ปรากฏหลักฐาน “ชี้มนุษย์ไม่ได้กำเนิดแค่ในแอฟริกา”

ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพเปรียบเทียบกะโหลกมนุษย์ในปัจจุบัน (ซ้าย) กับมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล (ภาพ-Wikimedia Commons)

งานวิจัยชิ้นใหม่ที่ชี้ทฤษฎีต้นกำเนิดมนุษย์ซึ่งระบุว่าอยู่ในทวีปแอฟริกา ก่อนที่จะแพร่ออกไปในภาคพื้นยุโรปและเอเชียเมื่อราว 60,000 ปีก่อนนั้น จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ เมื่อมีหลักฐานเชิงพันธุกรรมที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์ในยุคปัจจุบันนั้นมีที่มาซับซ้อนมากกว่านั้นมาก เพราะนอกจากการอพยพออกจากแอฟริกาไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งใหญ่ครั้งเดียว แต่เกิดขึ้นหลายครั้งเท่านั้น มนุษย์สมัยใหม่เองยังเป็นผลจากการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์มนุษย์ ซึ่งเกิดขึ้นและคงอยู่พร้อมๆ กันเป็นจำนวนมาก ทั้งในและนอกพื้นที่ทวีปแอฟริกา

หลักฐานทางพันธุกรรมดังกล่าวปรากฏอยู่ในรายงานทางวิชาการของไมเคิล เปทราเกลีย และคณะ ซึ่งเผยแพร่ผ่านวารสารวิชาการไซนซ์ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยอาศัยข้อมูลเชิงพันธุกรรมที่ก้าวรุดหน้ามากขึ้นมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลทางโบราณคดีว่าด้วยวิวัฒนาการของมนุษย์ ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือแบบจำลองใหม่ของการกระจายตัวของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์เดินทางอพยพจากพื้นที่แอฟริกาหลายครั้ง เริ่มต้นครั้งแรกเมื่ออย่างน้อย 120,000 ปีมาแล้ว

แผนที่แสดงเส้นทางมนุษย์อพยพออกจากแอฟริกามายังเอเชีย ในช่วงปลายยุคไพลสโตซีน ราว 5,000-126,000 ปีมาแล้ว (ภาพ-Katerina Douka and Michelle O”Reilly)

เปทราเกลีย อธิบายว่า ข้อสรุปดังกล่าว ได้จากการขุดพบฟอสซิลของมนุษย์สมัยใหม่ในพื้นที่ซึ่งเรียกว่า เลแวนท์ (พื้นที่ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ อิสราเอล, เลบานอน, ตะวันตกของจอร์แดน และพื้นที่แหลมไซนายของอียิปต์ กับบางส่วนที่เป็นซีเรียในปัจจุบัน) เมื่อตรวจสอบอายุพบว่า มีอายุย้อนหลังกลับไประหว่าง 70,000 ถึง 120,000 ปี เก่าแก่กว่าที่ทฤษฎีเดิมระบุไว้มาก เหตุผลของการกระจายตัวออกมาเป็นเพราะเลแวนท์ในเวลานั้นอุดมสมบูรณ์มากและมีภูมิประเทศหลากหลาย มีทะเลสาบหลายแห่ง, แม่น้ำหลายสาย ในเวลาเดียวกันก็มีทุ่งหญ้าทั้งแบบกราสส์แลนด์และแบบทุ่งสะวันนาอีกด้วย

“สภาพดังกล่าวดึงดูดสัตว์ป่าต่างๆ เข้ามา มนุษย์นักล่าจึงตามมาด้วย เมื่อภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทะเลทรายรุกคืบเข้าแทนที่ความอุดมสมบูรณ์ ยิ่งผลักดันกลุ่มมนุษย์เหล่านี้ให้กระจายตัวออกไปห่างจากแอฟริกามากขึ้น” เปทราเกลียระบุ

