ตามหา “เรืออาร์ค” ของ “โนอาห์” ในตำนานน้ำท่วมโลกด้วยหลักวิทยาศาสตร์

ภาพจำลอง เรืออาร์ค โนอาห์ ตำนานน้ำท่วมโลก
ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพจำลองเรือขนาดใหญ่ในตำนาน

ตามหา “เรืออาร์ค” ของ “โนอาห์” ใน ตำนานน้ำท่วมโลก ด้วยหลักวิทยาศาสตร์

เมื่อกล่าวถึง “ตำนานน้ำท่วมโลก” เรื่องราวเหล่านี้มักพบได้บ่อยครั้งจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชีย หากวิเคราะห์รายละเอียดในตำนานเหล่านี้ด้วยวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ ผลที่ออกมาน่าสนใจทีเดียว

ตำนานน้ำท่วมโลก ปรากฏอยู่หลายแห่ง หนังสือ ทิเมอุส (Timaeus) ของเพลโต ได้เล่าถึงตำนานน้ำท่วมโลกว่า ซีอุส หรือซุส (Zeus) เทพราชาทรงพิโรธที่มนุษย์ทำสงครามฆ่าฟันกันไม่เลิก จึงอยากลงโทษให้สิ้นซากด้วยน้ำ หนึ่งในเทพไททันนามว่า โพรมีธีอุส (Prometheus) ทราบความก่อน จึงได้นำข่าวไปบอก ดิวคาเลียน (Deucalion) ลูกชายกึ่งเทพของตน ทำให้เขาสามารถเอาตัวรอดจากน้ำท่วมในครั้งนั้นได้

ส่วนฟากตะวันออกก็มีเรื่องที่เกี่ยวกับน้ำท่วมโลกด้วยเช่นกัน อาทิ เรื่องการอวตารของพระวิษณุมาเป็นปลาชื่อ “ศผริ” เพื่อช่วยเหลือมนุษย์คนแรก คือ “พระมนู” ให้รอดพ้นจากน้ำท่วมโลกในช่วงพรหมราตรี จนกระทั่งได้ก่อตั้งวงศ์มนุษย์ขึ้นมา และตอนหลังยังไปสังหารอสูรชื่อ หัยครีวะ ซึ่งลักเอาพระเวทไปจากพระพรหม ดังปรากฏในคัมภีร์มัตสยะปุราณะ

เรืออาร์ค ของ “โนอาห์”

แต่ปริศนาน้ำท่วมโลกที่โด่งดัง และถูกกล่าวถึงมากที่สุด หนีไม่พ้น “ตำนานน้ำท่วมโลกในพระคัมภีร์ไบเบิล” ซึ่งกล่าวถึงพระผู้เป็นเจ้าส่งน้ำมาล้างโลก เพราะเห็น​ว่า​โลก​มี​แต่​ความ​เสื่อม​ทราม และมนุษย์ในยุคนั้นทำเรื่องไม่ดีไม่งามกันมาก

ในเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนั้น พระผู้เป็นเจ้าเลือก “ผู้รอด” นามว่า “โนอาห์” กับครอบครัว รวมถึงสัตว์ต่างๆ โดยอาศัย “อาร์ค (Ark) เรือหรือยานแบบหนึ่งที่ออกแบบเพื่อรองรับสถานการณ์ โดยพระองค์ต้องการให้ โนอาห์ นำสิ่งมีชีวิตบนโลกขึ้นเรือด้วยอย่างละคู่ เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกน้ำท่วมโลกในครั้งนั้น

เรืออาร์ค ที่ “โนอาห์” อยู่ สร้างจากไม้โกเฟอร์ ทากันรั่วภายในและภายนอกด้วยยางไม้หรือยางมะตอย ประตูเข้าออกอยู่ด้านข้าง ตัวเรือมี 3 ชั้น พื้นที่ถูกแบ่งเป็นห้อง ซึ่งขนาดของเรืออาร์คที่แปลงมาจากหน่วยคิวบิตแล้ว คือ กว้าง 22.86 เมตร ยาว 137.16 เมตร สูง 13.716 เมตร แต่ถ้าเป็นหน่วยคิวบิตหลวงของอียิปต์ เรือก็อาจใหญ่ขึ้นมาอีก คือ กว้าง 26.45 เมตร ยาว 158.7 เมตร สูง 15.87 เมตร

หากนำมาเปรียบเทียบกับเรือไททานิก ความยาวกับความสูงของเรือไททานิกนั้นสูงกว่าเรืออาร์คมาก โดยเรือไททานิกกว้าง 28.0 เมตร ยาว 269.0 เมตร สูง 53.3 เมตร และมีถึง 9 ชั้น มากกว่าเรืออาร์คถึง 6 ชั้น ไททานิกรองรับผู้โดยสารกับลูกเรือได้รวม 3,327 คน

จากขนาดของเรืออาร์คในมุมมองวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์นำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่า อาร์คจะรับน้ำหนักได้มากพอบรรจุสัตว์และอาหารของพวกมันทั้งหมด ระหว่างที่รอนแรมนานนับครึ่งปีได้หรือไม่ อย่างไร?

