รู้จัก “เก๋งกรงนก” พื้นที่อเนกประสงค์ ใช้เลี้ยงนก-เป็นห้องลับ กลางวังหลวง

เก๋งกรงนก ด้านใต้ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย วังหลวง
เก๋งกรงนก (ภาพจาก หนังสือภาพงามของความหลัง, 2558)

“เก๋งกรงนก” เป็นสิ่งปลูกสร้างทางด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ใน “วังหลวง” ที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น โดยมีกรงนกขนาดใหญ่อยู่ตรงกลางไว้สำหรับเลี้ยงนก จากภาพจะเห็นเป็นโครงสร้างสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่สีดำ รอบกรงนกทั้งสี่ด้านมีเก๋งจีนด้านละหลัง

ด้านตะวันตก เก๋งมีชื่อว่า “วรเทพสถาน” (ที่เห็นกลางภาพ) เป็นที่สําหรับเสด็จประทับสำราญพระอิริยาบถ

ด้านเหนือ เก๋งมีชื่อว่า “สําราญมุขมาตยา” (ซ้ายมือในภาพ) เป็นที่สำหรับให้ขุนนางผู้ใหญ่พำนัก

ด้านตะวันออก เก๋งมีชื่อ “ราชานุราชอาสน์” เป็นที่ที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับ เมื่อคอยเฝ้ารัชกาลที่ 4 และต่อมาในต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ใช้เป็นที่ทรงพระอักษรของบรรดาเจ้านาย

ด้านทิศใต้ เก๋งมีชื่อ “วรนาฏนารีเสพ” เป็นที่พักของข้าราชบริพารฝ่ายในที่ตามเสด็จ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงเล่าถึง เก๋งกรงนก ไว้ว่า

“…ถึงปีมะเมีย เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว จึงได้รับคำสั่งให้ออกไปเรียนหนังสือขอม (คือเรียนภาษามคธ) ด้วยกันกับเจ้านายพี่น้องที่เป็นชั้นเดียวกันอีกสักสี่ห้าพระองค์ พระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้เป็นอาจารย์พระเจ้าลูกเธอ นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น มาสอนที่เก๋งกรงนกในเวลาเช้า แต่ 9 จน 11 นาฬิกาทุกวัน เว้นแต่วันพระกับวันโกน…”

อย่างไรก็ตาม กรงนกตรงกลางนั้นคาดว่าถูกรื้อลงไม่นานในตอนต้นรัชกาลที่ 5 โดยคำกราบบังคมทูลของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ แล้วสร้างเก๋งหลังใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นหลังหนึ่ง เพื่อใช้เป็นที่ประชุมปรึกษาราชการ เรียกว่า “เก๋งวรสภาภิรมย์” เป็นเก๋งโถงสามด้าน กั้นเฉลียงด้านใต้เป็นห้องยาวตลอดหลัง มีช่องพระแกล (หน้าต่าง) ตรงพระราชอาสน์เปิดถึงห้องประชุม 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงเล่าว่า แต่เดิมจะให้เป็นห้องลับเพื่อให้รัชกาลที่ 5 เสด็จไปทรงฟังการปรึกษาราชการแผ่นดินเป็นการศึกษา แต่รัชกาลที่ 5 ทรงไม่พอพระราชหฤทัยที่จะเสด็จไปประทับเช่นนั้น จึงจัดให้เป็นสถานที่ให้กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ (วังหน้า) มาประทับคอยเข้าเฝ้าแทนเก๋งด้านตะวันออก ที่เปลี่ยนไปเป็นสถานที่ให้เจ้านายทรงพระอักษร

ต่อมาบริเวณเก๋งนี้คงถูกรื้อลงราว พ.ศ. 2425 เมื่อมีการสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ธงทอง จันทรางศุ. (2558). ภาพงามของความหลัง. กรุงเทพฯ : เอส.ซี.พริ้นท์แอนด์แพค.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 พฤษภาคม 2563