เผยแพร่ |
---|
การเดินทางเพื่อเรียนรู้ภูมิประเทศที่สัมพันธ์กับเรื่องเล่าที่เรียกว่านิทานท้องถิ่นและบางเรื่องก็ถือได้ว่าเป็น “ตำนาน” หรือ Myth ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมและประเพณีท้องถิ่น ตามปกติ ตำนานและนิทานท้องถิ่นในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สะท้อนการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จะแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
ตำนานน้ำเต้าปุง หรือตำนานกำเนิดมนุษย์ที่แพร่หลานแถบลุ่มน้ำโขง
ตำนานท้าวฮุ่ง ขุนเจือง ที่สะท้อนความขัดแย้งของกลุ่มชนต่างๆ แต่ท้ายสุดสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยมีความรู้สึกยกย่องผู้นำที่เป็นวีรบุรุษร่วมกันคือ ขุนเจือง
และกลุ่มคนที่อยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นนิทานเกี่ยวกับพระเจ้าอู่ทองตาม่องล่ายและเรื่องราวเกี่ยวกับการค้าเรือสำเภาและการเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวต่างชาติจากลุ่มเจ้าพระยาไปจนถึงทางคาบสมุทรภาคใต้
นิทานพื้นบ้านในกลุ่มหลังสุดนี้ คือตำนานการตั้งถิ่นฐานของผู้คนที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล หลายท่านคงเคยได้ยินเกี่ยวกับพ่อค้าที่เรียกว่าเจ้าอู่หรือท้าวอู่ทองและการค้าขายของชาวจีนที่มากับเรือสำเภาและมีความสัมพันธ์กับชนพื้นเดิม ซึ่งดั้งเดิมแล้ว คงเป็นการบอกเล่าแบบมุขปาฐะส่งต่อกันมาแล้วจึงบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลัง เช่นเรื่อง พระเจ้าอู่ทอง, พระเจ้าสายน้ำผึ้ง, เจ้าลาย ตาม่องไล่ และเจ้ากรุงจีน, นางนงประจัน, นางรุมสายสก ฯลฯ ซึ่งปรากฎทั้งแถบบ้านเมืองชายฝั่งทะเลจากชายฝั่งกัมพูชา รอบอ่าวไทย ไปจนถึงปะทิว ส่วนภาคพื้นภายในก็เข้ามาจนถึงแถบลพบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท และสุพรรณบุรี
ข้อสังเกตที่ได้จากเนื้อหาดังกล่าว สรุปได้ว่า เป็นกลุ่มตำนานหรือเรื่องเล่าที่สะท้อนว่า มีความแตกต่างระหว่างตำนานกำเนิดมนุษย์ที่อยู่ลึกเข้ามาภายในแผ่นดิน นอกจากเรื่อง “มหาเภตรา” ที่แสดงถึงบูรณาการกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในเขตเพชรบุรี แต่ก็แสดงออกทางนัยะถึงคำถามและคำตอบเกี่ยวกับการหาแหล่งที่มาของผู้คนในท้องถิ่นที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณใกล้ชายฝั่งทะเลของอ่าวไทยว่า บรรพบุรุษของตนเคลื่อนย้ายมากับเรือสำเภา เป็นคนกลุ่มใหม่ที่มาจาก “จีน” มีหัวหน้าหรือผู้นำที่มีเชื้อสาย “เจ้า” ที่มีความสามารถแต่ต้องพลัดบ้านพลัดเมืองมาหรือไม่ก็เป็นพ่อค้าสำเภาร่ำรวย