เสวนา “หนังไทย” ถึงสิ้นยุคสมัย “มิตร-เพชรา” ไขปัญหา มิตร เล่นหนังวันละ 3 เรื่อง จำบทอย่างไร?

(ซ้าย) โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่องไทรโศก (ขวาบน) ส่วนหนึ่งในโปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง ชุมทางหาดใหญ่ (ขวาล่าง) โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง สันติ วีณา (ภาพจาก หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2561 ศิลปวัฒนธรรมจัดกิจกรรมสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนาในหัวข้อ ยุคทองของ “หนังไทย” ถึงสิ้นยุคสมัย “มิตร-เพชรา” โดยมี วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ผู้สร้างผลงานอมตะ “ฟ้าทะลายโจร” พร้อมด้วย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู ผู้เชี่ยวชาญจากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เป็นวิทยากร และ เอกภัทร์ เชิดธรรมธร เป็นผู้ดำเนินการเสวนาในครั้งนั้น

ในช่วงเปิดการเสวนา คำถามแรกที่พิธีกรส่งให้กับวิทยากรก็คือ “หนังไทยเรื่องแรก คือเรื่องอะไร? ใช่เรื่องนางสาวสุวรรณอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจหรือไม่?”

ภาพจากงานเสวนา (จากซ้าย) เอกภัทร์ เชิดธรรมธร, พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู, วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง

พุทธพงษ์ ได้ให้ความกระจ่างว่า อันที่จริงแล้วนางสาวสุวรรณ ภาพยนตร์เงียบซึ่งออกฉายเมื่อ พ.ศ. 2466 นี้ไม่ใช่ภาพยนตร์สัญชาติไทยแท้ เนื่องจากเป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทำโดยฮอลลิวูด มีผู้กำกับของเรื่องคือ เฮนรี แม็กเร ชาวอเมริกัน ในการที่จะบอกว่าภาพยนตร์เรื่องไหนมีสัญชาติใดนั้น ให้ดูที่สัญชาติของผู้กำกับเป็นหลัก ดังนั้นนางสาวสุวรรณจึงถือว่าเป็นภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เพียงแต่ใช้คนไทยแสดงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม นางสาวสุวรรณถือได้ว่าเป็นภาพยนตร์ที่มีความสำคัญเพราะเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้คนไทยหันมาทำภาพยนตร์ของตนเองบ้างในเวลาต่อมา

นอกจากนี้พุทธพงษ์ได้กล่าวต่อไปถึงแนวคิดการสร้างภาพยนตร์ครั้งแรกของคนไทยว่ามีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 โดยในช่วงที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จนต้องมีการปลดข้าราชการบางส่วนออกเพื่อลดค่าใช้จ่ายของรัฐ ข้าราชการไทยที่โดนปลดออกส่วนหนึ่งนำโดยหลวงสุนทรอัศวราชได้ริเริ่มแนวคิดที่จะสร้างภาพยนตร์ไทย โดยได้วางแผนว่าจะให้คนจากกรมรถไฟซึ่งมีความรู้ความสามารถทางด้านการถ่ายภาพยนตร์ด้วยเหตุที่ได้มีส่วนร่วมในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนางสาวสุวรรณ แต่แล้วการสร้างภาพยนตร์ที่เกือบจะได้เป็นเรื่องแรกของไทยก็ไม่ประสบความสำเร็จด้วยปัญหาภายใน

กระทั่งใน พ.ศ. 2470 พี่น้องวสุวัต คือมานิต วสุวัต และเภา วสุวัต ซึ่งเป็นข้าราชการส่วนหนึ่งของกรมรถไฟและต่อมาคือผู้ก่อตั้งบริษัทสร้างภาพยนตร์ “เสียงศรีกรุง” ก็ได้แยกตัวออกมาสร้างภาพยนตร์เองจนสำเร็จเกิดเป็นภาพยนตร์สัญชาติไทยแท้ นั่นคือเรื่อง “โชคสองชั้น”

ผลตอบรับเรื่อง “โชคสองชั้น” ถือได้ว่าน่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง คนไทยต่างเข้ามาชมภาพยนตร์กันอย่างล้นหลาม ทำให้เกิดเป็นกระแสการสร้างภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง โดยเรื่องที่ออกฉายตามมาติด ๆ ภายในปีเดียวกันนั้นคือ “ไม่เชื่อน้ำมนต์หมอผี” และ “ไม่คิดเลย”

ภาพยนตร์ที่สร้างในช่วงแรกทั้งหมดนี้เป็นภาพยนตร์เงียบ กระทั่งใน พ.ศ. 2475 หลังจากที่ เภา วสุวัตได้เรียนรู้การถ่ายภาพยนตร์เสียงเป็นเวลาราว 2 – 3 ปี ในที่สุดก็ได้ผลิตภาพยนตร์เรื่อง “หลงทาง” เป็นภาพยนตร์เสียงเรื่องแรกของไทย และแน่นอนว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้รับการตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างดีอีกเช่นเคย

ในขณะที่พี่น้องวสุวัตกำลังมุ่งมั่นผลิตภาพยนตร์เสียงซึ่งต้องอาศัยเงินทุนจำนวนมากนั้น ก็พบว่ามีบริษัทสร้างภาพยนตร์อีกหลายบริษัทที่อาจจะมีทุนน้อยกว่าได้ผลิตผลงานในรูปแบบของ “ภาพยนตร์พากษ์” ออกมาเช่นกัน สำหรับภาพยนตร์แบบพากษ์นี้ วิศิษฐ์ได้กล่าวว่า ‘สเน่ห์’ นั้นอยู่ในการพากษ์ยิ่งกว่าที่ตัวนักแสดง ดังนั้นการโฆษณาภาพยนตร์พากษ์จึงต้องมีการแสดงชื่อนักพากษ์ลงบนโปสเตอร์หนัง โดยนักพากษ์คนแรกของเมืองไทยก็คือ ทิดเขียว สีบุญเรือง

