พช.ร้อยเอ็ด Change for Good : องค์กรคุณธรรม น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติจนเป็นวิถี

วันนี้ (25 มิถุนายน 2563) เวลา 09.00 น. นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานในพิธีเปิดการประกวดผ้า “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ณ ห้องประชุมไทรทอง โรงเรียนสตรีศึกษาร้อยเอ็ด อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด

โดยมี นางนงรัตน์ คงเกษม ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดร้อยเอ็ด  นายชำนาญ ชื่นตา รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นายเจนเจตน์ เจนนาวิน ปลัดจังหวัดร้อยเอ็ด นายสนอง ดลประสิทธิ์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดร้อยเอ็ด หัวหน้าส่วนราชการ พัฒนาการอำเภอ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน และภาคเอกชนเข้าร่วมกิจกรรมฯ

ในการนี้นางนวลจันทร์ ศรีมงคล พัฒนาการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวรายงานความเป็นมาของโครงการประกวดผ้าฯ

กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ตามโครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน และจังหวัดร้อยเอ็ดได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2562 โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1. เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยการอนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าไทยศิลปะอันล้ำค่าของชาติให้ดำรงคงอยู่ปรากฏเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และเป็นความชื่นชมของชาวโลก

2. เพื่อเชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์ให้เกิดกระแสความนิยมการแต่งกายผ้าไทยแก่ประชาชนทั่วประเทศ โดยเน้นในกลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้าง หน่วยงานของรัฐ เอกชน ให้ใช้ผ้าไทยอย่างต่อเนื่อง

3. เพื่อสืบสาน อนุรักษ์ ผ้าท้องถิ่นให้คงคู่อยู่ในแผ่นดินสืบไป และยังสนับสนุน ส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพ และเสริมสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับกลุ่มสตรีในท้องที่ ท้องถิ่น เพิ่มรายได้ให้แก่กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จังหวัดร้อยเอ็ด โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดร้อยเอ็ด ได้กำหนดจัดกิจกรรมในการประกวดผ้า “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” มีกิจกรรมประกอบด้วย

1) การประกวดผ้าไหมอัตลักษณ์ จังหวัดร้อยเอ็ด ประเภทผ้าไหมลายสาเกตและผ้าไหมมัดหมี่

2) การจัดนิทรรศการผ้าเอกลักษณ์ ผ้าโบราณ ผ้าประจำจังหวัดร้อยเอ็ด

3) การจัดแสดงและจำหน่ายผ้าไหม

4) การเดินแบบผ้าไทย โดยบุคคลผู้มีชื่อเสียงของจังหวัดร้อยเอ็ด

5) การไลฟ์สด การประกวดผ้าสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน