สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ เมื่อต้องทรงลงโทษพระราชโอรส ยิ่งกริ้วยิ่งทำโทษแรง

สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ ทรงฉาย กับ พระราชโอรส สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก และ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงฉายกับพระราชโอรส (จากซ้ายไปขวา) สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

การปฏิบัติต่อ “พระราชโอรส” ที่ทรงทำความผิดของ สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ หากต้องทรง “ลงโทษ” ยิ่งกริ้วยิ่งทำโทษแรง

“—เวลาที่กริ้วก็จะยิ่งทำโทษรุนแรงมากขึ้นไปอีก เวลาที่ถูกทำโทษพวกเด็กๆ จะนั่งหมอบลงกับพื้นปล่อยให้พระมารดาทรงใช้ไม้เรียวตีที่พระเพลาและพระที่นั่ง—”

เป็นข้อความตอนหนึ่งในข้อเขียนของนายแพทย์มัลคอล์ม สมิธ (Dr. Malcolm Smith) แพทย์หลวงประจำราชสำนักสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขณะประทับเป็นการถาวร ณ พระราชวังพญาไท ได้เขียนหนังสือเรื่อง “ราชสำนักสยามในทรรศนะของหมอสมิธ” ตอนหนึ่งได้เล่าถึงการ ลงโทษ ที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ ทรงปฏิบัติต่อพระราชโอรสที่ทรงทำความผิด

การเลี้ยงดูอบรมบ่มนิสัยลูกนั้นโดยทั่วไปส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของแม่ ซึ่งจะมีวิธีการเลี้ยงดูที่แตกต่างกันตามพื้นฐานของแต่ละครอบครัว บางครอบครัวเข้มงวดกวดขัน บางครอบครัวตามใจปล่อยปละละเลย ในสมัยโบราณแม่ส่วนใหญ่มักเลี้ยงดูและอบรมลูกโดยถือคติที่ว่า “รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี” เปรียบการตีลูกเหมือนการผูกวัวซึ่งไม่ต้องการให้หายหรือเตลิดไปจากคอก การตีลูกก็เพื่อให้ลูกรู้ผิดรู้ถูกและเกรงกลัวต่อความผิด ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ลูกเป็นคนดีต่อไปในอนาคตไม่เตลิดไปในทางที่ผิดที่ชั่ว เหมือนวัวเตลิดจากคอก

แต่สำหรับพระราชโอรสพระราชธิดาซึ่งเป็นลูกของพระมหากษัตริย์นั้น การอบรมเลี้ยงดูจะต่างจากเด็กสามัญชน อันเนื่องมาแต่ภาระรับผิดชอบที่ต่างกัน พระราชโอรสธิดาทุกพระองค์ทรงได้รับการปลูกฝังให้ยึดมั่นในชาติกำเนิดที่สูงส่ง และหน้าที่ ตลอดจนความรับชอบที่ยิ่งใหญ่ คือการที่จะต้องช่วยกันบริหารบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองและมั่นคง

ดังนั้นการอบรมเลี้ยงดูพระราชกุมารกุมารีเหล่านั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าจะต้องเข้มงวดกวดขันกว่าเด็กสามัญชน การฝึกฝนและอบรมในขั้นต้น ถือเป็นหน้าที่ของพระราชมารดาโดยตรง สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ เป็นพระราชมารดาที่เอาพระทัยใส่และเข้มงวดกวดขันในพระราชโอรสธิดาทุกพระองค์ ดังมีหลักฐานปรากฏถึงความเอาพระทัยใส่และเข้มงวดกวดขันอยู่ทุกขั้นตอน

พระบรมรูปหมู่ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง, สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ กับพระโอรส ฉายที่พลับพลาปากแพรก เมื่อเสด็จไทรโยค พ.ศ. 2431

นับแต่ทรงพระเยาว์พระราชกุมารกุมารีก็ทรงได้รับการปลูกฝังให้ทรงตระหนักถึงชาติกำเนิด หน้าที่ และความรับผิดชอบซึ่งจะต้องมีต่อบ้านเมือง ด้วยการปูพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของบ้านเมืองและพระราชวงศ์ซึ่งประกอบด้วยประวัติความเป็นมาของชาติบ้านเมือง พระราชกรณียกิจของบูรพมหากษัตริย์ที่ทรงทำคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง วิธีการสอนของพระองค์นั้นเต็มไปด้วยหลักจิตวิทยา เพราะทรงสอนด้วยวิธีพูดคุยและสอดแทรกความรู้ต่างๆ ตามโอกาส โดยที่เด็กจะไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกสอน

พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงเล่าถึงวิธีการนี้ไว้ในหนังสือเกิดวังปารุสก์ ความว่า

“—เวลาที่ท่านไม่ทรงซักถามข้าพเจ้าถึงเรื่องราวต่างๆ ย่าท่านก็ทรงสั่งสอนอย่างน่าฟังเป็นที่สุด ทรงสั่งสอนถึงพุทธศาสนา ถึงพงศาวดารไทย ถึงเรื่องราวของปู่ย่าตายาย และตระกูลของเรา หรือถึงทูลหม่อมปู่ แต่ท่านสอนโดยทำนองเล่านิทาน เด็กๆ ฟังจึงไม่น่าเบื่อ ของที่ข้าพเจ้าถูกสอนให้ท่องอันแรกคือ พระพุทธยอดฟ้าเป็นพ่อพระพุทธเลิศหล้า พระพุทธเลิศหล้าเป็นพ่อพระจอมเกล้า พระจอมเกล้าเป็นพ่อพระจุลจอมเกล้า—”

นอกจากจะปลูกฝังความสำนึกในสายพระโลหิตและความรู้แล้ว ยังให้ความสนพระทัยในพระจริยวัตรการปฏิบัติพระองค์มากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพระอิริยาบถ พระดำรัส ตลอดจนพระกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติจะทรงดูแลอย่างเข้มงวดกวดขัน ให้ประพฤติปฏิบัติพระองค์ให้สมพระเกียรติมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

เมื่อพระราชโอรสถึงวัยที่ทรงศึกษาเบื้องต้น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ก็ทรงเข้มงวดกวดขันให้พระราชกุมารทรงได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่ โดยทรงเข้มงวดกับทั้งพระราชกุมารและครูผู้สอน ดังจะเห็นได้จากพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึงพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ซึ่งไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นผู้ดูแลการศึกษาของพระราชโอรสทุกพระองค์

“—ขอบอกล่วงหน้าเสียก่อนว่า อย่าคิดว่ายังเป็นเด็กแลให้ครูตามใจกันเท่านั้น ขอให้ข่มขี่เขี้ยวเข็ญกันตามสมควรที่จะได้รับให้สมควรกับอายุแลเวลาที่ควรจะเป็นไป—แลขออย่าให้เกรงใจในการที่จะกดขี่ฝึกสอนประการใด จงทำตามความคิดที่เห็นสมควรทุกอย่าง เพื่อจะได้เป็นผลกับการเรียนให้เจริญตามควรแก่เวลาแลอายุของเด็กนั้น—”

ภาพวาดสีน้ำมัน สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง
ภาพวาดสีน้ำมัน (จากซ้าย) สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ, สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ, สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก และสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

เวลาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทรงเข้มงวดกวดขัน ไม่มีพระราชประสงค์ให้พระราชโอรสเสียเวลาในการเรียนแม้แต่น้อย เช่นคราวตามเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานก็จะโปรดให้พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ส่งครูไปถวายการสอน ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่ง ความว่า

“—เพราะฉะนั้นฉันอยากให้เธอจัดครูขึ้นมาสอนที่นี่ได้จะเป็นการดีกว่าปล่อยให้อยู่นิ่งกันเปล่าๆ ฉนี้ เวลาเช้าก็ไม่ได้ไปไหนกัน กว่าจะบันทมตื่นได้เฝ้าแหนอะไรกันก็บ่าย ตอนเช้าเด็กๆ ก็ไปเล่นเหลวๆ แหลกๆ อยู่ข้างหน้าตามประสาเด็กไม่เป็นเรื่องอยู่ทุกวัน ฉันเห็นว่าเปลืองเวลาเปล่า ความรู้อะไรที่จะได้รับในเวลานี้ก็ไม่มีอะไร นอกจากเหลวเพิ่มขึ้น—”

การลงโทษด้วยการเฆี่ยนตีน่าจะเป็นวิธีสุดท้ายของการลงโทษพระราชกุมาร เพราะการ ลงโทษ เด็กๆ ในพระราชสำนักฝ่ายในนั้นมีหลากหลายวิธี สำหรับพระราชกุมารกุมารีนั้นการหักนิ้วนั้นเป็นวิธีหนึ่งที่พระราชมารดาพระมารดามักทรงใช้ ปรากฏการ ลงโทษ วิธีนี้ในจดหมายเหตุรายวันของเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กันยายน 2560