ปทานุกรม-พิมพ์ดีด-ตำราแพทย์ ฯลฯ มรดกที่ “แมคฟาร์แลนด์” ทิ้งไว้ให้สยาม

Samuel Gamble (S.G.) McFarland

มิชชันนารีไม่ได้แค่เผยแพร่ศาสนา “แมคฟาร์แลนด์” ผู้คิดเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทย และคำสั่งทางทหารที่ใช้ถึงปัจจุบัน

ครอบครัวแมคฟาร์แลนด์ที่เมืองไทยเริ่มจาก ศาสนาจารย์เอส.จี.แมคฟาร์แลนด์ และนางเจนนี แมคฟาร์แลนด์ มิชชันนารีชาวอเมริกาที่เข้ามาใน ค.ศ. 1860 และทำงานอยู่ยาวนานจนมีบุตร 4 คน ซึ่งบุตรของท่านต่อมาก็ได้ทำงานในประเทศไทย คนที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกว้างขวางได้แก่ นายแพทย์ยอร์ช บี.แมคฟาร์แลนด์ (George B. Macfarland, 1866-1936) ซึ่งเป็นผู้บันทึกบทความที่นำมาเสนอครั้งนี้

บทความนี้คัดมาจากส่วนหนึ่งของหนังสือ “ประวัติของสกุลแมคฟาร์แลนด์ในสยาม” พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์เอก พระอาจวิทยาคม (ยอร์ช บี.แมคฟาร์แลนด์) ณ เมรุวัดเพทศิรินทราวาส วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2493  ซึ่งพระยาบริรักษ์เวชชการอธิบายไว้ในคำนำของหนังสือว่า ได้เลือกเรื่อง “ที่ระฤกแห่งงานที่ได้กระทำให้แก่สยาม” ที่พระอาจวิทยาคมเคยเขียนไว้เป็นภาษาอังกฤษมาแปลเป็นภาษาไทย โดยคงตัวสะกดตามต้นฉบับ แต่มีการจัดวรรคย่อหน้าใหม่ เพื่อสะดวกในการอ่าน และการสั่งเน้นตัวเข้มบางตำแหน่ง


ที่ระลึกแห่งงานที่ได้กระทําให้แก่สยาม

รวมเป็นเวลา 120 ปี

ค.ศ. 1860-1936

โดย ยอร์ช บี. แมคฟาร์แลนด์

พออายุข้าพเจ้าย่างเขา 70 ปี ถือกันตามธรรมเนียมว่าเป็นอายุขัยสำหรับชาย ข้าพเจ้าเริ่มหวลนึกถึงเบื้องหลัง แต่ก็มิได้หยุดมองเบื้องหน้า เพราะยังมีงานที่หวังจะให้เสร็จสัมฤทธิ์ผลรออยู่ เผอิญวันนี้เหมาะที่ข้าพเจ้าจะลึกถึงชีวิตอันยืนยาวในอดีตอันมีค่าควรแก่การจดจําและบันทึกลงไว้

โลกนี้เต็มไปด้วยคนที่พึ่งตัวเอง คนที่ฟันฝ่า และข้ามพ้นอุปสรรคนานาชนิดด้วยตนเอง คนที่รู้สึกว่าสร้างตัวเองได้หรือประกอบกิจลุล่วงไปได้โดยไม่เป็นหนี้บุญคุณใคร

ส่วนข้าพเจ้าไม่ใช่คนชนิดนั้น ข้าพเจ้าเป็นหนี้บุญคุณ บิดามารดา [ศาสนาจารย์เอส.จี.และนางเจนี แมคฟาร์แลนด์] ของข้าพเจ้ามากมาย สกุลแมคฟาร์แลนด์เป็นที่รู้จักดีในสยามมากกว่า 76 ปี ข้าพเจ้าเป็นคนสุดท้ายของสกุลนี้ และในโอกาสนี้ข้าพเจ้าใคร่จะแจงเรื่องราวและการงานเพียงย่อๆ ที่ตระกูลแมคฟาร์แลนด์ได้กระทำให้แก่ประเทศสยามด้วยความเต็มใจและยินดี รวมกันมากว่า 120 ปี ประเทศสยามเปรียบเหมือนพราะบ้านเกิดเมืองมารดร เพราะเป็นที่เกิดของข้าพเจ้า…

ศาสนาจารย์เอส.จี.แมคฟาร์แลนด์ (ภาพจากhttps://jhm57th.weebly.com)

งานชิ้นแรกที่บิดาของข้าพเจ้าลงมือกระทำก็คือ หนึ่งสร้างโรงเรียนให้มีฐานะสมเป็นโรงเรียนจริงๆ สองปลูกบ้านให้ครอบครัวอยู่ การปลูกบ้านสำหรับคนที่ไม่เคยเป็นช่างไม้มาเลยนั้น ไม่ใช่งานง่ายนัก ทั้งไม่ใคร่สำเร็จด้วย ยิ่งในกรณีนี้ยังลำบากหนักขึ้นไปอีก เพราะพูดภาษากันไม่เข้าใจประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็คือไม้ที่ใช้ปลูกบ้านนั้นต้องลำเลียงขนมาจากกรุงเทพฯ เป็นท่อนซุงแพมา ครั้งถึงปากน้ำเพ็ชร์ จึงแก้แพออกบรรทุกเรือเล็กๆ ท้องแบนสำหรับน้ำตื้น นำไปเลื่อยเป็นแผ่นในเมือง บิดาข้าพเจ้าต้องเทียวไปมาระหว่างในเมืองกับปากน้ำเป็นเวลาหลายสิบวันหลายสิบคืน ด้วยความจำเป็นที่ต้องพักคอยอยู่ที่ตำบลบ้านแหลมนี้ จึงมีโอกาสสอนศาสนาแก่คนในตำบลนั้น

การขนส่งจะยากลําบากเพียงไร ตึกน่าอยู่หลังหนึ่งก็ได้ปลูกขึ้น ทําเสียอย่างปราณีตมั่นคงแข็งแรง จนกระทั่งรื้อถอนด้วยความยากลําบากในเวลา 50 ต่อมางานด้านศึกษาดูเจริญรวดเร็วดีเกินคาด โรงเรียนหลังแรกเป็นอาคารเล็กๆ ตั้งอยู่ด้านหน้ของบริเวณสถานที่ พื้นยกสูงพ้นดิน 3 ฟุต ผนังด้านหนึ่งเป็นอิฐ อีก 3 ด้านเป็นขัดแตะ หลังคามุงด้วยจาก เรือนนี้ใช้เป็นทั้งโบสถ์และโรงเรียนมาหลายปี

เดือนเมษายน ค.ศ. 1865 มารดาข้าพเจ้าเริ่มตั้งโรงเรียนฝึกการฝีมือสำหรับสตรีและเด็กขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศสยาม มีผู้มาเรียนการเย็บผ้า แต่เขาเหล่านั้นคิดว่างานบ้านและงานท้องนามีค่าสำคัญกว่า จึงต้องถึงกับจ้างให้มาเรียนกัน เสื้อแบบเรียบๆ ที่ท่านสอนให้เขาตัดเขาเย็บสำหรับใส่เองนั้น แพร่หลายเป็นแบบใช้กันทั่วไป แม้ในที่อื่นๆ จนกระทั่งเดี้ยวนี้ก็ยังเคยได้เห็นคนแก่ๆ ใช้อยู่ มารดาข้าพเจ้าเป็นผู้นำจักรเย็บผ้าไปใช้ในจังหวัดเพ็ชร์บุรีเป็นคนแรก

