เผยแพร่ |
---|
สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. เชิดชูเกียรติ ครูวิรัช ทะไกรเนตร ให้เป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดินปี 2567” ประเภทเครื่องดิน ด้วยเอกลักษณ์อันโดดเด่นของผลงาน “จิตรกรรมเบญจรงค์ร่วมสมัย” ที่ประยุกต์องค์ความรู้ด้านหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผากับการสร้างสรรค์ลวดลายด้วยเทคนิคจิตรกรรม เพื่อส่งต่อและสืบสานมรดกภูมิปัญญาไทยสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในงานศิลปหัตถกรรมที่ยั่งยืน
ครูวิรัชทะไกรเนตรหนึ่งในผู้ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติจากสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) ให้เป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดินปี 2567” ประเภทเครื่องดิน เจ้าของผลงาน “จิตรกรรมเบญจรงค์ร่วมสมัย”ผู้ส่งต่อคุณค่ามรดกทางภูมิปัญญาในงานหัตถกรรมเครื่องเบญจรงค์ โดยผสมผสานการสร้างสรรค์ลวดลายในเทคนิคของงานจิตรกรรมเกิดเป็นผลงานเบญจรงค์ที่มีความงดงาม ด้วยโทนสี Blue & White อันเป็นเอกลักษณ์ เพิ่มเสน่ห์ให้กับงานเบญจรงค์มีความแตกต่าง ร่วมสมัย และสืบสานคุณค่างานหัตถกรรมไทยให้คงอยู่ โดยสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ของประดับตกแต่ง ตลอดจนของขวัญ ของใช้ที่สะท้อนรสนิยมของผู้เป็นเจ้าของได้อย่างสง่างาม
ครูวิรัช เผยว่า จุดเริ่มต้นเกิดจากความรักในงานศิลปหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา และความสุขจากการทำงานจิตรกรรม จึงได้รวบรวมองค์ความรู้ทั้ง 2 ประเภท มาประยุกต์รวมกันสร้างสรรค์เป็นผลงานที่มีความแตกต่างและมีความเป็นเอกลักษณ์จนกลายเป็น “จิตรกรรมเบญจรงค์ร่วมสมัย” อีกทั้งต้องการส่งต่อองค์ความรู้งานเบญจรงค์ให้สามารถนำมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริง และสะท้อนคุณค่าในกรรมวิธีของเครื่องเบญจรงค์ให้คงอยู่ จึงได้พัฒนา ค้นหาเทคนิคใหม่ ๆ เพื่อนำมาสร้างสรรค์ผลงานให้มีความเป็นอัตลักษณ์และเข้ากับยุคสมัยมากที่สุด โดยใช้เทคนิคและวิธีการทำงานศิลปะมาประยุกต์ในการทำเครื่องเบญจรงค์ เพื่อให้เกิดความสวยงาม ความสมดุล มีการเล่นแสงและเงาด้วยทฤษฎีสีที่โดดเด่น และสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์เป็นที่ดึงดูดใจของกลุ่มลูกค้า โดยเน้นไปที่การสร้างสรรค์โทนสี Blue & White ส่วนลวดลายที่วาดในผลงานจะวาดโดยอาศัยเทคนิคงานจิตรกรรมมาแต่งแต้มลวดลายลงบนเบญจรงค์ ซึ่งลวดลายที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่มาจากความเชื่อที่เป็นสิริมงคล เช่น ลายหงส์คู่บารมี มาจากสัตว์เทพเจ้าในตำนานของชาวจีน สะท้อนบารมี ความก้าวหน้า และความสง่างาม , ลายเสือ สะท้อนความเชื่อด้านบารมี ความยิ่งใหญ่ , ลายปลาสะท้อนความมั่งคั่งร่ำรวยเป็นต้น
ทั้งนี้มองว่าการนำองค์ความรู้ในงานศิลปหัตถกรรมมาปรับประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ จะช่วยรักษามรดกภูมิปัญญาในงานศิลปหัตถกรรมให้คงอยู่ต่อไป อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มในงานศิลปหัตถกรรมไทยได้มีโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน