ตำนานสร้าง “พระศรีศาสดา” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง “พระพุทธรูปผู้พิทักษ์พระพุทธชินสีห์”

พระพุทธรูป พระศรีศาสดา ประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศ
พระศรีศาสดา ประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร (ภาพจากหนังสือ "๑๐๘ องค์พระปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดิน" จัดพิมพ์โดย กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม)

พระศรีศาสดา หรือ พระศาสดา พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิราบ ศิลปะสุโขทัย หล่อด้วยสำริด เป็นพระพุทธรูปโบราณคู่บ้านเมืองสร้างในคราวเดียวและเคยประดิษฐานร่วมพระอารามกับพระพุทธชินราช และ พระพุทธชินสีห์ ที่เมืองพิษณุโลก ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายในวิหารพระศาสดา

ตำนานการสร้าง พระศรีศาสดา มีหลายตำนาน ทางหนึ่งเล่าว่าเมื่อ พ.ศ. 1500 พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกมหาราช แห่งเมืองเชียงแสน เสด็จมาตีเมืองสองแควได้ ทรงสร้างเมืองสองแควขึ้นใหม่ พระราชทานนามว่า เมืองพิษณุโลก

จากนั้นทรงสร้างวัดวาอาราม มีวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นพระอารามหลวง ทรงหล่อพระพุทธรูป 3 องค์ได้แก่ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา โปรดให้ประดิษฐานพระพุทธชินราช ณ พระวิหารใหญ่ ทิศตะวันตกของพระมหาธาตุประดิษฐานพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ณ พระวิหารใหญ่ทิศตะวันออก ทางทิศเหนือองค์หนึ่ง ทิศใต้องค์หนึ่ง

พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา จึงประดิษฐานอยู่ในวิหารเดียวกันเป็นเวลากว่า 900 ปี จนกระทั่งมีการอัญเชิญพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาลงมากรุงเทพฯ

อีกทางหนึ่งนั้นว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท แห่งกรุงสุโขทัย ทรงสร้างพระศาสดาขึ้นคราวเดียวกับพระพุทธชินราช และพระพุทธชินสีห์

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นใน พ.ศ. 1900 พระพุทธรูป 3 องค์ ได้ประดิษฐานอยู่ในวิหารด้านทิศใต้ของวัดพระศรีรันตมหาธาตุมาแต่ต้น ต่อมาพระวิหารชำรุดไม่มีผู้ปฏิสังขรณ์ ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าอาวาสวัดบางอ้อยช้างจึงได้อัญเชิญพระศรีศาสดามาไว้ที่วัดบางอ้อยช้าง จังหวัดนนทบุรี

ต่อมา สมัยรัชกาลที่ 3 สมเด็จพระเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ได้ขออัญเชิญพระศรีศาสดาไปเป็นพระประธานที่วัดประดู่ฉิมพลีคลองบางหลวง ซึ่งท่านสร้างขึ้น

พระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร
พระพุทธชินสีห์ พระประธานภายในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ มีพระราชดำริว่าพระศรีศาสดาเป็นพระพุทธรูปอยู่ที่พระอารามหลวงมาแต่โบราณ ไม่สมควรอยู่ที่วัดอื่น ทั้งมีพระราชดำริว่า พระศรีศาสดานั้นสร้างขึ้นคราวเดียวกับพระพุทธชินสีห์ ซึ่งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพทรงอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดบวรนิเวศวิหาร และพระพุทธรูปสององค์นี้เคยประดิษฐานอยู่ในพระอารามเดียวกันที่เมืองพิษณุโลก พระศรีศาสดาก็ควรประดิษฐานอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหารเช่นเดียวกับพระพุทธชินสีห์

แต่เพราะยังไม่ได้สร้างที่สำหรับประดิษฐาน จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่มุขหน้าพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร ไปพลางก่อน เมื่อ พ.ศ. 2396

ต่อมาเมื่อโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นในวัดบวรนิเวศวิหารแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระศรีศาสดาจากวัดสุทัศน์ฯ ไปประดิษฐาน ณ พระวิหารนั้น เมื่อ พ.ศ. 2406 พระศรีศาสดานั้นเป็นเสมือนพระพุทธรูปผู้พิทักษ์พระพุทธชินสีห์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ที่มาข้อมูลและภาพ :

“๑๐๘ องค์พระปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดิน”. จัดพิมพ์โดย กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 กรกฎาคม 2561