เป็นเหตุผลที่ทำให้ได้รับการยอมรับนับถือจากผู้นำชาวพื้นเมือง และในบางสำนวน ชาวจีนโพ้นทะเลนี้ได้กลายมาเป็นปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรใหญ่ในเวลาต่อมา คือ กรุงศรีอยุธยา ความสัมพันธ์อีกอย่างหนึ่งคือ การแต่งงานระหว่างกษัตริย์พื้นเมืองและธิดากษัตริย์จีนซึ่งเป็นลักษณะการผนวกความสัมพันธ์ระหว่างของบ้านเมืองต่างๆ ในแถบนี้
ความคิดที่ปรากฏในตำนานให้คุณค่าของมนุษย์ที่วัตถุ ลักษณะของผู้นำมีความเก่งกล้า แต่ฉลาดแกมโกง ไม่ยึดถือคุณธรรมความซื่อสัตย์ อันเป็นลักษณะของวัฒนธรรมพ่อค้ามากกว่าที่จะเป็นผู้นำแบบนักรบหรือผู้นำทางจิตวิญญาณตามแบบขนบทางแผ่นดินภายใน
การกระจายของนิทานท้องถิ่นในโครงเรื่องแบบการแข่งขันยกขันหมากทางเรือสำเภาของเจ้ากรุงจีนและชายชาวพื้นเมือง จนเกิดรบกันจนขบวนขันหมากกลายเป็นเกาะและภูเขาต่างๆ เป็นเรื่องที่แพร่หลายที่สุด
ตำนานเกี่ยวกับวีรบุรุษทางวัฒนธรรม (Culture hero) จัดเอากลุ่มเรื่องเจ้าอู่หรือท้าวอู่ทองเป็นผู้นำคนสำคัญ ส่วนผู้นำทางวัฒนธรรมเฉพาะท้องถิ่นหรือชุมชนได้แก่ ตำนานคุณปู่ศรีราชา และทั้งสองเรื่องเริ่มต้นจากเป็นพ่อค้าจีนหรือนักผจญภัยที่มากับเรือสำเภา จากเนื้อเรื่องของตำนานพระเจ้าอู่ทองหรือท้าวอู่ทอง ก็จะกำหนดเวลาได้กว้างๆ ว่า อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 อันเป็นช่วงเวลาของการรวบรวมแว่นแคว้นในเขตลุ่มเจ้าพระยาก่อนเกิดศูนย์กลางการปกครองที่กรุงศรีอยุธยา ในช่วงที่มีการค้าทางทะเลของจีนรุ่งเรืองถึงขีดสุดในช่วงสมัยราชวงศ์ซ่งและการเปลี่ยนแปลงในเมืองจีนเมื่อเป็นราชวงศ์หยวนที่น่าจะส่งผลให้เกิดการเดินทางค้าขายของชาวจีนใต้และการอพยพอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ช่วงเวลานั้น
ตำนานคือเครื่องสะท้อนการอธิบายภูมิวัฒนธรรมและเส้นทางการเดินเรือเลียบชายฝั่งสมัยโบราณ
Herbert Warrington Smyth ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญชาวอังกฤษด้านธรณีวิทยาและต่อมาเป็นเจ้ากรมเหมืองแร่คนแรกของสยาม สังเคราะห์ข้อมูล “เส้นทางการค้าสายเก่า” เมื่อเดินทางสำรวจแร่และข้อมูลทางธรณีวิทยาตามแนวพื้นที่คาบสมุทรทั้งทางฝั่งอันดามันและอ่าวสยาม ในช่วงฤดูฝน พ.ศ. 2439 นักวิทยาศาสตร์กล่าวถึงการอธิบายของชาวสยามเกี่ยวกับทั้งสองแห่งมีเทือกเขาโดดเด่นเป็นจุดสังเกตได้ง่าย เรียกว่าภูมิประเทศแบบคาสต์ (Karst Topography) ที่เป็นจุดหมายตามชายฝั่งบริเวณอ่าวไทยหลายๆ แห่ง คือ เขาเจ้าลาย สามร้อยยอด เกาะหลัก (อ่าวประจวบ) แหลมช่องพระ (ปะทิว ชุมพร) ซึ่งชาวเรือให้ความหมายเพื่อจดจำจุดสังเกตหรือ Landmark แต่ละแห่งด้วยการเล่านิทานเรื่องตาบ้องล่าย ยายรำพึง นางยมโดย เจ้าลาย และเจ้ากรุงจีนอย่างนึกขำ
