กลางดงน้อยหน่า กับความเป็นมาของ “น้อยหน่า” ที่กลางดง จังหวัดนครราชสีมา

น้อยหน่าของดีตลอดกาลของกลางดง

สิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่น คนรู้จักจนเป็นเอกลักษณ์ เป็นต้นว่า มะขามหวานจังหวัดเพชรบูรณ์ หมูย่างเมืองตรัง ส้มโอขาวแตงกวาชัยนาท ข้าวสังข์หยดจังหวัดพัทลุง และอื่นๆ ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาระบุว่าเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication)

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือนิยมเรียกสั้นๆ ว่าจีไอ คือสิ่งบ่งบอกแหล่งกำเนิดของสินค้า มีความเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมานานแล้ว ทั้งในและต่างประเทศ เป็นสินค้าที่มีคุณภาพหรือลักษณะพิเศษ แตกต่างจากสินค้าที่ผลิตในแหล่งผลิตทั่วไป เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค รวมถึงความมีชื่อเสียงของแหล่งผลิตสินค้า การขึ้นทะเบียนสินค้าจะช่วยเพิ่มมูลค่า อีกทั้งป้องกันคนอื่นนำไปลอกเลียนแบบอีกด้วย

น้อยหน่าที่กลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ถึงแม้จะยังไม่ได้จีไอ (บทความเผยแพร่ในนิตยสารเมื่อปี 2554-กองบก.ออนไลน์) แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า หากต้องการลิ้มรสน้อยหน่าอร่อย ต้องแวะซื้อที่กลางดง

กลางดง แตเดิมเ็นชุมชนเล็กๆ ล้อมรอบไปด้วยป่าเขา ที่เรียกว่าดงพญาไฟ เข้าใจกันว่า ชุมชนกลางดงเริ่มมีขึ้นเมื่อครั้งมีการสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ทางรถไฟสร้างขึ้นก่อนถนนมิตรภาพ ที่พาดผ่านชุมชนกลางดงใหม่ในปัจจุบัน

ทางรถไฟสร้างขึ้นเมื่อใด

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุมัติให้กระทรวงโยธาธิการว่าจ้าง นาย จี. มูเร แคมป์เบลล์ สร้างทางรถไฟหลวงจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา เป็นสายแรก เป็นทางขนาดกว้าง 1.435 เมตร และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชพิธีกระทำพระฤกษ์ เริ่มการสร้างทางรถไฟ ณ บริเวณย่านสถานีกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2434

ในปี พ.ศ. 2439 การก่อสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมาสำเร็จบางส่วน พอที่จะเปิดการเดิน
รถได้ ดังนั้นในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเสด็จพระ
ราชดำเนินไปทรงเปิดการเดินรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 71 กิโลเมตร ได้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2439 เป็นต้นมา ในระยะแรกเดินรถขึ้นล่องวันละ 4 ขบวน

ทางรถไฟจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา สร้างเสร็จเรียบร้อย และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการเดินรถสายนี้ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2443 รวมระยะทาง
จากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา 265 กิโลเมตร สิ้นเงินก่อสร้าง 17,585,000 บาท

สถานีรถไฟกลางดง

เมื่อก่อนบริเวณชุมชนบ้านกลางดงไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ เนื่องจากเป็น่ารกทึบ ไข้่า สัตว์่าชุกชุม
อย่าว่าแต่อาศัยอยู่เลย เพียงแต่เดินทางผ่านก็แทบเอาชีวิตไม่รอดแล้ว ดงบริเวณนั้นจึงถูกเรียกว่า “ดงพญาไฟ”

เมื่อมีการสร้างทางรถไฟ คนที่อาศัยอยู่หมู่บ้านกลางดงชุดแรก คือคนงานที่รับจ้างสร้างทางรถไฟนั่นเอง เพราะสร้างทางเสร็จแล้ว ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน อาศัยหักร้างถางพง แต่ก็อยู่ด้วยความยากลำบาก

ต่อมาชื่อของดงพญาไฟ เปลี่ยนเป็น “ดงพญาเย็น” บริเวณดงแห่งนี้ถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์ จะปลูกอะไรก็งอกงามดี ผู้คนได้อพยพเข้าไปอยู่ หลายๆ รุ่นด้วยกัน