วิเคราห์เรืออาร์คตามหลักวิทยาศาสตร์

ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้เขียนหนังสือ “อยากชวนเธอไปอำผี” ยกข้อมูลการวิเคราะห์ของ ดร. แม็กซ์ เยาซ์ (Max Younce) ที่ได้คำนวณพื้นที่ในอาร์คว่า มีความจุเท่ากับรถขนส่งขนาดมาตรฐานราว 552 คัน หรือตู้ขนส่งของรถไฟที่มี 65 ตู้ ราว 8 คัน ซึ่งต่อมาเว็บไซต์ skeptic.com อ้างการคำนวณของ จอน เรนิช (Jon Renish) ที่อิงจากตัวเลขของ ดร. แม็กซ์ เยาซ์ (Max Younce) อีกทีว่า อาร์คลอยอยู่ราวครึ่งหนึ่งของความสูง ก็น่าจะแทนที่ปริมาตรน้ำทะเลราว 76,000 ลูกบาศก์ฟุต เท่ากับ 2,152 ลูกบาศก์เมตร

หากความหนาแน่นของน้ำหลังจากฝนตกต่อเนื่อง 6-7 เดือน ยังคงหนาแน่นใกล้เคียงกับน้ำทะเล อาร์คน่าจะรับน้ำหนักบรรทุกรวมไม่เกิน 2,430 ตัน ซึ่งหักน้ำหนักไม้จากตัวเรือ และอาหารทั้งหมดแล้ว อาร์คมีแนวโน้มเหลือน้ำหนักบรรทุก ประมาณ 1,600-2,000 ตัน ตัวเลขนี้ถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับไททานิก ที่มีระวางประมาณ 52,310 ตัน

ถ้าอิงจากงานวิจัยปริมาณชนิดสัตว์โลกในปี 2011 ที่ระบุว่า โลกมีสัตว์บกราว 6.5 ล้านสปีชีส์ สัตว์น้ำ 2.2 ล้านสปีซีส์ ตามการวิเคราะห์น้ำหนักสัตว์ของ ดร.นำชัย ที่สมมติขั้นต่ำให้มีสัตว์เล็กมากกว่า และนับเฉพาะสัตว์บกให้มีน้ำหนักเฉลี่ยที่ 10 กิโลกรัม หากนำขึ้นเรืออาร์คสปีชีส์ละคู่ น้ำหนักรวมจะอยู่ที่ 130,000 ตัน ต่อให้ลดน้ำหนักเฉลี่ยมาอยู่ที่ตัวละ 1 กิโลกรัม หากนำมาอย่างละ 1 คู่ก็ยังหนักมากถึง 65,000 ตัน เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำหนักที่คาดว่าเรืออาร์คจะบรรทุกได้ 2,000 ตัน

จะเห็นได้ว่า “เรืออาร์ค” ไม่สามารถที่จะบรรทุกสัตว์ทั้งหมดขึ้นเรือได้ตามหลักการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ (ไททานิกก็รับไม่ไหว)

ดร.นำชัย แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า เมื่อเทียบข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และมองความเป็นไปได้ในการอาศัยอยู่บนเรือนาน 7 เดือน 17 วัน คาดว่าสัตว์บนเรือนั้น โดยรวมแล้วต้องใช้อาหารที่ให้พลังงานราว 20-30 ล้านกิโลแคลลอรีต่อวัน รวมระยะเวลากว่า 6 เดือน ต้องใช้เนื้อคิดเป็นน้ำหนักนับร้อยตัน ยังไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องการเก็บเนื้อหรืออาหารสดอื่นๆ อีก ในสมัยที่ยังไม่มีตู้ทำความเย็น

ข้อมูลเหล่านี้ ทำให้เห็นว่า โอกาสที่จะมี “เรืออาร์ค” ซึ่งสามารถพาคนและสัตว์ในโลกรอดน้ำท่วมได้ตามพระคัมภีร์ ถือว่ามีน้อยมาก อย่างไรก็ตาม หลายปีที่ผ่านมามีข้อมูลเรื่องการค้นหา และข้อกล่าวอ้างเรื่องการค้นพบวัตถุที่เชื่อว่าใกล้เคียงกับอาร์คเกิดขึ้นหลายประเทศ (น่าสังเกตว่าทำไมข่าวกระจายตัวไปหลายแห่ง) แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจน และเชื่อว่าในอนาคตจะยังมีผู้สนใจค้นหาอีกเรื่อยๆ (อ่านข้อมูลการค้นหา และข้อกล่าวอ้างการค้นพบเพิ่มเติมจากหนังสือ “อยากชวนเธอไปอำผี”)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

นำชัย ชีววิวรรธน์. อยากชวนเธอไปอำผี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560.


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 23 มกราคม 2562