ทัวร์คุกเก่าอันดับต้นในอังกฤษที่ตำนานเพียบ มีบริการให้นักล่าผีค้างคืนเก็บข้อมูลในกรง

เชปตัน มาลเลต์ เรือนจำ shepton mallet อังกฤษ
เรือนจำ Shepton Mallet ในอังกฤษ เมื่อปี 2018 ภาพจาก Wikimedia Commons / Rodw (CC BY-SA 4.0)

ความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายเป็นแนวคิดที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งอยู่คู่กับมนุษย์มายาวนาน แม้กระทั่งปัจจุบันก็ยังมีเหล่า “นักล่าผี” ที่พร้อมพิสูจน์ความลี้ลับ และมีสถานที่เก่าแก่ที่บรรยากาศเป็นใจพร้อมอ้าแขนต้อนรับ ดังเช่นคุก “เชปตัน มาลเลต์” (Shepton Mallet) ใกล้กับบริสตอล ในโซเมอร์เรสต์ ประเทศอังกฤษ

เชปตัน มาลเลต์ สร้างขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 ไม่เพียงเป็นคุกเก่าแก่อันดับต้นๆ ในแดนผู้ดี ปัจจุบันนี้ก็ถูกชาวยุโรปขนานนามว่าเป็นคุกหลอนที่สุดอันดับต้นๆ ในสหราชอาณาจักร ซึ่งสื่อท้องถิ่นรายงานว่า คุกแห่งนี้เพิ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปค้างคืนในสถานที่ประวัติศาสตร์ซึ่งเคยใช้เป็นอาคารสำหรับจองจำอาชญากรคดีร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นข่มขืน ซ่องโจร และคดีอื้อฉาวที่ถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์อีกจำนวนหนึ่ง

เชื่อกันว่า เชปตัน มาลเลต์ น่าจะเปิดทำการมาก่อนปี 1625 ทำให้คุกแห่งนี้เป็นสถานที่จองจำซึ่งใช้งานมายาวนานที่สุดแห่งหนึ่งจนกระทั่งเลิกใช้งานในปี 2013 และหลังจากปิดตัวไปแล้ว 6 ปี เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของเรือนจำเปิดโปรแกรมพิเศษให้นักท่องเที่ยวได้นอนค้างในเรือนจำเป็นเวลา 12 ชั่วโมงหลังลูกกรง (แต่ไม่ได้ถูกล็อก) ภายในอาคารเก่าแก่ที่ขึ้นชื่อเรื่องความหลอน

โปรแกรมนี้รวมถึงการทัวร์รอบเรือนจำยามวิกาลเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ภายในเรือนจำมีบาร์จำหน่ายอาหาร เครื่องดื่มในตอนเย็นด้วย หลังจากทัวร์แล้วจึงเริ่มเข้าไป “พัก” ในตัวอาคาร เว็บไซต์ยังระบุว่า ผู้ใช้บริการสามารถออกเสาะหาประสบการณ์ลึกลับหรือเรื่องเหนือธรรมชาติ หรือเลือกจะพักผ่อนในห้องขังก็ได้

เว็บไซต์ LondonLives.org รายงานว่า อาคารแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นตามร่างกฎหมายเมื่อปี 1610 ที่เรียกว่า Bridewell Act ซึ่งเนื้อหาส่วนหนึ่งกำหนดให้ทุกมณฑลในอังกฤษต้องมีแหล่ง “ลงทัณฑ์” ในพื้นที่ เว็บไซต์ของเรือนจำอธิบายว่ากฎหมายนี้เกิดขึ้นโดยพระเจ้าเจมส์ที่ 1

รูปแบบการใช้งานเรือนจำแห่งนี้ใช้คุมขังนักโทษชายหญิงและเด็กไว้ด้วยกัน ผู้กระทำความผิดมีตั้งแต่ลูกหนี้ ขโมย ผู้ที่อยู่ร่วมกับสังคมไม่ได้ คนจรจัด และผู้ป่วยทางจิตก็ยังถูกส่งมาที่นี่เพื่อจองจำในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของนักโทษที่ถูกจองจำกลับไม่ค่อยพบมากนัก ข้อสันนิษฐานมีหลายทิศทาง อาจเป็นเพราะว่ามีคนที่อ่านออกเขียนได้ไม่มากนักในช่วงเวลานั้น และอีกประการหนึ่งก็อาจเป็นเพราะไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่แบบนั้น ในสภาพเช่นนั้น มีเสียงร่ำลือว่า ผู้คุมก็ฉวยโอกาสจำหน่ายเหล้าให้ผู้ถูกคุมขัง ยิ่งทำให้เกิดพฤติกรรมติดเหล้า

