“ใบหน้ารูปปั้นจะหลอกหลอน” หญิงไทยเล่าความหลัง ก่อนคืนโบราณวัตถุเขมรของพ่อให้กัมพูชา

ดักลาส แลตช์ฟอร์ด ผู้เชี่ยวชาญ และ นักสะสม โบราณวัตถุเขมร
นายดักลาส แลตช์ฟอร์ด (Douglas A.J. Latchford) [กลาง] จับมือกับ นาย Sok An นักการเมืองกัมพูชา เมื่อ12 มิถุนายน 2009 ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกัมพูชา ในพนมเปญ ภาพจาก TANG CHHIN SOTHY / AFP (ขวา) นายดักลาส แลตช์ฟอร์ด (Douglas A.J. Latchford) [กลาง] กับกลุ่มนักการเมืองกัมพูชา ชมการจัดแสดงโบราณวัตถุ ภาพจาก AFP

เดือนสิงหาคม 2020 (พ.ศ. 2563) ปรากฏข่าวการเสียชีวิตของ ดักลาส แลตช์ฟอร์ด (Douglas A.J. Latchford) ผู้เชี่ยวชาญ โบราณวัตถุเขมร ซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลก รายงานข่าวระบุว่า นายแลตช์ฟอร์ด มอบโบราณวัตถุจำนวนหนึ่งที่อยู่ในการครอบครองของเขาให้กับลูกสาวชาวไทย ซึ่งลูกสาวของเขาตัดสินใจส่งมอบคอลเล็กชั่นที่เคยเป็นของบิดาให้กับทางการกัมพูชา โดยบทสัมภาษณ์ที่สื่อต่างประเทศอ้างอิงคำกล่าวของลูกสาวชาวไทย ซึ่งบอกเล่าความทรงจำในวัยเด็กเมื่อก่อนเข้านอน เธอเอ่ยกับบิดาว่า “(รูปปั้น)พวกมันเดินได้ในตอนกลางคืน”

ดักลาส แลตช์ฟอร์ด มีชื่อเสียงในแวดวงโบราณวัตถุจากบทบาทผู้ศึกษา บันทึกข้อมูล และเก็บสะสมโบราณวัตถุเขมร ที่สำคัญเขาคือผู้ครอบครองคอลเล็กชั่นโบราณวัตถุเขมร อาทิ รูปปั้น และเครื่องประดับโบราณอันทรงคุณค่าจำนวนนับร้อยชิ้น เชื่อกันว่า สิ่งที่เขาครอบครองมีมูลค่ามหาศาล

ชุดโบราณวัตถุเขมรที่นายดักลาสครอบครอง เชื่อกันว่ามีคุณค่าและมูลค่ามากเทียบเท่าคอลเล็กชั่นที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ก็ว่าได้ กระทั่ง เมื่อปี 2019 สื่อต่างประเทศรายงานว่า เขาตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาจากทางการสหรัฐฯ กรณีลักลอบขนส่งโบราณวัตถุกัมพูชาที่ถูกโจรกรรม หลังจากนั้นไม่นาน มีรายงานข่าวว่า แลตช์ฟอร์ด ในวัย 88 ปี เสียชีวิตลงในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2020

รายงานข่าวจาก New York Times อ้างว่า แลตช์ฟอร์ด ครอบครอง โบราณวัตถุเขมร มากกว่าร้อยชิ้น ขณะที่ Phnom Penh Post สื่อของกัมพูชารายงานว่า ก่อนหน้าที่เขาจะตกเป็นข่าวพัวพันในคดี แลตช์ฟอร์ด เริ่มส่งโบราณวัตถุจำนวนหนึ่งกลับไปให้กัมพูชาแล้ว

ภายหลังข่าวการเสียชีวิตเผยแพร่ออกมา สื่อต่างประเทศหลายแห่งรายงาน (เมื่อกุมภาพันธ์ 2564 – กองบรรณาธิการ) โดยระบุชื่อถึง Nawapan Kriangsak ลูกสาวของแลตช์ฟอร์ด ว่า ครอบครัวตัดสินใจยกคอลเล็กชั่นที่ตกทอดมาจากบิดาให้กับทางการกัมพูชา

