นักวิชัยชี้ “นีแอนเดอร์ทัล” อาจรู้จักการใช้เพนิซิลลิน และการเล้าโลมก่อนมีเพศสัมพันธ์

มนุษย์ นีแอนเดอร์ทัล ยา เพนิซิลลิน เล้าโลม เพศสัมพันธ์
รูปจำลองมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลจัดแสดงใน หอจัดแสดงต้นกำเนิดมนุษย์ในพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน วอชิงตัน ดี.ซี. (ภาพโดย Tim Evanson)

นีแอนเดอร์ทัล อาจจะสูญพันธุ์ไปนานแล้ว แต่การศึกษาร่องรอยที่เหลืออยู่ของพวกเขาก็ทำให้เราได้ค้นพบอะไรใหม่ ๆ และทำให้เข้าใจพัฒนาการของมนุษย์ยุคปัจจุบันได้มากขึ้นเช่นกัน

อย่างเมื่อไม่นานมานี้ ก็เพิ่งมีงานวิจัยพบว่า มียีนส์ของ นีแอนเดอร์ทัล และ เดนิโซวัน (มนุษย์โบราณอีกสายพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว) อยู่ใน “มนุษย์สมัยใหม่” เหมือนกัน แสดงถึงปฏิสัมพันธ์อันลึกซึ้งของมนุษย์ต่างสายพันธุ์ ซึ่งมีผลทำให้มนุษย์ยุคหลังมีภูมิคุ้มกันและความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น

และในการวิจัยล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ทำการศึกษาซากฟันของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล ซึ่งพวกเขาคงยังไม่รู้จักวิธีการทำความสะอาดฟันเท่าไรนัก จึงมีคราบขี้ฟันหมักหมมเกาะตัวเป็นหินปูนหนาแม้จะผ่านไปนานเป็นหมื่นๆ ปี ก็ยังคงเหลือคราบมาจนถึงปัจจุบัน และทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถวิเคราะห์ได้ว่า มนุษย์โบราณเหล่านี้กินอะไรเป็นอาหาร และมีแบคทีเรียชนิดใดบ้างในช่องปากของพวกเขา

ลอรา เวย์ริช (Laura Weyrich) จาก University of Adelaide ในออสเตรเลีย และคณะ เจ้าของงานวิจัยล่าสุดได้ทำการศึกษาหินปูนจากร่างของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล 3 ราย, 2 รายแรกมีอายุราว 4.8 หมื่นปี มาจากถ้ำ El Sidrón ในสเปน และอีกร่างมีอายุราว 3.9 หมื่นปี มาจากแหล่งโบราณคดีที่ชื่อ Spy ในเบลเยียม

สิ่งที่พวกเขาพบก็คือ มนุษย์นีแอนเดอร์ทัลจากสองแหล่งมีอาหารการกินที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง นีแอนเดอร์ทัลจากเบลเยียมมักจะกินพวกแรดขน (woolly rhinoceros, แรดโบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้ว), แกะ และเห็ด โดยไม่แตะพวกพืชผักเลย ขณะที่นีแอนเดอร์ทัลจากสเปนมักจะกินพวกเปลือกไม้ มอส และเห็ด โดยแทบจะไม่กินเนื้อ

การค้นพบดังกล่าวถือว่าน่าแปลกใจ เพราะจากการค้นพบซากกระดูกที่มีรอยบากของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลใน El Sidrón ก่อนหน้านี้ ผู้เชี่ยวชาญมักจะตีความว่า พวกเขาในถิ่นนี้ “กินพวกเดียวกันเอง” ทำให้ เปาลา วิลลา (Paola Villa) จาก University of Colorado Museum ตีความใหม่ว่า “พวกเขาอาจจะมีอาหารส่วนใหญ่เป็นพืชผัก แต่สิ่งที่ย้อนแย้งก็คือ พวกเขาอาจกลายเป็นอาหารให้กับนีแอนเดอร์ทัลคนอื่นที่มาฆ่าพวกเขานั่นเอง”

แต่ อมันดา เฮนรี (Amanda Henry) จาก Leiden University ในเนเธอร์แลนด์ ยังสงสัยในข้อสรุปเกี่ยวกับอาหารการกินของนีแอนเดอร์ทัลครั้งนี้ โดยมองว่า ลำพังการตรวจสอบดีเอ็นเอจากคราบหินปูนน่าจะไม่พอเพราะองค์ประกอบดีเอ็นเอส่วนใหญ่มาจากแบคทีเรียในช่องปาก ซึ่งมีเพียง “0.3%” เท่านั้นที่มาจากอาหารที่พวกเขากินเข้าไป