แม้ว่ายุคนี้จะนับได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองของภาพยนตร์ แต่กลับพบว่า “นักแสดง” กลับยังไม่ใช่อาชีพที่จริงจังเท่าไหร่นัก นักแสดงคนแรกของไทยที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นนักแสดงอาชีพก็คือ หลวงภรตกรรมโกศล จากนั้นจึงตามมาด้วยนักแสดงคู่ขวัญคู่แรกของไทยอย่าง มาณี สุมนรัน์ และ จำรัส สุวคนธ์

ในเวลาต่อมา เมื่อเกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพยนตร์ไทยก็เกิดซบเซาลง เนื่องจากการถ่ายทำภาพยนตร์ในสถานการณ์ดังกล่าวแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ภายหลังจากกราิส้นสุดของสงครามโลก ภาพยนตร์ไทยได้กลับมาอีกครั้ง ในคราวนี้พบว่ามีผู้สร้างรายใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยมีผู้ที่โดดเด่นที่สุดก็คือ หม่อมเจ้าศุภวรรณดิศ ดิศกุล เจ้าของผลงานภาพยนตร์เรื่อง “สามปอยหลวง” ซึ่งเป็นภาพยนตร์สีเรื่องแรกของไทย

อย่างไรก็ตาม ความนิยมในการชมภาพยนตร์ของคนไทยหลังสงครามโลกนั้นไม่เฟื่องฟูอย่างในยุคก่อน ภาพยนตร์ที่ผลิตออกมาไม่ได้รับการสนใจเช่นเดิมมี จนกระทั่ง “สุภาพบุรุษเสือไทย” ได้ออกสู่สายตาสาธารณชน

ทีมงานแสดงรายได้จากภาพยนตร์เรื่อง “สุภาพบุรุษเสือไทย” (ภาพจากงานเสวนา)

เรื่องสุภาพบุรุษเสือไทยประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทำสถิติหนังรายได้สูงสุดเป็นจำนวนเงิน 301,270.22 บาท เป็นภาพยนตร์ที่ปลุกกระแสการชมและการสร้างภาพยนตร์อีกครั้ง

ภายหลังจากเรื่องสุภาพบุรุษเสือไทยวงการภาพยนตร์ในเมืองไทยกลับมาเฟื่องฟู มีภาพยนตร์ที่โด่งดังไกลไปถึงต่างประเทศคือเรื่อง “สันติ-วีณา” ผลงานของรัตน์ เปสตันยี ที่ถูกส่งไปประกวดถึงญี่ปุ่นและได้รับรางวัลกลับมาด้วยกันอยู่หลายสาขา

ในช่วงหลังสงครามโลกนี้ นักแสดงกลายเป็นอาชีพที่จริงจังมากยิ่งขึ้น โดยนักแสดงที่เป็นดาวค้างฟ้าในยุคหลังนี้ก็คือ มิตร ชัยบัญชา และเพชรา เชาราษฎร์ พระนางคู่ขวัญ ความนิยมของนักแสดงทั้งคู่นั้นเรียกได้ว่าสร้างปรากฏการณ์สำคัญของวงการภาพยนตร์ไทย ทั้งคู่เป็นที่คลั่งไคล้ของคนไทยจำนวนมากการันตีได้จากจำนวนผลงานภาพยนตร์จำนวนถึง 300 เรื่องตลอดชีวิตของมิตร ทั้งนี้ในการแสดงภาพยนตร์จำนวนมากเช่นนี้ วิศิษฏ์กล่าวกับผู้ชมว่า มิตรเคยถึงกับต้องถ่ายภาพยนตร์ทุกวัน วันละ 3 เรื่อง !

แล้วจำบทได้อย่างไร?

พุทธพงษ์ตอบว่า นักแสดงสมัยก่อนไม่ได้ต้องจำบทเหมือนปัจจุบัน เพราะมีคนบอกบท และไม่มีการอัดเสียงในภาพยนตร์

ภายหลังจากการเสียชีวิตของมิตร และการลาวงการของเพชรา พบว่ารูปแบบการชมของภาพยนตร์ก็เปลี่ยนไป จากที่ผู้ชมเคยสนใจนักแสดงเป็นหลัก ยึดติดกับมิตรและเพชรา ไม่ได้สนใจในเรื่องของเนื้อเรื่องมากเท่าใดนัก ก็เริ่มหันไปให้ความสนใจกับเนื้อหาของภาพยนตร์มากขึ้น

ในตอนท้ายของการเสวนา วิศิษฏ์ ได้เผยถึงแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “ฟ้าทะลายโจร” ภาพยนตร์คาวบอยย้อนยุคสไตล์ภาพยนตร์ไทยโบราณซึ่งเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้ไปแสดงที่เมืองคานส์ สร้างความประทับใจให้กับทั้งชาวไทยและต่างชาติ

วิศิษฏ์กล่าวว่าภาพยนตร์เรื่อง “ฟ้าทะลายโจร” เกิดมาจากความรักและชื่นชอบในภาพยนตร์ไทยสมัยก่อน เป็นผลงานที่สร้างเพื่อเคารพคนรุ่นเก่า และเพื่อตอบสนองความรักที่มีต่อหนังที่ดูในสมัยเด็ก


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 21 ธันวาคม พ.ศ.2561