เผยแพร่ |
---|
SX 2024 ชวนปลดล็อกมิติสุขภาพ ยั่งยืน กับเสวนา (เพศ) หลากหลายอย่างมีความสุข
ปลดล็อกมิติสุขภาพกับเรื่องของความยั่งยืน ภายในงาน Sustainability Expo 2024 (SX 2024) ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 กับคอนเซปต์ “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” ที่ชวนทุกคนมาร่วมค้นหาคำตอบสู่หนทางความอยู่รอดอย่างสมดุลในยุคโลกเดือด (Global Boiling) ตั้งแต่วันนี้ ถึง 6 ตุลาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
งานปีนี้ขยายเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม สถานทูต เครือข่ายธุรกิจยั่งยืนจากองค์กรชั้นนำของไทยและต่างประเทศกว่า 270 แห่ง ส่งผลให้ขยายความน่าสนใจในมิติด้านความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ SX Talk Stage งานทอล์กด้านความยั่งยืนที่นำแนวคิดและประสบการณ์จากผู้ที่เปลี่ยนแปลงโลก มาหมุนเวียนพูดคุย ทั้งเวที SX Grand Plenary (ฮอลล์ 1) และ SX Talk Stage (ฮอลล์ 4) ตลอดจนเวทีย่อยสำหรับประเด็นเฉพาะกลุ่มอีกหลากหลายเวที
หนึ่งในไฮไลท์เด็ดของ SX Talk Stage คือ เวทีเสวนา (เพศ) หลากหลายอย่างมีความสุข ที่เหล่าวิทยากรมาให้ความรู้ แลกเปลี่ยนมุมมองข้อมูลด้านเพศและความยั่งยืน นำโดย รศ.นพ. กระเษียร ปัญญาคำเลิศ หัวหน้าสาขาเวชศาสตร์ทางเพศ ภาควิชาสูติศาสตร์–นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.พญ. นิตยา ภานุภาค ผู้อำนวยการบริหารสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI)
และ ผศ.พญ. พูนพิศมัย สุวะโจ จากศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.พญ. ธนินี สหกิจรุ่งเรือง จากศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านเวชพันธุศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.นพ. อัมรินทร์ สุวรรณ จากสาขาเวชศาสตร์ทางเพศ ภาควิชาสูติศาสตร์–นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนตัวแทนภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
ครอบคลุม เข้าใจ ห่วงใย ไม่แบ่งเพศ
ประเดิมความน่าสนใจของเวทีเสวนา โดย รศ.นพ. กระเษียร ปัญญาคำเลิศ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดว่าภายในปี 2030 ผู้คนทั่วโลกกำลังดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายโลก ที่สะท้อนความยุติธรรมสากลสู่ความเสมอภาคด้านสุขภาพอย่างยั่งยืน บนความหลากหลายทางเพศ โดยไม่มีใครต้องเผชิญกับภาวะสุขกายและจิตอย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป
นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘คลินิกสุขภาพเพศ (Gender Health Clinic)’ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2561 เพื่อยกระดับการบริการสุขภาพทางเพศครบวงจรอย่างเท่าเทียม ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยทีมแพทย์สหสาขา ซึ่งเป็นไปตาม WPATH (The World Professional Association for Transgender Health) ทั้งนี้ หากสนใจสามารถเข้ารับบริการที่คลินิกสุขภาพเพศ หรือที่โครงการของกรุงเทพฯ BKK Pride Clinic คลินิกสุขภาพเพศหลากหลายได้ทั้ง 20 แห่งทั่วกรุงเทพฯ
“ปัจจุบันคณะแพทย์ในไทยของหลายๆ มหาวิทยาลัย เริ่มเปิดคลินิกสุขภาพเพศ หรืออาจใช้ชื่ออื่นๆ ที่ต่างไป เช่น รามาศิริราช ธรรมศาสตร์ ขอนแก่น เชียงใหม่ และสงขลานครินทร์ ขณะเดียวกัน ประเทศไทยถือว่าเป็นต้นแบบของการผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศสภาพ หรือการแปลงเพศ รวมถึงเป็น Hub ของการดูแลสุขภาพของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ”
ด้าน ดร.พญ. นิตยา ภานุภาค กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน การตีตราบุคคลข้ามเพศในสถานพยาบาลของไทยยังอยู่ในอัตราที่สูง ดังนั้น จึงมุ่งดำเนินการเพื่อจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพ ผ่านเส้นเลือดฝอยของสังคม ซึ่งก็คือ ‘ชุมชน’ ให้เป็นทัพหลักสำคัญในการเข้าไปร่วมพูดคุยในประเด็นการจัดบริการ และความท้าทายต่างๆ จนนำไปสู่การออกแบบการดำเนินการโดยชุมชนและร่วมจัดบริการสุขภาพของตนเอง
อีกทั้งยังกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ศูนย์สุขภาพชุมชนแทนเจอรีน หรือที่รู้จักกันในชื่อ คลินิกแทนเจอรีน ก่อตั้งขึ้นในปี 2558 เป็นคลินิกสุขภาพเฉพาะทางสำหรับคนข้ามเพศ ที่ให้บริการด้านฮอร์โมน บริการด้านสุขภาวะทางเพศ และบริการด้านสุขภาพจิตและสุขภาวะอื่นๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการเป็นคนข้ามเพศที่มีความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างดี
“พวกเราอาจจะร้อยเปอร์เซ็นต์ที่มีการใช้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ แต่เกือบครึ่งหนึ่งที่ไม่เคยเข้าสู่การดูแลอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงมีประสบการณ์ที่ไม่ดีจากผู้ให้บริการด้านสุขภาพ หรืออาจโดนถามคำถามบางอย่างที่ละลาบละล้วง เช่น ผ่าหรือยัง เฉาะหรือยัง ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องสำหรับการเข้ารับบริการด้านสุขภาพ จะเห็นได้ว่าทัศนคติที่เป็นความคิดอัตโนมัติเชิงลบต่อคนข้ามเพศนั้น ส่งผลต่อการเข้ารับและจัดบริการด้านสุขภาพ”
เส้นทางการยืนยัน ‘เพศสภาพ’
ผศ.นพ.อัมรินทร์ สุวรรณ เผยข้อมูลเรื่องยาสำหรับบุคคลข้ามเพศ ว่า ยาสำหรับหญิงข้ามเพศ แบ่งออกเป็น ยากิน ยาทา และยาฉีด ทว่ายาฉีดไม่มีในโรงพยาบาล และมีข้อควรระวัง คือ หากฉีดในปริมาณสูงเกินไป ระดับเลือดจะสูงขึ้นตาม ด้านยาสำหรับชายข้ามเพศ ประกอบด้วย ยากิน ยาทา และยาฉีด เช่นเดียวกัน ซึ่งไม่แนะนำยากิน เนื่องจากประสิทธิภาพด้านดูดซึมค่อนข้างน้อย ส่งผลให้อารมณ์แปรปรวน และส่งผลเสียต่อตับ ดังนั้น จึงแนะนำให้เข้ามาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้รับบริการและยาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
ทั้งนี้ หลายคนอาจมีความเชื่อว่ายาคุมกำเนิดตามร้านขายยา สามารถช่วยปรับฮอร์โมนเรื่องเพศได้ ทว่าแท้จริงแล้วไม่ควรใช้ในการข้ามเพศ เพราะมีความเสี่ยงในการเป็นหลอดเลือดอุดตันถึง 20 เท่า ควรใช้ฮอร์โมน Natural Estrogen คือ ฮอร์โมนที่เกิดจากธรรมชาติดีที่สุด และสิ่งสำคัญก่อนการใช้ฮอร์โมน แนะนำว่าควรเก็บเซลล์สืบพันธุ์ไว้ก่อนทุกกรณี เพราะถ้าใช้ฮอร์โมนแล้วจะส่งผลเสียต่อเซลล์สืบพันธุ์
“อย่าใช้ยาคุมกำเนิดทั่วไปเพื่อการข้ามเพศ เพราะเพิ่มความเสี่ยงต่อเส้นเลือดอุดตัน สูงกว่ายาฮอร์โมนธรรมชาติ 20 เท่า ทำให้อัตราการเสียชีวิตสูงกว่า 3 เท่า แนะนำให้ใช้ยาคุมจากธรรมชาติ หรือฮอร์โมนจากโรงพยาบาลจะปลอดภัยมากที่สุด ทั้งนี้ ไม่มียาตัวเดียวที่เหมาะสำหรับคนข้ามเพศ เพราะละคนเหมาะกับยาไม่เหมือนกัน ดังนั้นแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ พวกเราพร้อมและมีความยินดีที่จะให้บริการ”
ขณะที่ ผศ.พญ.พูนพิศมัย สุวะโจ กล่าวว่า การผ่าตัดแปลงเพศในประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2518 สำหรับการเตรียมตัวผ่าตัดในส่วนอวัยวะเพศต้องได้รับฮอร์โมนอย่างน้อย 6 เดือน และต้องใช้ชีวิตแบบที่ต้องการจะเป็นตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือนติดต่อกัน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าหากผ่าตัดแล้วจะไม่รู้สึกเปลี่ยนใจ หรือเสียใจในภายหลัง เพราะไม่สามารถเปลี่ยนกลับมาได้
อีกทั้งการดูแลก่อนผ่าตัดต้องหยุดการใช้ฮอร์โมน เพราะการผ่าตัดใช้เวลานานอาจมีภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ รวมถึงต้องหยุดสูบบุหรี่ การจะผ่าตัดยืนยันเพศสภาพต้องมีความพร้อมเพราะเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะอวัยวะเพศที่ไม่สามารถเปลี่ยนกลับได้ การผ่าตัดนี้พบว่าคนไข้มีความสุขเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ความเข้าใจโรค การผ่าตัด การดูแลตนเองเป็นการเตรียมพร้อมก่อนเข้ารับการผ่าตัดที่ดีทำให้สามารถผ่านการยืนยันเพศสภาพและการผ่าตัดได้อย่างปลอดภัย
“การผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศสภาพเป็นเรื่องใหญ่ และบางครั้งไม่สามารถผ่าตัดแก้ไขกลับคืนให้เหมือนเดิม ดังนั้น ความเข้าใจโรค การผ่าตัด และการดูแลตนเอง จึงเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารับการข้ามเพศ เพื่อสามารถผ่านการดูแลรักษา ผ่าตัด ได้อย่างราบรื่นและปลอดภัย”
แน่นอนว่าความสนุกของเวทีเสวนานี้ยังไม่หมด นอกจากจะเต็มอิ่มกับความรู้ทางวิชาการจากเหล่าผู้เชี่ยวชาญกันไปแล้ว ก็ต่อด้วยการเปิดตัวพรีเซนเตอร์คลินิกสุขภาพเพศ ในฐานะนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ที่จะมาร่วมแบ่งปันเรื่องราวชีวิตจริงบนถนนของความหลากหลายทางเพศ พร้อมพูดคุยและตอบคำถามเกี่ยวกับประเด็นสำคัญ เช่น กฎหมายสมรสเท่าเทียม การแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อบุคคลหลากหลายทางเพศ การดูแลลูกที่เป็นบุคคลข้ามเพศ การดูแลจิตใจพ่อแม่เมื่อมาทราบทีหลังว่าลูกเป็นบุคคลข้ามเพศ เป็นต้น
และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ SX Talk Stage สำหรับมิติสุขภาพบนความยั่งยืน ภายในงาน SX 2024 มหกรรมเพื่อความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งพรุ่งนี้ยังมีเวทีที่ให้เหล่าสปีกเกอร์สายกรีนมาแบ่งปันเรื่องราวความยั่งยืนในมิติต่างๆ อย่ารอช้า รีบปักหมุดเช็กอินความยั่งยืนพร้อมกัน พรุ่งนี้วันสุดท้าย!