นอกจากเรื่องของอาหารแล้ว นักวิจัยยังพบว่า นีแอนเดอร์ทัลอาจจะมีความรู้ทางด้านสมุนไพรด้วยเหมือนกัน เนื่องจากมีการพบดีเอ็นเอของต้น poplar ซึ่งมี salicylic acid สารที่มีสรรพคุณในการระงับอาการปวด ใกล้เคียงกับสารออกฤทธิ์ในแอสไพริน และยังพบดีเอ็นเอของ Penicillium ราซึ่งเป็นที่มาของเพนิซิลินอีกด้วย

แต่ ฮันนาห์ โอ’เรแกน (Hannah O’Regan) จาก University of Nottingham บอกว่า มันคงสรุปได้ยากว่า นีแอนเดอร์ทัลจงใจกินราชนิดดังกล่าวเข้าไปด้วยหวังผลทางยา พวกเขาอาจจะกินเข้าไปโดยไม่ได้ตั้งใจก็ได้ เพราะราชนิดนี้มันก็มักจะขึ้นในพืชผักผลไม้ที่กำลังเน่าเปื่อยเป็นปกติอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี เวย์ริช เจ้าของงานวิจัยล่าสุดบอกว่า พวกเขาพบ Penicillium เฉพาะในช่องปากของนีแอนเดอทัลที่ป่วยด้วยอาการช่องปากอักเสบเท่านั้น (หนึ่งในร่างมนุษย์นีแอนเดอทัลจาก El Sidrón) ส่วนนีแอนเดอร์ทัลคนอื่นๆ ที่สุขภาพดี กลับไม่เจอราชนิดนี้เลย จึงมีความเป็นไปได้ที่พวกเขาอาจจะมีความรู้ว่าการกินธัญพืชบูดจะช่วยให้พวกเขาหายป่วยได้ แต่นั่นเป็นข้อสันนิษฐานที่ยังไม่อาจสรุปได้แน่ชัด

นอกจากนี้ การที่พวกเขาพบดีเอ็นเอของแบคทีเรียในช่องปาก สายพันธุ์ที่เรียกว่า Methanobrevibacter oralis บนคราบหินปูนมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล ซึ่งเมื่อเทียบกับลำดับพันธุกรรมของ M. oralis ในช่องปากมนุษย์สมัยใหม่แล้ว พวกเขาเชื่อว่า แบคทีเรียชนิดนี้ที่พบในช่องปากมนุษย์ทั้งสองสายพันธุ์น่าจะมีต้นสายบรรพบุรุษเดียวกันย้อนไปถึงเมื่อ 1.1-1.4 แสนปีก่อน

“มันเป็นที่เข้าใจกันดีว่าแบคทีเรียถูกแลกเปลี่ยนกันได้เมื่อมนุษย์จูบกัน” เวย์ริชกล่าว มันจึงเป็นไปได้ที่เมื่อราวแสนปีก่อนมนุษย์สมัยใหม่กับนีแอนเดอร์ทัลจะจูบกันระหว่างมีเพศสัมพันธุ์จึงทำให้มีแบคทีเรียชนิดเดียวกันในช่องปาก

ขณะที่ อดัม ซีเปล (Adam Siepel) จาก Cold Spring Harbor Laboratory ในนิวยอร์ก มองว่า โอกาสที่มนุษย์สมัยใหม่กับนีแอนเดอร์ทัลจะแลกเปลี่ยนแบคทีเรียในช่องปากกัน อาจจะไม่ได้มาจากการจูบก็ได้ แต่อาจจะเกิดจากการที่ทั้งสองสายพันธุ์เข้ามาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ต้องใช้แหล่งน้ำร่วมกัน และอาจจะแย่งชิงซากอาหารกันทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนแบคทีเรียในช่องปากระหว่างกัน

แม้จะมีข้อโต้แย้งในทุกๆ ประเด็น แต่นั่นก็ไม่ได้หักล้างข้อสันนิษฐานเดิมของเจ้าของงานวิจัยทั้งหมด เพียงแต่เสนอความเป็นไปได้อื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งก่อนจะหาข้อสรุปที่จะยืนยันข้อสันนิษฐานต่างๆ ได้ นักวิจัยคงต้องมองหาพยานหลักฐานอื่นๆ มาสนับสนุนมากกว่านี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Barras, Colin. “Neanderthals May Have Medicated with Penicillin and Painkillers”. New Scientist (8 Mar 2017) <https://www.newscientist.com/article/2123669-neanderthals-may-have-medicated-with-penicillin-and-painkillers/> Accessed 9 Mar 2017.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มีนาคม 2560 และปรับปรุงเนื้อหาครั้งล่าสุดเมื่อ 18 มีนาคม 2566