การงานทางจังหวัดเพ็ชร์บุรีก็เจริญขึ้นเรื่อยๆ ไป บ้านเรือนก็ต้องการเพิ่มขึ้นอีก จึงคิดใครจะสร้างโบสถ์ไว้เป็นสถานนมัสการพระสักหลังหนึ่ง เมื่อสร้างบ้านเองเป็นผลสําเร็จได้ ก็จะพยายามก่อตึกสร้างโบสถ์ต่อไป ได้ เผาอิฐเองตามวิธีของคนไทยสมัยนั้น ซุงก็นำมาจากกรุงเทพฯ เช่นเดิม บ้านแมคฟาร์แลนด์ชั้นล่างต้องกลายเป็นโรงงานเลื่อยไม้ แต่งไม้ และวางแผนยังอยู่นาน สร้างอยู่ 4 ปี ตัวโบสถ์จึงสําเร็จ คณะมิชชันนารีในกรุงเทพฯ ได้พากันเดินทางไปจังหวัดเพ็ชร์บุรี เพื่อร่วมกันเปิดพิธีโบสถ์ในวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 1872 นายแพทย์แบรดเลย์เป็นผู้เทศน์ เบเวอเรนด์ โนฮา แมค โดแนล เป็นผู้กล่าวคําอธิษฐาน นายแก่นภารโรงเป็นคนตีระฆัง พวกเราชาวคริสเตียนหน่วยน้อยๆ ต่างพากันระลึกถึงพระคุณพระผู้เป็นเจ้าในสัมฤทธิ์ผลของงานนั้น และเกิดกําลังใจในอันที่จะก้าวต่อไป

ต้นปี ค.ศ. 1872 แฟรงค์วิสเซน ยูเนีย (Jr.) เดินทางเที่ยวรอบโลก มีกําหนด 3 ปี ได้มาถึงสยาม เขาต้องการผู้นำคนหนึ่งให้พาไปดูโบราณวัตถุ ณ นครวัดในเขมร นครวัดนี้ เฮนรี มูฮอต (Henri Mouhot) ได้เคยไปดูเมื่อสิบปีก่อนแล้ว และแม้เขาจะมิใช่ผู้แรกพบ เขาก็เป็นคนแรกที่ประกาศให้โลกรู้เรื่องนครนี้ บิดาของข้าพเจ้ากับพันเอก เอฟ. ดับบริว พาตริดจ กงสุล อเมริกันได้รับเชิญให้ร่วมเดินทางไปกับนายวิลเซนด้วย ออกเดินทางกันด้วยเรือ 3 ลำ เมื่อวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 1872  แล้วไปเปลี่ยนเป็นขี่ม้าขี่เกวียนเทียมวัว ต่อไปก็เปลี่ยนเป็นใช้ช้าง 3 เชือก เมื่อบิดากลับมาท่านได้เขียนบรรยายการเดินทางไปนครวัดครั้งนี้อย่างละเอียดถ้วนยิ่งกว่าของใครๆ เท่าที่ผ่านตาข้าพเจ้ามา

ปี ค.ศ.1873 ทั้งบิดามารดาได้เดินไปเยี่ยมสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในเวลา 13 ปี ขณะนั้นมีบุตร 4 คนแล้ว คือ วิลเลียมเฮส์แซมมูแอล เอ๊ดวินฮันเตอร์ ยอร์ชแบรดเลย์ และเมรีคอร์แวล ซึ่งเกิดในกรุงเทพ ฯ ทั้งนั้น เพราะเป็นแห่งเดียวที่มีการมารดาสงเคราะห์ ตามปกติยาประจําบ้านเราก็มีอยู่อย่างบริบูรณ์ แต่เพื่อความมั่นใจอยู่ใกล้หมอแบรดเลย์ไว้ได้เป็นการดีที่สุด คราวหนึ่งมารดาข้าพเจ้าป่วยเป็นไข้ท้องร่วง บิดาได้พยาบาลอย่างสุดความสามารถ แต่อาการของท่านกลับทรุดลง ท่านเจ้าเมืองได้กรุณาให้เรือเร็วและฝีพายที่แข็งแรงพามารดาข้าพเจ้าส่งกรุงเทพฯ ในเวลาอันรวดเร็วอย่างไม่เคยปรากฎมาแต่ก่อน มารดาข้าพเจ้ารอดตายไปได้

นางเจนนี แมคฟาร์แลนด์ (ภาพจากhttps://jhm57th.weebly.com)

อีกหนหนึ่งขณะที่ครอบครัวเรากําลังอยู่ในกรุงเทพ ฯ บังเอิญมีไข้ทรพิษเกิดขึ้น แล้วก็ระบาดเข้าไปถึงเขตต์มิชชันนารี มารดาข้าพเจ้ารีบขอคําแนะนําและวิธีจะพึ่งปฏิบัติต่อบุตรจากหมอแบรดเลย์ ถ้าหากจะเป็นขึ้น แล้วก็พาลูกทั้งสอนลงเรือมาดหนีโรค ล่องไปเพ็ชร์บุรีทันที เคราะห์ที่ไม่มีใครเป็นอะไร แต่ก็อาจหลับตาเดาได้ว่า มารดาข้าพเจ้าได้ตรากตรำเฝ้าลูกทั้งวันทั้งคืน เผื่อจะมีอาการเริ่มแรกปรากฏขึ้นบ้าง ข้าพเจ้ายังจําได้ว่า เราต้องนั่งช่วยกันห่อยาควินนินที่ท่านบิดาเป็นผู้ชั่งเอาไว้แจกคนในบ้านบ้าง ขายให้แก่คนอื่นบ้าง ที่มาจากทั้งใกล้และไกล โดยเชื่อว่าเป็นยาขนานวิเศษ

การได้ไปพักในอเมริกาทําความตื่นเต้นและมหัศจรรย์ให้แก่พวกเราลูกๆ แต่พอถึงเวลากลับเมืองไทยในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1875 วิลกับเอ็ดต้องอยู่เรียนหนังสือ เมรีกับข้าพเจ้ากลับมากับบิดามารดา

วิชาที่บิดาข้าพเจ้าเรียนมาได้อย่างหนึ่ง คือการพิมพ์ ไม่ต้องสงสัยว่าจะมีใครอื่นสอนให้ นอกจากหมอ   แบรดเลย์ และจากท่านหมอนี้แหละ ท่านบิดาได้รับแท่นพิมพ์

สำหรับงานอดิเรกชิ้นนี้ ท่านบิดานับว่าเป็นเอกในการพิมพ์และการป้อนกระดาษ ข้าพเจ้าเคยได้ยินช่างพิมพ์อาชีพสรรเสริญงานของท่าน พวกเราลูกๆ ก็มีแท่นพิมพ์ภาษาอังกฤษเล็กๆ เหมือนกัน การศึกษาส่วนหนึ่งของเราก็คือการเรียบเรียงตัวพิมพ์และการป้อนกระดาษ พอกลับจากอเมริกา ปี 1875 ท่านบิดาก็เริ่มพิมพ์โน๊ตเพลงสวดทีเดียว ข้าพเจ้าไม่เคยทราบว่าหนังสือเพลงสวดภาษาไทยเล่มแรกพิมพ์เมื่อไร แต่ที่มีใช้อยู่เล่มเดียวก็พิมพ์ที่โรงพิมพ์หมอแบรดเลย์ เล่มที่เพิ่มเติมใหม่นั้นพิมพ์เมื่อปี 1859 พอปี 1860 ก็เสร็จ หนังสือเพลงเหล่านี้ไม่มีทำนอง

ระหว่างที่ท่านพักในอเมริกาท่านได้เงินจากมิตรสหายที่สนใจในเรื่องบทเพลงของท่าน และด้วยจำนวนเงินนี้จึงซื้อบล๊อคโน๊ตเพลงมาได้ ท่านบิดาเป็นคนอธิบายความหมายของคํา โดยแต่งเป็นคำร้อยกรองง่ายๆ ให้ครูพูนฟัง ครั้นแล้วก็ร้องเพลงซ้ำแล้วซ้ำอีกให้ฟัง จนกระทั่งแกจำทำนองได้ แล้วก็ก้มหน้าก้มตาปล้ำเขียนคำแปลด้วยดินสอดำทู่ๆ ยาวไม่เกินนิ้วครึ่ง ในที่สุดบทเพลงนั้นก็พิมพ์ขึ้นด้วยน้ำมือของบิดาข้าพเจ้าใน ปี 1876 ซึ่งต่อมาก็ได้พิมพ์อีกเป็นครั้งที่สองในปี 1885 แต่อย่างไรก็ดี ฉบับเริ่มแรกที่มีโน๊ตด้วยนั้นเป็นประโยชน์มากในสมัยนั้น

พวกมิชชันนารีชอบปทานุกรมภาษาอังกฤษเป็นไทย หนังสือเหล่านี้ ยังมีใช้มาจนทุกวันนี้ การค้นคว้าหาคําในภาษาไทยมาใช้ให้ถูกเป็นการลำบากและต้องใช้ความพินิจพิเคราะห์มาก บิดาข้าพเจ้าก็ทำด้วยเหมือนกัน แต่ของท่านพิเศษกว่าของคนอื่นๆ คือท่านลงมือพิมพ์ปทานุกรมของท่านเอง แล้วนำออกจำหน่ายในปี 1865 เล่มแรกบรรจุ 7,500 คํา พิมพ์ 400 เล่ม ต้นปี 1880 พิมพ์ครั้งที่ 2 พอปี 1890 พิมพอีกครั้งที่ 3 และในครั้งนี้ ได้แก้ไขใหม่ มีคำเพิ่มขึ้นรวมประมาณ 9,000 คำ

สําหรับชาวต่างประเทศแล้วนับว่าบิดาข้าพเจ้าได้รู้ภาษาไทยลึกซึ้งและจัดเจน ข้าพเจ้าเองเคยได้ยินคนไทยที่มีการศึกษาสูงชมท่านว่า ถ้าไม่เห็นตัวเวลาท่านพูดแล้วก็ไม่รู้ว่าเป็นฝรั่ง ความสามารถเช่นนี้หาได้ยากในพวกผู้ใหญ่ที่มาอยู่ในเมืองไทย

ข้าพเจ้าไม่ทราบแน่ว่าผู้ใดเป็นคนแปลพระคำภีร์ภาษาไทยทั้งเล่มใหญ่บ้าง แต่ที่ทราบแน่นอนนั้น ท่านบิดาเป็นผู้แปลส่วนมาก

เมื่อได้จัดตั้งโรงเรียนและโรงสวดสำเร็จพร้อมทั้งบ้านสำหรับครอบครัวอยู่เรียบร้อยดีแล้ว ท่านก็ใช้เวลาส่วนมากออกท่องเที่ยวประกาศศาสนาไปตามแม่น้ำลำคลอง โดยเรือมาดมีประทุนซึ่งกลางคืนใช้เป็นที่นอน กลางวันเป็นที่แจกจ่ายยาเป็นทาน ทางบกท่านสร้างล้อเป็น 3 ล้อ มีเครื่องวัดระยะทางติดอยู่ด้วย ตัวท่านเองขี่ม้า เครื่องสําภาระต่างๆ บรรทุกไปในล้อเข็น ผลของการเที่ยวตระเวนสั่งสอนไปอย่างนี้ ทําให้เกิดมีโรงเรียนเด็กๆ และโรงสวดตามตำบลต่างๆ ขึ้นหลายแห่ง

เรือมาดมีประทุนที่ใช้เดินทาง (ภาพจาก อนุสรณ์กระทรวงสาธารสุข 20 ปี พ.ศ. 2485-2505)

โรงเรียนหัตถกรรมของมารดาก็เจริญก้าวหน้าขึ้นจนสถานที่ไม่พอ

คณะกรรมการแห่งเพรสไบทีเรียนมิชชันในอเมริกา ได้ให้เงินมาแล้ว 2,000 เหรียญ และสัญญาว่าจะให้เพิ่มขึ้นอีก 2,000 เหรียญ ดังนั้นจึงได้เริ่มงานสร้างอาคารราคา 4,000 เหรียญ สำหรับโรงเรียน  โรงงานใต้ถุนบ้านก็ยังคงเป็นที่จอแจอยู่นั่นเอง ท่านบิดาได้เอาเครื่องจักรต่างๆ ติดตัวมาจากอเมริกา เมื่อมารวมกับเครื่องที่ท่านคิดขึ้นเอง เลยทําให้การเลื่อยไม้ แต่งไม้สะดวกรวดเร็วและดีขึ้นกว่าเมื่อครั้งทำบ้านมากมาย ข้าพเจ้าจำวิธีที่ท่านทั้งสองทำสลักติดเหนือหน้าต่างประตูได้ดี คือการเขียนลวดลายลงในกระดาษแผ่นเล็กๆ แล้วใช้แสงไฟตะเกียงฉายเงาให้ใหญ่ขึ้นในกระดาษแผ่นใหญ่

วันหนึ่งได้ข่าวไม่ดีจากคณะกรรมการว่ามีอุปสรรค ไม่สามารถจะให้เงินได้ดังที่สัญญาไว้ แต่งานก็ได้ลงมือทําไปแล้ว มิตรสหายชาวไทยคนหนึ่งจึงแนะนำให้บอกบุญเรี่ยไรสมทบทุน เพราะว่าเจ้าหน้าที่ทางบ้านเมืองมีความเห็นอกเห็นใจด้วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงลงพระนามเป็นรายแรกในบัญชีรายชื่อให้เงิน ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานถึง 1,000 เหรียญ นอกจากนั้นเป็นส่วนของบรรดาเจ้านายและข้าราชการ งานสร้างจึงสําเร็จ

ในระยะ 18 ปี ที่ท่านอยู่ในจังหวัดเพ็ชร์บุรี ได้ทำการสําเร็จหลายอย่าง คือได้สร้างตึกถาวร 3 หลัง ตั้งโรงเรียนชาย 1 โรงเรียนหัตถกรรม 1 โบสถสําหรับคริสเตียน 1 งานด้านอักษรศาสตร์ก็มีปทานุกรม หนังสือพระคำภีร์ภาษาไทย ฯลฯ และบทเพลง ท่านได้ประกาศศาสนาทั่วไป เช่นที่ตำบล ท่าเรือ บ้านใผ่ และบ้านแหลมเป็นต้น

ในปี 1878 พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมีพระราชประสงค์จะตั้งโรงเรียนรัฐบาลให้สมกาลสมัยขึ้น สําหรับเจ้านายและบุตรข้าราชการ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้บิดาข้าพเจ้าเป็นอาจารย์ใหญ่ ครั้งแรกท่านก็ลังเลใจ แต่เห็นว่ายังมีคนอื่นพอจะทำงานแทนทางเพ็ชร์บุรีได้ ท่านบิดาและมารดาทั้งสองรีบรับสนองพระราชโองการ ยกครอบครัวเข้ามากรุงเทพฯ

โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ก็เกิดขึ้นที่สวนอนันต์ ท่านผู้มีความรู้หลายท่านที่สืบสายมาจากขุนนางเก่าก่อน ยังคงกล่าวถึงการศึกษาที่ได้รับจากบิดาของเข้าพเจ้าด้วยความภาคภูมิใจ ข้าพเจ้าเองก็เรียนที่นี่จนจบหลักสูตรในปี 1883 และพร้อมที่จะเข้าเรียนปีที่ 2 ของมหาวิทยาลัยวอชิงตันและเจฟเฟอร์สัน ในปี 1884 ก่อนข้าพเจ้าไปอเมริกาเคยช่วยบิดาสอนในโรงเรียน เพราะหาครูที่ชำนาญการสอนได้ยาก

ตลอดเวลานั้นกิจการของโรงเรียนได้ประสบทั้งความปลอดโปร่งและความมืดมน การศึกษาแบบยังกฤษค่อยๆ คืบเข้ามา จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ ทั้งในด้านนโยบายและด้านปฏิบัติ ระหว่างเวลานี้ข้าพเจ้าจําได้แต่เพียงเลือนๆ เพราะไปเรียนอยู่ที่อเมริกา พอถึง ปี 1891 โรงเรียนก็ย้ายจากสวนอนันต์ไปอยู่สุนันทาลัย จนถึงปี 1892 โรงเรียนก็เลิกเลย ทําให้การเล่าเรียนของนักเรียนกว่า 250 คน ต้องสิ้นสุดลง พอโรงเรียนสุนันทาลัยเลิกล้ม ท่านทั้งสองก็ย้ายจากบ้านที่ปากคลองตลาดข้ามไปอยู่บ้านเดียวกับข้าพเจ้าที่โรงพยาบาลศิริราช แต่ท่านบิดายังได้เข้ารับราชการอยู่ในกองตํารา และได้แปลหนังสือใช้เป็นตําราเรียนหลายเล่ม เท่าที่ทราบมี วิชาพฤกษศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และวิชาการบัญชี

ในปี 1893 ท่านบิดาได้ไปพักผ่อนในอเมริกา ท่านไปแต่ลําพังและคนเดียว อยู่ไม่นานนัก พอกลับมาก็เปิดโรงเรียนกลางคืน สอนนักเรียนเก่าสุนันทาลัย ในระยะเวลาใกล้ๆ กันนี้ เอ๊ดกับเมรีเดินทางไปสหรัฐอเมริกา งานสอนกลางคืนทำให้บิดาทนไม่ไหว ไม่ช้าสุขภาพก็โทรมลง ความเสียใจเรื่องโรงเรียนสุนันทาลัยต้องเลิกยังมีอยู่ไม่รู้หาย อนามัยของท่านก็เลยทรุดโทรม จนต้องกลับอเมริกาในปี 1896 ขณะนั้นเมรีได้หางานเป็นครู ผู้สามารถ ในโรงเรียนอนุบาลในกรุงวอชิงตันแล้ว ท่านทั้งสองจึงไปพำนักอยู่ด้วยตลอดชีวิตของท่าน บิดาข้าพเจ้าถึงแก่กรรมปี 1897 มารดาปี 1908 ท่านทั้งสองทํางานให้แก่ประเทศสยามเป็นเวลารวมกัน 72 ปี

วิลพี่ชายข้าพเจ้าเรียนอยู่ที่วิทยาลัยวอชิงตันและเจฟเฟอร์สัน ในรัฐเพนซัลวาเนีย แล้วไปทํางานอยู่ที่พิตสเปรกปีหนึ่ง พอปี 1884 กลับมาเมืองไทย ได้เข้ารับราชการในกระทรวงกลาโหมอยู่ 7 ปี งานสําคัญของเขาที่ควรจดจํามีสองอย่าง คือ เขียนคู่มือสําหรับเรียนภาษาอังกฤษและไทย และเป็นผู้คิดคําในภาษาทหารขึ้นใช้ ซึ่งยังคงปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ เช่นคำ กลับหลังหัน วันทยาวุธ และอื่นๆ ค.ศ. 1887 วิตแต่งงานกับเมรีแมคโดแนล บุตรีของมิชชันนารีผู้เดินทางมาสยามพร้อมกับบิดาข้าพเจ้าเมื่อปี 1860 มีบุตรด้วยกัน 2 คน ชื่อ เบสซี่ และ วิลลา วันที่ 21 เมษายน 1891 วิลป่วยและถึงแก่กรรมด้วยอหิวาตกโรคในกรุงเทพฯ ขณะที่ครอบครัวของเขาไปตากอากาศที่อ่างหิน ชีวิตของเขามาสิ้นสุดลงขณะที่เขากําลังจะเจริญรุ่งเรืองและเริ่มจะบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่ประเทศสยาม

เอ๊ดวินนั้นพอเรียนจบที่วิทยาลัยวอชิงตันและเจฟเฟอร์สันใน ปี 1884 ก็กลับมาสยามพร้อมกับวิล เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงได้ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ เอ๊ดก็ได้เป็นเลขานุการส่วนพระองค์ คราวที่เอ๊ดได้ลาพักกลับอเมริกา เมื่อ ค.ศ. 1891 เขาได้เข้าเรียนงานทําเครื่องพิมพ์ที่โรงงานสมิทพรีเมียร์ แล้วคิดทำเครื่องพิมพ์ดีดสมิทพรีเมียร์ภาษาไทยเป็นเครื่องแรก และนํามาด้วยในปี 1892 เขาเจาะจงเลือกเอาเครื่องสมิทพรีเมียร์ เพราะเป็นเครื่องใหญ่พอจะบรรจุตัวพยัญชนะไทยได้ แต่กระนั้นก็ยังขาดที่บรรจุไป 2 ตัว จะพยายามด้วยวิธีใดๆ เขาก็ไม่สามารถแก้ไขได้ เอ๊ดจึงตกลงใจทำอย่างกล้าหาญชาญชัย กล่าวคือตัดพยัญชนะไทยออกเสีย 2 ตัว ซึ่งเป็นพยัญชนะตายและไม่ใช้

เมื่อเอ๊ดกลับมาจากการพักผ่อน ก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น กล่าวคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงได้ทรงถูกย้ายจากกระทรวงธรรมการไปทรงดำรงตาแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เอ๊ดวินจึงพ้นจากหน้าที่เลขานุการ เขาจึงตัดสินใจกลับไปเรียนเภสัชกรรมศาสตร์ ที่อเมริกาเพื่อมาเป็นเภสัชแพทย์ในสยาม แต่เขาได้ถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 1895 งานที่ทำให้สยามจึงสิ้นสุดลงเพียงเท่านั้น ถึงอย่างไรก็นับว่าเขาได้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศอันที่เกิดของเขาอย่างมากมาย เอ๊ดเป็นคนหนึ่งในบรรดาผู้ที่นำความเจริญมาสู่ประเทศสยาม คือเขาเป็นคนแรกที่ทำเครื่องพิมพ์ดีดเป็นภาษาไทย และนำมาใช้เป็นครั้งแรก

ข้าพเจ้าเป็นคนสุดท้ายของตระกูลที่ออกไปเล่าเรียนที่อเมริกา ก่อนไปข้าพเจ้าตั้งใจว่าจะเล่าเรียนวิชาแพทยศาสตร์ ดังนั้นพอไปถึงก็เรียนทันที เพื่อกลับมาเป็นหมอตามความต้องการของประเทศสยาม จึงตั้งใจเรียนวิชาแพทย์ เมื่อเล็กๆ ข้าพเจ้าได้เคยช่วยบิดาห่อยาควินนินและดีเกลือ เมื่อก่อนหน้าไปเมืองนอก ได้ทำหน้าที่เป็นล่ามให้แก่หมอ อี.เจ. สเตรจ ผู้มาสมทบช่วยงาน มิชชันในเพ็ชร์บุรีเมื่อปี 1881

ข้าพเจ้าไปอยู่ที่วอชิงตันและเจฟเฟอร์สันวิทยาลัย ตั้งแต่ 1884-1887 ปี 1890 ได้รับปริญญา M.D. จาก Western Medical College แล้วในปี 1891 ไปเรียนวิชาผ่าตัดที่ Baltimore College และในเวลาเดียวกันนี้ ข้าพเจ้ายังได้ ฝึกหัดวิชาทําฟันใน Chiragical College of Dentistry ในบัลติมอร์ด้วย และได้ ปริญญา D. D. S.

