พบที่มาของหินใน “สโตนเฮนจ์” นักวิทย์เสนอทฤษฎีใหม่ เสาถูกลากมาทางบก

ทีมนักวิทยาศาสตร์และนักโบราณคดีเผยแพร่ผลการค้นพบแหล่งที่มาของหินกลุ่มหนึ่งของ “สโตนเฮนจ์” (Stonehenge) กลุ่มกองหินปริศนาซึ่งเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคกลางที่ยังไม่อาจบ่งชี้ที่มาของหินเหล่านี้ได้อย่างแน่ชัด โดยกลุ่มนักโบราณคดีเชื่อว่า จากการศึกษาแล้ว หินส่วนหนึ่งในกลุ่มหินมาจากแหล่งหินทางตอนใต้ของเวลส์ ซึ่งห่างไปจาก “สโตนเฮนจ์” 180 ไมล์ หรือประมาณ 289 กิโลเมตร

กลุ่มหิน “สโตนเฮนจ์” เป็นอีกหนึ่งปริศนาทางโบราณคดี และทางวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด คำถามว่าใครเป็นผู้ก่อโครงสร้างหินขนาดใหญ่นี้ก็ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดเห็นตรงกันทุกฝ่าย แต่การศึกษาครั้งล่าสุดโดยทีมนักวิจัยจากสหราชอาณาจักรอาจพอชี้นำข้อมูลเรื่องที่มาของหินให้คนรุ่นหลังสืบค้นและพิสูจน์สมมติฐานที่เพิ่งค้นพบจากการสำรวจครั้งล่าสุด

วารสาร Antiquity ประจำเดือนกุมภาพันธ์ตีพิมพ์ผลการศึกษาโดยไมเคิล ปาร์คเกอร์ เพียร์สัน (Michael Parker Pearson) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยแห่งลอนดอน ซึ่งระบุว่า เขาสืบค้นที่มาที่ชัดเจนของกลุ่มหินในสโตนเฮนจ์ ซึ่งถูกเรียกว่า “บลูสโตน” (Bluestone) ที่เรียกตามลักษณะโทนสีของหินที่ออกสีฟ้าจางๆ – เทา

ก่อนหน้านี้ เป็นที่รู้กันว่า หินบลูสโตน 42 ชิ้นในสโตนเฮนจ์ มาจากเทือกเขา Preseli ใน Pembrokeshire ทางตอนใต้ของเวลส์ แต่การศึกษาล่าสุดเป็นข้อมูลที่บ่งชี้อีกหนึ่งสมมติฐานว่า หินบลูสโตนในสโตนเฮนจ์ นั้นมาจากพื้นที่จุดไหนกันแน่

ข้อมูลการศึกษาของเขาทำให้เขาบ่งชี้ว่า หินบลูสโตนถูกเคลื่อนย้ายจากแหล่งดั้งเดิมของมันในพื้นที่ซึ่งเชื่อกันว่าเป็น “เหมือง” 2 แห่ง ชื่อ Carn Goedog และ Craig Rhos-y-felin เพื่อนำมาสร้างเป็นอนุสรณ์กลางทุ่งบนที่ราบซอลส์บรี (Salisbury) ทางตอนใต้ของอังกฤษ

“เหมือง” 2 แห่งที่ว่านี้อยู่ห่างจาก “สโตนเฮนจ์” 180 ไมล์ และถูกศึกษาโดยทีมสำรวจตั้งแต่ปี 2014 จนถึง 2016 รายงานข่าวเผยว่า ทีมสำรวจค้นพบถ่านโบราณ และเครื่องมือที่ทำจากหินในพื้นที่ บางจุดในพื้นที่ก็พบถ่านที่ถูกปะปนกับดินและหินอยู่ในแท่นโหลดที่เป็นแพลตฟอร์มบางอย่าง ซึ่งคาดการณ์ว่า อาจใช้สำหรับเป็นจุดเคลื่อนย้ายเสาขนาดใหญ่

การศึกษาบ่งชี้ว่า หิน “บลูสโตน” ปรากฏบนพื้นผิวหลายล้านปีก่อน เมื่อชั้นผิวของแม็กมา (Magma) หลายชั้นเย็นตัวลงจนกลายเป็นทรงเสาแนวตั้ง เวลาผ่านไปหลายยุคเข้า หินรอบแม็กมาก็กร่อนออกจนเหลือแค่หินที่เรียกกันว่า “บลูสโตน” และเชื่อว่าหินบลูสโตนอย่างน้อย 5 ชิ้นจากกลุ่มหินจำนวนมากในสโตนเฮนจ์ มีที่มาจาก “เหมือง” 2 แห่งที่กล่าวข้างต้น

ปาร์คเกอร์ เชื่อว่า แรงงานในยุคก่อนประวัติศาสตร์น่าจะเล็งเห็นลักษณะตามธรรมชาติของหินที่ปรากฏนั้นเป็นรูปทรงแนวตั้งขึ้นมาอยู่แล้ว สอดคล้องกับสมมติฐานว่า กลุ่มคนยุคก่อนประวัติศาสตร์มีแนวโน้มขยับหินได้เลยมากกว่าที่จะต้องแกะหินให้เป็นรูปทรง วิธีการก็แค่อาศัยเครื่องมือพื้นฐานทั่วไป อาทิ ค้อน ชะแลง เชือก และลิ่มเจาะดันเข้าไปในช่องว่างของหินก็สามารถดึงเสาไปอย่างง่ายดาย

และจากการค้นพบ “แท่นโหลด” ที่สร้างไว้ นักโบราณคดีเชื่อว่า หลังจากที่ใช้เชือกลากเสา (สูงประมาณ 6 ฟุต หนักประมาณ 2-4 ตัน) ลงมาบนแท่น แล้ว จากนั้นก็เคลื่อนมันลงมาบนเลื่อนไม้ และใช้คนที่แข็งแรงลากเสาบนพาหนะเลื่อนที่ทำจากไม้เพื่อเคลื่อนย้ายเสาไป

