หน้าบันปูนปั้นแบบ “วิลันดา” ถึง “กระเท่เซ” สายสัมพันธ์ของวัฒนธรรมทางงานช่างไทย-เทศ

เมื่อกล่าวถึงศิลปะสถาปัตยกรรมไทยประเพณีแบบขนบนิยม ว่าด้วยเรื่อง “โบสถ์” หนึ่งในองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญและโดดเด่นนั้นก็คือส่วนยอดที่เรียกว่า “หน้าบัน” ซึ่งมีทั้งที่เป็นแบบไม้จำหลักและแบบปูนปั้น

สำหรับ “หน้าบันปูนปั้น” ศิลปะสมัยอยุธยา โดยทั่วไปจะนึกถึงแต่ลวดลายอันวิจิตรของสกุลช่างไทย (ทั้งแบบช่างหลวงและแบบช่างราษฎร์) ดั่งเช่นงานปูนปั้นอันเลื่องชื่อที่หน้าบันวัดเขาบันไดอิฐ วัดไผ่ล้อม และวัดสระบัว จังหวัดเพชรบุรี

นอกจากนี้ยังมีหน้าบันปูนปั้นอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึง หรืออาจจะถูกมองข้ามไป นั้นก็คือหน้าบันแบบ “วิลันดา” หรือแบบฮอลันดาก็เรียก (ชื่อนี้อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ กล่าวว่ารัชกาลที่ 5 ทรงเรียกโบสถ์หลังเก่าของวัดราชาธิวาสซึ่งมีลักษณะอาคารแบบทรงตึกไม่มีไขราหน้าจั่วว่า “ทรงฮอลันดา”)

นอกจากนี้ยังมีอาคารหลังหนึ่งที่ต่อมาเรียกว่า “วัดตะเว็ด” อยู่ริมคลองปะจามที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ กล่าวว่าเป็นต้นแบบของอาคารประเภทศาสนาคารที่มีอิทธิพลศิลปะแบบฝรั่ง โดยเฉพาะการทำลวดลายแบบฝรั่ง ซึ่งนิยมทำกันมากในสมัยพระนารายณ์มหาราช โดยลวดลายเป็นศิลปะยุโรปแบบโรโกโก (Rococo Art) มีรูปคนเข้าไปอยู่ในองค์ประกอบของลวดลายส่วนปลายสาย ผสมลวดลายปูนปั้นส่วนประธาน (บริเวณที่นิยมทำเทพนม) โดยทำเป็นรูปเรือนแก้วและลายเครือเถาแทนด้วยใบอะแคนทัส ต่อมาเริ่มมีการนำเอาถ้วยชามกระเบื้องจีนเข้าไปเป็นองค์ประกอบโดยเฉพาะที่เป็นส่วนดอกตกแต่ง ดั่งตัวอย่างที่วัดกลาง จังหวัดสมุทรปราการ วัดชมพูเวก จังหวัดนนทบุรี

ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 3 ศิลปะจีนได้เข้ามามีอิทธิพลต่องานช่างจนก่อเกิดรูปแบบที่เรียกว่า “พระราชนิยม” ซึ่งสมเด็จครู (สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์) ทรงเรียกว่า “วัดนอกอย่าง” โดยมีวัดราชโอรสเป็นต้นแบบ ส่วนหน้าบันเป็นเครื่องก่อเป็นแผงทับ ไม่มีคูหาหน้าบันหรือไขราหน้าจั่ว โดยหน้าบันลักษณะเช่นนี้มีชื่อเรียกแบบเฉพาะว่า “กระเท่เซ” ในพื้นหน้าบันนิยมปั้นปูนเป็นลวดลายดอกบ๋วย หรือดอกพุดตานใบเทศ ประดับกระเบื้องสี เป็นลวดลายเครือเถาหรือประดับตุ๊กตาประกอบเขามอ ส่วนกรอบหน้าบันไม่ติดช่อฟ้ารวย นาคสะดุ้ง และหางหงส์ แต่ปั้นรูปเป็นรวยหน้ากระดาน คล้ายปั้นลมหางปลา ซึ่งทั้งหมดนี้คือรายละเอียดต่างๆ อันเป็นแบบ “กระบวนจีน” ของพระอุโบสถที่เรียกว่า “วัดนอกอย่าง” ซึ่งมีพัฒนาการต่อเนื่องมาจากพระอุโบสถแบบ “ทรงวิลันดา” ดังตัวอย่างภาพลายเส้นของวัดสิงห์ กรุงเทพฯ (ซึ่งเพิ่งถูกทำลายดัดแปลงไปเมื่อเร็วๆ นี้เอง) และวัดหลวง จังหวัดอ่างทอง อันแสดงให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ทางงานช่างของไทยและเทศ

เป็นที่น่าเสียดายที่รูปแบบดังกล่าวไม่ได้รับการสืบสานอนุรักษ์ จึงเหลือเพียงบทบันทึกเฉพาะด้านโบราณสถานที่แช่แข็ง ขาดการพัฒนาต่อเนื่อง มีเพียง “โบสถ์โหล” แบบมาตรฐาน ก ข เต็มบ้านเต็มเมือง ที่ยังคงถูกสร้างอย่างต่อเนื่อง กระจายอยู่ทั่วทุกภาคที่วัฒนธรรมท้องถิ่นอ่อนแอ

 


เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 24 พฤษภาคม 2560