ฤารัชกาลที่ 5 จะไม่โปรดศิลป์ Impressionism ทรงเปรียบฝรั่งเขียนภาพสตรีเหมือน “เปรตหลังโบสถ์”

รัชกาลที่ 5 งานศิลปะ Impressionism ฝรั่ง ผู้หญิง เปรต
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า รัชกาลที่ 5 โปรดปรานภาพวาดศิลปะกระแสหลัก (Academic) หรือภาพศิลปะเหมือนจริง (Realistic) เท่านั้น ไม่สนพระราชหฤทัยกับศิลปะแขนงใหม่แนว Impressionism ของยุโรปที่เกิดในสมัยหลังเลย

นอกจากจะไม่โปรดแล้ว ก็ยังทรงบริภาษภาพแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ว่า ไม่เจริญหูเจริญตา และน่าเกลียดน่าชังเกินกว่าจะรับได้

พระราชวิจารณ์ต่อไปนี้ (จัดย่อหน้าใหม่เพื่อสะดวกต่อการอ่านในระบบออนไลน์-กองบก. ออนไลน์) นับเป็นข้อมูลชั้นต้นที่ชี้ว่า ภาพแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ไม่ใช่พระราชนิยมของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ซึ่งจะมีอิทธิพลกีดกันศิลปะแขนงใหม่ ทำให้ไม่ได้รับความนิยมในประเทศไทยตั้งแต่ต้น เพราะชาวราชสำนักไม่ประทับใจเสียแล้ว

ภาพประกอบเนื้อหา – Jeune femme a la pelerine โดย Édouard Manet หนึ่งในศิลปิน impressionism ยุคแรก

“มีปิกเชอแกละรีทำขึ้นใหม่ ใช้ศิลามาก กระไดกลางทำด้วยศิลาแท่งใหญ่ๆ ที่จริงงามดีแต่แลดูอ้วนๆ หนักๆ รูปพรรณสัณฐานนั้นก็เปนสามขา ตั้งทั้งรูปหล่อรูปศิลาแลรูปภาพ มีรูปหล่อที่ดีๆ พอดูได้อยู่บ้าง แแต่รูปภาพนั้นเต็มที ที่เปนรูปเขียนอย่างเก่าอยู่ไม่เท่าใด นอกนั้นเปน อย่างโมเดอน ซึ่งเหลือที่จะเล่าว่ารูปอะไรเปนอย่างไร มันหนักขึ้นไปกว่าเมืองเวนิศ บางแผ่นน้ำยาเหมือนรูปหอยแครงหยอดเกาะๆ กันไปเปนรูปพร่าๆ บางแห่งเหมือนเอาเส้นแมกกาโรนีย้อมสีแดงสีเขียวสีเหลืองกองไว้ตามแต่จะนึกว่ารูปอะไร

ยังอีกอย่างหนึ่งนั้นเปนดินสอดำเส้นเดียวลากเหมือนกันกับเด็กเด็กมันเขียนเล่นที่เมรุฤๅที่ศาลาวัด สับเยกต์ที่จะเขียนนั้นคงจะหาให้น่าเกลียดที่สุดตามที่จะหาได้ ฤๅแกล้งเขียนให้มันบ้าๆ เช่นกับถ้าจะเขียนรูปผู้หญิงคงจะหาที่หน้าเสยะฟันเขยินตาลึกท้องคอด คล้ายๆ กับเขียนเปรตหลังโบสถ์ ถึงเขียนสีก็เลือกเอาสับเยกต์ที่เลวที่สุดที่ไม่ดี เปนการเก๋

สีก็ใช้สีที่แปร๋ปร๋า เงาก็ไม่ต้องมี ระบายก็ไม่ต้องระบาย ป้ายลงไปเฉยๆ เส้นก็ไม่ต้องเดินดูๆ ก็เปนทีท้อใจ คำที่ว่าอาต (Art คือ ศิลปะ) นั้น กลายเปนไม่มีอาตในนั้นสักนิดเดียว จะว่าเหมือนก็ไม่เหมือน จะว่างามก็ไม่งาม ถ้าจะเขียนให้เหมือน ก็เลือกเอาเหมือนที่อย่างไม่ดีที่สุด คือ หมอกมัวมืดควันตระหลบ ถ้าจะแปร๋ก็พระอาทิตย์เปนสีทับทิม สีม่วง ต้นไม้สีม่วง พื้นแผ่นดินเปล่าๆ สีเขียว อะไรโสกกระโดกต่างๆ เช่นนี้ถ้าไม่ชมฤๅติก็ว่าดูไม่เปน แต่ได้ลองสนทนากับคนธรรมดาที่ไม่ได้อวดดีว่าเปนช่างดูไม่ได้สักคนเดียว จนนึกวิตกว่า ถ้าช่างเขาเห็นดีกันไปเสียเช่นนี้หมด นานไปรูปเขียนจะหาซื้อไม่ได้ จะกลายเป็นแต่รูปป้ายรูปปารูปเปะฤๅรูปขีดเท่านั้น