เว็บไซต์ของเรือนจำบรรยายต่อว่า สภาพลักษณะนี้นำมาสู่โรคระบาดหลายชนิด แต่ความช่วยเหลือทางการแพทย์กลับไม่ปรากฏอย่างจริงจัง มีเพียงแค่ศัลยแพทย์ท้องถิ่นที่อาจเข้ามาประกาศสภาพการตายแล้วเท่านั้น เมื่อผู้ถูกจองจำเสียชีวิต ศพจะถูกกำจัดโดยนำไปฝังไว้ที่ด้านนอกอาคาร

คุกแห่งนี้ไม่เพียงเป็นแหล่งจองจำผู้กระทำผิดเท่านั้น แต่ยังใช้ประหารนักโทษด้วย ไม่ว่าจะด้วยวิธีแขวนคอ ควักไส้ และผ่าแยกร่าง (HDQ, Hung, Drawn and Quartered) ซึ่งเป็นกรรมวิธีลงทัณฑ์แบบอังกฤษ ห้องแขวนคอในอาคารยังมีอยู่จนถึงวันนี้ ในช่วงหลายปีหลังยังแปรสภาพมาใช้เป็นออฟฟิศ

ในช่วงจลาจล Monmouth หรือ Pitchfork ระหว่างปี 1642-85 มีผู้ถูกแขวนคอ ควักไส้ และผ่าแยกร่างอย่างน้อย 12 รายด้วยข้อหาเห็นอกเห็นใจกลุ่มผู้ก่อความวุ่นวาย

ในศตวรรษที่ 19 คุกแห่งนี้ถูกต่อเติมขยายออก ซึ่งรวมถึงการติดตั้งเครื่องลงทัณฑ์แบบ treadwheel เครื่องจักรที่ใช้แรงงานคนหมุนปั่นและแปรพลังงานมาใช้ประโยชน์ อาทิ ปั๊มน้ำหรือบดข้าวโพด แต่ส่วนใหญ่แล้วมักใช้งานเพื่อการลงโทษมากกว่า

นักโทษทำงานใน Tread-wheel ในเรือนจำ Coldbath Fields ในปี 1864 จากหนังสือ The criminal prisons of London, and scenes of prison life (1864)

แต่ในปี 1930 คุกแห่งนี้ปิดตัวลงเนื่องจากนักโทษลดลงเหลือประมาณ 51 ราย พลเรือนซึ่งถูกตัดสินประหารชีวิตรายสุดท้ายคือจอห์น ลินคอล์น เมื่อปี 1926 ข้อหายิงเอ็ดเวิร์ด ริชาร์ดส วัย 25 ปีเสียชีวิตในช่วงปี 1925

เรือนจำกลับมาเปิดทำการใหม่อีกครั้งในปี 1939 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยถูกใช้เป็นเรือนจำทหารของกองทัพบริติช และเคยใช้เป็นที่เก็บเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ของหอจดหมายเหตุแห่งลอนดอน

ในช่วงปี 1942-45 เรือนจำยังถูกใช้เป็นเรือนจำทหารของกองทัพสหรัฐฯ ด้วย ขณะที่โทษประหารในเรือนจำเชปตันเกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1945 เป็นการลงทัณฑ์ทางการทหาร เมื่อปี 1945 กองทัพอังกฤษกลับมาใช้งานเรือนจำแห่งนี้อีกครั้ง ในช่วงหลังจากนี้เองเรือนจำยังเคยเป็นที่คุมขังฝาแฝดเครย์ (โรนัลด์ เครย์ และเรจินัลด์ เครย์) อาชญากรหัวโจกของแก๊งที่ก่อคดีแบบอุกอาจหลังออกจากเรือนจำแห่งนี้ โดยคู่ฝาแฝดอื้อฉาวในประวัติศาสตร์อังกฤษเป็นคนกลุ่มท้ายๆ ที่รับโทษในเรือนจำแห่งนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

SHEPTON MALLET PRISON. Access 30 SEP 2019. <https://www.sheptonmalletprison.com>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 กันยายน 2562