“แอกเนส ชาน”นักร้องยุค70 ชาวฮ่องกง กับข้อเรียกร้องให้”คุณแม่ในญี่ปุ่น”ทำงาน-เลี้ยงลูกได้

แอกเนส ชาน นักร้องชาวฮ่องกง
แอกเนส ชาน

แอกเนส ชาน (ชื่อจีนว่า เฉินเหม่ยหลิง) นักร้องชาวฮ่องกง ผู้โด่งดังในยุค 70 เธอเขียนประวัติของตัวเองใช้ชื่อ “อัตชีวประวัติแอกเนส ชาน” (สนพ.ประพันธ์สาส์น) ตอนหนึ่งของหนังสือที่ชื่อ “ข้อวิพากษ์เหมยหลิง” เพื่อเรียกร้องให้คุณแม่ในญี่ปุ่นทำงานและเลี้ยงลูกไปได้พร้อมๆ กัน

เพราะช่วงต้นปี 1987 ผู้หญิงญี่ปุ่นที่แต่งงานแล้ว มักออกจากงานมาเป็นแม่บ้านดูแลครอบครัว

แต่นั่นไม่ใช่เธอ ไม่เพียงไม่ออกจากงาน แอกเนส ชาน ยังเอาลูกไปเลี้ยงทำงาน (บริษัทผลิตรายการทีวีของเธอและสามี) เพื่อให้ลูกชายวัย 3-4 เดือน ได้กินนม

แต่การกระทํานี้ทําให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมา!

มันทําให้เกิดข้อวิพากษ์ครั้งใหญ่ขึ้นในประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวทางด้านสิทธิสตรีในญี่ปุ่น ที่เรียกกันว่า “ข้อวิพากษ์แอกเนส (Agnes Controversy)” ส่งผลให้มีการยืดหยุ่นกับบรรดาคุณแม่ชาวญี่ปุ่นในเวลาต่อมา

เรื่องเกิดขึ้นหลังจากวันแรกที่เธอกลับมาอัดเสียงละครวิทยุ นักข่าวมาขอสัมภาษณ์เธอ นักข่าวถามว่า เมื่อมีลูกแล้วเคยคิดจะเลิกทํางานหรือไม่?

แอกเนส ชาน ตอบว่า “ไม่เคยคิดเลย! ทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง มีแม่จํานวนมากที่ยังทํางานอยู่ ที่จีนมีแม่พาลูกมาทํางานด้วยก็มีถมไป โรงงานที่มีพนักงานมากกว่า 500 คนส่วนมากก็สร้างโรงเรียนอนุบาลให้ด้วย”

ความคิดทั้งสองข้อนี้ของแอกเนส ชาน สําหรับนักอนุรักษนิยมชาวญี่ปุ่นแล้ว ถือเป็นความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ พวกเขาคิดว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศเจริญแล้ว ไม่จําเป็นต้องใช้จีนเป็นแบบอย่าง และหน้าที่ของผู้หญิงที่ดีคือ ดูแลสามีและลูกๆ ไม่ใช่ไปปรากฏตัวในสังคมการทํางานของผู้ชาย

ตามมาด้วยข้อวิพากษ์วิจารณ์เริ่มขึ้นจากนักวิชาการและนักเขียนคอลัมน์ที่ไม่พอใจเธอ ว่า

“พาลูกมาทํางานด้วยจะทําให้คนอื่นรําคาญ”

“แล้วยังเป็นสิ่งที่ไม่ดีสําหรับลูกน้อย!”

“แต่งงานไปแล้ว มีลูกแล้ว ก็ควรอยู่บ้านเป็นแม่บ้านไป”

“ทั้งอยากมีลูก ทั้งอยากทํางาน ช่างเป็นคนโลภมากจริงๆ”

ในด้านหนึ่งนักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีเสนอว่า “นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาของเฉินเหม่ยหลิง แต่เป็นปัญหาของคุณแม่ทุกคนที่ต้องประสบ”