ก่อนเดินทางกลับเมืองไทยตอนปลายปี 1891 ได้มีการทําสัญญาระหว่างข้าพเจ้ากับนายแพทย์ ที. เฮย์ วารดเฮส์ ซึ่งรับราชการอยู่ในขณะนั้นว่า ข้าพเจ้ามาถึงจะให้รับหน้าที่ดูแลโรงพยาบาลศิริราช และจะต้องเปิดโรงเรียนแพทย์ ในความบังคับบัญชาของข้าพเจ้าให้ได้ในเวลาอันเร็วที่สุดที่จะทําได้ งานที่ศิริราชของข้าพเจ้าเริ่มเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1892 พอเดือนเมษายนปีเดียวกันนั้น โรงเรียนแพทย์ก็เปิดได้ มีนักเรียน 17 คน หมอเฮส์ได้เคยสอนมาบ้างแล้วก่อนหน้านี้ ดังนั้นวันตั้งโรงเรียนแพทย์จึงน่าจะนับเวลาระยะนั้นเข้าร่วมไปด้วย ทั้งที่โรงเรียนใหม่ภายใต้ความควบคุมของข้าพเจ้าหาได้มีส่วนด้วยไม่ เพราะ นักเรียนสมัยหมอเฮส์สอนนั้น ได้กระจัดกระจายกันไปก่อนเวลาข้าพเจ้ามาถึงสยาม ข้าพเจ้าได้ตึกเป็นที่อยู่หลังหนึ่งติดกับศิริราช ที่นี้แหละที่บิดามารดาได้มาอยู่ด้วยเมื่อครั้งโรงเรียนสุนันทาลัยเลิกล้มไป

โรงศิริราชแพทยากร (ภาพจาก http://journal.sirirajmuseum.com)

ประวัติตอนต้น ๆ ของศิริราชพยาบาลและโรงเรียนแพทยาลัยกะโผลกกะเผลกเต็มที่ ยาฝรั่งยังไม่แพร่หลายและเป็นที่ไว้ใจในเมืองไทย โรงพยาบาลศิริราชดำเนินไปได้ก็เพราะยอมให้คนไข้เลือกการรักษา ตามใจจะเป็นยาไทยหรือฝรั่งก็ได้ ไม่มีหมอสมัยไหนต้องแข่งขันกันเหมือนสมัยนั้น หมอไทยก็ต่อสู้เพื่อสรรพคุณของยาไทย และวิธีรักษาของเขา ผู้ที่ได้รับการศึกษาสมัยใหม่ก็เชื่อมั่นในยาและวิธีการของแผนตะวันตก เป็นการต่อสู้กันอย่างน่าอิดหนาระอาใจ

ว่าถึงสถานะของโรงพยาบาล เครื่องใช้ไม้สอยก็ขาดอิปาถะ และไม่พอใช้ ห้องพยาบาลก็มุงด้วยจาก เครื่องมือผ่าตัดก็น้อยเต็มที ตำหรับตำราจะศึกษาจะค้นคว้าก็มีเท่าที่บันทึกอยู่ในสมุดของหมอหนุ่มที่ไม่เคยงาน นี่แหละการก่อร่างสร้างตัวแท้ นักเรียนแพทย์สมัยนั้นเป็นคนที่มีครอบครัวแล้ว ต้องจ้างมาเรียนให้เงินเดือนๆ ละ 12 บาท ข้าพเจ้าเองก็ได้รับอย่างงามถึงเดือนละ 320 บาท หากว่าเมื่อเด็กๆ เคยได้รับการอบรมมาเป็นอย่างดีในเรื่องกระเหม็ดกระแหม่ มัธยัสถ์ จึงทําให้ข้าพเจ้าทำงานอยู่ได้ในตําแหน่งอันหรูหรา เป็นทั้งแพทย์ผ่าตัด ทั้งคณบดีแห่งแพทยาลัย และผู้จัดการโรงพยาบาลและโรงเรียน ตำแหน่งมากอย่างน่าปลื่มใจ แต่อย่างอื่นน้อยเต็มที

พฤศจิกายน ปี 1892 ข้าพเจ้าได้เปิดสำนักงานทำฟันขึ้นที่บ้านปากคลองตลาด ขณะที่ข้าพเจ้าได้อยู่กับบิดามารดาที่นั่น สมัยนั้นมีชาวซีลอนชื่อ ฮันราฮามอยู่คนเดียวที่ทำฟันทั่วกรุงเทพฯ ข้าพเจ้ารู้จักเขามาแต่เมื่อยังเล็กๆ ต่อมาก็มีหมออังกฤษอีกคนหนึ่งมาจากสิงคโปร์ชื่อ สรตาด แต่มาอยู่ได้หน่อยหนึ่งเท่านั้น ความจริงความจริงหมอฟันชะนิดที่เรียกว่าถอนขณะท่านเผลอมีอยู่ดื่น

ข้าพเจ้าได้ชื่อว่าเป็นหมอฟันชาวอเมริกาคนแรก พอตึกที่สี่กั๊กพระยาศรีสร้างเสร็จ ข้าพเจ้าก็ย้ายสำนักงานไปเปิดที่นั่นทันที เวลาทำงานของข้าพเจ้าเริ่มแต่บ่าย 3 โมงเป็นต้นไป ทำจนถึงปี 1916 ก็ต้องเลิก เพราะมีงานทางหน้าที่อื่นๆ หนักยิ่งขึ้น นอกจากได้ช่วยบรรเทาโรคปวดฟันให้แก่ประชาชน แล้วข้าพเจ้ายังมีรายได้พิเศษเพิ่มขึ้นอีกด้วยข้าพเจ้าเป็นผู้นำฟันเทียมสีดำเข้ามา ซึ่งสมัยนั้นเป็นที่นิยมแพร่หลายมาก ข้าพเจ้ามีชื่อเสียงถึงต้องเข้าไปทำในวังบ่อยๆ ทําถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดจนเจ้านายฝ่ายในการรักษาโรคขณะนั้นยังไม่สู้จะก้าวหน้านัก จึงไม่เป็นการเหลือความสามารถที่ข้าพเจ้าจะขนเครื่องมือ 2-3 ชิ้นไปด้วย…

ข้าพเจ้าพาท่านบิดาไปส่งอเมริกาเมื่อปี 1896 แล้วก็กลับมาพร้อมกับเจ้าสาวของข้าพเจ้า บ้านเก่าที่วังหลังเป็นที่อยู่ของเราทั้งสองถึง 22 ปี บ้านนี้ให้ความสะดวกอย่างที่สุดแก่งานของข้าพเจ้าทั้งสองฝ่าย คือดูแลทางศิริราช และช่วยรักษาพยาบาลให้ทางโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ซึ่งข้าพเจ้าสนใจช่วยเหลือมากเช่นเดียวกับที่ท่านบิดามารดาได้เคยทำมา

เราได้รับการสั่งสอนมาว่า มรดกตกทอดนั้นไม่ได้มาจากเฉพาะแต่ผู้ให้กําเนิดและไม่มีใครที่สร้างตนเองได้โดยเฉพาะ แต่จะต้องรับผลจากที่คนอื่นเขาทําได้

สําหรับชีวิตของข้าพเจ้าที่ผ่านมาแล้ว 45 ปี ก็นับว่าอยู่ในลักษณะนี้ทีเดียว คือพอพี่วิลตาย ข้าพเจ้าก็ได้รับหนังสือคู่มือที่เขาเขียนเป็นมรดก อีก 4 ปีต่อมาพอเอ๊ดตาย เครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยของเขาก็ตกเป็นของข้าพเจ้า ต่อมาอีกสองปีบิดาตาย ข้าพเจ้าก็ได้รับปทานุกรมของท่านเป็นกรรมสิทธิ์อีก

แต่ที่ได้จากบิดามารดานั้นศักดิ์สิทธิ์มาก มีส่วนปั้นชีวิตและประสิทธิประสาทความสำเร็จในการงานของข้าพเจ้า เรื่องราวในระยะเวลานี้เป็นเรื่องของข้าพเจ้า เป็นชีวะประวัติแห่งงานของข้าพเจ้า แต่ก็เนื่องมาแต่มรดกของคนทั้งสี่ที่กล่าวมาแล้วได้มอบไว้ให้

ยังมีคนอื่นๆ ที่ได้เมตตาช่วยเหลือข้าพเจ้าในยามที่ต้องการ แต่ในที่นี้จะงดกล่าวถึงชื่อของท่านเหล่านั้น เพราะหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องของสกุลแมคฟาร์แลนด์โดยฉะเพาะ แต่อย่างไรก็ดีจะเว้นกล่าวถึงชื่อ เมรี แมคฟาร์แลนด์ ภรรยาของข้าพเจ้าเสียมิได้ เรื่องราวของข้าพเจ้าจึงเป็นของหล่อนด้วย อากาศเมืองนี้ไม่ถูกกับหล่อน ผลก็คือหล่อนต้องทนอยู่ตลอดเวลา 28 ปี ผู้หญิงที่อดทนต่อความไม่สุขกายได้พยาธิเพื่องานของสามี ซึ่งมีความสําคัญกว่าชีวิตของหล่อนเช่นนี้ออกจะหาได้ยาก ด้วยความกล้าหาญอดทนหล่อนได้แบ่งเบาภาระอันหนักของข้าพเจ้า แต่ว่าหนักเกินกําลังของหล่อน ดังนั้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1923 ร่างอันแบบบางและทรุดโทรมของหล่อนก็ต้องยอมแพ้แก่มัจจุราช บ้านที่เคยชื่นบานและอบอุ่นก็กลายเป็นเงียบเหงาอ้างว้าง

ใบปิดโฆษณษเครื่องพพิมพ์ดีดของห้างสมิทพรีเมียร์ (ภาพจากhttps://jhm57th.weebly.com)

นับจากปี 1895 มา เครื่องพิมพ์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติของข้าพเจ้า พินัยกรรมของเอ๊ดบ่งไว้ว่า ให้ข้าพเจ้าพยายามแพร่การใช้เครื่องพิมพ์ภาษาไทยนั้นให้ได้ เขาได้เป็นผู้คิดทำขึ้น แต่ยังไม่ได้รับความนิยม ข้าพเจ้านำเครื่องพิมพ์ดีดนี้ตั้งไว้ที่สำนักงานทำฟันถึงปี 1897 ช้าพเจ้าก็เปิดห้างสมิทพรีเมียร์ขึ้นที่ตึกใหม่ตรงหัวมุนถนนวังบูรพากับถนนเจริญกรุงต่อกัน และเปิดขายมาจนกระทั่งบัดนี้ ตลอดเวลา 2-3 ปี ต่อมา ขายเครื่องพิมพ์แบบนี้ได้เป็นพันเครื่อง และต่อๆ มาถึงกับที่ทำการของรัฐบาลทุกแห่งจะขาดเครื่องพิมพ์สมิทพรีเมียร์ภาษาไทยเสียมิได้ ต่อมาบริษัทสมิทพรีเมียร์ได้มอบกรรมสิทธิ์การขายเครื่องพิมพ์ให้แก่บริษัทเรมิงตัน พอในปี 1915 ก็ประกาศห้ามสั่งเครื่องพิมพ์ดีดแคร่ตายอีกต่อไป นับเป็นคราวเคราะห์ของประเทศสยามไม่น้อย เพราะเครื่องพิมพ์ดีดสมิทพรีเมียร์เหมาะแก่ภาษาที่มีตัวพยัญชนะมาก

บริษัทให้เครื่องพิมพ์สมิทพรีเมียร์ภาษาไทยอีกแบบหนึ่งแก่ข้าพเจ้า แต่ไม่มีใครต้องการ เพราไม่มีใครรู้จักใช้เครื่งพิมพ์ที่แคร่ส่ายได้ ทุกคนร่ำร้องแต่จะใช่เครื่องพิมพ์แบบ 4 และ 5 ของเก่า ข้าพเจ้าก็หมดปัญญาไม่ทราบจะทำอย่างไร ท่านพาม้าไปลงน้ำได้ แต่จะบังคับให้ดื่มนั้นไม่ได้ ใครๆ ก็พากันจะเอาเครื่องพิพม์ที่เคยใช้มาแล้ว ข้าพเจ้าเองก็เช่นเดียวกัน แต่ก็ปราศจากผล ในที่สุดข้าพเจ้าต้องสั่งของใหม่เข้ามาใช้ เพราะความจำเป็นบังคับ

ข้าพเจ้ายังได้ประดิษฐ์งานอีกชิ้นหนึ่ง คือระหว่างได้ลาพักกลับบ้านนั้น ข้าพเจ้าได้เข้าช่วยบริษัทเรมิงตันคิดสร้างเครื่องพิมพ์ภาษาไทยแบบกระเป๋าหิ้ว เครื่องชนิดเล็กน่าเอ็นดู และให้ความสะดวกมาก จนใครๆ ก็อดลองใช้ไม่ได้ คราวนี้ได้ทราบว่าใช้ไม่ยากเท่าที่คิด ข้อรังเกียจเลยค่อยๆ หมดไปที่ละน้อยๆ แล้วข้าพเจ้าก็นําเอาวิธีพิมพ์สัมผัสสมัยใหม่ที่ทั่วโลกใช้มาลองดู เป็นที่พอใจอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าจึงเปิดโรงเรียนสอนพิมพ์แบบสัมผัสขึ้น

ทุกวันนี้เครื่องพิมพ์สมิทพรีเมียร์แท่นคู่จึงเป็นของพ้นสมัยไป ยังมีใช้อยู่บางก็ในท้องถิ่นที่ไกลกันดาร และโดยนักพิมพ์มือเก่าเท่านั้น นักพิมพ์ดีดสมัยใหม่จะไม่ยอมแตะเครื่องพิมพ์ที่ล้าสมัยนั้นเลย แต่ในสมัยก่อนช่างวิเศษสำหรับเขาเหลือเกิน ในพิธภัณฑ์สถานก็ยังมีเครื่องหนึ่งที่สั่งมาเป็นรุ่นแรก ข้าพเจ้าได้ส่งให้เข้าไปให้ไว้เป็นสมบัติ ภายหลังที่ได้ใช้มาแล้วเป็นเวลาถึง 35 ปี และสละให้อย่างตัดใจจริงๆ

