สรุปได้รึยังว่า “คนอียิปต์โบราณ ไม่มีความเชื่อมโยงกับคนอียิปต์ในยุคปัจจุบัน” ?

มหาสฟิงซ์แห่งกีซา กับมหาพีระมิดแห่งกีซา ที่อยู่เบื้องหลัง ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2007 (AFP PHOTO / CRIS BOURONCLE)

ที่เมืองไทยมีข้อถกเถียง (ที่เผ็ดร้อนเป็นระยะๆ) ว่า “คนไทยมาจากไหน?” ที่อียิปต์เองก็มีประเด็นถกเถียงลักษณะเดียวกันว่า “คนอียิปต์โบราณกับคนอียิปต์ในยุคปัจจุบันมีความเกี่ยวโยงกันมากน้อยเพียงใด” ปัญหานี้ถือเป็นข้อถกเถียงที่มีมานานตั้งแต่ยุคอาณานิคม เมื่อนักล่าอาณานิคมไม่เชื่อว่า คนท้องถิ่นจะมีปัญญาสร้างสิ่งของใหญ่โตได้ (คล้ายๆ กับที่มีคนเสนอว่า คนเขมรไม่ใช่คนขอม และไม่ใช่คนสร้างนครวัด)

ปัจจุบันเรื่องนี้ก็ยังคงได้รับความสนใจอยู่ (แต่มุมมองของผู้ให้ความสนใจก็อาจจะต่างไปจากยุคล่าอาณานิคมแล้วก็ได้) ล่าสุดก็มีนักวิจัยที่เลือกใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการหาคำตอบให้กับปัญหานี้

“คนอียิปต์ในปัจจุบันเป็นผู้สืบเชื้อสายโดยตรงมาจากคนอียิปต์โบราณหรือไม่ มันมีความต่อเนื่องทางพันธุกรรมในอียิปต์ตามกาลเวลามาด้วยมั้ย? ผู้รุกรานจากภายนอกได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงลักษณะจำเพาะทางพันธุกรรมหรือเปล่า? อย่างเช่น ชาวอียิปต์มีความเป็น ‘ยุโรป’ มากขึ้น หลังอเล็กซานเดอร์มหาราชพิชิตอียิตป์หรือไม่”

โยฮันเนส เคราส์ (Johannes Krause) นักพันธุกรรมโบราณคดีจากสถาบันวิทยาศาสตร์ด้านประวัติศาสตร์มนุษย์แห่งแม็กซ์ แพลงก์ (The Max Planck Institute for the Science of Human History in Germany) ในประเทศเยอรมนี หนึ่งในคณะวิจัยที่เผยแพร่ผลงานในวารสาร Nature Communictions กล่าวถึงข้อถกเถียงเรื่องความเป็นมาและความสืบเนื่องของชาวอียิปต์โบราณกับชาวอียิปต์ยุคใหม่ ทั้งนี้จากรายงานของรอยเตอร์ส

เพื่อไขปัญหาดังกล่าวว เคราส์และคณะได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านพันธุกรรมของมัมมี 90 ร่าง จากแหล่งโบราณคดี Abusir el-Malek ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงไคโร ห่างออกไปเป็นระยะทางราว 115 กิโลเมตร ดีเอ็นเอที่ได้สกัดมาจากกระดูกและฟันของมัมมีที่ถูกฝังอยู่ในสุสานซึ่งมีความเชื่อมโยงกับเทพโอไซริส โดยมัมมีที่มีความเก่าแก่ที่สุดมาจากยุคอาณาจักรใหม่ มีอายุย้อนไปถึงปี 1388 ก่อนคริสตกาล และที่มีอายุน้อยที่สุดมาจากยุคที่อียิปต์อยู่ภายใต้การปกครองของโรมัน เมื่อราวปี ค.ศ. 426

ผลวิเคราะห์ที่ได้ก็คือ คนอียิปต์โบราณมีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับประชากรในกลุ่มซับซาฮาราอย่างเช่นเอธิโอเปียโบราณค่อนข้างน้อย หรือแทบไม่มีเลย ต่างจากคนอียิปต์ในยุคปัจจุบัน

ส่วนกลุ่มประชากรที่มีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับคนอียิปต์โบราณมากที่สุดก็คือกลุ่มชาวตะวันออกใกล้โบราณที่อยู่ในแถบตุรกี อิรัก อิสราเอล จอร์แดน ซีเรีย และเลบานอน

เด็กๆ ในศูนย์พักพิงของมูลนิธิบานาตี (Banati Foundation) องค์กรช่วยเหลือเด็กไร้บ้านในกรุงไคโร เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2017 (AFP PHOTO / MOHAMED EL-SHAHED)

นักวิจัยยังพบว่า ความสืบเนื่องทางพันธุกรรมของชาวอียิปต์โบราณมีมาตั้งแต่ยุคอาณาจักรใหม่มาจนถึงยุคโรมัน แต่หลังจากนั้นต้นสายพันธุกรรมจากกลุ่มซับซาฮาราก็ได้เพิ่มขึ้นในหมู่ชาวอียิปต์อย่างมีนัยสำคัญ พวกเขาไม่ได้ให้คำตอบที่แน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุ แต่ก็ได้ให้ข้อสันนิษฐานว่าอาจจะมาจากหลายปัจจัยตั้งแต่การคมนาคมในลำน้ำไนล์ที่มีมากขึ้น การค้าขายระยะไกลระหว่างชาวอียิปต์กับชาวซับซาฮารา รวมไปถึงการค้าทาส

ด้านศาสตราจารย์สตีเฟน เควิร์ก (Stephen Quirke) นักอียิปต์วิทยาจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนซึ่งมิได้มีส่วนกับงานวิจัยได้แสดงความเป็นห่วงกับข้ออ้างที่ตีขลุมของงานวิจัยชิ้นนี้ พร้อมบอกว่า ความพยายามที่จะพิสูจน์ว่า คนอียิปต์โบราณกับคนอียิปต์สมัยใหม่ไม่มีความเชื่อมโยงกันมีมาโดยตลอด 

“ผมมีข้อสงสัยเป็นพิเศษกับข้อความใดๆ ก็ตามที่อาจจะไม่ได้มาจากความตั้งใจ และได้เสนอมุมมองแบบยุโรปเหนือ หรืออเมริกาเหนือซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า ที่นั่น [อียิปต์] ไม่มีความต่อเนื่อง [ระหว่างคนยุคโบราณกับคนยุคใหม่]”

“เมื่อเราถกเถียงกันเรื่องนี้ เราจะต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างมากว่า ข้อความลักษณะนี้จะถูกอ่านโดยคนภายนอกที่ยืนอยู่ต่างจากเราอย่างไร” เควิร์กกล่าวกับดิอินดิเพนเดนต์ ก่อนเสริมว่า การหาข้อสรุปที่แน่ชัดถึงความเป็นมาของคนอียิปต์เป็นสิบๆ ล้านคน นั้นยังไม่ใกล้ความจริงแม้แต่น้อย

นอกจากนี้ ยังมีข้อที่น่าสังเกตอีกอย่างก็คือ มัมมีตัวอย่างที่เอามาใช้ในการวิเคราะห์มาจากแหล่งๆ เดียว ถูกสุ่มมาจากยุคต่างๆ ระยะห่างกันเป็นพันปี แต่ถูกนำมาใช้วิเคราะห์เพียง 90 ร่างเท่านั้น ซึ่งแม้กระทั่งนักวิจัยเองยังยอมรับว่า “คงไม่อาจใช้เป็นตัวแทนของคนอียิปต์โบราณทั้งหมดได้”


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มิถุนายน 2560