แต่สิ่งเหล่านี้คือการอธิบายแบบชาวตะวันออกและสะท้อนทั้งโลกทัศน์รวมไปถึงภูมิวัฒนธรรมที่คนท้องถิ่นต้องการจดจำและเป็นหมายสำหรับการเดินทาง โดยวิธีการของการเดินเรือเลียบชายฝั่งในบริเวณอ่าวไทยตอนในค่อนข้างมีแบบแผนลงตัว คือ หากไม่ใช่เรือท้องถิ่นหรือมีวัตถุประสงค์จะเดินทางสู่ปากน้ำแม่กลองหรือปากน้ำท่าจีนโดยตรงแล้วก็ไม่นิยมเลียบอ่าวโคลนด้านตะวันตกที่เป็นชะวากเว้าเข้าด้านใน เพราะพื้นน้ำเต็มไปด้วยโคลนตมจากการสะสมของตะกอนแม่น้ำจำนวนมากที่ไหลผ่านภูเขาและพื้นที่สูงของภูมิภาคตะวันตก
ดังนั้น เมื่อเดินทางจากปากน้ำเจ้าพระยาออกทะเลจะตัดตรงทางตะวันออกไปพักที่เกาะสีชัง เกาะส้ม เกาะคราม หรือเกาะไผ่ ทางฝั่งตะวันออก แล้วชักใบแล่นตัดข้ามอ่าวจุดหมายที่ “เขาเจ้าลาย” บริเวณชายฝั่งชะอำ หรือต่ำลงมาแถวเขาสามร้อยยอดแถบเมืองกุย ทั้งสองแห่งมีเทือกเขาโดดเด่นเป็นจุดสังเกตได้ง่าย หลังจากนั้นจึงเดินเรือเลียบชายฝั่งลงใต้ต่อไป หรือหากต้องการไปทางอ่าวตังเกี๋ยเลียบชายฝั่งสู่เวียดนามและจีนตอนใต้ ก็จะเดินเรือสลับในอ่าว จากปากน้ำไปที่เกาะสีชังแล้วข้ามอ่าวมาที่สามร้อยยอดหรือเมืองกุยเช่นเดียวกัน แต่จากนั้นจึงชักใบเรือข้ามอ่าวมุ่งไปทางตะวันออกเฉียงใต้มีที่หมายตรงเกาะปลายแหลมญวนในปัจจุบัน
ในทางกลับกันหากเดินเรือเลียบชายฝั่งมาจากทางคาบสมุทรมลายูจะแวะเติมน้ำจืดหรือหลบลมที่สามร้อยยอดปากน้ำกุยบุรีเลียบชายฝั่งผ่านเขาเจ้าลายจนถึงแหลมหลวงหรือแหลมผักเบี้ย จากบริเวณนี้จะแล่นห่างฝั่งโคลนตัดตรงไปปากน้ำเจ้าพระยา หรือหากไม่เข้ากรุงศรีอยุธยาหรือกรุงเทพฯ
คนท้องถิ่นหรือคณะนักเดินทางทั้งที่เป็นคณะราชทูตในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงเทพฯ เมื่อเดินเรือข้ามอ่าวจากชายฝั่งอินเดียมาแล้วจะมาขึ้นฝั่งที่มะริด และข้ามคาบสมุทรมายังเมืองเพชรบุรี ก่อนจะผ่านเส้นทางน้ำภายในแถบเขายี่สารมาออกแม่กลองโดยใช้คลองหมาหอนออกท่าจีนแล้วใช้คลองด่านเดินทางสู่กรุงศรีอยุธยาหรือกรุงเทพฯ ต่อไป
เพชรบุรี / เขาเจ้าลาย / ชุมชนในเส้นทางค้าทางทะเลตั้งแต่สมัยทวารวดีที่ยังไม่คุ้นเคย
นอกจากก่อนหน้าการปรากฏเป็นเมืองท่าภายในระดับนครในพุทธศตวรรษที่ 18 บริเวณจังหวัดเพชรบุรีมีพัฒนาการที่ไม่แตกต่างไปจากพัฒนาการในลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลองแต่อย่างใด เพราะพบว่ามีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ช่วงยุคเหล็กตอนปลาย ในบริเวณเขตแนวเขาต่อกับที่ราบตอนต้นของลำน้ำเพชรบุรี เส้นทางเหล่านี้มีการเดินทางข้ามคาบสมุทรมาตั้งแต่ยุคนั้นและมีการอยู่อาศัยสืบต่อมาในสมัยทวารวดีด้วย