ต่อจากปี 1915 มา ความก้าวหน้าในการใช้เครื่องพิมพ์ภาษาไทยก็ยิ่งมีมากขึ้น แคร่ของเครื่องแรกบรรจุพยัญชนะได้หมดแต่ต้องพิมพ์ขัดกับทางเขียน ในวิชาเครื่องยนต์กลไกจะยอมให้เป็นเช่นนี้ไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงค้นคว้าดัดแปลง จนหาวิธีเปลี่ยนและพิมพ์ได้ถูกทาง แล้วบริษัทเรมิงตันก็สร้างแบบนี้ให้ข้าพเจ้า แคร่ของแบบเรมิงตันได้รักบารเปลี่ยนแปลงดีขึ้น บริษัทพิมพ์ไทยอื่นๆ ก็เอาอย่างไปใช้ ต่างเต็มใจที่จะให้เกิดประโยชน์จากความของข้าพเจ้า ขณะนี้ข้าพเจ้าเป็นเจ้าของเครื่องพิมพ์แบบกระเป๋าหัว เครื่องพิมพ์ใหญ่สแตนดารดและเครื่องทำบัญชีเป็นภาษาไทย

ข้าพเจ้าได้ตั้งสํานักงานบริการอย่างทันสมัยในความควบคุมอันเชี่ยวชาญของนายช่างกลอเมริกัน มีโรงเรียนสอนพิมพ์ดีด และมีร้านค้าขึ้นพร้อมมูลด้วยเครื่องใช้ในการพิมพ์มีคนงานถึง 50 คน ข้าพเจ้าได้ขยายสำนักงานให้กว้างขวางออกไป ถึงกับมีเครื่องใช้ทุกชนิด ซึ่งส่วนมากได้แนะนำให้กระทรวงทบวงกรมรู้จักใช้ นับตั้งแต่ข้าพเจ้าได้นำเครื่องพิมพ์ออกตั้งแสดงในร้านทำฟันแต่ครั้งนั้นตลอดมา การคลี่คลายขยายตัวทั้งในการก้าวหน้าและถอยหลังในเรื่องพิมพ์ดีด ก็ได้เป็นมาดั่งได้เล่าแล้ว แต่ข้าพเจ้าก็หาได้ล้มความเชื่อมั่นในพี่ชายผู้ได้มอบความคิด และเครื่องพิมพ์ของเขาไว้ให้แก่ข้าพเจ้าไม่

เรื่องมรดกของพี่วิลนั้นมีสั้นกว่าเรื่องของเครื่องพิมพ์ หนังสือคู่มือของเขาไม่สําเร็จขณะที่เขาตาย เอ๊ดได้จัดส่งสําเนาไปพิมพ์เมื่อปี 1900 ข้าพเจ้าตรวจและเพิ่มเติมขึ้นในปี 1913 และภายหลังได้พิมพ์อีกเป็นครั้งที่สาม

ปทานุกรมขนาดเล็กของท่านบิดาก็มีเรื่องราวคล้ายๆ กับเครื่องพิมพ์ของพี่เอ๊ด คือได้ตกมาเป็นงานสําคัญในชีวิตประวัติของข้าพเจ้า ฉบับที่พิมพ์ในปี 1865 นั้น ท่านพิมพ์ของท่านเองที่จังหวัดเพ็ชร์บุรี พิมพ์ครั้งที่ 2 เมื่อปี 1880 ที่โรงพิมพ์ในโรงเรียนสวนอนันต์ พิมพ์ครั้งที่ 3 ปี 1890 โดยแก้ไขเพิ่มเติมเป็นจํานวน 600 เล่ม ซึ่งไม่ช้าก็จำหน่ายหมดและขาดตลาดอยู่ถึง 5 ปี จนกระทั่งข้าพเจ้าพิมพ์ขึ้นใหม่เป็นครั้งที่ 4 เมื่อปี 1903 ในครั้งนี้ได้แก้ไขคำจำกัดความต่างๆ เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ ทำให้หนังสือใหญ่ขึ้นมาก พิมพ์ครั้งนี้ถึง 2,000 เล่ม  ภายหลังข้าพเจ้าส่งปทานุกรมนี้ไปทำบล๊อกที่ประเทศญี่ปุ่น ขนาดของหนังสือจึงค่อยเล็กลง แล้วพิมพ์เป็นครั้งที่ 5 ใน ค.ศ. 1910 แผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่นปี 1915 ทำลายบล๊อกเหล่านี้เสียหายหมด ต้องสร้างกันใหม่ในเมืองไทย ฉบับต่อๆ มาพิมพ์ในปี 1915-1916-1930-1932 จนถึงครั้งที่ 10 ซึ่งกำลังอยู่ในโรงพิมพ์ได้มีการปรับปรุงและเพิ่มเติมเรื่อยๆ มา ปทานุกรมนี้จะยังคงเป็นประโยชน์และจำเป็นแก่นักเรียนที่เรียนภาษาอังกฤษชั้นต้นๆ ข้าพเจ้าได้ตอบสนองศรัทธาของบิดาข้าพเจ้าด้วยประการฉะนี้

ภาระกิจของข้าพเจ้าที่กี่ยวกับปทานุกรมอังกฤษเป็นไทย นำให้ข้าพเจ้าซื้อลิขสิทธิ์ของปทานุกรมมิช     แชลไทยเป็นอังกฤษ โดยคิดจะพิมพ์ขึ้นใหม่อีกแต่มาตกลงใจว่าจะต้องตรวจทานแก้ไขใหม่ เพราะภาษาไทยได้มีการเปลี่ยแปลงมากมายนับตั้งแต่ปทานุกรมนั้นได้พิมพ์ขึ้น ข้าพเจ้าจึงได้เริ่มงานเมื่อต้นเดือนเมษายน 1926 ต่อมาไม่ช้าความคิดของข้าพเจ้ากว้างขวางออกไปอีก เพราะได้มีปทานุกรมไทยของรัฐบาลเกิดขึ้น และข้าพเจ้าได้รับอนุญาตให้นําถ้อยคํามาใช้ได้ตามแต่จะเห็นเหมาะสม ข้าพเจ้าจึงตกลงใจดำเนินตามแบบมิชแชลกับแบบของปทานุกรมหลวงร่วมกัน  ข้าพเจ้าทำงานชิ้นนี้อยู่ถึง 10 ปี จึงพร้อมที่จะพิมพ์ได้

งานด้านการศึกษาอย่างอื่นยังมีอีกที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ ในด้านงานของข้าพเข้าทางโรงเรียนราชแพทยาลัย ข้าพเจ้าเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีตำหรับตำรา ตำราภาษาอังกฤษนั้นไม่ดีรับประโยชน์ เพราะนักเรียนมีความรู้ภาษาอังฤษอย่างดีก็เพียงขั้นต้นเท่านั้นเอง และวิชาภาษาอังกฤษก็ไม่เป็นวิชาบังคับจนถึงปี 1903 ซึ่งได้มีผู้บรรยาย (อาจารย์) เพิ่มขึ้นเป็น 7 คน คนหนึ่งในจำนวนนี้คือ หลวงวิจิตร์ (ต่อมาเป็นพระยาวิจิตร์) เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ

หนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ได้กล่าววิจารณ์ในการเพิ่มการสอนครั้งนี้ว่า ความมุ่งหมายของการสอนภาษาอังกฤษที่แล้วมาเพียงให้นักเรียนคุ้นกับคำที่ต้องการใช้ มีน้ำหนักในมาตราชั่งเป็นภาษาอังกฤษ ฯลฯ เท่านั้น ไม่ใช่จะสอนวิชาภาษาอังกฤษให้

ฉะนี้จึงไม่แปลกอะไรที่ข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่าจะต้องทําตำราวิชาแพทย์เป็นภาษาไทยให้นักเรียน ข้าพเจ้าขอร้องให้รัฐบาลช่วยลงทุนพิมพ์ตำรา แต่เปล่าประโยชน์ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่มีใครมีความรู้พอที่จะบอกได้ว่าตำราของข้าพเจ้าดีหรือไม่ดี เขาสนับสนุนไม่ได้

ดังนั้นภรรยาของข้าพเจ้าจึงได้ลงมือใช้เครื่องพิมพ์อัดสําเนา (พิมพ์มมีโอกราฟ) พิมพ์คำบรรยายของข้าพเจ้า ด้วยวิธีนี้ข้าพเจ้าได้สร้างตำราขึ้นหลายเล่มด้วยทุนข้าพเจ้าเอง คือ Human Anatomy with Plates and Diagrams Vols. I, II, & III, Materia Medica and Therapeutica; Elementary Physiology with 43 illustrations, Advance Physiology, A Treatise on Asiatic Plague, its spread and Prophylaxis; Elementary Treatise on Disease of the Nervous Systems.