อ้ายรูปเช่นนี้มันมีแต่เมื่อมาคราวก่อน ๑๐ ปีมาแล้ว เดี๋ยวนี้มากขึ้นกว่าก่อนสักสิบเท่า นี่เกิดเล่นอะไรกันขึ้นเช่นนี้มาอุ่นใจอยู่อย่างหนึ่ง ที่เขียนกันมาก็ถึง ๑๐ ปีแล้ว ปีหนึ่งก็มากๆ มันหายไปไหนหมด ไม่เห็นใครแขวนที่แห่งใดปะไนยตาเลยสักแผ่นเดียวน่าจะขายไม่ได้ จะเขียนมาแขวนสะลองแล้วก็เลยเจ้าของเอากลับไป ได้ยินพูดด้วยซ้ำไป ว่าเปนรูปชนิดที่สำหรับแขวนสะลองไม่ใช้แขวนเรือน จึงค้นหาต้นเหตุว่ามันจะเปนด้วยอะไร คนถึงได้นิยมมากขึ้น

ได้ความว่าเพราะรูปเช่นนี้ท่านช่างเขียนครูบาอาจารย์แกจะเห็นดีกันจริงฤๅ จึงได้ให้รางวัลรูปชนิดนี้ คาดว่าแรกที่จะเกิดขึ้น คงจะมีตาช่างเขียนวิเศษอะไรคนหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเสียงดีแล้ว เขียนแผลงออกไป แต่คงจะไม่ยับเยินเหมือนอย่างนี้ ของแกคงดีจริงจึงได้รางวัล ไม่ฉนั้นกรรมการผู้ที่ตัดสินรางวัล จะเห็นรูปดีๆ มันมากดื่นไนยตา เห็นรูปบ้าๆ มันเข้าทีอยู่บ้าง แกล้งให้รางวัล ให้แผลงเล่นเช่นนั้น แล้วพูดยกย่องสรรเสริญต่างๆ

คราวนี้คนก็อยากได้รางวัลขึ้นมา เขียนตาม ท่านผู้ตรวจรางวัลครั้นจะไม่ให้บ้าง ก็ดูจะไม่เปนช่างแท้ สู้ตาคนที่แกเคยให้ไม่ได้ ต้องพยายามหารูปบ้าๆ ให้รางวัลบ้าง มันจึงเลยกระพือกันใหญ่ ช่างที่เกิดขึ้นใหม่ๆ เขียนยังไม่ทันจะได้ดี ครั้นจะไปเรียนเขียนให้มันวิจิตรอย่างเก่าเขียนก็ไม่ไหว เรียนอย่างใหม่มันง่าย หัดสักหน่อยหนึ่งก็ออกได้ จึงได้เกิดมากรวดเร็วนัก

คนที่ชั้นใหม่ๆ อยากจะอวดว่าเปนช่าง ตาเปนนักเลง ดูแต่อ้ายรูปพรรณอย่างนี้ชินตาหนักเข้าก็จะเห็นงามไปได้จริงๆ ข้อซึ่งเปนที่อุ่นใจนั้นอย่างเดียว เมื่อไม่มีใครแขวนเรือน ก็มีแต่จะเขียนมาหลอกกรรมการเอารางวัล เมื่อขายไม่ได้หนักเข้าบางทีก็จะเลยจืดไปบ้าง บางแผ่นถึงกับน่าสงไสย ว่าผู้เขียนได้ตั้งใจจะมาล้อกรรมการ เปรสิเดนต์แลไวสเปอรสิเดนต์ของเอกสหิบิเชนนี้ เปนพวกที่ชอบรัวๆ เช่นนี้ทั้งสองคน ชวนให้ดูเสมอ แกชี้รูปแผ่นหนึ่ง ซึ่งเปนอย่างเปรอะเปรอะเช่นนี้ บอกเจ้าของตายเสียแล้ว พ่ออดไม่ได้ หันมาพูดทางหนึ่งว่าไม่สู้น่าเสียดาย แกได้ยินเข้าออกฉุนๆ เดินอ่อนใจเปล่าไม่เปนที่น่าดูสักแผ่นเดียว” [1]

พระราชวิจารณ์ศิลปะรูปแบบใหม่เกิดขึ้นภายหลังการเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรนิทรรศการภาพวาด “อิมเพรสชั่นนิสม์” ที่เยอรมนี อันเป็นกระแสใหม่ของศิลปะแนวสร้างสรรค์ ซึ่งกำลังเป็นที่ครหาของสังคมในทวีปยุโรปโดยถูกศิลปินกระแสหลักมองว่าเป็นพวกนอกรีต [2]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

(1) สันติ เล็กสุขุม. งานช่าง คำช่างโบราณ. สำนักพิมพ์มติชน, 2553.

(2) Friedrich, Otto. Paris in the Age of Manet. Harpercollins Publisher, 1992.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “Impressionism ลัทธิประทับใจ ศิลปะที่ถูกเว้นวรรคในสยาม สาบสูญจากเมืองไทยนาน 4 แผ่นดิน!” เขียนโดย ไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2559


ปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งล่าสุดเมื่อ 23 กันยายน 2563