“การ์ตูน-การ์ตูนล้อการเมือง” ศิลปะที่สร้างแรงสั่นสะเทือนการเมืองไทย

(ซ้าย) การ์ตูน พล โดยคุณสุรพล พิทยาสกุล (ขวา) ภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ 6 ทรงวาดกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน

การต่อสู้ทางการเมืองมีหลากหลายรูปแบบทั้งการต่อสู้โดยใช้กำลัง การต่อสู้ในกติกาอย่างการเลือกตั้ง หรือแม้กระทั้งการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมผ่านตัวหนังสือ หรือภาพวาดการ์ตูนเพื่อเสียดสีผู้มีอำนาจ

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ภาพวาดการ์ตูนได้ถูกใช้มาหลายยุคหลายสมัยในการถ่ายทอดสภาพความเป็นอยู่หรือสภาพปัญหาที่ผู้คนกำลังเผชิญ ซึ่งผลสำเร็จที่ทำให้ผู้มีอำนาจทางการเมืองยอมแก้ไขปัญหานั้นๆ หรือไม่ยังไม่ชัดเจน แต่ที่แน่นอนคือ ภาพวาดการ์ตูนได้ทำให้ผู้คนที่เห็นสามารถเข้าใจปัญหาที่ภาพการ์ตูนซ่อนไว้ได้อย่างรวดเร็ว

ในงาน สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “การ์ตูนล้อการเมือง – การเมืองเรื่องการ์ตูน” วันที่ 28 เมษายน 2565 โดยมี คุณฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร นักวิชาการผู้ชำนาญการ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, คุณสุรพล พิทยาสกุล การ์ตูนนิสต์ และคุณศักดา แซ่เอียว การ์ตูนนิสต์ ดำเนินการเสวนาโดย คุณเอกภัทร์ เชิดธรรมธร ร่วมพูดคุยเรื่อง การ์ตูน และการ์ตูนล้อการเมือง ตั้งแต่ยุคผลิบานในสมัยรัชกาลที่ 6 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

หากกล่าวอย่างรวบรัด การ์ตูนล้อการเมือง คือศิลปะที่ซ่อนด้วยพลังที่ต้องการเปลี่ยนแปลงกับสภาพปัญหาที่ซ่อนไว้อยู่ในสังคม

ภาพบรรดาเมีย ๆ ของท่านเจ้าคุณมาขอเงินในช่วงสิ้นเดือน (การ์ตูนล้อเลียนจากสยามราษฎร์ 2 พฤษภาคม 2465)

คุณฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร อธิบายว่า การ์ตูนเป็นอิทธิพลของชาติตะวันตก ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์หรือบุคลิกสะท้อนเหตุการณ์ในเรื่องของสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ฉะนั้นการ์ตูนจึงเป็นการสื่อสารด้วยภาพประเภทหนึ่ง

ในสังคมไทยจะพบการใช้ภาพสื่อสารในจิตกรรมฝาผนังตามวัดต่าง ๆ ส่วนการ์ตูนอันเป็นอิทธิพลของตะวันตกเริ่มเข้ามาในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนความแพร่หลายของภาพการ์ตูนล้อการเมืองที่ชัดเจนพบได้ในสมัยรัชกาลที่ 6

ภาพล้อการเมืองในสมัยรัชกาลที่ 6 ในกรณีภาพวาดในราชสำนักนั้นจะเป็นภาพเหล่าบรรดาข้าราชบริพารโดยเป็นภาพฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 6 เอง แล้วทรงนำเอามาลงหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต อย่างเช่น ภาพการ์ตูนล้อเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี แต่ขณะเดียวกัน สภาพการเมืองและเศรษฐกิจในช่วงนั้นก็ได้มีภาพการ์ตูนล้อการเมืองออกมาสะท้อนสังคมเป็นอย่างมาก

การล้อสภาพสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ได้เขียนลงตามหนังสือพิมพ์ต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์สยามรีวิว หนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง โดยมีทั้งภาพขุนนางกำลังดื่มบรั่นดีแต่ประชาชนกำลังผอมอดอยาก หรือภาพล้อนายจ้างกำลังขูดรีดด้วยข้อบังคับต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมกับกรรมกร เป็นต้น

ความรุนแรงของภาพการ์ตูนล้อการเมืองจะยิ่งเข้มข้นในยุคที่ใกล้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยภาพการ์ตูนส่วนใหญ่จะเป็นการล้อเลียนเจ้านาย เสียดสีคนมีอำนาจ วาดภาพในเชิงเรียกร้องประชาธิปไตย สิ่งเหล่านี้สะท้อนความไม่พอใจกับระบอบเก่าคือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

นี่คือจุดเด่นของการ์ตูนล้อการเมืองที่แสดงออกและเรียกร้องถึงสภาพของสังคมในช่วงเวลานั้น ๆ

ส่วนการณ์ตูนล้อการเมืองในยุคปัจจุบัน ในงานเสวนาได้เชิญการ์ตูนนิสต์ 2 คนมาแสดงความคิดเห็นคือคุณสุรพล พิทยาสกุล และคุณศักดา แซ่เอียว ซึ่งทั้งสองคนได้ถ่ายทอดประสบการณ์การเขียนการ์ตูนล้อการเมืองไว้อย่างน่าสนใจ

(กลาง) คุณสุรพล พิทยาสกุล การ์ตูนนิสต์ (ขวา) คุณศักดา แซ่เอียว

“ถ้าไม่อยากให้ด่า คุณก็ลาออกไปซิ” คำกล่าวของคุณศักดา นักเขียนการ์ตูนผู้ยึดมั่นในหลักการที่ว่า เลือกฝั่งประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ ไม่หลุดหลักการ และมีจุดยืน เขากล่าวต่อไปอีกว่านักเขียนการ์ตูนต้องสะท้อนความเป็นธรรม ความเป็นคน ความเป็นมนุษย์ให้แก่ประชาชน

ส่วนเรื่องการทำงานนั้น คุณศักดาได้เล่าว่าได้เรียนรู้จากนักวาดรูปการ์ตูนชั้นครูสมัยก่อน และหาแนวทางให้เป็นของตัวเอง โดยการเขียนการ์ตูนแต่ละครั้งต้องอ่านข่าวให้หลากหลาย ซึ่งความสนใจเรื่องการเมืองของเขาเริ่มต้นในสมัยที่จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจ และเขาเชื่อว่าการอ่านข่าวใช้เวลาเยอะ แต่ดูการ์ตูนแปปเดียวสามารถเข้าใจได้

“ถ้าการ์ตูนมันซ้ำๆ แสดงว่าการเมืองมันไปไม่ถึงไหน” คุณสุรพลแสดงทัศนะต่อการเขียนการ์ตูนล้อการเมืองว่าเขียนเพื่อเข้าข้างผู้เสียเปรียบจากภาครัฐ คนที่อ่านเราเป็นคนเลือกฝ่ายเองในภาพการ์ตูน เราทำหน้าที่สะท้อนข้อมูล และเป็นตัวแทนยืนอยู่ข้างประชาชน

ส่วนการทำงานคุณสุรพลกล่าวว่าต้องเป็นทั้งผู้สร้าง ผู้สื่อ และผู้รับ หมายความว่าต้องอ่านเยอะๆ ในทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เพื่อที่จะสะท้อนออกมาในรูปแบบการ์ตูน

รายละเอียดฉบับเต็มสามารถรับฟัง Live สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “การ์ตูนล้อการเมือง – การเมืองเรื่องการ์ตูน” ได้ที่ Facebook : Silapawattanatham – ศิลปวัฒนธรรม คลิกรับชมเสวนาช่วงที่ 1, ช่วงที่ 2

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 เมษายน 2565