เมื่อตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ลูกสาวของ ดักลาส แลตช์ฟอร์ด (MR. Douglas Arthur Joseph Latchford) มีชื่อภาษาไทยว่า นางสาวนวพรรณ เกรียงศักดิ์ เคยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายดักลาส แลตช์ฟอร์ด หรือในชื่อที่ปรากฏในเอกสารในภาษาไทยว่า “นายภัคพงษ์ เกรียงศักดิ์” เป็นบุคคลไร้ความสามารถ และให้เป็นผู้อยู่ในความอนุบาลของผู้ร้อง (นางสาวนวพรรณ เกรียงศักดิ์)

เวลาต่อมา ปรากฏเอกสารประกาศศาลเยาวชนและครอบครัวกลางลงวันที่ประกาศเมื่อ 19 มีนาคม 2563 (ค.ศ. 2020) เนื้อหาส่วนหนึ่งอธิบายถึงอาการป่วยของนายดักลาส แลตช์ฟอร์ด ส่งผลให้ผู้ป่วย “ไม่สามารถแสดงเจตนาหรือนิติกรรมใดๆ” เป็นเหตุมาสู่การประกาศให้นายภัคพงษ์ เกรียงศักดิ์ หรือ MR. Douglas Arthur Joseph Latchford เป็นคนไร้ความสามารถ และให้อยู่ในความอนุบาลของนางสาวนวพรรณ เกรียงศักดิ์ ตามคำร้อง

หลายเดือนหลังจากมีประกาศ สื่อต่างประเทศทั้งในสหรัฐฯ และกัมพูชา ต่างเผยแพร่ข่าวการเสียชีวิตของนายดักลาส เมื่อเดือนสิงหาคม 2020

มุมมองจากทางการกัมพูชา กรณี โบราณวัตถุเขมร

เอกสารแถลงการณ์จากกระทรวงวัฒนธรรมและศิลปกรรมแห่งกัมพูชา (Ministry of Culture and Fine Arts) รายงานเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าของการตัดสินใจของครอบครัวแลตช์ฟอร์ด (เมื่อกุมภาพันธ์ 2564 – กองบรรณาธิการ) ซึ่งตัดสินใจส่งโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเขมรมากกว่า 100 ชิ้นให้ทางการกัมพูชา โดยระบุว่าเป็นผลสืบเนื่องจากกระบวนการเจรจาต่อเนื่องกินเวลาร่วม 3 ปี

แถลงการณ์ยังระบุคำกล่าวของ Phoeurng Sackona รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมฯ แห่งกัมพูชา ใจความส่วนหนึ่งเป็นการกล่าวเน้นย้ำถึงภารกิจอย่างหนึ่งของหน่วยงานทางการกัมพูชาในการส่งทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่สาบสูญไปกลับคืนประเทศ เธอกล่าวส่วนหนึ่งว่า

“การได้สิ่งเหล่านี้กลับคืนมา คือชัยชนะที่ยอดเยี่ยมของชาวกัมพูชาและของโลก”

ในแถลงการณ์ยังขอบคุณบุคลากรที่ทำงานร่วมกันกับกระทรวงฯ ในการเจรจาเพื่อให้ได้รับโบราณวัตถุกลับคืน และขอบคุณการทำงานในส่วนนี้จากสำนักงานอัยการในสหรัฐฯ เขต Southern District ของนิวยอร์ก, หน่วยสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security Investigations: HSI) ของสหรัฐฯ และสถานทูตสหรัฐฯ ในพนมเปญ

