เผยแพร่ |
---|
วันพุธที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๕.๓๐ น. นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ชี้แจงกรณีมีกระแสข่าว เรื่องการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร ณ ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
กรมศิลปากรขอชี้แจงว่า พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นโบราณสถานเก่าแก่ มาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนถึงกรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์และปัจจุบันพระปรางค์เปรียบเสมือนมหาธาตุของ กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นสัญลักษณ์ที่นานาชาติได้รับรู้ถึงความสง่างาม ความสำคัญ ในปี ๒๕๕๖ กรมศิลปากรตรวจพบว่า พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร มีความชำรุดด้วยเนื้อปูนเสื่อมสภาพตามกาลเวลา โดยพบว่า เศษชิ้นส่วนของปูนปั้นเทวดาทรงม้าได้หลุดร่วงลงมา จึงได้สำรวจความเสียหายและสภาพของโบราณสถาน พร้อมจัดทำ โครงการบูรณะพระปรางค์และพระมณฑปวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ขึ้นโดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น ๕ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๖ – ๒๕๖๐
แนวทางในการบูรณะ กรมศิลปากรยึดมั่นในหลักการตามสากล กล่าวคือ รักษารูปแบบ ฝีมือช่าง และวัสดุ เพื่อรักษาหลักฐานตามประวัติศาสตร์ที่มีการบูรณะซ่อมแซม องค์พระปรางค์ มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ ถึงปัจจุบัน สิ่งที่ชำรุดก็ให้จัดทำขึ้นใหม่ โดยเลียนแบบของเดิมพร้อมกับมีการบันทึกหลักฐานของงานศิลปกรรม สถาปัตยกรรมไว้ทั้งก่อนการดำเนินการ ระหว่างดำเนินการ และหลังการดำเนินการ โดยมีการดำเนินการอนุรักษ์ ในส่วนพื้นผิวปูนฉาบและกระเบื้องประดับพระปรางค์ ดังนี้
๑. ทำความสะอาดพื้นผิวตะไคร่น้ำที่ก่อให้เกิดคราบดำแก่องค์พระปรางค์ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่เนื้อปูนในระยะยาวต่อไป
๒. กะเทาะปูนบริเวณที่ผุเปื่อยหรือเสื่อมสภาพออก ทำความสะอาด แล้วฉาบปูนใหม่เสริมความมั่นคง โดยใช้ปูนหมักตามกรรมวิธีโบราณ ซึ่งสีของเนื้อปูนดังกล่าวเป็นสีขาวโดยธรรมชาติ
๓. เมื่อดำเนินการบูรณะเสร็จสมบูรณ์แล้ว ภาพรวมขององค์พระปรางค์จึงเป็นสีขาว อนึ่ง การทำความสะอาดคราบดำจากตะไคร่น้ำนั้น ทำให้เส้นรอบนอกของลวดลายกระเบื้องที่ดูชัดเจนจากคราบดำเหล่านั้นลดลง
กรมศิลปากร ได้ดำเนินการศึกษาลวดลายกระเบื้องเคลือบที่ใช้ในการประดับองค์พระปรางค์วัดอรุณฯ โดยการกระสวนลายเพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินงานบูรณะกระเบื้องที่มีความชำรุดเสียหายมาก หรือส่วนที่หลุดล่อนหายไป และจำแนกกระเบื้องจากลักษณะดังนี้
๑.ตำแหน่งที่พบ (เช่น อยู่ในชั้นใต้ผิวปัจจุบัน หรือพบกระจายอยู่ทั่วไป)
๒. ลักษณะกายภาพทั่วไป
๓. ลักษณะเนื้อดินและอุณหภูมิ (เนื้อดินเผา/earthenware, เนื้อแกร่ง/stoneware, เนื้อกระเบื้อง/Porcelain)
๔. ลักษณะลวดลายสีเคลือบ
จากนั้นจึงดำเนินการคัดเลือกชิ้นงานที่มีความสมบูรณ์เพื่อเป็นต้นแบบการทำวัสดุทดแทนด้วยเครื่อง 3D LASER SCAN และนำส่งโรงงานผลิตตามลักษณะลวดลาย, เนื้อดิน และสีเคลือบดั้งเดิมต่อไป ในส่วนถ้วยชามโบราณ มิได้มีการแกะหรือนำชิ้นส่วนดั้งเดิมออกจากพระปรางค์ แต่ได้มีการจัดทำวัสดุทดแทนขึ้นใหม่เพื่อประดับเฉพาะส่วนที่หลุดหายไป ซึ่งได้มีการศึกษาลวดลายและวัสดุเปรียบเทียบจากชิ้นงานดั้งเดิม
อนึ่ง การดำเนินงานอนุรักษ์พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ได้มีการเก็บข้อมูลทั้งที่เป็นข้อมูลภาพนิ่ง ภาพถ่ายแบบ ๓ มิติ และลายเส้นของพระปรางค์ประธานและองค์ประกอบทั้งหมด
[ข้อมูลจากเพจ: กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร ]