารทรงมณฑปยอดปรางค์จำนวน ๔ หลัง ส่วนตรงกึ่งกลางของภาพด้านหน้าองค์พระเมรุใหญ่เป็นที่ตั้งของเมรุประตูซึ่งเป็นอาคารทรงจตุรมุขประกอบเครื่องยอด มีชั้นเชิงกลอน ๕ ชั้น รองรับยอดปรางค์ ด้านหน้าเมรุประตูมีหุ่นรูปยักษ์ถือกระบองและศาลาหลังคามุงจากตั้งอยู่สองข้าง ในภาพตอนล่างทางด้านซ้ายและด้านขวามือมองเห็นหลังคาระเบียงที่สร้างต่อเนื่องจากเมรุประตูออกไปทั้งสองด้านจนไปบรรจบกับคดที่มุมของพระเมรุทั้งสี่ทิศ บริเวณด้านในระเบียงที่ติดกับชาลารอบพระเมรุด้านในมองเห็นฉัตรเงิน ฉัตรทองและฉัตรนากตั้งประดับอยู่เรียงราย ส่วนด้านนอกของระเบียงเป็นแนวรั้วราชวัติที่ใช้กำหนดขอบเขตของพระเมรุ โดยมีฉัตรเบญจรงค์ประดับตลอดแนว”

ท่านบรรณาธิการและผู้อ่านจะเห็นว่าเป็นภาพ “พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” หรือ “พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” หรือ “พระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์” กระผมฝากช่วยพิจารณากันด้วยครับ


ที่มา: จดหมายจาก “ลุงโบราณ” ถึง บรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม, นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ สิงหาคม ๒๕๕๕