รายงานข่าวระบุชื่อปัจเจกบุคคลจำนวนหนึ่งที่ทางการกัมพูชาแสดงความขอบคุณจากส่วนร่วมในกระบวนการนี้ รายหนึ่งมีชื่อ นายแบรดลีย์ เจมส์ กอร์ดอน (Bradley James Gordon) ที่ปรึกษาและทนายความจาก Edenbridge Asia ในกัมพูชา เขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Phnom Penh Post ว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้การเจรจายืดระยะเวลาออกไปสืบเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพของนายดักลาส แลตช์ฟอร์ด ขณะเดียวกัน เขายังชื่นชมการตัดสินของนางสาวนวพรรณ ลูกสาวของนายดักลาส ที่มีความหมายอย่างมากต่อกัมพูชา และยังเป็นตัวอย่างให้กับคนทั่วโลก

“เราสนับสนุนให้นักสะสม พิพิธภัณฑ์จากทั่วทุกมุมโลกให้ติดต่อมาหาเราเพื่อพูดคุยถึงมรดกวัฒนธรรมเขมร แลกเปลี่ยนข้อมูล และท้ายที่สุด อยากให้ตัดสินใจในแบบเดียวกันนี้”

รายงานข่าวจาก Phnom Penh Post อธิบายเพิ่มเติมว่า การเจรจาบรรลุผลถึงขั้นเซ็นสัญญาข้อตกลงร่วมกันระหว่างครอบครัวแลตช์ฟอร์ด ลงวันที่ 18 กันยายน 2020 หลังจากนายดักลาส แลตช์ฟอร์ด เสียชีวิตในบ้านพักที่กรุงเทพฯ ไม่ถึงเดือน รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า บ้านพักแห่งนี้ประดับตกแต่งด้วยโบราณวัตถุเขมรจำนวนมาก

รายงานข่าวยังอ้างอิงข้อมูลจากปากคำของรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมฯ แห่งกัมพูชา ว่า โบราณวัตถุชิ้นสำคัญเหล่านี้มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 มาจนถึงยุคหลังพระนคร (Post-Angkor Period) รวมถึงทรัพย์สมบัติของมีค่า (treasures) จากอดีตนครโบราณอย่างเกาะแกร์ (Koh Ker) และพื้นที่เมืองพระนคร (Angkor) เมื่อโบราณวัตถุเดินทางมาถึงกัมพูชา ทางการจะทำบันทึกรายการ จากนั้นจะนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่พนมเปญ

การส่งมอบจะดำเนินไปแบบทยอยส่งเป็นครั้ง ชุดแรกจะประกอบไปด้วยโบราณวัตถุ 5 ชิ้น ได้แก่ รูปปั้นพระศิวะ และ Skanda แกะสลักจากหินจากเกาะแกร์ และรูปแกะสลักบนหัวเรือที่ทำจากบรอนซ์ (bronze)

ปากคำของ “นวพรรณ เกรียงศักดิ์” ในสื่อต่างประเทศ

ในส่วนครอบครัวแลตช์ฟอร์ด ยังปรากฏสื่อต่างประเทศอย่าง New York Times เผยแพร่รายงานข่าวโดยอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของนางสาวนวพรรณ เกรียงศักดิ์ ที่ระบุคำบอกเล่าย้อนหลังความทรงจำเมื่อครั้งวัยเด็กของเธอในที่พักว่า การวิ่งเล่นในที่พักอาศัยอันเต็มไปด้วยโบราณวัตถุเป็นเรื่องต้องห้าม ทุกมุมของอพาร์ตเมนต์ของนายดักลาส ในกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยรูปปั้นเทพแบบเขมรที่มีมูลค่ามากเกินกว่าจะเสี่ยงกับการเล่นของเด็ก

รายงานข่าวระบุคำให้สัมภาษณ์ที่เธอเล่าย้อนไปถึงความทรงจำในวัยเด็กว่า เมื่อเธอจะเข้านอน ใบหน้าอันเศร้าสลดของรูปปั้นจะเป็นภาพที่หลอกหลอนเธอ รายงานข่าวยังเปรยเสริมว่า สิ่งที่เธอจะพูดกับพ่อจะเป็น

“คุณพ่อ, (รูปปั้น) พวกมันเดินได้ในตอนกลางคืน”