ข้อวิพากษ์ในสังคมนับวันยิ่งรุนแรงขึ้น มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ในปีนั้นอัตราการเกิดของทารกในญี่ปุ่นลดน้อยลง ดังนั้นเพื่อเพิ่มอัตราการเกิด สภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงผลักดันกฎหมายให้ความเท่าเทียมกันของชายและหญิง โดยหวังว่าจะสามารถช่วยเหลือสตรี (รวมไปถึงสตรีที่มีลูกแล้ว) ให้มีโอกาสเข้าทํางาน ตามแนวคิดที่ว่า เมื่อสตรีมีอิสระก็จะทําให้อัตราการเกิดของทารกสูงขึ้นได้

สภาฯ เชิญแอกเนส ชาน ให้มาเป็นบุคคลอ้างอิง เธอได้เสนอต่อสภาว่า “สังคมจะต้องพยายามเข้าใจสถานะและความยากลําบากของคุณแม่พาร์ตไทม์ให้มากขึ้น ต้องสนับสนุนสตรีที่กําลังหางานทํา และต้องยอมรับการดํารงอยู่ของเด็กๆ ในสถานที่สาธารณะ”

สุนทรพจน์ของเธอได้รับความสนใจ จนกลายเป็นประเด็นร้อนของสังคมทันที สื่อฝ่ายค้านเริ่มโจมตีอย่างหนักอีกครั้ง ว่า

“ร้องเพลงก็ไม่ได้ดีอะไร ภาษาญี่ปุ่นก็พูดไม่ชัดเจน น่ารังเกียจมาก ไม่เข้าใจเลยว่าทําไมผู้คนถึงยังนิยมอยู่”

“เป็นเพียงนักร้องแต่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสังคม ทําให้ตัวเองดูเป็นคนมีวัฒนธรรม มีวิสัยทัศน์ ช่างบ้าบอคอแตก!”

“ตัวเองเป็นคนจีนแท้ๆ แต่กลับชี้นําสังคมญี่ปุ่นของพวกเรา ช่างกล้ายิ่งนัก น่ารังเกียจ!”

“เธอเป็นแม่ที่แย่มาก!”

ประเด็น “ข้อวิพากษ์เหม่ยหลิง” กินเวลายาวนานกว่าสองปี จนกระทั่งปี 1988 เกิดคําใหม่ยอดนิยมขึ้นในสังคมญี่ปุ่น นั่นคือ “สาธารณชน”

การทํางานของแอกเนส ชาน ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป เพราะคนจํานวนมากให้การสนับสนุน ด้านกระแสเรตติ้งละครวิทยุและโทรทัศน์ของเธอขึ้นสูงมาก แต่การโจมตีทุกๆ วันจากฝ่ายคัดค้าน แม้จะมากบ้างน้อยบ้าง ที่ทําให้สภาพจิตใจของเธอย่ำแย่ลงทุกที

วันหนึ่งเมื่อแอกเนส ชาน กลั้นน้ำตาไม่อยู่และร้องไห้ออกมา คาเนโกะ[สามีของเธอ] ได้พูดกับเธอว่า “คุณควรเชื่อมั่นในความรู้สึกของชาวญี่ปุ่น หากการกระทําของคุณถูกต้อง อีกไม่นานพวกเขาจะต้องสนับสนุนแน่นอน คุณควรใช้ชีวิตเพื่อพิสูจน์ให้พวกเขาเห็นว่า สิ่งที่คุณกําลังทําอยู่นั้นมันถูกต้อง เพื่อสตรีในยุคถัดไป คุณต้องเป็นต้นแบบที่ดีให้กับพวกเขา”

นักร้องชาวฮ่องกง ผู้กล้าแกร่ง ก้มหน้าลงครุ่นคิดกับคำว่า “ใช้ชีวิตของฉันพิสูจน์ให้ได้” ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะชีวิตคนเรามีหลายสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมหรือบังคับได้ แต่เธอก็รู้ว่าคำพูดของคาเนะโกะมีเหตุผลมากเช่นกัน

“ถ้าแม่พาร์ตไทม์อย่างฉันเกิดยอมแพ้ อาจกลายเป็นระเบิดสำหรับสตรียุคถัดไป แต้ถ้าฉันประสบความสำเร็จ ทุกอย่างจะกลายเป็นแรงผลักดันที่คุ้มค่า…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก แอกเนส ชาน-เขียน, ศิรินทิพย์ จริยคุณ-แปล. อัตชีวประวัติแอกเนส ชาน. สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น 2562.


แก้ไขปรับปรุงในระบบออนไลน์ล่าสุดเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2566