เผยแพร่ |
---|
กรุงเทพฯ 28 มกราคม 2565 – กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ส่งมอบต้นแบบเครื่องมือแพทย์แก่สถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 23 แห่ง จากการเดินหน้าขยายผล 2 ผลงานต้นแบบเครื่องมือแพทย์ด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพสู่การใช้งานจริง และสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ต่อไป
ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย ที่ยังมีการแพร่ระบาดจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เวชภัณฑ์ เครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์มีความจำเป็นต่อการตรวจวินิจฉัย รักษา และติดตามอาการผู้ติดเชื้อที่มีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว ตลอดจนลดการสัมผัสระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วย
ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตระหนักถึงความสำคัญข้างต้น ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เดินหน้าผลักดันการพัฒนาและต่อยอดต้นแบบเครื่องมือแพทย์ผ่านกิจกรรมการส่งเสริมการขยายผลงานต้นแบบเครื่องมือแพทย์ด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
โดยมุ่งเน้นการประยุกต์เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาด ซึ่งเป็นความต้องการจากการสำรวจความต้องการจากบุคลากรทางการแพทย์และได้ปรับปรุงประสิทธิภาพ ซึ่งได้คัดเลือกต้นแบบเครื่องมือแพทย์ จำนวน 2 ผลงาน มาปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้งานจากข้อเสนอแนะของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง จนได้เครื่องมือแพทย์ที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง ประกอบด้วย
1. เครื่อง Distancing Stethoscope หูฟังทางการแพทย์ในรูปแบบไร้สาย โดยสามารถใช้งานได้ทั้งในรูปแบบ Acoustic Stethoscope ที่แพทย์มีความคุ้นเคย หรือรูปแบบ Bluetooth Wireless ที่สามารถส่งสัญญาณได้ไกลกว่า 5 – 10 เมตร เพื่อเพิ่มระยะห่างระหว่างแพทย์ผู้ตรวจและผู้รับการตรวจ อันจะทำให้ลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี
และ 2. เครื่อง Mobile EKG / ECG Monitoring ติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพาเหมาะสำหรับการใช้งานในหน่วยบริการปฐมภูมิ หรือหน่วยบริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินและสามารถใช้ร่วมกับรถพยาบาลหรือพาหนะฉุกเฉินทางการแพทย์ เพราะมีน้ำหนักเบา มีแบตเตอรี่ในตัวสามารถใช้งานได้กว่า 2 ชั่วโมงต่อเนื่องโดยไม่ต้องต่อไฟ รวมทั้งมีหน้าจอระบบ touch screen สามารถขยายหรือลดขนาดคลื่นไฟฟ้าและหยุดหน้าจอชั่วขณะ เพื่อทำการวินิจฉัยอาการได้สะดวกยิ่งขึ้น
โดย ดีพร้อม ได้ส่งมอบต้นแบบเครื่องมือทางการแพทย์ทั้ง 2 ผลงาน รวมจำนวนทั้งสิ้นกว่า 30 ชิ้น ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 23 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 9 แห่ง อาทิ รพ.สต.วัดปากสมุทร รพ.สต. ลาดใหญ่ รพ.สต.บ้านฉู่ฉี่ และโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน รวมทั้งโรงเรียนแพทย์ จำนวน 14 แห่ง อาทิ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ศิริราช) โรงพยาบาลแพทย์ปัญญา โรงพยาบาลบางโพ กรุงเทพมหานคร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
นอกจากนี้ กิจกรรมการส่งเสริมการขยายผลงานต้นแบบเครื่องมือแพทย์ด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังจะมีการขยายผลสู่เชิงพาณิชย์มากขึ้นโดยในเบื้องต้น ดีพร้อม ได้การจัดสัมมนาเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการและผู้สนใจ ด้วยการถ่ายทอดประสบการณ์การใช้งานต้นแบบโดยบุคลากรทางการแพทย์
การสาธิตและแนะนำการใช้งานต้นแบบและบรรยายเกี่ยวกับองค์ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับธุรกิจเครื่องมือแพทย์ เช่น ด้านมาตรฐานการผลิตและผลิตภัณฑ์ มาตรฐานการทดสอบ กฎระเบียบ ข้อบังคับ ทั้งนี้ การขยายผลผลงานต้นแบบเครื่องมือแพทย์ดังกล่าวนี้ ดีพร้อม เชื่อมั่นว่าจะสามารถนำไปสู่การใช้งานในสถานพยาบาลต่าง ๆ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพสู่การใช้งานจริงในกลุ่มสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์
ตลอดจนสามารถแก้ปัญหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีอย่างจำกัด นอกจากนี้ ยังเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพของไทยให้มีมาตรฐานในระดับสากล สามารถแข่งขันกับต่างประเทศและเกิดความยอมรับในสายตานานาชาติต่อไปได้ในอนาคต ดร.ณัฐพล กล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2430 6860 หรือ ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ https://www.diprom.go.th/th/ หรือ www.facebook.com/dipromindustry