นางสาวนวพรรณ ยังให้ข้อมูลกับสำนักข่าวดังอีกว่า คอลเล็กชั่นของบิดาอันมีเอกลักษณ์พิเศษ และมีมูลค่ามาก (รายงานข่าวบอกว่า บางคนประเมินมูลค่าไว้มากกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทนายความของนางสาวนวพรรณ และทางการกัมพูชา ยังประเมินคอลเล็กชั่นไว้ว่า มีมูลค่ามากกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ “หากขายแยกเป็นชิ้น”) เริ่มมีเค้าลางปัญหาในแง่การจัดเก็บและรักษา ดังนั้น เมื่อทางการกัมพูชาน้อมรับอย่างยินดียิ่ง เธอจึงตัดสินใจส่งมอบโบราณวัตถุของบิดาทุกชิ้นกลับคืนกัมพูชา ซึ่งจะทำให้นักวิชาการสามารถศึกษาและจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ในพนมเปญ

ในยุคที่ พล พต (Pol Pot) ผู้นำที่ประวัติศาสตร์โลกจดจำในบทบาทอันโหดร้ายมีอำนาจในกัมพูชา โบราณวัตถุเขมรจำนวนมากหายสาบสูญไปท่ามกลางบรรยากาศของความรุนแรงในช่วงสงครามกลางเมือง

New York Times ระบุว่า นางสาวนวพรรณ ปัจจุบันอายุ 49 ปี ประกอบอาชีพทนายความ เธอปฏิเสธที่จะกล่าวถึงข้อกล่าวหาต่อบิดา แต่เธอมองคอลเล็กชั่นของบิดาจากแง่มุมเชิงความเคารพนับถือ มากกว่าเป็นเชิงความละโมบ

“ไม่ว่าใครจะกล่าวถึงหรือกล่าวหาคุณพ่อไว้อย่างไร คุณพ่อเริ่มต้นเก็บของในยุคสมัยที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และโลกของท่านก็เปลี่ยนไป”

“ฉันต้องมองโลกจากมุมมองของครอบครัวของฉันในวันนี้ ฉันอยากเห็นทุกสิ่งที่ดักลาส เก็บไว้ ถูกรักษาในที่ที่คนทั่วโลกสามารถสัมผัสและเข้าใจมันได้ ไม่มีที่อื่นซึ่งดีไปกว่ากัมพูชา ที่ซึ่งผู้คนเคารพบูชาวัตถุเหล่านี้ไม่ใช่แต่เพื่อศิลปะและประวัติศาสตร์ของพวกเขา แต่เพื่อความสำคัญเชิงศาสนาของพวกเขาด้วย”

New York Times ระบุรายละเอียดเพิ่มเติมว่า จนถึงช่วงที่รายงานข่าวเผยแพร่ (เมื่อปลายมกราคม 2021) โบราณวัตถุสำคัญราว 25 ชิ้นที่ประกอบไปด้วยวัตถุอายุเก่าแก่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 ถูกส่งออกจากกรุงเทพฯ ไปที่พนมเปญ โบราณวัตถุเขมร อีกกว่า 100 ชิ้นจะทยอยส่งไปกัมพูชาในเดือนต่อๆ ไป โดยจะส่งมาจากทั้งในกรุงเทพฯ และบ้านอีกหลังของนายดักลาส แลตช์ฟอร์ด ในลอนดอน

บทบาท ดักลาส แลตช์ฟอร์ด

นอกเหนือจากเรื่องโบราณวัตถุที่นายดักลาส ครอบครองแล้ว เขายังมีชื่อเสียงในฐานะผู้เชี่ยวชาญโบราณวัตถุเขมรแถวหน้าของโลก เขาบันทึกภาพวัตถุโบราณในการครอบครองของเขาและรวบรวมออกมาเผยแพร่เป็นหนังสือ อาทิ Adoration and Glory: The Golden Age of Khmer Art (2003), Khmer Gold: Gifts for the Gods (2008) และ Khmer Bronzes: New Interpretations of the Past (2011)

