นักวิจัยชี้ คนมีอาการ “ออทิสติก” ในยุคโบราณมีส่วนสำคัญต่อวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์

ภาพเขียนผนังถ้ำโบราณอาจเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงลักษณะพิเศษของผู้มีอาการออทิสติกบางกลุ่มซึ่งมักให้ความสนใจกับรายละเอียดเล็กๆ และมีความทรงจำเป็นเลิศ (ภาพจาก University of York)

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยยอร์กในอังกฤษชี้ เมื่อราวแสนปีก่อน สังคมบุพกาลได้เลิกทอดทิ้งคนที่มีอาการออทิสติก (ผู้มีอาการผิดปกติในด้านพัฒนาการทางระบบประสาท ทำให้มีปัญหาในด้านการมีปฏิสัมพันธ์และการสื่อสาร) และหันมาให้ความสำคัญและยอมรับในความสามารถเฉพาะตัวอันโดดเด่นของพวกเขา ซึ่งมีส่วนสำคัญในการวิวัฒนาการของมนุษย์

รายงานของ ZME SCIENCE กล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่พัฒนาสิ่งต่างๆ ขึ้นมาได้โดยอาศัยความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของคนในสังคม ซึ่งทัศนคติของการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มที่เรียกว่า “collaborative morality” หรือจริยธรรมแห่งความร่วมมือของมนุษย์ อันเป็นผลมาจากจุดเปลี่ยนเล็กๆ ทางวิวัฒนาการที่เพิ่งปรากฏขึ้นเมื่อราว 100,000 ปีก่อน ซึ่งมุมมองของมนุษย์ได้เปลี่ยนจากการให้ความสำคัญต่อลักษณะเฉพาะของตัวบุคคล ไปสู่การให้ความสำคัญต่อความสามารถ ทักษะ และคุณค่าของตัวบุคคลที่มีต่อกลุ่มก้อนนั้นๆ

และจริยธรรมแห่งความร่วมมือของมนุษย์ก็ช่วยเปิดทางให้กับผู้มีอาการออทิสติก ซึ่งมีความสามารถพิเศษอันเป็นประโยชน์ต่อการเอาตัวรอดของมนุษย์ในยุคโบราณ

“เราพยายามอธิบายว่า ความสำเร็จในการวิวัฒนาการนั้น ความหลากหลาย และความแตกต่างระหว่างผู้คนน่าจะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญกว่าเรื่องลักษณะเฉพาะของตัวบุคคลแต่ละคน” เพนนี สปิกินส์ (Penny Spikins) อาจารย์ด้านโบราณคดีว่าด้วยต้นกำเนิดของมนุษย์แห่งมหาวิทยาลัยยอร์กและหัวหน้าคณะวิจัย กล่าว

และนักวิจัยเชื่อว่า ทักษะความสามารถบางอย่างของผู้มีอาการออทิสติก จะมีประโยชน์อย่างมากกับมนุษย์ในสังคมแบบล่าสัตว์เก็บของป่า เพราะว่าพวกเขามีความจำเป็นเลิศ มีทัศวิสัยที่สามารถเก็บรายละเอียดจากสิ่งที่เห็นได้อย่างน่าทึ่ง รวมถึงความสามารถในการสัมผัสรส และกลิ่น และการเข้าใจธรรมชาติอย่างพฤติกรรมสัตว์ได้มากกว่ามนุษย์ปกติ

ในงานวิจัยชิ้นนึงเมื่อปี 2005 เป็นตัวอย่างที่เทียบเคียงได้กับสังคมยุคเก่า โดยพวกเขาได้ทำการศึกษาชีวิตของชายชราคนหนึ่งที่เลี้ยงฝูงกวางเรนเดียร์เพื่อเลี้ยงชีพในเขตไซบีเรีย เขามีอาการออทิสติกแต่มีความสามารถพิเศษที่สามารถจดจำรายละเอียดของกวางกว่า 2,600 ตัวได้ว่า กวางแต่ละตัวเป็นลูกของกวางตัวไหน และยังจำประวัติเกี่ยวกับอาการป่วยของพวกมันได้อย่างแม่นยำ

ซึ่งเป็นความสามารถที่มีความสำคัญต่อการจัดการฝูงและการอยู่รอดของพวกมันอย่างมาก และแม้ว่าเขาจะรักที่อยู่กับฝูงกวางมากกว่าครอบครัว แต่เขาก็ได้รับความเคารพอย่างสูงจากลูกเมีย และหลานๆ นักวิจัยจึงเชื่อว่า คนที่มีอาการออทิสติกในยุคบรรพกาลที่เริ่มมีการรวมกลุ่มก็น่าจะได้รับการปฏิบัติลักษณะใกล้เคียงกัน

แต่การหาหลักฐานทางโบราณคดีที่จะช่วยยืนยันทฤษฎีดังกล่าวเป็นเรื่องยาก เพราะโครงกระดูกโบราณไม่สามารถบอกถึงการมีอยู่ของอาการออทิสติกได้

อย่างไรก็ดี เบาะแสการมีอยู่ของคนที่มีอาการออทิสติกในสังคมมนุษย์โบราณอาจปรากฏอยู่ในภาพเขียนผนังถ้ำโบราณ รวมถึงประติมากรรมโบราณอื่นๆ ซึ่งแม้จะยืนยันไม่ได้อย่างชัดเจน แต่งานบางชิ้นก็พอจะพบเห็นลักษณะที่มักปรากฏอยู่ในกลุ่มผู้มีอาการออทิสติก

อ้างอิง:

  1. “Autism and human evolutionary success”. University of York.  <https://www.york.ac.uk/news-and-events/news/2016/research/autism-human-evolution/>

  2. “About 100,000 years ago, people with autism were championed, not shunned, and may even have shaped human evolution”. ZME SCIENCE. <http://www.zmescience.com/science/anthropology/autism-stone-age-evolution/>


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ : 24 พฤศจิกายน 2559