สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถกับ “ฐานะและขนบประเพณี” เมื่อทรงศึกษา ณ รัสเซีย

สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ขณะประทับศึกษาวิชาการทหารในประเทศรัสเซีย (ในภาพ ทรงฉลองพระองค์สำหรับร่วมงานเลี้ยงที่พระราชวังฤดูหนาวของรัสเซียในปี พ.ศ. 2446)

“…การเกิดเป็นเจ้าเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่ายอย่างยิ่ง เพราะต้องทําอะไรตามขนบธรรมเนียมประเพณี ไม่อาจทําอะไรตามอําเภอใจได้ ไม่ว่าจะพูดหรือทําอะไรก็อยู่ในสายตาคนอื่นตลอดเวลา…”

เป็นข้อความตอนหนึ่งในบันทึกของ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (3 มีนาคม 2426 – 13 มิถุนายน 2463) บันทึกขณะที่ทรงกําลังศึกษาวิชาทหารบก ณ ประเทศรัสเซีย ครั้งนั้นทรงพอพระทัยหญิงสาวชาวรัสเซีย แต่เพราะฐานะความเป็นเจ้าทําให้ไม่สามารถทรงทําตามพระทัยปรารถนาในการที่จะคบหากับหญิงสาวชาวรัสเซียเกินกว่าความเป็นเพื่อน ทําให้ทรงรู้สึกเบื่อหน่ายฐานะความเป็นเจ้า

ในความเชื่อของคนสมัยโบราณ เชื่อกันว่าเจ้าคือเทพลงมาจุติ หรือผู้มีบุญลงมาเกิด เพื่อบําเพ็ญบารมีช่วย เหลือผู้คนในโลกมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ ชีวิตของเจ้าจึงแตกต่างจากชีวิตของสามัญชน โดยมีกรอบที่เรียกว่ากฎ มณเฑียรบาลเป็นข้อกําหนดให้ทรงประพฤติปฏิบัติพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ การดําเนินพระชนมชีพ การวางพระองค์ ตลอดจนพระจริยวัตรก็ถูกกําหนดไว้ทั้งสิ้น แม้จะทรงสุขสนุกสบายจนเทียบกันว่าทรงมีชีวิตดุจเทพเจ้าบนสรวงสวรรค์ แต่ท่ามกลางความสุขสนุกสบายนี้ ผู้ที่เกิดเป็นเจ้าต่างตระหนักดีว่าหน้าที่ของพระองค์นั้นหนักหน่วงกว่าสามัญชนมากมายนัก ดังปรากฏความหนักหน่วงนี้ในพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่โปรดพระราชทานพระราชโอรสที่เสด็จไปทรงศึกษาในทวีปยุโรป ความว่า

“…ถ้าจะถือว่าเกิดมาเป็นเจ้านายแล้วจริง ๆ อยู่จนตลอดชีวิตก็สบาย ดังนั้นจะไม่ผิดอันใดกับสัตว์ เดรัจฉานอย่างเลวนัก สัตว์เดรัจฉานนั้นเกิดมากิน ๆ นอน ๆ แล้วก็ตาย แต่สัตว์บางอย่างมีเขามีหนังมีกระดูกเป็นประโยชน์ได้บ้าง แต่ถ้าคนเราประพฤติอย่างสัตว์เดรัจฉานนั้นแล้วจะมีประโยชน์อันใด ยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉานบางพวกไปเสียอีก…”

พระบรมราโชวาทนี้เองที่พระราชโอรสและเจ้านายทั้งปวงยึดถือเป็นหลักและแนวทางประพฤติปฏิบัติ ประจําพระองค์และได้อบรมสั่งสอนกันสืบมา โดยเฉพาะเรื่องเกียรติยศ ศักดิ์ศรี ขนบประเพณี ตลอดจนภาระหน้าที่ของเจ้าที่มีต่อราชวงศ์และบ้านเมือง ซึ่งจะต้องรักษาให้เจริญรุ่งเรืองและมั่นคง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาแต่การหลั่งไหลเข้ามาของวัฒนธรรมจากชาติทางตะวันตก ซึ่งแตกต่างจากวัฒนธรรมและความเชื่อของชาติทางตะวันออกอย่างสิ้นเชิง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงต้องทรงเตรียมทั้งพระองค์ และบ้านเมืองเพื่อรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ สิ่งสําคัญที่ทรงต้องเตรียมคือ การพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญทัดเทียมกับอารยประเทศ วิธีการหนึ่งคือการส่งพระราชโอรสที่ทรงมีความสามารถให้เสด็จไปทรงศึกษาวิทยาการสมัยใหม่จากประเทศต่าง ๆ ในยุโรป เพื่อจะได้นําความรู้เหล่านั้นมาพัฒนาบ้านเมือง

พระราชโอรสทุกพระองค์ที่เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการยังประเทศในยุโรป ต่างทรงได้รับการอบรมสั่งสอนจากทั้งพระบรมราชชนกชนนี โดยเฉพาะพระบรมราโชวาทที่โปรดพระราชทานพระราชโอรสทุกพระองค์นั้น มีข้อความครอบคลุมทั้งความประพฤติการปฏิบัติพระองค์ของพระราชโอรสอย่างเข้มงวดกวดขันในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการวางพระองค์ให้เหมาะสมแก่พระเกียรติยศ ความรับผิดชอบด้านการศึกษาเพื่อนํามาใช้ประโยชน์ในบ้านเมือง การใช้จ่ายที่ต้องประหยัดตามพระราชทรัพย์ที่ทรงกําหนดพระราชทาน

พระบรมราโชวาทดังกล่าวถือเป็นกฎเหล็กที่พระราชโอรสทุกพระองค์ต้องทรงปฏิบัติ พระจริยวัตรของพระราชโอรสทุกพระองค์จะอยู่ในสายตาของพระอภิบาล ซึ่งทรงให้ความไว้วางพระราชหฤทัยให้ตามเสด็จไปดูแลถวายความสะดวกสบาย ทรงให้สิทธิพิเศษกับพระอภิบาลในการที่จะกล่าวทัดทานห้าม ปรามพระราชโอรสในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และสามารถที่จะกราบทูลถึงปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับพระราชโอรสได้โดยตรง “…ให้ถือเป็นหน้าที่ซึ่งจะต้องตรวจตราระวังความประพฤติของพระบรมโอรสาธิราช สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกยาเธอ เพื่อจะไม่ได้ตกไปในทางความประพฤติชั่ว…” และ “…เมื่อเห็นอย่างไรให้พูดมาตรง ๆ จึงจะนับว่าเป็นผู้ใหญ่ใจจงรักภักดีแท้…”

ด้วยเหตุนี้ การประพฤติปฏิบัติพระองค์ของพระราชโอรสทุกพระองค์จึงไม่พ้นจากพระเนตรพระกรรณ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ เป็นพระราชโอรสพระองค์หนึ่งที่เป็นความหวังของพระบรมราชชนกชนนี เพราะเป็นพระราชโอรสที่มีพระสติปัญญาฉลาดเฉลียว พระจริยวัตรงดงาม และยังทรงอยู่ในฐานะรัชทายาทพระองค์ที่ 2 ต่อจากสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระเชษฐา จึงยิ่งต้องทรงประพฤติปฏิบัติ พระองค์ตามกรอบขนบประเพณีอย่างเคร่งครัด โปรดไว้วางพระราชหฤทัยให้เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการทหารบกที่ประเทศรัสเซีย ซึ่งขณะนั้นเป็นประเทศมหามิตรของสยาม มีพระยามหิบาลบริรักษ์ทําหน้าที่พระอภิบาล พระอภิบาลจึงต้องเอาใจใส่สอดส่องวัตรปฏิบัติของพระราชโอรสพระองค์นี้อย่างเข้มงวด เพื่อมิให้ “ตกไปในทางความประพฤติชั่ว”

ในขณะที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าทรงกําลังอยู่ในวัยหนุ่ม สูงส่งพรั่งพร้อมด้วยฐานะเกียรติยศชาติตระกูล ทําให้ทรงเป็นที่สนใจหมายปองของหญิงสาวในวงสังคมราชสํานักรัสเซีย และแน่นอนที่จะต้องมีสตรีบางนางอยู่ในความสนพระทัยของเจ้าชายหนุ่ม ดังปรากฏข้อความในบันทึกประจําวันของพระองค์กล่าวนามหญิง สาวไว้หลายคน เช่น นาตาชา ซึ่งน่าจะเป็นเพื่อนร่วมเรียน เพราะครั้งที่ทรงสอบวิชากฎหมายพระธรรมนูญศาลทหารได้คะแนนสูงสุด ทรงบันทึกไว้ว่า “…ฉันไม่มีทางที่จะได้คะแนนต่ำไปกว่านี้ เพราะนาตาชาบอกว่า จะคิดถึงฉันตลอดเวลาระหว่างที่เรียนวิชานี้…”