บริเวณลุ่มน้ำแม่กลองมีเมืองท่าสมัยทวารวดีแห่งสำคัญอยู่ที่เมืองคูบัวและมีชุมชนร่วมสมัยในเขตเพชรบุรีหลายแห่ง สำรวจทางโบราณคดีพบว่า มีชุมชนสมัยทวารวดีเล็กๆ ที่น่าจะเป็นชุมชนระดับหมู่บ้าน โดยมากอยู่ใกล้แนวสันทรายเดิมที่เรียกว่า ถนนท้าวอู่ทอง ที่เริ่มจากเมืองคูบัวตรงมาจนเกือบถึงเมืองเพชรบุรี และพบต่อเนื่องมาเป็นระยะ และพบโกลนพระแบบทวารวดีจำนวนหนึ่งแถบริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี รวมถึงพระปูนปั้นลงสีแดงแบบมหายานในถ้ำที่บ้านลาด ปลายทางใต้สุดที่พบอิทธิพลวัฒนธรรมทวารวดีแบบภาคกลาง เป็นชุมชนขนาดใหญ่บริเวณเทือกเขาเจ้าลายใกล้ชายฝั่งทะเลในเขตอำเภอชะอำที่เป็นจุดหมายตาในการเดินเรือเลียบชายฝั่ง
ชุมชนทวารวดีบริเวณจังหวัดเพชรบุรีเหล่านี้ ไม่ได้มีการรวมตัวจนกลายเป็นเมืองแต่อย่างใด เพราะหลายแห่งเป็นเพียงแหล่งผลิตประติมากรรมรูปเคารพ และสิ่งของต่างๆ ที่ทำจากหิน เช่น เสมาธรรมจักร กวางหมอบ พระพุทธรูป แท่นหิน ที่บด ที่เขาเจ้าลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ในระดับสถานีการค้า ซึ่งมีความสำคัญต่อการเดินเรือเลียบชายฝั่งและการเดินทางข้ามคาบสมุทร อันเป็นพยานแน่ชัดว่า ความรู้เกี่ยวกับการเดินเรือเลียบชายฝั่งหรือการเดินทางข้ามคาบสมุทรมีอยู่เป็นอย่างดีตั้งแต่สมัยทวารวดีแล้ว
เชิงเขาเจ้าลายบริเวณที่เรียกกันว่าทุ่งเศรษฐี ปรากฏศาสนสถานเป็นเจดีย์รูปแบบเดียวกับที่พบในเมืองคูบัวและเมืองทวารวดีร่วมสมัยหลายแห่งในภาคกลาง หลังการขุดแต่งทางโบราณคดีแล้วพบว่ามีฐานขนาดใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่ละด้านราว 20 เมตร ก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่และประดับลายปูนปั้นมีทั้งที่เป็นลวดลาย และพระพุทธรูป เทวดา สัตว์ในคติจักรวาล เช่นเดียวกับความนิยมสร้างรูปแบบเจดีย์ในสมัยนี้
นอกจากนี้ ยังพบศาสนสถานบริเวณยอดเขาเทือกเดียวกับเขาเจ้าลาย และภายในถ้ำของภูเขาที่อยู่ใกล้เคียง ส่วนพื้นที่การอยู่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับเจดีย์ใหญ่ มีเนินดินที่เป็นร่องรอยของการอยู่อาศัยไม่ต่ำกว่า 8-10 ไร่ แต่ส่วนใหญ่ถูกไถทำลายไปจนเกือบหมด
สถานที่นี้มีความสำคัญต่อเมืองคูบัว ในฐานะเป็นสถานีการค้าอันเป็นจุดสังเกตของการเดินเรือเลียบชายฝั่งอันมีรูปแบบที่แน่นอน ในฐานะเป็นจุดพักของการเดินทางบกข้ามคาบสมุทรจากเมืองคูบัวผ่านเทือกเขาตะนาวศรีสู่เมืองท่าทางฝั่งอ่าวเบงกอล