เมื่อคนที่มีต้นกำเนิดจากแอฟริกาเหล่านั้นอพยพต่อมาจนถึงยุโรปและเอเชีย ก็ได้พบกับมนุษย์เผ่าพันธุ์อื่นๆ รวมทั้ง นีแอนเดอร์ธัล, เดนิโซวัน ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านั้นอยู่ก่อนแล้ว แคเทอรินา ดูกา นักวิชาการจากสถาบันมักซ์ พลังก์ ในประเทศเยอรมนี หนึ่งในทีมวิจัย ระบุว่า นักวิชาการด้านมานุษยวิทยา เรียกกลุ่มสายพันธุ์เหล่านี้ว่าเป็นมนุษย์ “เก่าแก่” ซึ่งหมายถึงสายพันธุ์เก่าแก่กว่า โดยนีแอนเดอร์ทัล กับเดนิโซวันนั้นมีบรรพบุรุษร่วมกันเมื่อย้อนหลังไปราว 400,000 ปีถึง 450,000 ปี ในขณะที่กลุ่มสายพันธุ์เก่าแก่กับมนุษย์สมัยใหม่ในปัจจุบันมีบรรพบุรุษร่วมกันเมื่อ 520,000 ปีถึง 650,000 ปีมาแล้ว

แต่ถึงแม้จะมีวิวัฒนาการแตกต่างกันออกไป กลุ่มมนุษย์สายพันธุ์ต่างๆ ก็ผสมพันธุ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นมากกว่าที่เราเคยคาดคิด งานวิจัยทางด้านพันธุกรรมของมนุษย์เมื่อเร็วๆ นี้แสดงให้เห็นว่า การผสมผสานดังกล่าวเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง ส่งผลให้ชาวเมลานีเซียนทุกวันนี้ (เมลานีเซีย คืออนุภูมิภาคที่เป็นหมู่เกาะของภูมิภาคโอเชียเนีย) มีเชื้อสายบางส่วนของมนุษย์เดนิโซวันและมนุษย์ที่ไม่ได้มาจากภาคพื้นแอฟริกา จะมีพันธุกรรมของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลอยู่ด้วยอย่างน้อย 1-4 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนหน่วยพันธุกรรมทั้งหมด

ในขณะเดียวกัน ดีเอ็นเอของมนุษย์ในปัจจุบันทั้งในยุโรปและเอเชียแสดงให้เห็นว่ายังมีส่วนหนึ่งซึ่งมีที่มาจากสายพันธุ์มนุษย์ที่ยังไม่มีใครค้นพบรวมอยู่ด้วย

นอกจากนั้น คริสโตเฟอร์ เบล นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮาวาย หนึ่งในทีมวิจัยระบุด้วยว่า ในทางตรงกันข้ามกับความเชื่อที่ผ่านมา การผสมพันธ์ระหว่างสายพันธุ์มนุษย์ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในพื้นที่ยุโรปและเอเชีย (ยูเรเซีย) เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในแอฟริกาเองอีกด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แอฟริกาในเวลานั้นมีสายพันธุ์มนุษย์เก่าแก่ที่เป็นโฮโม เซเปียน อยู่หลายกลุ่ม ทำให้เกิดความหลากหลายเชิงพันธุกรรมในแอฟริกา ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมแอฟริกาจึงเป็นพื้นที่ซึ่งมีประวัติศาสตร์ของมนุษย์ยุคใหม่ที่ยาวนานกว่าประวัติศาสตร์มนุษย์ยุคใหม่ในเอเชีย

งานวิจัยใหม่นี้ได้ข้อสรุปสำคัญประการหนึ่งเกี่ยวกับวิวัฒนาการของมนุษย์ นั่นคือ มนุษย์ทุกคนในเวลานี้เป็นลูกผสมของมนุษย์หลายสายพันธุ์ในอดีต ซึ่งมีดีเอ็นเอและมีกลุ่มประชากรแตกต่างและแยกออกจากกัน

แต่สิ่งหนึ่งที่งานวิจัยนี้ยังไม่มีข้อสรุปให้ และยังคงถกเถียงกันอย่างหนักในแวดวงวิชาการ ก็คือคำตอบของคำถามที่ว่า มนุษย์นั้นแรกสุดกำเนิดขึ้นเมื่อใดและจุดใดกันแน่นั่นเอง