ถนนมิตรภาพในปัจจุบัน

แต่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของกลางดงเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2499 รัฐบาลไทยกับสหรัฐอเมริกาสร้างถนนมิตรภาพขึ้น ร้านรวงริมทางรถไฟที่มีไม่มากนัก ได้ขยับขยายมาอยู่ริมถนนมิตรภาพ

เมื่อผู้คนได้อพยพเข้าไปอยู่ในเขตกลางดง สิ่งที่พวกเขาได้นำไปด้วย นอกจากวัฒนธรรมประเพณีแล้ว คืองานอาชีพ รวมทั้งพืชพรรณ ที่สร้างชื่อเสียงและเศรษฐกิจให้กลางดงอย่างต่อเนื่องเสมอมา คือน้อยหน่า

คุณจินตนา พุทธขันธ์ เจ้าหน้าที่บริหารงานทะเบียนและบัตร สำนักงานเทศบาลตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ให้ข้อมูลว่า คนที่เข้าอยู่กลางดงมีหลายชุดด้วยกัน เมื่ออยู่ไปนานๆ ก็เกิดชุมชนแยกย่อย เป็นต้นว่าชุมชนกลางดง ชุมชนมิตรภาพ ชุมชนซับตะเคียน

แต่คนทั่วไปจะรู้จักชุมชนเหล่านี้รวมๆ ว่า “กลางดง” ซึ่งน่าจะเริ่มตั้งแต่พ้นพื้นที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ขึ้นเนินไป เห็นร้านค้าจำหน่ายต้นไม้ ไปอีกนิดหนึ่งมีแผงขายผลไม้เต็มไปหมด ตรงนี้คือใจกลางของกลางดง เลยไปอีกหน่อยเป็นศูนย์วิจัยข้าวโพดฯ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ยังนับเป็นกลางดงอยู่

ที่มาของแต่ละชุมชนของกลางดงนั้น ทางเทศบาลตำบลกลางดงบันทึกโดยการสอบถามคนเฒ่าคนแก่
ดังนี้

ชุมชนหมู่บ้านกลางดง ประชากรรุ่นแรกๆ อพยพมาจากอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี พ่อค้าวัว พ่อค้าควาย ที่เรียกว่า “นายฮ้อย” จากทางอีสานบางส่วนก็ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ เพราะเห็นว่า พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์

ชุมชนซับตะเคียน ตั้งอยู่ในเขตสวนป่าของรัฐบาล ติดป่าสงวนฯ

ประชาชนส่วนหนึ่งไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน สามารถอยู่อาศัยได้ แต่ห้ามตัดต้นไม้ ห้ามซื้อขายที่ดิน

ชุมชนซับตะเคียนมาจาก 3 กลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกัน กลุ่มแรก คือกลุ่มของ นายสอน ลืออำนาจ ย้ายถิ่น
ฐานมาจากจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณป่าดงดิบ เรียกว่ากลุ่มบ้านเหนือ กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มของ กำนันทอง เดชสิงห์ อาศัยอยู่หลังวัดกลางดง และกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มมหานิยม

ผู้คนที่เข้าอาศัยอยู่กลางดง ยุคเริ่มต้นอาศัยบุกเบิกที่ดินทำกินโดยใช้แรงกายไม่ต้องซื้อต้องหา คนรุ่นหลังที่เข้าไปอยู่ อาศัยครอบครองที่ดินโดยการแบ่งซื้อจากคนในยุคแรกๆ และยุคกลางๆ

วันเวลา ทำให้ชุมชนกลางดงผสมกลมกลืน คล้ายๆ ชุมชนอื่น

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดงพญาไฟกลายเป็นดงพญาเย็น เพราะรูปแบบการผลิต เดิมทีบ้านเราผลิตเพื่อพออยู่พอกิน ต่อมามีการปฏิวัติเขียว ผลิตสินค้าเพื่ออุตสาหกรรมและการส่งออก เดิมใช้แรงงานคนและสัตว์ ต่อมาได้นำเครื่องจักรกลทั้งเบาและหนักเข้าช่วย

ยุคก่อนนู้น…ใครที่ตัดฟัน่า บุกเบิกไม้ใหญ่ ได้ที่ดินมากๆ ถือว่าเป็นฮีโร่ เพราะป่ามีมาก

พืชที่มาพร้อมกับการปฏิวัติเขียวคือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันยังมีอยู่ แต่พบเห็นใกล้ๆ กับตัวอำเภอปากช่อง