ตำราเหล่านี้เป็นกำลังแก่การงานของข้าพเจ้ามาก มาตรฐานค่อยๆ สูงขึ้น และลูกศิษย์ที่เข้าใหม่ก็ค่อยดีขึ้น โรงเรียนราชแพทยาลัย คงจะไม่เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1892 ถ้าหากจะวางเกณฑ์รับผู้เข้าเรียนให้มีความรู้ภาษาอังกฤษสูง หรือแม้มีความรู้เพียงมัธยม 8 การวางรากฐานจำสำเร็จเป็นรูปโรงเรียนราชแพทยาลัย ปัจจุบันนี้ได้ใช้ความพากเพียรถึง 35 ปี ข้าพเจ้าภาคภูมิใจ ในงานอันยากลําบากทุกขึ้น เพราะได้ลงทุนด้วยหยาดเหงื่อข้าพเจ้าแท้ๆ ข้าพเจ้าได้สอนลูกศิษย์ออกไปเป็นรุ่นๆ หรือจะเรียกว่าลูกชายของข้าพเจ้าก็ว่าได้ เพราะข้าพเจ้ารักและให้ความรู้ที่ดีที่สุดที่ข้าพเจ้าจะให้ได้

อาจารย์และนักเรียนโรงเรียนราชแพทยาลัย (ภาพจากศิลปากร ปีที่ 64 ฉบับที่ 3 พ.ค.-มิ.ย. 2561)

ถ้าจะถือเอาตามหลักสูตรของอังกฤษหรืออเมริกันแล้ว นักเรียนของข้าพเจ้าในปีต้นๆ มีความรู้น้อยมาก ทั้งนี้ด้วยความจําเป็นโดยแท้ แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยังได้หลักวิชาพอจะทําการรักษาโรคที่ไม่หนักหนาได้ นอกจากนี้เขายังได้รับการอบรมทางจรรยาแพทย์… และยิ่งเป็นข้ออิ่มใจเมื่อร๊อคเฟลเลอร์มูลนิธิเข้ามารับโรงพยาบาลนี้เข้าอยู่ในความอุปถัมภ์ และได้ใช้ระเบียบและวิธีการที่ข้าพเจ้าได้วางไว้ด้วยความเหนื่อยยากต่อไป งานเริ่มแรกของข้าพเจ้า ใครๆ ก็ไม่เห็นคุณค่า แต่เขาจะเห็นได้อย่างไร คนเราจะรู้คุณค่าของการงานใดๆ ได้ก็ต่อเมื่อตนเองได้หยิบจับงานนั้นตลอดไป ได้เจอกับอุปสรรค ความผิดหวัง ความไม่แยแสนำพาของใครๆ อื่น ตลอดจนกระทั่งความ เหนื่อยยากแทบสายตัวขาด

ข้าพเจ้าได้ลิ้มรสสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา 35 ปี ลิ้มแล้วลิ้มผมเล่าไม่ทราบว่ากครั้งต่อกี่ครั้ง พอร๊อคเฟลเลอร์มูลนิธิลงมือจับงาน คนไข้ก็พากันแห่เข้าไปรับการรักษา หมอจะเอาอะไรหรือจะทําอย่างไรได้ทั้งนั้น ส่วนสมัยข้าพเจ้าคนไข้พากันใช้ยาไทยหมด นักเรียนแพทย์ก็ต้องจ้างให้มาเรียน สิ่งตอบแทนที่ข้าพเจ้าได้รับก็คือ ได้เป็นผู้เริ่มงานให้คนอื่นเขาต่อ ข้าพเจ้าพอใจแล้ว

เท่าที่เล่ามาแล้ว งานสำคัญในชีวิตของข้าพเจ้ามี 3 อย่าง คือ งานโรงเรียนราชแพทยาลัย งานเครื่องพิมพ์ดัดและงานหนังสือ งานชิ้นที่ 4 ควรจะได้นำมากล่าวต่อไปด้วย ข้าพเจ้าเกิดจากเลือดเนื้อเชื้อไขของมิชชันนารีผู้เผยแพร่งานสอนศาสนา ชีวิตของข้าพเจ้าแต่เด็กคลุกคลีอยู่กับบิดามารดาและงานของท่านจนฝั่งที่ดื่มด่ำเข้าไปในจิตต์ใจตราบจนอายุ 18 ปี จึงได้จากไปเรียนต่อที่อเมริกา

เมื่อกลับมาก็ได้อยู่ร่วมกับบิดามารดาอีก 5 ปี ศรัทธาอันแก่กล้าทางศาสนา และความมุ่งหมายของท่านทั้งสองได้ปลูกฝั่งเป็นชีวิตจิตต์ใจของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเจริญเติบโตอยู่ในความแวดล้อมกับมิชนนารี ข้าพเจ้ามีรกรากเป็นมิชชันนารี มีสังคมอันใกล้ชิดสนิทสนมกับหมู่มิชชันนารี นับแต่เป็นทารกจนเป็นผู้ใหญ่ บ้านที่อยู่ในบริเวณโรงพยาบาลใกล้กับโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง เปิดโอกาสให้จ้าพเจ้าได้เห็นศาสนกิจที่นั่น ข้าพเจ้ารู้จักมิสโคล์ตั้งแต่แรกที่แกเข้ามาประเทศสยาม

ความจริงแก่สอนได้สอนอยู่ที่โรงเรียนสวนอนันต์ 2-3 อาทิตย์ก่อนที่ได้เดินทางไปเริ่มงานตามหน้าที่ที่เชียงใหม่ แหม่มให้โอกาสแก่ภรรยาและข้าพเจ้าได้ช่วยเหลือศาสนกิจของโรงเรียนหลายครั้งหลายหน เรารักกันอย่างสนิมสนม ภาระที่หนักอกอยู่ก็คือการที่จะต้องขยับขยายสถานที่เรียนให้พอกับจำนวนนักเรียนที่สามสมัครเพิ่มขึ้น ข้าพเจ้าเล็งเห็นการณ์ภายหน้าว่า

พระนครจะต้องขยายตัวออก การที่โรงเรียนกุลสตรีวังหลังได้ขยายตัวมาเป็นโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยในปัจจุบันนี้ ข้าพเจ้าภาคภูมิใจมาก ข้าพเจ้าได้ซื้อที่ดินเสมือนเตรียมไว้ให้ พอภรรยาของข้าพเจ้าถึงแก่กรรม ข้าพเจ้าก็ยกที่ดินทางตวันออกของโรงเรียนเดี๋ยวนี้ให่แก่องค์การณ์ศาสนาเพรสไบทีเรียนอเมริกันเป็นจำนวน 16 ให้เป็นอนุสรณ์ของภรรยาผู้มีความสนใจอย่างลึกซึ้งในกิจการของกุลสตรีวังหลัง…

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2562