ร่ายดาบประหารชีวิตในสยาม โดย พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก

(ภาพใหญ่) ทำพิธีบวงสรวงก่อนการประหาร (ภาพเล็ก) การประหารนักโทษ

ภาพชุดนี้มิได้ระบุว่าเกิดขึ้น วัน เดือน ปี อะไร มีข้อความสั้นๆ หลังภาพว่า โรงพักพลตำรวจภูธร มณฑลนครชัยศรี ผู้เขียนได้รับความกรุณาภาพชุดนี้จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ที่ผู้เขียนไปค้นคว้าหามาเล่าสู่กันครับ

ประวัติศาสตร์สยามบันทึกว่าตั้งแต่ยุคสุโขทัยมาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สยามมีวิธีการประหารนักโทษ 21 วิธี แต่จะใช้ดาบประหารชีวิตนักโทษเป็นหลัก สถานที่ประหารต้องห่างไกลจากชุมชน แต่การประหารทุกครั้งก็จะมีชาวสยามตามไปมุงดูแบบคึกคัก

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเคยใช้วัดโคก หรือวัดพลับพลาชัย เป็นลานประหาร เมื่อมีชุมชนเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น จึงขยับไปวัดมักกะสัน และถอยออกไปไกลถึงวัดบางปลากดอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการโน่น

การพิจารณาคดีในชั้นศาล
การพิจารณาคดีในชั้นศาล

หลังจากศาลตัดสิน กระบวนการประหารจะเริ่มจากไปสร้างศาลเพียงตาเล็กๆ ใกล้ลานประหารเพื่อสักการะเจ้าที่เจ้าทาง นำนักโทษไปนั่งกลางลาน พนมมือด้วยดอกไม้ธูปเทียน เอาปูนสีไปเขียนเป็นเส้นไว้รอบคอตรงที่จะลงดาบ เพชฌฆาตสองนายจะนุ่งผ้าเตี่ยวสีแดง เสื้อกั๊กสีแดงลงยันต์มหาอำนาจ บางรายจะคาดผ้ารอบศีรษะสีแดง

โรงพักพลตำรวจภูธรมณฑลนครชัยศรี เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ร.ศ. 120
โรงพักพลตำรวจภูธรมณฑลนครชัยศรี เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ร.ศ. 120

เสียงปี่หลวงที่โหยหวนในพิธีจะกังวานไปทุกทิศ เพชฌฆาตทั้งสองจะเข้าไปขอขมานักโทษ แล้วออกมาร่ายเพลงดาบ วนซ้ายของตัวนักโทษเสมอ เพื่อให้เกิดอัปมงคลแก่นักโทษพร้อมทั้งท่องคาถาอาคมข่มวิชาของนักโทษ ด้วยท่าทางเพลงดาบที่มองไม่ออกว่าใครจะลงดาบก่อน พระสงฆ์สวดประกอบเพลงดาบระคนกันไป

เพชฌฆาตที่จะลงดาบแรกจะฟันจากด้านข้างของตัวนักโทษ ด้วยท่าย่างสามขุม โดยมากจะไม่พลาด ในขณะที่ดาบสองจะรำดาบอยู่ด้านหน้า แต่ถ้าฟันแล้วศีรษะไม่ขาดกระเด็น เพชฌฆาตดาบที่สองจะต้องเข้าไปจับศีรษะแล้วเชือดส่วนที่เหลือให้ขาดทันที

19 สิงหาคม พ.ศ. 2462 คือวันที่ประหารชีวิต บุญเพ็ง หีบเหล็ก ฆาตกร 7 ศพ โดยการตัดหัวเป็นรายสุดท้าย ณ วัดภาษี ซอยเอกมัย 23 เขตวัฒนา ใน กทม. นี่เองครับ

บางรายจะจบลงด้วยการนำศีรษะที่กระเด็นลงพื้นไปเสียบบนเสาไม้เพื่อให้ผู้คนทั้งหลายเกรงกลัวอาญาแผ่นดิน