ถ้ามีคำถามว่า การเคลื่อนย้ายเสาที่ใหญ่และหนักขนาดนี้ในยุคก่อนที่ยังไม่มีเครื่องมือทันสมัยนั้นเป็นไปได้หรือไม่ นิโคลัส เพียร์ส นักธรณีเคมีจากมหาวิทยาลัย Aberystwyth ในเวลส์ ที่ร่วมศึกษาด้วยตอบคำถามนี้ว่า หินบลูสโตนใหญ่ก็จริง แต่ไม่ได้ใหญ่โตขนาด “มนุษย์ยุคหินที่แข็งแรง” ไม่สามารถลากไปได้

อีกคำถามแย้งที่อาจโต้สมมติฐานของทีมวิจัยชุดนี้คือ ปกติแล้ว คนงานในไซต์งานเกี่ยวกับเสาหินขนาดใหญ่ทั่วยุโรปไม่ค่อยใช้งานหินที่อยู่ห่างจากจุดใช้งานเกิน 10 ไมล์ แต่ปาร์คเกอร์ เพียร์สัน เชื่อว่า หินบลูสโตนนี้อาจอยู่เหนือกรอบนั้น ทั้งจากลักษณะพิเศษของหิน และปาร์คเกอร์ ยังเปรียบเทียบแบบติดตลกว่า หินบลูสโตนนี้เหมือน “เสาหินขนาดใหญ่ยุคสมัยหินใหม่เวอร์ชั่นอิเกีย” ที่สามารถใช้งานได้เลย

แม้ว่าบลูสโตน จะไม่ใช่หินที่ใหญ่ที่สุดในสโตนเฮนจ์ แต่ก็ยังมีแง่มุมที่น่าสนใจต่อการศึกษาสโตนเฮนจ์ ขณะที่ Trilithon กลุ่มหินทรายที่เป็นหิน 3 แท่งประกอบกัน (ตั้งตรงเป็นฐาน 2 แท่ง และวางข้างบนอีก 1 แท่ง) ถือเป็นหินที่ใหญ่กว่า และเชื่อกันว่าเป็นหินจากในละแวกใกล้เคียงสโตนเฮนจ์ แต่จนถึงวันนี้ยังไม่สามารถบ่งชี้ที่มาได้อย่างแน่ชัด

ในแถลงการณ์ของกลุ่มนักวิจัยระบุว่า พื้นที่ “เหมือง” ยังช่วยให้นักโบราณคดีสามารถศึกษาเทียบตารางเวลาของสโตนเฮนจ์ในประวัติศาสตร์ผ่านการสืบค้นอายุของถ่านที่พบในแท่นด้วยคาบอน พบว่าถูกขุดเจาะในช่วง 3,000 ปีก่อนคริสต์กาล (ช่วงเวลาเดียวกับข้อมูลช่วงเวลาที่เชื่อว่าสโตนเฮนจ์ เริ่มสร้าง) ทีมเชื่อว่าสโตนเฮนจ์ เป็นอนุสรณ์ที่สร้างขึ้นต่อเนื่อง โดยแรกเริ่มจากนำเสาหินบลูสโตนไปตั้งล้อมเป็นวงกลมลงในหลุมที่เรียกว่า Aubrey Holes ใกล้สโตนเฮนจ์ และกลุ่มหินทรายที่ตั้งเป็นรูปทรงเหมือนอักษรกรีกว่า Π (Pi) ถึงปรากฏขึ้นประมาณ 500 ปีหลังจากนั้น

การค้นพบครั้งล่าสุดแทบเหมือนเป็นการตั้งคำถามกับทฤษฎีเดิมที่เชื่อว่า บลูสโตนเคลื่อนย้ายผ่านทางทะเล แต่จากการศึกษาครั้งล่าสุด พื้นที่เหมืองแสดงให้เห็นว่าหินมาจากพื้นที่ด้านเหนือของเทือกเขา ไม่ใช่ทางใต้ที่ติดกับมหาสมุทร

แต่คำถามที่สำคัญที่สุดว่า ทำไมผู้สร้างอนุสรณ์ในช่วงแรกต้องลากหินหนักมาไกลขนาดนั้น ยังเป็นคำถามที่แม้แต่ทีมวิจัยยอมรับว่าให้คำตอบแบบเฉพาะเจาะจงได้ยาก

ปาร์คเกอร์ แสดงความคิดเห็นว่า สโตนเฮนจ์ก่อสร้างขึ้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจและจำนวนประชากรเสื่อมถอยลงในแถบบริเทน สโตนเฮนจ์ อาจเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมช่วยให้ชุมชนที่แตกต่างกันสามารถสมานรวมกัน


อ้างอิง:

Daley, Jason. “Secrets of Stonehenge Found in Quarries 180 Miles Away”. Smithsonian. Online. 25 FEB 2019. <https://www.smithsonianmag.com/smart-news/secrets-stonehenge-found-quarries-180-miles-away-180971562/>

Guarino, Ben. “Scientists discover the origin of Stonehenge stones – quarries 180 miles away”. The Washington Post. Online. 20 FEB 2019. <https://www.washingtonpost.com/science/2019/02/20/scientists-discover-origin-stonehenge-stones-quarries-miles-away/>

“Quarrying of Stonehenge ‘bluestones’ dated to 3000 BC”. UNIVERSITY COLLEGE LONDON. Eurek Alert. 19 FEB 2019. Online.  <https://www.eurekalert.org/pub_releases/2019-02/ucl-qos021519.php>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2562