แม้จะตกเป็นข่าวถูกทางการสหรัฐฯ ตั้งข้อกล่าวหา กลับกัน ฝั่งทางการกัมพูชาไม่เคยกล่าวหาหรือดำเนินการทางกฎหมายกับนายดักลาส ทางการกัมพูชามีท่าทียินดีและให้เกียรติกับนายดักลาส ทุกครั้งที่เขาบริจาคโบราณวัตถุหลายครั้งในรอบหลายปี

นายดักลาส ยังไม่เพียงบริจาคให้กับทางการกัมพูชา เขายังมอบของขวัญให้พิพิธภัณฑ์อเมริกันหลายแห่งและไม่เคยถูกตั้งข้อหาใดๆ พิพิธภัณฑ์ที่เขามอบสิ่งของให้รวมถึงพิพิธภัณฑ์ Metropolitan Museum of Art ในนิวยอร์ก ซึ่งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เคยส่งมอบสิ่งของชิ้นสำคัญกลับคืนให้เขมรเมื่อปี 2012 ภายหลังจากตรวจสอบพบว่า วัตถุทั้งสองชิ้นถูกโจรกรรมมา

ที่ผ่านมา นายดักลาส ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ทางการสหรัฐฯ ดำเนินการกับเขา และย้ำจุดยืนว่า เขากอบกู้โบราณวัตถุมีค่าที่อาจถูกทำลายไปหรือถูกกลบฝังในป่าโดยไม่มีใครรับรู้

นายดักลาส เคยให้สัมภาษณ์กับ New York Times ระหว่างปี 2012-2017 เขาอธิบายที่มาของโบราณวัตถุซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นเทพฮินดูหรือพุทธโบราณ เช่น พระศิวะ และ พระวิษณุ ว่า ซื้อมาจากดีลเลอร์หลายเจ้าในไทยเป็นส่วนใหญ่ โดยซื้อตั้งแต่ยุคที่ใบอนุญาตการส่งออก เอกสารพิสูจน์ทางกฎหมาย และเอกสารชนิดอื่นๆ ยังถูกมองข้ามอยู่

กระบวนการทางกฎหมายสิ้นสุดลงเมื่อนายดักลาส เสียชีวิตเมื่อเดือนสิงหาคม 2020 ระหว่างการดำเนินคดีทางกฎหมาย เขาไม่เคยถูกส่งมอบตัวใดๆ

ดักลาส แลตช์ฟอร์ด เกิดที่มุมไบ ประเทศอินเดีย เมื่อ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1931 ในครอบครัวที่มาจากสายนายธนาคาร เวลานั้นอินเดียยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ นายดักลาส จึงเป็นพลเมืองบริติช ศึกษาที่วิทยาลัยไบรห์ตัน ก่อนเดินทางกลับอินเดียก่อนหน้าได้รับเอกราช

นายดักลาส เริ่มประกอบอาชีพจากสายงานด้านซื้อขายเวชภัณฑ์ในมุมไบ ขยายไปที่สิงคโปร์ และกรุงเทพฯ ในปี 1956 รายงานข่าวจาก New York Times ระบุว่า ด้วยเอกลักษณ์และเสน่ห์ของวัดและศาสนสถาน ร่วมกับวิถีชีวิตยามราตรีอันน่าตื่นตาตื่นใจ ประกอบกับธรรมชาติที่ยังไม่ด่างพร้อย ทำให้เขาตั้งรกรากที่นี่

ภายหลังจากนั้น นายดักลาส ก่อตั้งบริษัทเองในปี 1963 ธุรกิจของเขาเจริญก้าวหน้าสืบเนื่องมาจากข้อตกลงทางธุรกิจกับผู้ผลิตในยุโรป นายดักลาส ยังลงทุนในด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และประสบความสำเร็จอย่างดี

ด้านชีวิตส่วนตัว เขาสมรสกับสตรีชาวไทย และนายดักลาสใช้ชื่อภาษาไทยว่า ภัคพงษ์ เกรียงศักดิ์ (Pakpong Kriangsak) เขาได้สัญชาติไทยในปี 1968