และทรงบันทึกถึง มาชิลเด คเซสซินสกายา (Mathilde Kchessinskaya) นางระบําปลายเท้าซึ่งทรงใฝ่พระทัยหลงใหล เพราะความงาม ความร่าเริงแจ่มใสมีชีวิตชีวา นางจึงเป็นที่หมายปองของชายหนุ่มในสังคมชั้นสูงของรัสเซีย โดยเฉพาะในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์หนุ่ม ๆ ทําให้เกิดการแข่งขันที่จะพิชิตหัวใจของหญิงสาว เจ้าชายสยามเป็นชายหนุ่มคนหนึ่งที่อยู่ร่วมในการแข่งขันนั้นด้วย ปรากฏหลักฐานในบันทึกรายวันที่ทรงบันทึกเกี่ยวกับหญิงสาวผู้นี้ครั้งที่เสด็จไปชมการแสดงของเธอว่า

“…โชคร้ายที แกรนด์ดุคแชร์จเสด็จไปชมการแสดงด้วย และ ค. ก็ทําท่าทางให้รู้ว่าพระองค์เสด็จอยู่ในที่นั้นด้วยการไม่โค้งมาที่ฉันตรง ๆ เพียงแต่สบสายตากับฉันเท่านั้น และหันไปโค้งให้กับผู้ชมอื่น ๆ ความคิดที่ว่าแกรนด์ดุคทรงหึงฉันเป็นเรื่องน่าหัวเราะสิ้นดี แต่ฉันก็ยอมรับว่าฉันรักในตัวเธออยู่เหมือนกัน เพราะเธอช่างเป็นหญิงสาวที่มีเสน่ห์ น่ารัก น่าชื่นชม ทําให้ฉันเบิกบานชุ่มชื่นใจได้อย่างน่ามหัศจรรย์…”

การทุ่มเทหลงใหลในตัวหญิงสาวนางระบําปลายเท้าคนนี้ เป็นเรื่องสําคัญเรื่องหนึ่งที่พระอภิบาลเฝ้ามอง ดูและทูลถวายรายงานถึงพระเนตรพระกรรณ ดังที่ทรงบันทึกไว้ว่า…พระยาสุริยานุวัตร (อัครราชทูตสยามประจํากรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) ได้เขียนจดหมายไปกราบบังคมทูลฟ้องทูลกระหม่อมพ่อเรื่องความสัมพันธ์ของฉันกับ ค. ทั้งนี้เพื่อจะได้มีเหตุผลในการสอดส่องควบคุมฉันอย่างเข้มงวดมากขึ้น และเพื่อที่จะให้ฉันมีอิสระเสรีน้อยลง…” และในที่สุดก็ทรงบันทึกว่า “…ฉันคิดว่าถึงเวลาเสียทีที่ฉันควรต้องเลิกติดต่อกับเธอในเมื่อเรื่องนี้รู้ไปถึงกรุงเทพฯ แล้ว…”

ปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหาหัวใจที่เกิดตกหลุมรักหญิงสาวชาวรัสเซีย ซึ่งพร้อมที่จะประสาน สัมพันธ์รักกับเจ้าชายหนุ่ม แต่ต้องทรงถอนพระทัยกลับมาครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะสํานึกสําคัญถึงฐานะและขนบประเพณีที่เป็นเสมือนกําแพงใหญ่กั้นขวางหัวใจปรารถนาของพระองค์ จากพระอารมณ์และความรู้สึกในช่วงเวลานั้น จึงไม่น่าที่จะแปลกใจกับบันทึกแสดงถึงความเบื่อหน่ายในฐานันดรที่สูงส่งว่า “…การเกิดเป็นเจ้าเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่ายอย่างยิ่ง…”

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2562