ส่วนน้อยหน่า พืชที่สร้างชื่อให้กับกลางดง ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าใครนำเข้าไปปลูกคนแรก และปลูกเมื่อใด แต่เข้าใจว่าคนจากจังหวัดลพบุรีที่ย้ายไปอยู่กลางดงนำเข้าไปปลูก

ดงที่ยังหลงเหลืออยู่ ไม่ไกลจากกลางดง

น้อยหน่าเป็นไม้ต่างแดน นำเข้ามาเมืองไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จากนั้นก็ปลูกสืบต่อกันมา ลพบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งที่ปลูกได้ดี แต่เนื่องจากกลางดงพื้นที่เหมาะสมกว่า ประกอบกับบริเวณใกล้เคียงปลูกกันมาก จึงเสริมให้กลางดงโดดเด่นมาถึงปัจจุบัน

พื้นที่ของกลางดงเป็นดินสีแดง แต่ก็มีความอุดมสมบูรณ์ ปลูกพืชได้งอกงามหลายชนิด ยกเว้นนาข้าว ทั้งนี้เพราะดินไม่อุ้มน้ำ เนื่องจากดินไม่อุ้มน้ำนี่เอง เมื่อมีผลผลิต ทำให้ผลผลิตไม่ฉ่ำน้ำ ขณะเดียวกันก็มีรสชาติหวาน

ยุคแรกๆ ที่เกษตรกรกลางดงมีผลผลิตน้อยหน่า เขานำมาขายที่สถานีรถไฟ แต่ต่อมามีถนนมิตรภาพตัดผ่าน ชาวบ้านจึงทดลองสร้างเพิงแล้วนำน้อยหน่าออกจำหน่าย ปรากฏว่าได้รับความนิยมจากผู้ผ่านไปผ่านมาจึงทำให้เกิดร้านค้าผลไม้ถาวรขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้

คุณจักรกฤษณ์ ชูประเทศ คนกลางดง เป็นผู้หนึ่งที่มีประสบการณ์ในการผลิตและจำหน่ายน้อยหน่า เขาเล่าว่า ปู่ของเขามาซื้อที่ดินไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 โดยที่ไม่ได้สนใจทำการเกษตร แต่ต้องการสะสมที่ดิน ต่อมาพ่อของคุณจักรกฤษณ์ย้ายเข้าอยู่กลางดง จึงเริ่มทำการเกษตรกัน

“ผมมาอยู่ที่นี่ตอนอายุ 8 ปี ตอนนี้ 53 ปี แผงขายผลไม้เขามีมานานแล้ว เหตุที่นำมาขายเพราะคนผ่านไปผ่านมา ใครอยากซื้อก็แวะทั้งสองฝั่ง หากฝั่งที่ไปอีสานน้อยหน่าลูกจะเล็กหน่อย  เกี่ยวกับเรื่องราคา ส่วนฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ น้อยหน่าผลโตกว่า สองฝั่งราคาผิดกัน เมื่อก่อนผมมีแผง ตอนนี้ร้างแล้ว เพราะมีการสร้างถนนคู่ขนาน รถไม่จอด แผงก็จะย้ายออกไปเรื่อยๆ ตรงที่ไม่มีคู่ขนาน ที่ทำกันมาก็รายได้ดี สมัยก่อน นานแล้วนะ สงกรานต์บางวันคนขายได้เป็นหมื่นบาท นอกจากคนท้องถิ่นจะขายแล้ว คนทางสมุทรสาครมาเช่าแผงขายก็มี” คุณจักรกฤษณ์เล่า

แผงขายผลไม้ริมถนน

คุณจักรกฤษณ์บอกว่า ผลผลิตน้อยหน่าที่กลางดง นอกจากขายในท้องถิ่นแล้ว ยังนำไปจำหน่ายตลาดกลางที่กรุงเทพฯ ขณะเดียวกันก็ซื้อผลไม้อย่างอื่นที่กรุงเทพฯ กลับมาขายที่แผงกลางดงด้วย

ลุงคำสิงห์ ศรีนอก ทำไร่อยู่ไม่ไกลจากตัวอำเภอปากช่องมากนัก มีประสบการณ์เกี่ยวกับกลางดง ลุงบอกว่า ตนเองเข้ากรุงเทพฯ โดยทางรถไฟเมื่อปี พ.ศ. 2495 พอถึงปากช่องเห็นคนขายกุหลาบ ตื่นเต้นมาก ครั้นถึงกลางดง มีของขายเช่นกัน แต่สังเกตเห็นคนที่อาศัยอยู่กลางดง มีลักษณะเหมือนคนป่วยไข้ ความเปลี่ยนแปลงที่มีมากและรวดเร็วบริเวณนั้น มาพร้อมกับถนนมิตรภาพ

“ปี 2495 ผมจากบ้านเกิด อำเภอบัวใหญ่ เข้ากรุงเทพฯ นั่งรถไฟที่นครราชสีมา ผมตื่นเต้นภูเขาดงพญาเย็น ตอนนั้นยังเป็นป่า ยังไม่มีถนนมิตรภาพ เห็นคนแบกกุหลาบ อากาศดีกุหลาบมีชื่อมีเสียงที่ปากช่อง ถึงกลางดง เห็นคนเอาของมาขายเอาน้ำมาขาย ที่สถานี รถจอด 5-10 นาที สังเกตเห็นคนในดงสมัยนั้น อาจจะเป็นอุปทานก็ไม่รู้ ทำไมหน้าซีด ตอนหลังเที่ยวที่สองก็เห็นอยู่ คงไม่ใช่ตาฝาดเข้าใจว่าเป็นมาลาเรีย ดงพญาเย็นเขียวครึ้ม ตลาดเป็นห้องแถวเล็กๆ เมื่อถนนมิตรภาพตัดมา กลางดงเปลี่ยนไปรวดเร็วมาก เข้าใจว่ามิตรภาพตัดราว 2499-2500 สมัยผมมา 2495 มิตรภาพยังไม่มา”

ลุงคำสิงห์ ศรีนอก

ลุงคำสิงห์บอกและเล่าต่อว่า  “มิตรภาพมา เปลี่ยนไป มองคนหน้าสีเหลืองๆ ไม่มีแล้ว เมื่อแรกๆ ตื่นเต้นกับกุหลาบหลังๆ มีการฝาก ผ่านกลางดงอย่าลืมซื้อน้อยหน่านะ แต่ก่อนไม่มี ถ้าอยากกินน้อยหน่าไปลพบุรี ลพบุรีเคยมีชื่อทางด้านน้อยหน่า ดินคงคล้ายกัน พอกลางดงถูกบุกเบิก พอมีถนนมิตรภาพ ป่าก็ราพณาสูร หลังๆ ตลาดสถานีรถไฟก็โทรมลง คนเริ่มมาอยู่มิตรภาพสองข้างทาง สมัยโน้นเป็นสวนน้อยหน่า ผมยังจำได้คนที่ขายอยู่หัวมุมชื่อมหานิยม เข้าใจว่าเคยเป็นมหา เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว หลังๆ ผมใช้รถยนต์ รถมาจอดที่ร้านมหานิยม แกขายข้าวแกงด้วย จอดกินข้าวแกงแล้วจะซื้อน้อยหน่าไปฝากเพื่อนฝากฝูง นั่นคือกลางดง จากนั้นเปลี่ยนแปลงไปเยอะ”

ลุงคำสิงห์บอกว่า คนที่เข้าไปทำการเกษตรที่กลางดง ปากช่อง นอกจากชาวบ้านทั่วไปแล้ว ยังมีนักศึกษาเกษตรจากแม่โจ้ รวมทั้งคนมีชื่อเสียงและเงินทองจากกรุงเทพฯ พวกเขาเหล่านี้นำการเกษตรแผนใหม่เข้าไปทดสอบ

เวลาผ่านไป ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังยึดเหนี่ยวในอาชีพที่ตนเองทำ คือการเกษตร ดังนั้นผ่านไปครั้งไหน จะมี
ผลผลิตน้อยหน่าวางขายอยู่ไม่ขาด มากที่สุดคือกลางฤดูฝน

สองข้างทางแถบกลางดง มีทั้งความศิวิไลซ์ คือร้านอาหารหรู ห้างสรรพสินค้าที่ขายสินค้าจากโรงงาน ตัวตนของกลางดงก็ยังมีอยู่ คือเรือกสวนไร่นา ผสมผสานกันไป

“กลางดงพงป่าเขาลำเนาไพรไกลสังคม

มีแดนรื่นรมย์ แสนชื่นชมมีเสรี

ไร้ทุกข์สนุกสนานสำราญกันได้เต็มที่

พวกเราชาวถิ่นนี้ ล้วนมีไมตรีต่อกัน”

เป็นส่วนหนึ่ง ของเนื้อเพลง “ชาวดง” ไม่เกี่ยวกับกลางดง และน้อยหน่า

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 พฤษภาคม 2560