แหล่งชุมชนสมัยทวารวดีที่เชิงเขาเจ้าลาย จึงเพิ่มมิติของเครือข่ายสนับสนุนต่อการเป็นเมืองท่าสำคัญของเมืองคูบัวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น หลังจากสมัยทวารวดีผ่านไป ฐานะการเป็นเมืองท่าภายในของเมืองคูบัวก็เปลี่ยนศูนย์กลางไปอยู่ที่เมืองราชบุรี ในระยะเดียวกันก็เกิดเมืองเพชรบุรีในราวพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นเมืองท่าภายในศูนย์กลางการคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำ ทั้งเป็นแหล่งรวบรวมทรัพยากรที่สำคัญ เช่น เกลือ ไม้หอม ไม้ฝาง สะดวกและเหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองในช่วงเวลานั้นกว่าชุมชนสถานีการค้าที่ชะอำ บริเวณเทือกเขาเจ้าลายที่ชะอำมีความสำคัญต่อการเดินเรือเลียบชายฝั่ง และนครเพชรบุรีคือศูนย์กลางการคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำมีความสำคัญต่อการเดินทางข้ามคาบสมุทร
ผู้แนะนำการเดินทาง
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
สำหรับท่านที่สนใจท่องเพชรบุรีตามรอยตำนาน ขอเชิญชวนร่วมการเดินทาง “เที่ยวตามตำนาน เพชรบุรีที่ยังไม่เคยเห็น มหาเภตรา-เจ้าลาย-ตาม่องไล่-เจ้ากรุงจีน” สยามเทศะโดยมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
รายการเดินทาง
วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม 2562
7.30 น. ออกเดินทางจากกรุงเทพมหานคร นัดพบที่ปั๊มน้ำมันประจวบคีรีขันธ์ปิโตรเลี่ยม สาขาตลิ่งชัน
https://goo.gl/maps/idUxBrULBoZDP4Sq9
9.00 น. เดินทางถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี ศึกษาเรื่องราวของเมืองทวารวดีในภูมิภาคตะวันตก
11.00 น. ออกเดินทางสู่จังหวัดเพชรบุรี
12.00 น. รับประทานอาหารกลางวันที่เมืองเพชรบุรี (บ้านป่าไม้เมืองเพ็ชร)
13.30 น. เดินทางไปยังวัดแถบเมืองเพชรบุรีเก่าฝั่งวัดพลิบพลีหรือวัดเพชรพลี, วัดกำแพงแลง, เจดีย์แดงรุ่นอโยธยา ชมโกลนพระพุทธรูปแบบทวารวดีที่วัดป่าแป้นริมแม่น้ำเพชรในอำเภอบ้านลาด นมัสการพระพุทธรูปแบบก่อนหรือ ต้นกรุงศรีอยุธยาที่วัดถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี และเดินทางไปถ้ำยายจูงหลาน สำนักสงฆ์เขาน้อยที่ อยู่ฝั่งตรงข้ามคลองยอ สาขาของลำน้ำเพชร เป็นรูปปูนปั้นเขียนสีแดงภาพชาดกในคติแบบพุทธมหายานบนผนังถ้ำ สมัยทวารวดี
17.00 น. ออกเดินทางสู่เมืองประจวบคีรีขันธ์
19.00 น. รับประทานอาหารเย็น
20.00 น. เข้าพักที่โรงแรมประจวบแกรนด์ โฮเตล http://www.prachuapgrandhotel.com
วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม 2562
7.00 น. รับประทานอาหารเช้าที่โรงแรม
8.30 น. ออกเดินทางเพื่อสำรวจอ่าวเมืองประจวบคีรีขันธ์และเขาตาม่องไล่