UPDATE : แก้ไขเนื้อหาในส่วนชื่อ Pakpong เป็นชื่อภาษาไทยของนายดักลาส ไม่ใช่ชื่อสตรีชาวไทยที่เขาสมรส

ในส่วนความสนใจเกี่ยวกับศิลปะ รายงานข่าวอธิบายว่า เป็นนักค้าของโบราณชนชั้นสูงจากเบลเยียมชื่อ Baron François Duhau de Berenx ชักจูงให้เขาสนใจด้านศิลปะเขมร เริ่มเข้าร้านขายของเก่าในย่านชุมชนจีน สำรวจตลาดกลางแจ้งที่มักเป็นแหล่งซื้อหาของโบราณจากเขมรในราคาถูก ในบรรดาพรรคพวกนักสะสมที่เขารู้จักด้วย หนึ่งในนั้นมีชื่อ จิม ธอมป์สัน (Jim Thompson) พ่อค้าไหมชาวอเมริกันซึ่งบางแห่งเชื่อกันว่า จิม ธอมป์สัน ทำงานเกี่ยวกับข่าวกรองด้วย และหายตัวไปในมาเลเซียเมื่อปี 1967

ด้วยความสนใจในด้านนี้ เขาเริ่มแลกเปลี่ยนวัตถุทางศิลปะเขมรเพื่อขยายของสะสมของเขากับพ่อค้าทั้งในท้องถิ่นและต่างชาติ ช่วงเวลานั้นเขาเคยทำงานร่วมกับที่ปรึกษาการวิจัยจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเดนเวอร์ (Denver Art Museum) จับมือกันรวบรวมข้อมูลเป็นหนังสือเกี่ยวกับโบราณวัตถุเขมร 3 เล่มดังที่เอ่ยถึงข้างต้นซึ่งจะกลายเป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงสำหรับผู้เชี่ยวชาญในเวลาต่อมา

ในการให้สัมภาษณ์กับ The Times เขาตอบคำถามเกี่ยวกับที่มาของข้อมูลเกี่ยวกับโบราณวัตถุแต่ละชิ้นว่า เมื่อเขาจะซื้อของโบราณสักชิ้นก็มักหาข้อมูลเชิงลึก เพราะเขาไม่ต้องการซื้อของที่ถูกขโมยมาหรือของซึ่งมีที่มาไม่ชัดเจน

เขาเคยให้สัมภาษณ์กับ Bangkok Post เมื่อปี 2010 เล่าถึงที่มาของวัตถุโบราณที่เขามักพบในช่วงหลายปีมานี้มักมาจากการขุดค้น เขายกตัวอย่างทำนองว่า ชาวนาหรือเกษตรกรในท้องทุ่งที่ขุดพบบางอย่างมักคิดว่า ถ้าเขาเอาของที่พบเข้าไปกรุงเทพฯ หรือสิงคโปร์ หรือคนกลาง อาจทำเงินได้สัก 100 ดอลลาร์สหรัฐ ไม่ใช่แค่ 10 ดอลลาร์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Niem Chheng, “Ancient statues to be returned to Kingdom”. The Phnom Penh Post. Online. Published 1 FEB 2021. Access 2 FEB 2021. <https://www.phnompenhpost.com/national/ancient-statues-be-returned-kingdom>

Tom Mashberg. “With a Gift of Art, a Daughter Honors, if Not Absolves, Her Father”. New York Times. Online. Published 29 JAN 2021. Access 2 FEB 2021. <https://www.nytimes.com/2021/01/29/arts/design/cambodia-artifacts-douglas-latchford.html>

____________. “Douglas A.J. Latchford, Khmer Antiquities Expert, Dies at 88”. New York Times. Online. Published 27 AUG 2020. Access 2 FEB 2021. <https://www.nytimes.com/2020/08/27/arts/douglas-aj-latchford-khmer-antiquities-expert-dies-at-88.html>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2564