เจ้าในการเมืองกัมพูชา? เมื่อ “ฮุน เซน” ไม่ใช่เจ้า แต่รัฐสั่งให้เรียก “สมเด็จ” นำหน้านายกฯ

สมเด็จ อัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน ผู้นำ กัมพูชา
สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน ขณะกล่าวปราศรัยในที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติ ภาพถูกเผยแพร่เมื่อ 4 เมษายน 2016 (ภาพจาก AFP PHOTO / CAMBODIA NATIONAL ASSEMBLY)

เจ้าในการเมืองกัมพูชา? เมื่อ “ฮุน เซน” ไม่ใช่เจ้า แต่รัฐสั่งให้เรียก “สมเด็จ” นำหน้านายกฯ

คำว่า สมเด็จ เป็นคำภาษาเขมรโบราณที่แผลงมาจากคำว่า “สฺตจ (เสด็จ)” ดังปรากฏหลักฐานการใช้มาตั้งแต่ศิลาจารึกของเขมรโบราณสมัยพระนคร โดยมีการใช้อักขรวิธีตามศิลาจารึกว่า “สํตจ” และ “สํเตจ” มีความหมายว่า พระนามศักดิ์สิทธิ์สำหรับกษัตริย์เทพเจ้านักบวช

 ในศิลาจารึกนครวัดสมัยหลังพระนครก็ปรากฏการใช้คำว่า สมเด็จ” เช่นเดียวกัน เช่น ในจารึก มีกล่าวการใช้คำว่า สมเด็จ” นำหน้าพระนามของกษัตริย์ในจารึก IMA.3 ซึ่งกล่าวถึง “สมเด็จพระชัยเชษฐาธิราชโองการ” และใช้นำหน้าพระนามของพระราชวงศานุวงศ์ชั้นสูง ในกัมพูชาสมัยหลังพระนครยังนำคำว่า สมเด็จ มาใช้นำหน้าสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ผู้ใหญ่ นอกจากนี้นามบรรดาศักดิ์ขุนนางสำรับโท ซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายพระมหาอุปโยราช ของกัมพูชาในสมัยหลังพระนคร มีตำแหน่งเสนาบดีนายก ยศเป็น “สมเด็จเจ้าพระยา หรือ “สมเด็จเจ้าพญาแสดงให้เห็นว่าตำแหน่ง  “สมเด็จ” ได้มีการนำมาใช้กับตำแหน่งขุนนางชั้นสูงตั้งแต่ในกัมพูชาสมัยหลังพระนครด้วย

การนำคำว่า “สมเด็จ มาใช้เป็นยศของขุนนางกัมพูชาสมัยหลังพระนคร คล้ายคลึงกับการใช้คำว่า “สมเด็จ” ของกัมพูชาในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีคำอธิบายในหนังสือ ประชุมลิขิต ของ ออกญามหามนตรี จางวางกรมพระราชมณเฑียร (ญึก นูวซึ่งพิมพ์เมื่อปี พ.. 2513 ว่า “พระสงฆ์ และคฤหัสถ์ ซึ่งมีฐานันดรศักดิ์เป็นที่ สมเด็จ ไม่ต้องใช้คำราชาศัพท์ ‘เสวย’ ว่า บรรทม’ ต้องพูดตามคำธรรมดา ถ้าจะใช้คำราชาศัพท์ได้ก็ต่อเมื่อพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้เปลี่ยนเป็น เสด็จ

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้นนี้ผู้นำของกัมพูชาในปัจจุบันจึงสามารถมีคำนำหน้านามบรรดาศักดิ์ว่า “สมเด็จ” ได้ทั้งที่เป็น สามัญชน

รัฐบาลสั่งทุกสื่อต้องเรียกท่านนายกฯว่า “สมเด็จ”

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 กระทรวงการสื่อสารกัมพูชาได้มีคำสั่งให้บรรดาสื่อมวลชนทั้งหมดต้องเรียกนายกรัฐมนตรี “ฮุน เซน” ด้วยคำนำหน้าว่า “สมเด็จ” ทุกครั้ง รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงทุกคนที่ได้รับบรรดาศักดิ์ดังกล่าว ไม่เช่นนั้นอาจต้องเสียใบอนุญาต

“หากสื่อใดไม่ทำตามคำแนะนำของกระทรวงการสื่อสารในการใช้คำนำหน้าอย่างถูกต้อง เราจะไม่ต่อสัญญาให้หากสัญญาหมดลง” โฟส โสวัน (Phos Sovan) ผู้อำนวยการกรมสารนิเทศและการกระจายเสียง กระทรวงการสื่อสารกล่าว

โสวัน ยังกล่าวว่า สื่อวิทยุท้องถิ่นจะไม่ได้รับอนุญาตให้ออกอากาศรายการจากผู้ผลิตที่ได้รับการอุดหนุนจากต่างชาติอย่างเรดิโอฟรีเอเชีย (RFA) วอยซ์ออฟอเมริกา (VOA) หรือ เรดิโอฟรานซ์อินเตอร์เนชันแนล (RFI) หากรายการเหล่านี้ไม่ยอมปรับตัวให้สอดคล้องกับกฎดังกล่าว

ฟาย สายฟัน (Phay Siphan) โฆษกคณะรัฐมนตรีอธิบายเหตุผลทางกฎหมายว่า “คำนำหน้านี้เป็นคำที่พระราชทานลงมาจากพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีผลทางกฎหมาย เราเรียกว่าพระราชกฤษฎีกา เมื่อพวกคุณจะอ้างถึง (บุคคลที่มีบรรดาศักดิ์) คุณก็ต้องเรียกด้วยคำนี้ มันเป็นกฎหมาย เพราะมันคือพระราชกฤษฎีกา คุณต้องเคารพด้วย”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2562