9.00 น. เมืองกุยและกุยพอยต์ที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ชมทุ่งสามร้อยยอดแหล่งน้ำจืดของคนเดินทางเลียบ ชายฝั่งสมัยโบราณ
12.00 น. รับประทานอาหารกลางวันที่ร้านอุดมโภชนา ปากน้ำปราณ
13.00 น. วัดเก่าเขาน้อยและปากน้ำปราน เมืองปรานเก่า
15.00 น. “เขาเจ้าลาย” ในตำนานตาบ้องไล่และโบราณสถานแบบทวารวดีเชิงเขาปรางค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเขานาง พันธุรัตที่ชะอำ
16.00 น. เดินทางกลับจากชะอำ จังหวัดเพชรบุรี / ซื้อของฝากที่พันธ์สุข ฟู้ด แอนด์ ฟาร์ม ชะอำ และรับประทานอาหารเย็น ตามอัธยาศรัย
19.00-20.00 น. เดินทางถึงกรุงเทพมหานคร ส่งที่ปั๊มน้ำมันปตท. สาขาบรมราชชนนี ขาเข้า
https://goo.gl/maps/rnJVq3aHaqsWXQHi6
รายการอาจมีการปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสมเรื่องเวลา ส่วนสถานที่อาจจะปรับเปลี่ยนเฉพาะเมื่อพบปัญหาที่ต้องแก้ไขเท่านั้น
สํารองที่นั่งได้ที่ https://docs.google.com/forms/d/1Am9_-qjvnwottjFzODKqK8Ob6iHwno7cwlN-KEbegz4/edit
บริจาคร่วมกิจกรรม ท่านละ 5,000.- บาท (พักเดี่ยวเพิ่มอีกท่านละ 800.- บาท) เป็นค่ารถปรับอากาศ ค่าที่พัก ค่าอาหารน้ำดื่ม ค่าเข้าชมสถานที่ต่าง ๆ และค่าประกันภัย สามารถนำใบบริจาคไปลดหย่อนภาษีการบริจากเงินเพื่อมูลนิธิสาธารณะกุศล
การชำระเงิน: กรุณาโอนเข้าบัญชีมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
เลขที่บัญชี 169-048-485-0 ธนาคารกรุงเทพ บัญชีออมทรัพย์สาขาผ่านฟ้า
โปรดส่งหลักฐานการโอนภายในวันที่ 5 ธันวาคม 2562 ไปยัง
อีเมล์ : [email protected] หรือ @LINE https://line.me/R/ti/g/cpEVk2cl0P
ค่าใช้จ่ายนี้รวม
• ค่าวิทยากรนําชมและบรรยายตามรายการ
• ค่าเอกสารประกอบการเดินทาง
• ค่าอาหาร (เช้า/กลางวัน/เย็น/อาหารว่าง) และน้ําดื่ม
• ค่ารถโค้ชปรับอากาศ
• ค่าประกันภัยอุบัติเหตุ
• ค่าที่พัก
ค่าใช้จ่ายนี้ไม่รวม
• ค่าใช้จ่ายส่วนตัว เช่น ค่าอาหารและเครื่องดื่มสั่งพิเศษ
• ค่าความเสียหายต่างๆ ที่อาจเกิดจากการกระทําของผู้เดินทาง
• กรณียกเลิกการเดินทางท่านสามารถหาคนมาแทนได้เท่านั้น เนื่องจากเป็นระบบบัญชีบริจาคจึงไม่สะดวกแก่การคืนเงิน จึงควรจะมั่นใจหากมีการจองและจ่ายเงินบริจาคร่วมกิจกรรมแล้ว
• การปรับรายการตามความเหมาะสมโดยไม่แจ้งล่วงหน้า
• การสำรองที่นั่งจะสมบูรณ์เมื่อแจ้งข้อมูลตามแบบฟอร์มใบสมัครและส่งหลักฐานการโอนแล้ว
ขอสงวนสิทธิ์ในการจัดที่นั่งตามลําดับก่อนหลังของการชําระค่าบริจาคร่วมกิจกรรม
ติดต่อสอบถามส่งข้อมูลหรือรายละเอียดต่างๆ โทร : 089 203 2973